ส่องตลาดแรงงานกว่างซีในไตรมาส 2/2566

5 Oct 2023

เว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซี ได้รายงานสถานการณ์การจ้างงานของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประจำไตรมาสที่ 2/2566 โดยระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์การจ้างงานยังคงรักษาเสถียรภาพได้ดี อัตราการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 4.82 (ตำแหน่งงาน : ผู้สมัครงาน) และค่าตอบแทนเฉลี่ยในการลงประกาศรับสมัครงานบนแพลตฟอร์ม gxrc.com มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเงินเดือนเฉลี่ยที่นายจ้างสนนให้กับลูกจ้างในกว่างซีอยู่ที่ 5,959 หยวน เพิ่มขึ้น 0.84% (QoQ) และเพิ่มขึ้น 0.25% (YoY)

ไฮไลท์ของตลาดแรงงานกว่างซีในไตรมาส 2/2566 มีดังนี้

       สาขาที่มีความต้องการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การผลิต การบริการเช่าซื้อ (Leasing and Business Services) การก่อสร้าง การบริการด้านไอที (การส่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์) และอสังหาริมทรัพย์

       สาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ช่างควบคุม ช่างประกอบและบรรจุ ช่างซ่อมเครื่องจักรกล งานผู้ช่วย และพนักงานขายทางโทรศัพท์

       ช่วงเงินเดือนในการจ้างงาน พบว่า การจ้างงานในช่วงเงินเดือน 10,000 – 19,999 หยวน มีแนวโน้มขยายตัวมากที่สุด โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.49% ในไตรมาสก่อน เป็น 7.39% ในไตรมาสนี้ ขณะที่ช่วงเงินเดือน 4,000 – 4,999 หยวน ยังครองสัดส่วนมากที่สุดที่ 23.28% ตามด้วยช่วงเงินเดือน 5,000 – 5,999 หยวน มีสัดส่วน 19.39% และช่วงเงินเดือน  6,000 – 7,999 หยวน มีสัดส่วน 17.92%

       สาขาที่สนนเงินเดือนเฉลี่ยในการการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (11,918 หยวน) การแปล (10,521 หยวน) ที่ปรึกษาและตัวแทนนายหน้า (10,447 หยวน) การจัดการดำเนินงาน (9,808 หยวน) และผู้จัดการผลิตภัณฑ์บนอินเทอร์เน็ต (9,390 หยวน)

       สาขาที่สนนเงินเดือนเฉลี่ยในการการจ้างงานน้อยที่สุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่บนอินเทอร์เน็ต (3,500 หยวน) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม (4,00 หยวน) อาหารเครื่องดี่มและสันทนาการ (4,019 หยวน) บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด (4,073 หยวน) และงานพิมพ์และสกรีน (4,142 หยวน)

       สาขาที่เงินเดือนเฉลี่ยปรับตัว ‘เพิ่ม’ สูงขึ้น ได้แก่ ที่ปรึกษาและตัวแทนนายหน้า เพิ่มขึ้น 56.23% (QoQ) การสอน/วิจัย เพิ่มขึ้น 21.93% (QoQ) ก่อสร้างและวิศวกรรม เพิ่มขึ้น 11.743% (QoQ)

       สาขาที่เงินเดือนเฉลี่ยปรับตัว ‘ดิ่ง’ ลง ได้แก่ บริหารจัดการระดับสูง ลดลง 22.45% (QoQ) อุปกรณ์การแพทย์และยา ลดลง 21.17% (QoQ) ทรัพยากรบุคคล ลดลง 1.86% (QoQ) และเสมียนและธุรการ ลดลง 4.78% (QoQ)

       เมืองที่สนนเงินเดือนเฉลี่ยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เมืองเป๋ยไห่ (6,347 หยวน) นครหนานหนิง (6,221 หยวน) เมืองยวี่หลิน (5,909 หยวน) เมืองชินโจว (5,671 หยวน) และเมืองกุ้ยก่าง (5,526 หยวน)

       เมืองที่สนนเงินเดือนเฉลี่ยน้อยที่สุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ เมืองไป่เซ่อ (5,147 หยวน) เมืองเหอฉือ (7,974 หยวน) เมืองฝางเฉิงก่าง (4,906 หยวน) เมืองหลายปิน (4,725 หยวน) และเมืองอู่โจว (4,514 หยวน)

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนกระแสการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการจ้างงานในเขตฯ กว่างซีจ้วง ตลาดมีความต้องการแรงงานทักษะที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี (tech skill) ทักษะด้านภาษา (language skill) ทักษะเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (creative and Innovation Skill) และทักษะในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ (analysis skill)

บีไอซี เห็นว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย เป็นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ตลาดแรงงานมีความต้องการทักษะแรงงานด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น ซึ่งเขตฯ กว่างซีจ้วงมีการวางระบบการศึกษาที่มุ่งผลิตบุคลากรที่มีทักษะที่เท่าทันกับยุคสมัยได้ดีพอสมควร แต่ความท้าทายอยู่ที่การ ‘เหนี่ยวรั้ง’ แรงงานจบใหม่ให้อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง(ด้วยค่าตอบแทนที่น่าดึงดูด) เนื่องจากวัยที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามักมีความมุ่งหวังที่จะไปแสวงหาโอกาส/เงินเดือนที่ดีกว่าในหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง

นักลงทุนไทยควรติดตามแนวโน้มของการจ้างงานในจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้นทุนในการจ้างงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดตั้งธุรกิจในจีน บีไอซี มีข้อสังเกตว่า หัวเมืองสำคัญทางภาคตะวันตกยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่าภาคตะวันออก มณฑลทางภาคตะวันตกถือเป็น ‘ตัวเลือก’ ที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ โดยหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญ คือ การสร้างสมดุลเรื่องค่าตอบแทนระหว่างพนักงานและองค์กรฝ


จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://news.gxrc.com (中新网广西) วันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2566
      

ตลาดแรงงานกว่างซี

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน