เจาะลึก “กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊าและความร่วมมือเชิงลึก” กับโอกาสที่ไทยจะได้รับ

31 Jul 2017

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 นายเหอ ลี่เฟิง ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติ นายหม่า ซิ่งรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง นางแครี แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และนายชุย ซื่ออัน ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ร่วมลงนาม "กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊าและความร่วมมือเชิงลึก" (The Framework Agreement on Deepening Guangdong-Hong Kong-Macao Cooperation in Development of the Bay Area) โดยมีนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเป็นสักขีพยาน

กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊าและความร่วมมือเชิงลึก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้เกิดขึ้นในจีนตอนใต้และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจภาพรวมของจีน ผ่านโครงการความร่วมมือเชิงลึกในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ผลักดันบทบาทการเป็นผู้นำในทุก ๆ ด้านให้กับมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า มีระยะเวลาการดำเนินงานทั้งสิ้น 5 ปี โดยระหว่างนี้ทั้ง 4 ฝ่ายประกอบด้วยคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า จะร่วมจัดการประชุมเพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์โครงการ ติดตามผลงาน และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวอาศัยความได้เปรียบจากอุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้ง อุตสาหกรรมการเงินและโลจิสติกส์ของฮ่องกงและอุตสาหกรรมบริการของมาเก๊า ซึ่งโครงการอ่าวฯ จะเป็นโครงการที่เชื่อมพื้นที่ทั้ง 3 เข้าด้วยกัน โดยแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความได้เปรียบในแต่ละด้านระหว่างกันกัน โดยมีรัฐบาลกลางเป็นหน่วยงานเชื่อมและสนับสนุน โครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า มุ่งเน้นการพัฒนาและความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1.) โครงสร้างพื้นฐาน 2.) การตลาด 3.) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4.) อุตสาหกรรมการผลิต 5.) สิ่งแวดล้อมและการบริการ  6.) ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับสากล

โอกาสของไทยที่จะได้รับ

เปิดช่องทางการค้า

โครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เสมือนเป็นการรวมพลังของ 3 มังกรแห่งจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน  ซึ่งการที่โครงการอ่าวฯ จะสามารถเทียบชั้นเขตอ่าวอื่น ๆ ในโลกนั้น จำเป็นต้องมีระบบการจัดการและกฏระเบียบที่เปิดกว้างและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น จึงจะสามารถเอื้อต่อการขยายตัวของการค้า ความร่วมมือและการพัฒนาดไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งนอกจากกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊าจะพัฒนาตามแนวทางเขตอ่าวฯ แล้วทั้ง 3 พื้นที่ยังคงใช้แนวความคิดริเริ่ม One Belt, One Road ในการก้าวออกไปมีความร่วมมือกับ

นานาประเทศอีกด้วย แน่นอนว่าการจัดการและกฎระเบียบที่เปิดกว้างมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจะไทยที่จะส่งออกมายังจีนตอนใต้ผ่านฮ่องกงและส่งต่อมายังมณฑลกวางตุ้ง ก่อนที่จะกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนและมาเก๊า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อาหารแปรรูปและสินค้าอื่น ก็จะได้รับอานิสงค์ของการยกระดับการค้าในครั้งนี้ไปด้วย

นอกจากกฎระเบียบที่จะเปิดกว้างมากขึ้น พื้นที่อ่าวฯ ยังเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ อาทิ สะพานจูไห่-ฮ่องกง-มาเก๊า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง ท่าเรือดิจิตอลกวางตุ้ง-มาเก๊า เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการคมนาคมขนส่งดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเมืองในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง และมณฑลในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียงอื่น ๆ อีก 8 มณฑล ยิ่งสร้างโอกาสในการกระจายสินค้าให้แก่สินค้าไทยได้ดีกว่าเดิม การขนส่งสินค้าผ่านเข้ามายังเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและเพิ่มโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพให้แก่การส่งออกสินค้าของไทยในอนาคต

ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่

ปัจจุบันสินค้าและบริการของไทยได้รับความนิยมและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคชาวจีน อาทิ สินค้าประเภทผลไม้สด อาหารแปรรูป รวมถึงสินค้าบริการเช่น สปา การท่องเที่ยวและร้านอาหาร โครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าจะเชื่อมกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพที่สุดของจีนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดพลังการบริโภคอันมหึมาขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ จากสถิติอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรพบว่าในปี 2559 นครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเป็นสองอันดับแรกของจีน ทั้งนี้ พื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ยังมี GDP คิดเป็นร้อยละ 13 ของทั้งประเทศ ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าของประชาชนในพื้นที่แห่งนี้จะทวีกำลังขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า ตลาดผู้บริโภคในพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของสินค้าและบริการของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจที่จะนำสินค้าและบริการเข้ามาควรศึกษากฎระเบียบและทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอให้ดีขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคให้มากที่สุด



เศรษฐกิจจีนอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าเศรษฐกิจจีนตอนใต้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน