เศรษฐกิจหนิงเซี่ย 4 เดือนแรกขยายตัว 15.7% มุ่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

28 May 2021
  1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

สภาวะเศรษฐกิจของเขตฯ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. 2564 มีมูลค่ารวม 95,253 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 15.7 จำแนกเป็น

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ มูลค่า 4,419 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ มูลค่า 39,902 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ มูลค่า 50,932 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2

  1.    ภาคการเกษตร  

ภาพรวมภาคการเกษตรไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 รวม 10,433 ล้านหยวน โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ที่มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 20.7 ผลผลิตเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ขยายตัวตามความต้องการของผู้บริโภค  อย่างต่อเนื่อง อาทิ เนื้อสุกร 310,900 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ผลผลิตเนื้อแพะ 1.94 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 และเนื้อวัว 219,000 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5

  1. ภาคอุตสาหกรรม        

ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จำแนกตามประเภทการลงทุนที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ (1) การผลิตเครื่องตัดโลหะ (Metal cutting machine) เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.1 (2) การผลิตล้อยางด้านนอก (Rubber tire cover) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 (3) อุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.3 (4) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 (5) อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 (6) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5

นอกจากนี้ หากพิจารณาการเติบโตของอุตสากรรมที่ลงทุนโดยภาคเอกชน พบว่า (1) อุตสาหกรรมซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.3 (2) อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และ (3) อุตสาหกรรมการผลิตนมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6

  1. การจ้างงานประชากร

ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา เขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีจำนวนประชากรที่มีงานทำเพิ่มขึ้น 33,400 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 9.9 อัตราการว่างงานไม่เกินร้อยละ 3.96 และการถ่ายโอนแรงงานชนบท 538,200 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 3.8

  1. การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ข้อมูลจาก ศุลกากรนครหยินชวนรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2564 การค้าระหว่างประเทศของเขตฯ มูลค่ารวม 3,286 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 8.1 จำแนกเป็น (1) การนำเข้า 1,022 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 และ (2) การส่งออก 2,264 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

กลุ่มสินค้าหลักที่เขตฯ นำเข้า ได้แก่ (1) แร่โลหะ 490 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 (ส่วนมากเป็นแร่แมงกานีสมูลค่ากว่า 430 ล้านหยวน) (2) อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 180 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 (3) สารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyzer) 110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 178.6 (1.78 เท่า) และ (4) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, โพลีซิลิกอน (Polysilicon) และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 236.6 ร้อยละ 12.2 และร้อยละ 270 ตามลำดับ

กลุ่มสินค้าหลักที่เขตฯ ส่งออก ได้แก่ (1) เคมีภัณฑ์ 460 ล้านหยวน (2) ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม 400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 (3) ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.9 (4) อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 (5) ยางล้อรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 (6) เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทออื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 153.2 และ (7) วัตถุดิบในการผลิตเส้นใย เพิ่มขึ้นร้อยละ 111.8

5 คู่ค้าที่สำคัญของเขตฯ ได้แก่ (1) แอฟริกาใต้ 590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 (2) สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.3 (3) กลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 (4) ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 และ (5) อินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6

นอกจากนี้ มีการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่ม 13 ราย ซึ่งเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 กว่า 3.33 เท่า (333.3%) จำแนกเป็น (1) การลงทุนด้วยเงินทุนจากต่างประเทศตามมูลค่าในสัญญาการลงทุน (Amount of contract foreign capital) รวม 162.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 12 จากปี 2563 และ (2) การลงทุนด้วยเงินทุนจากต่างประเทศตามมูลค่าการลงทุนจริงรวม 9.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.6 จากปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนตามเม็ดเงินลงทุนจริงที่น้อยกว่ามูลค่าสัญญาเกือบ 17 เท่า               

สรุปภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายหลังประกาศหลุดพ้นความยากจนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลเขตฯ ได้เร่งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วยจุดเด่นในด้านแรงงาน (อัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 1,660 หยวน/เดือน ต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน) และถึงแม้การลงทุนจากต่างประเทศจะยังคงมีไม่มาก แต่เขตฯ ได้พยายามส่งเสริมการลงทุนจากภายในประเทศ โดยเพิ่มสัดส่วนความสำคัญต่อทิศทางตลาดภายในประเทศมากขึ้น เน้นเพิ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์และยกระดับแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค และดึงดูดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักได้แก่ ระบบคมนาคม เครือข่ายน้ำอุปโภค-บริโภค  ที่ทันสมัย (Modern water network) พลังงาน และเครือข่ายการสื่อสาร ก่อให้เกิดการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ เขตฯ ยังได้มีการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้า China-Arab States Expo เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้พาผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 นี้มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564

นอกจากนี้ รัฐบาลเขตฯ ยังได้เร่งส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและชิ้นส่วนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสีเขียวที่เน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Intelligent industry) และการเงินการธนาคาร โดยมีสัดส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วทั้งเขตฯ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรในพื้นที่ให้ทัดเทียมระดับชาติควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง (High quality development) เร่งยกระดับการพัฒนาด้านความปลอดภัยระบบนิเวศน์วิทยา ระบบกำจัดและบำบัดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งเขตนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (经济转型发展创新区Economic transformation and Development Innovation Zone) และการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเหลือง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.creditsailing.com/zuidigongzi/734428.html
  2. http://news.10jqka.com.cn/20210517/c629415481.shtml

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน