เศรษฐกิจส่านซีครึ่งปีแรกขยายตัว 4.2% การค้าไทย-ส่านซีกว่า 1,533 ล้านหยวน

4 Aug 2022

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 รัฐบาลมณฑลส่านซีรายงานสภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 (2 ไตรมาสแรกของปี) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

ในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 1.52 ล้านล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.2 (โดยจำนวนนี้เป็น GDP เฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปี (เดือน เม.ย. – มิ.ย. 2565) มูลค่า 798,693 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.3) แบ่งเป็น

– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ  71,286 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 5

– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 782,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 5.8

– อุตสาหกรรมตติยภูมิ 671,748 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 2.6

ข้อมูลอ้างอิงจาก สนง. สถิติมณฑลส่านซี

ในส่วนของนครซีอาน ยังคงเป็นเมืองที่มีมูลค่า GDP สูงสุดในมณฑล โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นครซีอานมี GDP 524,200 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.8 ตามด้วยเมืองยวีหลิน 238,300 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.7 และเมืองเสียนหยาง 119,700 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.1

2. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 9.4 โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในกลุ่มกิจการน้ำ, สิ่งแวดล้อม และระบบโครงสร้างพื้นฐานกว่าร้อยละ 22.2 ของสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งหมดของมณฑล

3. ผลผลิตทางการเกษตรและพลังงาน

ข้อมูลจาก ก. เกษตรและชนบทมณฑลส่านซี ระบุว่า เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 ภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ของมณฑลส่านซีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยการผลิตข้าว/ธัญพืช 4.75 ล้านตัว และการผลิตไข่ไก่และสุกรมีชีวิต ถือเป็น 2 กลุ่มที่มีการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุด เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และ 0.1 ตามลำดับ โดยกลุ่มผลผลิตทางการเกษตรที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ ผลไม้ 571,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2

นอกจากนี้ ในด้านพลังงานถ่านหิน ในช่วงครึ่งปีแรก กรมการรถไฟมณฑลส่านซีได้ลงนามในสัญญาใหม่ ซึ่งล้วนเป็นโครงการระยะยาวในการขนส่งถ่านหินจำนวน 177.6 ล้านตัน ให้กับ 67 บริษัททั่วประเทศ โดยกรมฯ ยังได้ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการการขนส่งโดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายถ่านหิน การจัดลำดับเที่ยวการขนส่งเพื่อลดการติดขัดต่อภาพรวม ในขณะที่ ภาพรวมการขนถ่ายสินค้าหนักในกลุ่มพลังงานถ่านหิน (Average daily loading) อยู่ที่ 14,084 flatcar[1] (รถไฟที่ไม่มีหลังคาและด้านข้างใช้ในการขนสินค้า) /วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 23 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้ม   การบริโภคพลังงานถ่านหินที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก สนง. สถิติแห่งชาติ ที่รายงานว่าในปี 2564 จีนมีการผลิตถ่านหินมากขึ้น เพื่อใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภค โดยจีนไม่อาจพึ่งพาการบริโภคไฟฟ้าได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว[2]

4. การบริโภคภายในมณฑล

ยอดจำหน่ายปลีกในสินค้าอุปโภคบริโภคของมณฑล (The province’s total retail sales of consumer goods) มีมูลค่ารวม 498,955 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เพียงร้อยละ 0.3 ในจำนวนนี้เป็นยอดจำหน่ายปลีกให้กับกลุ่มองค์กร/วิสาหกิจ (Retail sales of consumer goods realized by units/enterprises) มากถึง 252,353 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 1.4 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.58 ของยอดจำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของทั้งมณฑล

อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายปลีกในสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตเมืองยังคงมีปริมาณสูงสุดที่ 439,002 ล้านหยวน ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 0.7 ยอดจำหน่ายปลีกในสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบท 59,953 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 8.2

5. ดัชนีผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI)

ข้อมูลจากกรมสถิติมณฑลส่านซีระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. 2565 ดัชนีผู้บริโภคเฉลี่ยของมณฑลส่านซีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (เท่ากันกับภาพรวมดัชนี CPI ของจีนปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.1 ในเดือนพฤษภาคม) โดยมีกลุ่มเชื้อเพลิงและการเดินทางปรับตัวขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 6.2 รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 [3]

สถิติข้างต้นสวนทางกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของมณฑลส่านซี ที่มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 1.3 โดยศูนย์ข้อมูลมณฑลส่านซี (陕西省信息中心) ได้รายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตในพื้นที่คือ ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และราคาพลังงานที่ผันผวน โดยกลุ่มสินค้าพื้นฐาน อาทิ วัตถุดิบสิ่งทอ ปรับราคาขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 27.5 กลุ่มเชื้อเพลิงและพลังงาน ปรับราคาขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25 กลุ่มวัสดุและลวดโลหะ ปรับราคาขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.8  ปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. 2565 ราคาต้นทุน ณ โรงงานของผู้ผลิตอุตสาหกรรม (Factory Price Index) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 เฉลี่ยร้อยละ 16.8 และราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต (Industrial Producer Purchasing Price) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15[4]

6. รายได้ประชากรต่อหัว

ข้อมูลจาก สนง. สถิติมณฑลส่านซี รายงานว่ารายได้ประชากร (Shaanxi Residents’ Per Capita Disposable Income) เฉลี่ยที่ 14,906 หยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 4.3 จำแนกเป็น รายได้ประชากรเขตเมือง (Disposable income of urban residents) 21,004 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และรายได้ประชากรเขตชนบท (Disposable income of rural residents) 7,830 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1

รายจ่ายของประชากร (Living expenses of residents in Shaanxi) เฉลี่ยที่ 9,560 หยวน ลดลงร้อยละ 0.7 จำแนกเป็น รายจ่ายของประชากรเขตเมือง 11,882 หยวน ลดลงร้อยละ 4.21 และรายจ่ายของประชากรเขตชนบท 6,866 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6

7. การค้าระหว่างประเทศ

7.1 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของมณฑลส่านซีในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 236,226 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 6.02 แบ่งเป็น การส่งออก 144,233.8 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.69 และ การนำเข้า 91,992.62 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 16.92

 7.2 มูลค่าการค้ากับประเทศไทย

ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอาน ระบุว่า การค้าไทย-ส่านซีในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่า 1,533.18 ล้านหยวน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 5.99 แบ่งเป็น มณฑลส่านซีส่งออกไปไทย 1,439.96 ล้านหยวน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.3 และมณฑลส่านซีนำเข้าจากประเทศไทย 93.22 ล้านหยวน    ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 34.22

7.3 สินค้านำเข้า-ส่งออกหลัก

7.3.1 สินค้าที่มณฑลส่านซีนำเข้าจากไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

– พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบฯ  55.12 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 15.3

– พิกัดศุลกากร 26 สินแร่ ตะกรันและเถ้า 11.57 ล้านหยวน (ติดอันดับครั้งแรก)

– พิกัดศุลกากร 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล 10.62 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.72

– พิกัดศุลกากร 8 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ 4.07 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 84.43

– พิกัดศุลกากร 90 อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ฯ 3.19 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.8 เท่า

7.3.2 สินค้าที่มณฑลส่านซีส่งออกไปไทย 5 อันดับแรก ได้แก่

– พิกัดศุลกากร 85 เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบฯ 885.02 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.41

– พิกัดศุลกากร 63 ของที่ทำด้วยสิ่งทอ ที่จัดทำเป็นชุด เสื้อผ้าที่ใช้แล้วและของที่ใช้แล้วทำจากสิ่งทอ 121.89 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 1.03 เท่า

– พิกัดศุลกากร 8 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ 106.51 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.33

– พิกัดศุลกากร 87 ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบฯ 28.37 ล้านหยวนลดลงร้อยละ 33.25

– พิกัดศุลกากร 39 พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก 27.98 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 45.1

7.4 การส่งเสริมการส่งออกในระยะที่ผ่านมาของมณฑลส่านซี

นอกจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว มณฑลส่านซียังให้ความสำคัญต่อการยกระดับช่องทางการค้า อาทิ การก่อสร้างเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเขตเกษตรหยางหลิง (陕西杨凌综保区) ที่เป็นเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเฉพาะทางด้านเกษตรกรรมที่แรกในจีน โดยนอกจากจะเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าและบริการทางศุลกากรแล้ว ในอนาคตยังจะเปิดให้มีการเข้าไปลงทุนในกลุ่มการผลิตและแปรรูปอาหารพรีเมียม การผลิตยา และฐานการผลิตสารสกัดจากพืช[5] ตลอดจนการผลักดันการก่อตั้งสถาบันนวัตกรรมพลังงานสะอาดเมืองยวีหลิน โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Sciences: CAS) งบประมาณ 1,000 ล้านหยวน เพื่อเป็นฐานการวิจัยและทดลองที่สำคัญในการวิจัยและทดลองการใช้ถ่านหินอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดมลพิษน้อยที่สุด[6]

8. การจดจัดตั้งบริษัทใหม่

ข้อมูลจากกรมพาณิชย์มณฑลส่านซี ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 มณฑลส่านซีมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 398,600 ราย โดยเป็นการจดจัดตั้งบริษัทใน 6 อุตสาหกรรมเสาหลักของของนครซีอาน (西安市六大支柱产业: Six pillar industries in Xi’an) ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการผลิตสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ (2) เภสัชกรรมชีวภาพ (3) การผลิตวัสดุใหม่และพลังงานสะอาด (4) การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ (5) การบินและการอวกาศ และ (6) การผลิตรถยนต์ มากถึง 297,900 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.74 ของจำนวนการจดจัดตั้งบริษัทใหม่ทั้งมณฑล

9. เส้นทางการบินระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน มณฑลส่านซีได้เริ่มเปิดให้สามารถทำการบินระหว่างประเทศทั้งในกลุ่มผู้โดยสารและสินค้า โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 สนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยาง ได้ประกาศให้บริการเที่ยวบินผู้โดยสารนครซีอาน-กรุงโตเกียวเป็นครั้งแรก ภายหลังได้งดให้บริการไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ที่นครซีอานมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรง โดยจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา[7]

ในส่วนของเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 เขตเมืองใหม่ซีเสียน Airport New City ได้ประกาศให้บริการจากนครซีอาน-นครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รัสเซีย ซึ่งถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าข้ามทวีปเส้นทางแรกของปีที่ได้รับการอนุมัติ[8] โดยในอดีตในปี 2563 นครซีอานได้เคยอนุมัติเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังกรุงมอสโก และเส้นทางกรุงมอสโก- นครซีอาน-กรุงอัลมาตี ในปี 2564

ปัจจุบัน มณฑลส่านซีมีการอนุมัติ เส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไปแล้ว 22 เส้นทาง ครอบคลุมเกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา คาซัคสถาน ตุรกี อุซเบกิสถาน[9] โดยมากเป็นการเปิดให้บริการของไปรษณีย์เอกชน อาทิ SF และ YTO   

10. เส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว”

ตั้งแต่เดือน ม.ค. – 26 มิ.ย. 2565 “ฉางอันห้าว” ได้ขนส่งสินค้าไปแล้ว 1,731 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 7.3 (ขนส่งรวม 142,000 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 1.47 ล้านตัน) โดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือพันธมิตรได้แก่ ชิงต่าว หนิงโป   เซี่ยงไฮ้ และเซี่ยเหมินในการส่งออกสินค้าทางทะเล และยังร่วมมือกับเมืองขนาดรอง อาทิ เมืองสวีโจว มณฑลเจียงซี เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ในการขยายช่องทางการให้บริการขนส่งสินค้าอีกด้วย

โดยสรุป ในภาพรวมเศรษฐกิจมณฑลส่านซีระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 ส่านซียังคงเน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มุ่งเสาะหาประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ผ่านการยกระดับช่องทางการขนส่ง ทั้งทางอากาศและทางราง โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศที่ได้ทยอยกลับมาให้บริการเส้นทางการขนส่งสู่เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้จะมีการฟื้นฟูเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

มณฑลส่านซียังได้เร่งใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเส้นทางการขนส่งทางรางจากเดิมที่มุ่งสู่ยุโรปและเอเชียกลางเป็นหลัก โดยเมื่อช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นครซีอานได้ปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์สู่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยบรรทุกผลิตภัณฑ์ กลุ่มสิ่งทอ ออกจากเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน ใช้เวลาการขนส่งเพียง 5 วัน ถือเป็นครั้งแรกของมณฑลส่านซีที่มีการใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาวในการส่งออกสินค้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งสนับสนุนความคล่องตัวทางการค้า อาทิ การร่วมกับศุลกากรแห่งชาติ ประกาศให้ด่านขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในเขตโลจิสติกสน์นานาชาตินครซีอาน เป็นพื้นที่แรกในจีนที่สามารถดำเนินนโยบายคืนภาษี ณ ด่านสินค้าทางรางขาออก ซึ่งถือเป็นการลดระยะเวลาการพิจารณาและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจผู้ส่งออก ให้สามารถยื่นเรื่องได้ทันทีเมื่อขนส่งสินค้าทางรางออกจากด่านจากเดิมที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อสรรพกรโดยใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนในการพิจารณาและคืนภาษี นโยบายฯ นี้ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนเงินทุนของธุรกิจและผู้ประกอบการ กระตุ้นตลาด ตลอดจนเพิ่มแรงจูงใจในการด้านการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากการอนุมัติให้เป็นด่านสินค้าขาออกที่สามารถยื่นขอคืนภาษีได้แล้ว ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอานระบุว่า ภายหลังกรอบความตกลง RCEP ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ศุลกากรกวนจง (ศุลกากรท้องถิ่นในนครซีอาน) ได้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ไปแล้ว 6,300 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 3,800 ล้านหยวน ซึ่งมีส่วนช่วยให้วิสาหกิจส่งออกได้รับเงินคืนภาษีกว่า 187 ล้านหยวน อย่างไรก็ดี กรอบความตกลง RCEP ที่ประเทศไทยอาจพิจารณาเปิดตลาดสำหรับสินค้าส่งออกที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ อาทิ อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้แปรรูป ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคตอนในของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือที่เริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้นและมีความต้องการบริโภคสินค้าที่หลากหลายมากและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

 

*******************************

[1] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1737563571763874760&wfr=spider&for=pc

[2] China starts building 33 GW of coal power in 2021, most since 2016 -research | Reuters

[3] http://tjj.shaanxi.gov.cn/tjsj/tjxx/qg/202206/t20220613_2224439.html

[4] http://www.shaanxi.cn/jjxj/dcbg/yi2eYr.htm

[5] http://xian.customs.gov.cn/xian_customs/527440/527441/4371459/index.html

[6] http://xian.customs.gov.cn/xian_customs/527440/527441/4466588/index.html

[7] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1738406062736613964&wfr=spider&for=pc

[8] https://view.inews.qq.com/a/20220630A013HM00

[9] http://www.shaanxi.gov.cn/xw/sxyw/202206/t20220628_2226577.html

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน