กว่างซีดัน ‘ลิ้นจี่’ จากเศรษฐกิจการเกษตรสู่อุตสาหกรรม ต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย

24 May 2022

ไฮไลท์

  • ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูก ‘ผลไม้เมืองร้อน’ ได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นหลายชนิดจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะลิ้นจี่ ที่พร้อมจะออกสู่ตลาดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
  • เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่สำคัญของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองชินโจว จากข้อมูลพบว่า ปีนี้ เมืองชินโจวมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ราว 4.5 แสนไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่า 4 แสนตัน ในจำนวนนี้ เป็นผลผลิตจากอำเภอหลิงซานราว 1.5 แสนตัน
  • หลายปีมานี้ เมืองชินโจวกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับลิ้นจี่ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปเรียนรู้และต่อยอดได้ อาทิ การพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบ Online กับ Offline เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายของเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ และการแสดงบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนการต่อยอดสินค้าแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
  • ด้วยสภาพภูมิอากาศของกว่างซีที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ทำให้ผลไม้หลายชนิดสามารถปลูกได้ดีในกว่างซี  และที่สำคัญกว่างซีได้พยายามพัฒนาเทคนิคการปลูกด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยไม่ควรชะล่าใจ เพราะจีนได้พัฒนาเทคนิคการปลูกและสายพันธุ์ผลไม้ที่ทับซ้อนกันกับไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูก ‘ผลไม้เมืองร้อน’ ได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นหลายชนิดจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย

ในช่วงเดือนมิถุนายนที่กำลังจะมาถึง ถือเป็น ‘หน้าลิ้นจี่’ (ลิ้นจี่ของกว่างซีออกสู่ตลาดช้ากว่าลิ้นจี่จากมณฑลไห่หนานและมณฑลกวางตุ้ง) โดย “ลิ้นจี่” เป็นผลไม้ปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จีนตอนใต้ โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ผลผลิตรวมกันมากกว่า 85% ของทั้งประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลยูนนาน และมณฑลเสฉวน

สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง มีบันทึกเกี่ยวกับการปลูกลิ้นจี่ยาวนานกว่า 2,100 ปี ข้อมูลปี 2564 พบว่า กว่างซีมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 1.27 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิต 9.78 แสนตัน (เฉลี่ยไร่ละ 1.3 ตัน) แหล่งปลูกลิ้นจี่ที่สำคัญอยู่ที่เมืองชินโจว เมืองยวี่หลิน และเมืองกุ้ยก่าง ลิ้นจี่ที่ปลูกมีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี (ลิ้นจี่ไทยออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม)

“เมืองชินโจว” เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ ‘นับเบอร์วัน’ ของกว่างซี ประวัติการปลูกลิ้นจี่ของเมืองชินโจวสามารถนับย้อนกลับไปไกลกว่าพันปี ปัจจุบัน มีต้นลิ้นจี่อายุมากกว่า 500 ปี จำนวน 86 ต้น ในจำนวนนี้ มีต้นลิ้นจี่โบราณอายุมากกว่า 1,500 ปี จำนวน 1 ต้นอยู่ในหมู่บ้านเติ้งเจีย ตำบลซินซวี อำเภอหลิงซาน (Lingshan County/灵山县) ทำให้อำเภอแห่งนี้ได้รับการขนานนามเป็น “บ้านเกิดแห่งลิ้นจี่ของประเทศจีน”

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เมืองชินโจวได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อส่งสัญญาณว่าลิ้นจี่ของเมืองชินโจวกำลังจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ในงานแถลงข่าวได้ข้อมูลว่า ลิ้นจี่ที่ปลูกในเมืองชินโจวมีมากกว่า 60 สายพันธุ์ ปี 2565 เมืองชินโจวมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ราว 4.5 แสนไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่า 4 แสนตัน ในจำนวนนี้ เป็นผลผลิตจากอำเภอหลิงซานราว 1.5 แสนตัน คาดว่าในช่วงสัปดาห์แรกที่ลิ้นจี่พันธุ์สนมยิ้ม หรือที่ภาษาจีนเรียกว่าพันธุ์เฟ่ย จื่อเซี่ยว (妃子笑) ออกสู่ตลาด ราคาขายปลีกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 หยวน หลังจากนั้นลิ้นจี่พันธุ์อื่นก็จะเริ่มทยอยออสู่ตลาด โดยราคาก็จะแตกต่างกันตามสายพันธุ์

หลายปีมานี้ เมืองชินโจวให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมลิ้นจี่เป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดรับกับแนวทางที่รัฐบาลกว่างซีที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอเร่งพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้แต่ละอำเภอมีอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบท และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่เป้าหมาย “สังคมเสี่ยวคัง” หรือสังคมอยู่ดีกินดีแบบรอบด้าน ซึ่งประเทศไทยสามารถนำไปเรียนรู้และต่อยอดได้ อาทิ

การพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบ Online กับ Offline เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายของเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่

ในยุคที่ธุรกิจ eCommerce เติบโตแบบก้าวกระโดด กลยุทธ์ทางการตลาดที่เรียกว่า Video Marketing เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่ใช้ กรุยทางสำหรับการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการไลฟ์สดขายสินค้า (Live streaming) บนแอปพลิเคชัน Tiktok จีนที่มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย (ยอดผู้ใช้งานรายวัน หรือ Daily Active User ราว 600 ล้านคน) ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายช่องทางการค้า ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน

Video Marketing คืออะไร เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กลยุทธ์ที่ใช้วิดีโอเป็นสื่อในการทำการตลาดออนไลน์ เพราะเป็นคอนเทนท์ที่เสพง่าย ใช้เวลาสั้น คลิปวิดีโอยิ่งน่าสนใจก็จะมีการแชร์ต่อมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่ช่วยดึงดูดลูกค้าผ่านโซเซียลมีเดียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเนื้อหาวิดีโอที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตเกษตรกร ประสบการณ์การทำการเกษตร แนวทางการทำการเกษตร และการสร้างเรื่องราว (storytelling) ให้กับตัวสินค้า

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยีมาบริหารธุรกิจมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตรที่เริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจ และเป็นตัวอย่างที่ภาคการเกษตรไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างเพื่อการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจได้

บทบาทของภาครัฐกับการต่อยอดสินค้าแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะในบางปีที่ผลผลิตล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา

การสร้าง Value Added ให้กับสินค้าเกษตรท้องถิ่นด้วยสิ่งที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้ในท้องถิ่น นอกจากเทรนด์สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดสารพิษแล้ว การพัฒนาสินค้าสินค้าเกษตรที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications – GI) และการสร้างการรับรู้ต่อสินค้า GI เป็นสิ่งที่เมืองชินโจวดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ‘ลิ้นจี่หลิงซาน’ เป็นหนึ่งในสินค้า GI ของกว่างซี เนื่องจากสินค้า GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นผู้เล่นสำคัญในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าจากชุมชนที่จำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

แนวทางการจัดการกับผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมลิ้นจี่ของเมืองชินโจว ภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคการเกษตรเร่งพัฒนาธุรกิจแปรรูปสินค้าเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เช่น การผลิตเหล้าลิ้นจี่ น้ำลิ้นจี่หมัก (lychee cider vinegar) เครื่องดื่มลิ้นจี่ ลิ้นจี่กระป๋อง เนื้อลิ้นจี่อบแห้ง ผลลิ้นจี่แห้ง น้ำผึ้งลิ้นจี่ และชาลิ้นจี่ โดยสินค้าบางประเภทได้ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศแล้ว

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เกษตรได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ในอำเภอหลิงซานในการพัฒนาการปลูกลิ้นจี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตลิ้นจี่ที่มีคุณภาพสูง เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทาบกิ่ง การปรับสภาพดินให้เกิดความสมดุล และเทคนิคการป้องกันและควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยแสง (เทคนิคใหม่ครั้งแรกในจีน) ซึ่งได้ผลร้อยเปอร์เซนต์ในพื้นที่ทดลอง ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ยาฆ่าแมลง รวมถึงการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร(คนยากจน)ที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ดี

นอกจากนี้ อำเภอหลิงซานยังได้พัฒนาพื้นที่นำร่องเทคนิคการปลูกลิ้นจี่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมลิ้นจี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและครบวงจร ทั้งการผลิตและแปรรูปลิ้นจี่คุณภาพสูง การพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ลิ้นจี่ การทดลองและเผยแพร่เทคนิคการปลูกลิ้นจี่พันธุ์ดี การท่องเที่ยวและสันทนาการในสวนลิ้นจี่ การร่วมมือและแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการสมัยใหม่ และการส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการทำธุรกิจออนไลน์และดึงดูดธุรกิจสตาร์ทอัปให้เข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจร่วมกัน

บีไอซี เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นของกว่างซีมีลักษณะคล้ายกับการพัฒนาสินค้า OTOP ของประเทศไทย แตกต่างกันตรงที่ ขนาด(Scale) ที่อำเภอในกว่างซีมุ่งเป้าหมายการพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) ภายใต้แนวทางการรวมกลุ่ม (Cluster) และการแบ่งงานกันทำ ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรมีผลิตภาพสูง สินค้ามีชื่อเสียง และมีคุณภาพมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในประเทศจีน ซึ่งอำเภอที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยสามารถเรียนรู้และนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับการพัฒนาได้

ด้วยสภาพภูมิอากาศของกว่างซีที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ทำให้ผลไม้หลายชนิดสามารถปลูกได้ดีในกว่างซี ไม่ว่าจะเป็นลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอ มะม่วง มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง ขนุน ชมพู่ สับปะรด กล้วยหอม และเสาวรส และที่สำคัญกว่างซีได้พยายามพัฒนาเทคนิคการปลูกด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าผลไม้เมืองร้อนของไทยจะมีชื่อเสียงและยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดจีนได้สูงในปัจจุบัน แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยไม่ควรชะล่าใจ เพราะจีนได้พัฒนาเทคนิคการปลูกและสายพันธุ์ผลไม้ที่ทับซ้อนกันกับไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง

กรณีตัวอย่าง ส้มโอทับทิมสยาม ผลไม้ที่มีมูลค่าสูงในประเทศไทยที่เมื่อปี 2563 บริษัท Gaoming Agriucutural (高明农业) ในนครหนานหนิง ได้นำกิ่งพันธุ์แท้เข้ามาทดลองปลูกในกว่างซี และส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นหันมาปลูกในมณฑล โดยประเทศไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับส้มโอทับทิมสยามของไทยให้กับผู้บริโภคชาวจีน หากผลผลิตส้มโอทับทิมสยามในท้องถิ่นกว่างซีได้ทยอยออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาและความต้องการนำเข้าในตลาดจีนก็เป็นได้

นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งของไทยรายอื่น อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอยู่ด้วยเช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 21 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (
中国新闻网) วันที่ 20 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.chyxx.com  (
产业信息网) วันที่ 27 เมษายน 2565

ลิ้นจี่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน