เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานเฮ!! ธุรกิจ E – Commerce ไปได้สวย รายได้ทะลุ 100,000 ล้านหยวน

16 Jan 2018

ภายหลังเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park : ITL) ได้รับการอนุมัติให้เป็นหนึ่งในฐานสาธิตอุตสาหกรรม Cross Border E-Commerce แห่งชาติเมื่อปี 2558 ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเข้าไปลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ (คลังจัดเก็บและกระจายสินค้า) และต่อมา ITL ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ในปี 2559 ITL ประสบความสำเร็จในการดึงดูดวิสาหกิจให้เข้าลงทุนมากกว่า 400 บริษัท สร้างรายได้มากถึง 30,000 ล้านหยวน นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหาร ITL  ยังได้ประกาศ “มาตรการสนับสนุนวิสาหกิจ E-Commerce ก้าวสู่ระดับ 100,000 ล้านหยวน” มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือวิสาหกิจที่ต้องการจะขยายสัดส่วนธุรกิจ ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม E-Commerce อันดับแรกของนครซีอานอีกด้วย

ITL หนุนวิสาหกิจท้องถิ่นบุก E-Commerce

ปัจจุบัน ITL ใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานที่ตั้งของคลังสินค้าของเว็บไซต์ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ประจำภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น JD.com, VIP, GOME, Suning, Alibaba Onetouch และ Lijun ทำให้ ITL มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการคลังสินค้ารวมถึงบริการที่เกี่ยวข้อง โดยตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา ITL ได้นำศักยภาพดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับวิสาหกิจเฉพาะกลุ่มเพิ่มเติม ได้แก่ (1) www.ccement.com (เว็บไซต์ฐานข้อมูลการซื้อขายปูนซีเมนต์) (2) www.steelcn.cn (เว็บไซต์ฐานข้อมูลการซื้อขายเหล็ก) (3) www.zgw.com (เว็บไซต์จำหน่ายวัสดุและผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูป) และ (4) การบริหารจัดการคลังสินค้าในกลุ่มรถยนต์ให้กับแพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์ www.renrenche.com รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มวิสาหกิจท้องถิ่น อาทิ ChinaDLJT เป็นต้น ซึ่งทำให้ผลประกอบการในปี 2560 ของ ITL มีมูลค่ามากถึง 100,000 ล้านหยวน ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2559 มากถึง 2.5 เท่า

 ปี 2561 ตั้งเป้าส่งเสริมธุรกิจภาคบริการ

ในปี 2561 ITL วางเป้าหมายจะส่งเสริมธุรกิจภาคบริการมากขึ้น ผ่านแนวคิด “E-Commerce + Culture” เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวออนไลน์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลซื้อขายสินค้าต่างๆ อาทิ (1) แผนความร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าส่งสินค้าออนไลน์ DHgate.com (2) แผนความร่วมมือกับเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์มือสอง (www.xin.com) และ (3) การก่อตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนการซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ของ Sunfood Group ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรรายใหญ่ของมณฑลส่านซี (4) แผนความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Cross Border E-Commerce ชื่อดัง Beijing XBniao.com ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายสินค้าต่างประเทศออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีการลงทุนก่อตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศ (Overseas Warehouse) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และทวีปยุโรป (5) แผนการลงนามความร่วมมือ Tewoo Group ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ (6) Yeahmobi ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอัจฉริยะและ Lifestyle Application อีกด้วย

ทั้งนี้ ITL ยังคงไม่ละทิ้งอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าแบบ Multimodal โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ITL ได้ร่วมมือกับสายการบิน China Eastern Airlinesและ Hainan Airlines เปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยใช้ประโยชน์จากสนามบินซีอานเสียนหยาง และสนามบินชุนเหยา ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการแล้วใน 2 เส้นทาง ได้แก่ นครซีอาน-กรุงอัมสเตอร์ดัมส์ เนเธอร์แลนด์ และนครซีอาน-นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อการขนส่งถึงเมืองเป้าหมายก็จะทำการขนถ่ายและกระจายสินค้าด้วยรถยนต์ต่อไปยังเมืองต่างๆ โดย ITL ตั้งเป้าหมายว่า ช่องทางการขนส่งดังกล่าวจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการส่งออกและกระจายสินค้าท้องถิ่นจากมณฑลส่านซีและมณฑลต่างๆ ของจีนไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ นอกเหนือจากการขนส่งระบบรางผ่านเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ได้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

1. http://news.cnwest.com/content/2017-12/27/content_15580622.htm

2. http://www.sohu.com/a/144761899_766558

3. http://www.itl.gov.cn/xwzx/cyxw/34947.htm

4. http://www.chinadaily.com.cn/m/shaanxi/itl/2017-12/28/content_35396983.htm

ShaanxiXi'anITLE-commerce

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน