ความเปลี่ยนแปลงของกว่างซี ในแผนพัฒน์ฉบับที่ 12

2 Dec 2015

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมแบบก้าวกระโดดตลอดช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2558 นี้

บทสรุปผลงานและเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของกว่างซี ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มีดังนี้

เศรษฐกิจมหภาค : คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีการขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 10 (สูงกว่าทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 2 จุด) ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากในช่วงปี ค.ศ.2011-2014 ที่มีระดับการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.6

ปีนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ที่ราว 1.69 ล้านล้านหยวน ในช่วงปี ค.ศ.2011-2014 ที่มีระดับการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.6 มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 9.56 แสนล้านหยวนเป็น 1.56 ล้านล้านหยวน และผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP Per Capita) อยู่ที่ราว 35,000 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2010 (ปีสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อน) 1.73 เท่า

อุตสาหกรรม : การเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาด้านคุณภาพและผลิตภาพ โดยการดำเนินมาตรการเพื่อการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ของอุตสาหกรรมดั้งเดิม การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ และการควบคุม(กำจัด)อุตสาหกรรมล้าหลัง

มาตรการข้างต้นช่วยให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของมณฑลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 และอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วง 4 ปีมานี้ อัตราส่วนการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพี (Energy consumption per unit GDP) ลดลงสะสมร้อยละ 13.7 และอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิ (ภาคบริการ) ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน : แผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบัน นับเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในกว่างซี โดยเฉพาะระบบการคมนาคมขนส่งแบบหลายมิติ

ประจักษ์พยานชิ้นสำคัญก็คือ การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 1,600 กิโลเมตร คิดเป็น 1/10 ของทั้งประเทศ และกำลังจะขยายเส้นทางเพิ่มเติมอีกในหลายเส้นทาง การก่อสร้างทางด่วนพิเศษสู่พื้นที่ชนบทครอบคลุมร้อยละ 73 ของอำเภอทั่วมณฑล และการก่อสร้างและขยายพื้นที่ท่าอากาศยานในหลายเมือง (T2 นครหนานหนิง และเมืองเหอฉือ เปิดใช้งานแล้ว)

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2011-2014) การลงทุนรวมในสินทรัพย์ถาวรมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 22.7 (สูงค่าทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 3.2 จุด) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.85 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดเป็น 2.1 เท่าของแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อน

ปากท้องประชาชน : การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมความมั่นคงและการเติบโตของรายได้ประชาชนนับเป็นภารกิจสำคัญที่ภาครัฐกว่างซีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มค่าตอบแทนและการยกระดับผลิตภาพแรงงานให้มีความสอดคล้องตามสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเขตเมืองมีรายได้ที่นำไปใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นจาก 18,854 หยวนเป็น 24,669 หยวน (เฉลี่ยเกือบร้อยละ 7) ชาวชนบทมีรายได้เฉลี่ยสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 5,231 หยวนเป็น 7,565 หยวน (เฉลี่ยร้อยละ 9.6)

กว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณรายได้ในกว่างซีถูกใช้เพื่อการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกด้าน เช่น สวัสดิการสังคม การศึกษาและวัฒนธรรม การอยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การช่วยเหลือภัยพิบัติ และการแก้ไขความยากจน และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ปีหน้า (ปี 2559) เป็นปีเริ่มต้นศักราชใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน 5 ปี ฉบับที่ 13 (ค.ศ.2016-2020) ที่รัฐบาลจีนได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพความมั่นคงภายใต้แนวคิดหลัก "ดุลยภาพใหม่" (New Normal) และรัฐบาลระดับมณฑลต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในภาวะที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ชะลอตัวเศรษฐกิจ

ความชัดเจนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเป็นอย่างไร? และภาคธุรกิจไทยจะต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวอย่างไร? บีไอซีจะติดตามความเคลื่อนไหวมานำเสนอกับท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไป

 

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ภาพเล่าเรื่อง : ส่องแผนพัฒน์จีน 5 ปี ฉบับที่ 13 (ค.ศ.2016-2020)

กว่างซีเศรษฐกิจและสังคมแผนพัฒนา

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน