HKMA เข้าแทรกแซงเพื่อชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินฮ่องกง

23 Apr 2018

                                            

Hong Kong Monetary Authority (HKMA) องค์กรด้านการเงินที่ทำหน้าที่เสมือนธนาคารกลางของฮ่องกงได้เข้าแทรกแซงค่าเงินฮ่องกงโดยการขายเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อดอลลาร์ฮ่องกง เป็นมูลค่า 413.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   (3.26 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง) เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2561 เพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 35 ปี ถึง 7.8500 ดอลลาร์ฮ่องกง/ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ HKMA ต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง

ทั้งนี้ ค่าเงินฮ่องกงถูกกำหนดไว้ที่ 7.8 ดอลลาร์ฮ่องกง/ ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2526 โดยได้มีการกำหนดช่วงการซื้อขายระหว่าง 7.75 – 7.85 ดอลลาร์ฮ่องกง/ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2548 ซึ่ง HKMA มีหน้าที่จะต้องกำกับดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนแปรผันออกนอกช่วงที่กำหนดนี้

การเข้าแทรกแซงค่าเงินรวม 2 ครั้งในวันที่ 12 เม.ย. 2561 เป็นครั้งแรกที่ HKMA เข้าปกป้องเงินฮ่องกงจากการอ่อนค่า นับตั้งแต่มีการกำหนดช่วงซื้อขายเมื่อปี 2548 โดยในปีดังกล่าว HKMA ได้ซื้อเงินฮ่องกงเป็นมูลค่า 3.26 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงท่ามกลางการคาดการณ์ถึงการแข็งตัวของเงินหยวน ขณะที่เมื่อปี 2558 HKMA ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินฮ่องกงที่แข็งตัวชนเพดานหลังจากที่นักลงทุนพากันเทเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ล่าสุดจนถึงวันที่ 16 เม.ย. 2561 HKMA ได้เข้าซื้อเงินฮ่องกงไปแล้ว 5 ครั้ง รวมเป็นมูลค่า 1.325 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง อย่างไรก็ดี ค่าเงินฮ่องกงก็ยังอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดเกือบชนเพดานล่างของช่วงการซื้อขายที่กำหนด ซึ่งการดำเนินมาตรการต่อเนื่องของ HKMA นี้แสดงให้เห็นว่าการไหลออกของเงินทุนมีมากกว่าที่คาดการณ์กัน

ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาค่าเงินฮ่องกงอ่อนตัวลงมากที่สุดสกุลหนึ่งในเอเชีย โดยอ่อนลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเงินยูโร และอ่อนลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับเงินหยวน ซึ่งสาเหตุมาจากการมีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นฮ่องกงอย่างต่อเนื่องทำให้มีสภาพคล่องในระบบสูงจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อสหรัฐฯ เพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงินตน จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกันมากขึ้น เป็นผลให้เกิดอุปสงค์ต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า) มากขึ้น

การเข้าแทรกแซงครั้งนี้จะเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินของฮ่องกง ทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น และอาจเพิ่มภาระให้แก่บรรดาผู้มีหนี้สินในการผ่อนบ้าน แต่โดยที่ฮ่องกงได้ผูกค่าเงินของตนไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ HKMA ไม่มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของตน จึงต้องให้อัตราดอกเบี้ยท้องถิ่นปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ก็ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นตามรอยธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน

นาย Paul Chan รัฐมนตรีคลังฮ่องกงกล่าวว่าไม่ควรคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยของฮ่องกงจะอยู่ในระดับต่ำมากไปตลอดนักลงทุนจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และผลของอัตราดอกเบี้ยต่อราคาสินทรัพย์และการลงทุนของตน ในขณะที่รัฐบาลมีศักยภาพที่จะรับมือกับการไหลออกของเงินทุนในระดับสูง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าประเด็นที่น่าห่วงกว่าคือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะช่วยเร่งการล่มสลายของตลาดสินทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคที่ตกต่ำและอัตราหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

แทรกแซงสกุลเงินHKMA

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน