พาไปรู้จัก“เป็ด 3G”ของเศรษฐกิจจีน

7 Jan 2013

จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ย. 2555 ซึ่งมีการรายงานและ การแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจจีน สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

นายหู จิ่นเทา ปธน.จีน ได้รายงานต่อพรรคฯ ในวันที่ 8 พ.ย. 2555 เสนอเป้าหมายการพัฒนา ได้แก่

1) พัฒนาสังคมจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าของผลิตผลมวล รวมภายในประเทศ (GDP) และรายได้ต่อหัวของประชาชนในปี ค.ศ.2020 ให้สูงขึ้น 1 เท่า จากปี ค.ศ.2010 (เป็นประมาณ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยการสร้างสังคมประหยัดทรัพยากรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมประชาธิปไตยของประชาชน การส่งเสริมในการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการพัฒนา Soft Power ของจีน ให้แข็งแกร่ง เพื่อยกระดับชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน

2) เร่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจจีนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตลอดจนปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการยึดแนวคิดในการพัฒนาที่เป็นระบบตามแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Approach) โดย เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. ดำเนินการปฏิรูปกลไกทางเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะการถ่วงดุลระหว่างการควบคุมของรัฐบาลกับกลไกตลาดในระดับที่เหมาะสม
  2. ดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ การสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี
  3. การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การเน้นการขยายความต้องการของตลาดภายในประเทศในระยะยาว
  4. ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท
  5. พัฒนาและเปิดตลาดกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจีนบุกโลก (Go Global) มากขึ้น และมีการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์ในตลาดโลก

นายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศจีน และนายเฉิน เต๋อมิ๋ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2555 ณ ศูนย์แถลงข่าวของการประชุม สมัชชาพรรคฯ ว่า “เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจีนจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้พึ่งพิงตลาดภายในประเทศเป็นหลัก” โดยมีนโยบายสนับสนุนการเติบโตของตลาดภายในประเทศ 6 มาตรการ ได้แก่ ส่งเสริมการบริโภคอย่างปลอดภัย ส่งเสริมการ บริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมธุรกิจบริการ ส่งเสริมการบริโภคสินค้าแบรนด์เนม ดูแลและควบคุมการบริโภคในช่องทางออนไลน์ให้เป็นไปตามระบบ รวมทั้ง ส่งเสริมการบริโภคด้วยเครื่องมือการเงิน เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร การใช้บัตรเครดิต เป็นต้น

นายสีจิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนล่าสุด และว่าที่ประธานาธิบดีจีนคนต่อไป ซึ่งนับว่าเป็น

ผู้นำจีน รุ่นที่ 5 ได้แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ ภายหลังจากได้รับตำแหน่ง ในวันที่ 15 พ.ย. 2555 ว่า “จะเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และเสริมสร้างวินัยภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน”



ภาพ: การแถลงข่าวการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ย. 55



ภาพ: นายหู จิ่นเทา อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน (ผู้นำรุ่นที่ 4)



ภาพ: นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และว่าที่ประธานาธิบดีจีนคนต่อไป (ผู้นำรุ่นที่ 5)

ทาง BIC ได้ประมวลผลและถอดรหัสนโยบายเศรษฐกิจจีนข้างต้น จึงขอนำมาแบ่งปันท่านผู้อ่านที่รัก ดังนี้

ทิศทางการพัฒนาประเทศของจีนในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งจากแนวคิดการเปิดและปฏิรูป

ประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีน รุ่นที่ 2 ผ่านวิธีการ “คลำหินในแม่น้ำ ด้วยการทดลองแล้วขยายผลที่มีการพัฒนา มาโดยตลอด”ทั้งในยุคเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำจีน รุ่นที่ 3 และหู จิ่นเทา ผู้นำจีน รุ่นที่ 4 จนมาถึงสี จิ้นผิง ผู้นำจีน รุ่นที่ 5 ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากการประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ 18 ที่ผ่านมา และจากนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ที่สะท้อนจากการประชุมดังกล่าว ว่าต่อไปนี้จีนจะมุ่งเน้น “การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม” (Quality of Life, Sustainable Development & Go Green) ควบคู่ไปกับ “การส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยแนวคิดที่เป็นระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์” (Creativity, Innovation, Knowledge Base & Advance Technology) ประการสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ มาเป็น “การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตในระยะยาว” (Domestic Consumption Growth Engine) ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยเฉพาะ “ความนิยมสินค้าแบรนเนมด์ และพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ภายในประเทศ ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนข้างต้น สนับสนุนการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ จีนยังมีนโยบายในการ “กระจายความเจริญให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศจีน โดยเฉพาะ มลฑลตอนในและภาคตะวันตก” (Go West) ซึ่งจะก่อให้เกิด การขยายตัวของความเป็นเมือง” (Urbanization) และส่งผลให้ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ก่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศอย่างมีศักยภาพที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนต่อไปในอนาคต รวมทั้ง “การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจีนบุกโลกมากยิ่งขึ้น” (Go Global)

จึงกล่าวได้ว่านโยบายจีน ที่นอกจากจะเน้น “ความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ (Stability)” เป็นอันดับแรกแล้ว ยังใช้ความโดดเด่นของการมีระบบการเมืองและการบริหารประเทศที่เข้มแข็งกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สรุปเป็นคำสั้นๆ จำง่ายๆ ว่า “เป็ด 3G” หรือ “DUCK-3G” ได้แก่ D (Domestic Consumption Growth Engine) U (Urbanization) C (Creativity & Innovation) K (Knowledge Base & Advance Technology) 3G (Go West / Go Global / Go Green) เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน (Quality of Life) ซึ่งมี ความสอดคล้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ท้าทายคือ การปรับเปลี่ยนจากการพัฒนาในเชิงปริมาณมาเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น และนอกจากการพัฒนาในเชิงวัตถุ (Hardware) แล้ว การพัฒนาในเชิงระบบ (Software) และการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร (Peopleware) ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลามากกว่าการพัฒนาในเชิงวัตถุอย่างมาก

ดังนั้น ทาง BIC จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่รัก โปรดติดตามการพัฒนาของประเทศจีนต่อไปว่า… “เป็ด 3G” จะรสชาติดีและอร่อยถูกปากเหมือน “เป็ดปักกิ่ง” หรือไม่ ??



ภาพ: สรุปนโยบายประเทศจีน

(โดยเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 5)

นอกจากนี้ BIC ยังมีความข้อคิดเห็น เชื่อมโยงเพื่อสร้างสรรค์ผลประโยชน์กับประเทศไทย ดังนี้

ภาครัฐไทย

1. สามารถใช้ประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาใน “การวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระยะยาวให้ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้วิธีการทดลองแล้วขยายผล หารูปแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับประเทศไทย” ให้อยู่เหนือความไม่แน่นอนทางการเมือง และก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศ จึงจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพราะสามารถคาดการณ์วางแผนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยง

2. สามารถใช้ประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาในการ “ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งจากการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นเช่นเดียวกับจีน” เพราะในปัจจุบัน มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พึ่งพาการส่งออกสูงถึงประมาณ 70% ของ GDP ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศอยู่เสมอ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เป็นต้น รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าว ให้เป็นประโยชน์ใน “การวางแผนในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” เพราะความเป็นเมืองและชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากในอนาคตเหล่านี้ ย่อมจะส่งผลต่อทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้าน Soft Power โดยเฉพาะ ทัศนคติและความชื่นชอบความเป็นไทย ได้แก่ อาหาร ผลไม้ ศิลปวัฒนธรรม บันเทิง การท่องเที่ยว เป็นต้น เพราะจะเป็นการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ผูกพันยั่งยืนในระยะยาว



ภาพ: การบริหารยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน

1. สามารถใช้ประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาในการ “กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่ไปยังเมืองรองให้มากยิ่งขึ้น” โดยการขยายความเป็นเมือง (Urbanization) ให้ครอบคลุมทั่วถึงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อลดช่องว่างในการกระจายรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะ ประเด็นด้านโลจิสติกส์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์ รองรับการขนส่งวัตถุดิบ สินค้า และการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาด และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ประสานกับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน

2. ควรผลักดันและสนับสนุนเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยการพัฒนากลไกการประสานงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ครอบคลุมเชื่อมโยงทั้ง การวางแผน การขับเคลื่อน และการติดตามผล เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากประเด็น การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นความท้าทายและแนวโน้มระดับโลก (Global Trend) เพราะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น “ประเทศไทยจึงควรดำเนินการเตรียมความพร้อมอย่างทันการณ์ เพื่อพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน”

3. ควรใช้โอกาสที่ “ประเทศจีนสนับสนุนให้จีนบุกโลก (Go Global) เตรียมความพร้อมรองรับการค้าและการลงทุนกับจีนที่จะเติบโตขึ้น” โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากฎหมายที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่อยู่ในความสนใจของประเทศจีน การอำนวยความสะดวกและเชื่อมโยงธุรกิจไทยและจีน รวมทั้ง การปรับปรุงกลไกและประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการในส่วนของภาครัฐ

ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรใช้โอกาสจากการมีนักท่องเที่ยวจีนที่เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2555 มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนที่มาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยจำนวนถึง 2.2 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากที่สุดของประเทศไทย ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่มากขึ้นดังกล่าว จะได้รับผลพลอยได้จากปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศจีนกับญี่ปุ่น ทำให้ชาวจีนยกเลิกการไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วหันมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากขึ้นก็ตาม ดังนั้น “ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว วางมาตรการให้คุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวมีความยั่งยืน พัฒนาผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ บุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษาจีน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบที่รองรับการท่องเที่ยว โดยเน้นเชิงคุณภาพให้มากขึ้น” เพื่อสร้างความพอใจและความประทับใจ ที่จะส่งผลให้เกิดความภักดี (Loyalty) ในการมาท่องเที่ยวประเทศไทยซ้ำอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งแนะนำให้ผู้อื่นมาท่องเที่ยวประเทศไทยด้วย

4. ควรใช้โอกาสที่ “ประเทศจีนมีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นเชิงรุกและยืดหยุ่นมากขึ้นนี้ เชื่อมโยงและขยายความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากยิ่งขึ้น” ทั้งจากการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ระหว่างไทยและจีน รวมทั้งการใช้โอกาสที่ประเทศไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานอาเซียน-จีน (Coordinating Country for ASEAN-China) เพื่อพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคที่จะให้อาเซียนหรือเอเชียเป็นแกนกลางและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ได้แก่ ASEAN, ASEAN+3, ASEAN+6, RCEP (Regional Comprehensive. Economic Partnership) ซึ่งขณะนี้ มีความท้าทายจาก TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนกลาง ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียได้รับผลกระทบให้มีบทบาทในเวทีโลกลดน้อยลง ดังนั้น “ประเทศไทยควรต้องมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะ การพัฒนาหรือรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของไทยและสองประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ จีนและสหรัฐอเมริกา"



ภาพ: การสร้างความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของไทยและสองประเทศมหาอำนาจ

ภาคเอกชนไทย

1. ควรใช้ข้อมูลดังกล่าว ประกอบ “การวางแผนธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์” ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่เป็น ชนชั้นกลางที่จะเติบโตอย่างมีศักยภาพของประเทศจีน เพื่อรองรับกับสภาพตลาดจีนในอนาคต โดยเฉพาะ“แนวโน้มของพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนที่เปลี่ยนแปลงไป” ได้แก่ มั่งมีขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไฮเทคขึ้น ใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ นิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น รวมทั้ง ควรให้ความสำคัญกับ “ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น” เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จีนมีนโยบายในการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ประการสำคัญ ภาคเอกชนไทยควรสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยการต่อยอดพัฒนาจากธุรกิจที่ตนมีศักยภาพ โดยเฉพาะ

การสร้างแบรนด์ เพื่อครอบครองพื้นที่และตำแหน่งในใจของลูกค้า ที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา โดยการสร้างความแตกต่าง ด้วยความคิดสร้างสรรค์ การบริการ ทักษะ และฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบไทย รวมทั้ง ควรเพิ่มช่องทางในการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไทย ก็ควรพัฒนาความน่าเชื่อถือของคุณภาพสินค้า ระบบจัดส่ง และระบบชำระเงินออนไลน์ ควบคู่กันไป

2. ควรศึกษาและใช้ประโยชน์จาก “ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการในปัจจุบัน และอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินการในอนาคต” ได้แก่ GMS (Greater Mekong Subregion), IMT-GT (The Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle), ASEAN, ASEAN+3, ASEAN+6, RCEP (Regional Comprehensive. Economic Partnership), TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) เป็นต้น

3. สำหรับภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากเชิงปริมาณแล้ว นักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้ มีแนวโน้มจะพัฒนาในเชิงคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากความมั่งคั่งที่มากขึ้นจากเศรษฐกิจจีนและสกุลเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้ง พฤติกรรมการบริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าราคา ใส่ใจสุขภาพ นิยมสินค้าแบรนเนมด์ สินค้าและบริการ ที่หรูหรามากขึ้น ดังนั้น “ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสดังกล่าว ในการวางแผนธุรกิจ เพื่อดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่มีศักยภาพเหล่านี้ อีกทั้ง ควรใช้ศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ (Medical Hub) เพื่อรองรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้มาท่องเที่ยวควบคู่กับการใช้บริการด้านสุขภาพ (Medical Tourism)” ซึ่งนอกจากเป็นการขยายฐานลูกค้าทั้งการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาลแล้ว ยังทำให้เกิดการใช้บริการซ้ำและต่อเนื่องอีกด้วย

4. ควรเตรียมความพร้อมและใช้ประโยชน์จากการบุกโลกของจีน “สร้างโอกาสทางธุรกิจ เชื่อมโยงธุรกิจไทยให้เป็นส่วนหนึ่งในสายโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจจีน โดยการเป็นคู่ค้าหรือพันธมิตรกับผู้ประกอบการจีน สะท้อนผ่านแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) นอกจากนี้ ควรศึกษาและเตรียมความพร้อมในการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ”ทั้งการค้าและการลงทุน ในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และภาคการเงิน (Financial Sector) รวมทั้ง ควรเตรียมความพร้อมในการตั้งรับ สำหรับกรณีที่ธุรกิจจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งในประเทศไทย



ภาพ: การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อรองรับโอกาสที่จีนบุกโลก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน