ฉุดไม่อยู่ เงินเดือนขั้นต่ำจีนขึ้นอีก! ตอกย้ำไม่ใช่แหล่งค่าแรงถูกอีกต่อไป

20 Jun 2017

รัฐบาลจีนกำหนดให้สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของแต่ละมณฑล ปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำได้ตามสถาการณ์ทางเศรษฐกิจในพื้นที่ในทุกช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปี 2560 นี้ มีเพียงมหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น มณฑลซานตง ฝูเจี้ยนและส่านซี ประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ขณะเดียวกัน มณฑลและเมืองส่วนใหญ่อื่น ๆ ของจีนยังคงลังเลที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งระยะเวลาสำหรับการยื่นปรับเหลืออีกเพียงไม่ถึงเดือน สะท้อนให้เห็นความกังวลของรัฐกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว

ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าผลกระทบโดยตรงตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาปรับค่าจ้างมาตรฐาน รวมถึงประกันสังคมและสวัสดิการอื่น ๆ ของพนักงานที่อาจจะเชื่อมโยงกับค่าจ้าง ทั้งนี้นักลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะต้องใช้แรงงานควรตรวจสอบกฎระเบียบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อที่จะ สามารถทำความเข้าใจแนวโน้มค่าจ้างที่อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต โดยมณฑลและเมืองที่ปรับเปลี่ยนอัตราเงินเดือนขั้นต่ำประจำปี 2560 มีดังนี้

มหานครเซี่ยงไฮ้ ยังคงรั้งอันดับ 1 ของเมืองที่มีค่าแรงสูงที่สุดในจีน โดยในปีนี้ ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ส่งผลให้จากค่าแรง 2,190/เดือน หยวนในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 2,300 หยวน/เดือนในปีนี้ ขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงจาก 19 หยวน/ชั่วโมง เพิ่มเป็น 20 หยวน/ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจำนวนค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น แต่ทว่าอัตราการขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

แผนภูมิแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าแรงขั้นต่ำของมหานครเซี่ยงไฮ้ (ภาพ1/5)

เมืองเซินเจิ้น ปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหลังจากการปรับครั้งล่าสุดในปี 2548 การปรับครั้งนี้เพิ่มจากเดิม 2,030 หยวน/เดือน เป็น 2,130 หยวน/เดือน ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงเพิ่มจาก 18.5 หยวน/ชั่วโมง เป็น 19.5 หยวน/ชั่วโมง รั้งอันดับที่ 2 เมืองที่มีค่าแรงสูงที่สุดของจีน

แผนภูมิแสดงการเปลี่ยนแปลงค่าแรงขั้นต่ำของเมืองเซินเจิ้น (ภาพ2/5)

มณฑลซานตง แบ่งกลุ่มค่าแรงขั้นต่ำออกเป็น 3 กลุ่มเมือง ได้แก่ กลุ่ม A จากเดิม 100 หยวน/เดือน เพิ่มเป็น 1,810 หยวน/เดือน กลุ่ม B จากเดิม 90 หยวน/เดือน เพิ่มเป็น 1,640 หยวน/เดือน และ กลุ่ม C จากเดิม 40 หยวน/เดือน เพิ่มเป็น 1,470 หยวน/เดือน

ตารางแสดงการแบ่งกลุ่มค่าแรงขั้นต่ำตามเขตเมืองในมณฑลซานตง (ภาพ3/5)

มณฑลฝูเจี้ยน ปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อปี 2558 ซึ่งนอกจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว มณฑลฝูเจี้ยนยังปรับกลุ่มเมืองใหม่ โดยในกลุ่ม B เหลือเพียงนครฝูโจว ขณะที่เมืองหนิงปอ ฉวนโจวและจางโจว กลุ่ม C ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่กลุ่มเดียวกัน นครฝูโจวเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,350 หยวน/เดือน เป็น 1,650 หยวน/เดือน ขณะที่เมืองในกลุ่ม C เพิ่มเป็น 1,650 หยวน/เดือน ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าว เห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของนครฝูโจวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ตารางแสดงการแบ่งกลุ่มค่าแรงขั้นต่ำตามเขตเมืองในมณฑลฝูเจี้ยน (ภาพ4/5)

มณฑลส่านซี แบ่งกลุ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่ม โดยนครซีอานมีค่าแรงสูงสุด 1,680 หยวน/เดือน 16.8 หยวน/ต่อชั่วโมง สูงที่สุดในมณฑลส่านซี

ตารางแสดงการแบ่งกลุ่มค่าแรงขั้นต่ำตามเขตเมืองในมณฑลส่านซี (ภาพ4/5)

 

ขณะนี้มีเพียง 5 เมือง/มณฑล ที่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2560 นี้ โดยเมืองส่วนใหญ่ทำการปรับไปตั้งแต่ปี 2558 มีเพียงมหานครเซี่ยงไฮ้และมณฑลซานตงที่ปรับในปี 2559

ในปี 2559 สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมจีน China’s Ministry of Human Resources and Social Security (MOHRSS) ได้ประกาศให้แต่ละมณฑลสามารถปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำได้ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างอิสระและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ MOHRSS อนุญาตให้แต่ละเมืองปรับค่าแรงขั้นต่ำในทุก 2 ปี

การปรับค่าแรงขั้นต่ำในจีนขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมายอาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าแรงเฉลี่ย ค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาเป็นปัจจัยหลักในการคำนวนค่าแรงขั้นต่ำทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่าแรงในจีนปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึงแม้ว่าจีนจะก้าวเข้าสู่ช่วงชะลอตัวของเศรษฐกิจ อนึ่ง รัฐบาลของมณฑลหรือเมืองใหญ่ ๆ ในจีน ยังคงมีการปรับขึ้นค่าแรง เพราะว่าต้องการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งในด้านการจัดเก็บภาษีของภาครัฐเอง การมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้การขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของระบบอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน

มณฑลกวางตุ้งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นโรงงานของโลกอย่างเมืองตงก่วน โรงงานมากมายทยอยปิดตัวลงเนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ออกนโยบายด้านการลงทุน ที่สนับสนุนให้โรงงานที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักย้ายเข้าไปสู่เมืองชั้นใน อาทิ เม่าหมิง หยุนฝู จ้าวชิ่ง ชิงหย่วน เป็นต้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดันให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต และกระจายรายได้สู่เมืองชั้นในที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่า

ผู้ประกอบการ SME ไทย ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในจีน นอกจากจะต้องศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเพื่อการตลาดที่มีประสิทธิภาพแล้ว ไม่ควรมองข้ามกฎระเบียบการจ้างงาน โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนทางธุรกิจ

ท่านสามารถติดตามข่าวและบทความเกี่ยวกับธุรกิจในจีนที่น่าสนใจเพิ่มเติม ได้จากเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com หรือเฟสบุคแฟนเพจ www.facebook.com/thaibizchina โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

เซี่ยงไฮ้กว่างโจวเงินเดือนเศรษฐกิจจีนลงทุนในจีนเงินเดือนขั้นต่ำเงินเดือนจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน