กวางตุ้งทุ่มเงินกว่า 3.5 ล้านล้านหยวน เดินหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่ง (Guangdong Coastal Economic Belt Development)

19 Dec 2017

รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งทุ่มเงินกว่า 3.5 ล้านล้านหยวน หรือราว 5.29 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Coastal Economic Belt Development) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 120,900 ตารางกิโลเมตรใน 15 เมือง โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้พื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของมณฑลกวางตุ้งเป็นกลุ่มฮับยุทธศาสตร์เมืองชายฝั่งระดับโลก ตั้งเป้า GDP ทะลุ 9.2 ล้านล้านหยวน และ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคพื้นสมุทร (Gross Ocean Product – GOP) 2.2 ล้านล้านหยวน ภายในปี 2063

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งมีพื้นที่ทั้งหมด 120,900 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 58,700 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 32.7 ของพื้นที่มณฑลกวางตุ้งทั้งหมด)และภาคพื้นทะเล 64,700 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน หุ้ยโจว ตงก่วน จงซานและเจียงเหมิน พื้นที่ชายฝั่งกวางตุ้งตะวันออก ได้แก่ เมืองซ่านโถว (ซัวเถา) ซ่านเหว่ย เฉาโจว(แต้จิ๋ว)และเจียหยาง พื้นที่ชายฝั่งกวางตุ้งตะวันตก ได้แก่ เมืองจ้านเจียง ม้าวหมิงและหยางเจียง

เป้าหมายสำคัญ

โครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น การพัฒนารูปแบบการจัดพื้นที่แบบวิทยาศาสตร์ สร้างระบบนวัตกรรมแบบเปิดอย่างเป็นสากล สร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และสร้างยุทธศาสตร์ในการเป็นฮับโลจิสติกส์ระดับโลก โดยเป้าหมายเหล่านี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะสิ้นสุดในปี 2573 มุ่งพัฒนาใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ นวัตกรรม อุตสาหกรรมการผลิต สังคมประชากรและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาในโครงการชายฝั่งทะเลมณฑลกวางตุ้งไว้อย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ 1 หัวใจ 2 แขน 2 ข้อต่อ

มณฑลกวางตุ้งกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละเมืองไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เป็น "1 หัวใจ" สำคัญของโครงการ โดยมีนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาในระบบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางทะเลและทางอากาศ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการขยายความร่วมมือกับฮ่องกงและมาเก๊า

กำหนดให้กลุ่มเมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและตะวันออกของมณฑลเป็น "2 แขน" ของการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ โดยกลุ่มเมืองในชายฝั่งตะวันออก ได้แก่ เมืองซ่านโถว (ซัวเถา) เฉาโจว(แต้จิ๋ว)และเจียหยาง โดยกำหนดให้เมืองซัวเถาเป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือด้านตะวันออกและขยายการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อกับมณฑลเจียงซีและมณฑลฝูเจี้ยน กลุ่มเมืองในชายฝั่งตะวันตก ได้แก่ เมืองจ้านเจียงและม้าวหมิง โดยกำหนดให้เมืองจ้านเจียงเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับท่าเรือต่างๆ ในฝั่งตะวันออกรวมถึงกลุ่มเมืองในเขตอ่าวเป่ยปู้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและไห่หนาน

กำหนดให้เมืองซ้านเหว่ยและเมืองหยางเจียงเป็น "2 เมืองข้อต่อ" เชื่อมต่อและเสริมความแข็งแกร่งให้กับแขนทั้งสองข้าง โดยเมืองซ่านเหว่ยเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกในเส้นทางกว่างโจว-ซัวเถา สร้างท่าเรือซ่านเหว่ยให้มีความพร้อม รวมถึงเร่งพัฒนาโครงการพื้นที่ความร่วมมือเซินเจิ้น-ซ่านเหว่ย (Shanwei Special Cooperation Zone in Shenzhen) เมืองหยางเจียงเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกในเส้นทางเซินเจิ้น-ม้าวหมิง สร้างท่าเรือหยางเจียงให้มีความพร้อม เร่งพัฒนาเขตสาธิตการขยายเศรษฐกิจเกาะไห่หลิง พัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ อุตสาหกรรมแสตนเลส ชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมท่าเรือ

กวางตุ้งอ้าแขนขยายความร่วมมือ 3 วงแหวน 1 แถบ

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลมณฑลกวางตุ้งเป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของจีน หรือ ไห่หยางจิงจี้(Marine Economic Development Zone) โดยรัฐบาลกลาง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2554 ในขณะนั้นได้จีนได้จัดตั้งเขตสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลใน 3 มณฑลสำคัญ ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง

ในปี 2555 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งนำโดยสำนักงานทะเลและการประมงได้จัดทำแผนพัฒนา "โครงการวงแหวนความร่วมมือเศรษฐกิจทางทะเลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า มีวัตถุประสงค์ในการร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตทางทะเลรูปแบบใหม่ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางทะเล การบริการด้านการเงิน การจัดเก็บสินค้าทางทะเล อุตสาหกรรมเรือเฟอรี่ ก่อนที่จะขยายรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวไปยังมณฑลใกล้เคียงทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกใน"โครงการวงแหวนความร่วมมือเศรษฐกิจทางทะเลกวางตุ้ง-ฝูเจี้ยน" และ "โครงการวงแหวนความร่วมมือเศรษฐกิจทางทะเลกวางตุ้ง-กว่างซี-ไห่หนาน" ซึ่งโครงการความร่วมมือดังกล่าวได้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้ทั้งหมดและกลายเป็น 1 แถบเศรษฐกิจทางทะเล (Blue Economic Belt) ที่สำคัญของจีน

แถบเศรษฐกิจทางทะเล (Blue Economic Belt) มีเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งจีนตอนใต้ กลุ่มเมืองซัวเถา แต่จิ๋ว เจียหยางและเหมยโจวเป็นศูนย์กลางของกวางตุ้งตะวันออกประสานกับวงแหวนกวางตุ้ง-ฝูเจี้ยน กลุ่มเมืองจ้านเจียง ม้าวหมิงและหยางเจียงเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของกวางตุ้งตะวันตกประสานกับวงแหวนกวางตุ้ง-กว่างซี-ไห่หนาน

มณฑลกวางตุ้งก็ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งประจำปี 2017-2030 (Guangdong Coastal Economic Belt Development) โดยมุ่งหวังที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ผลักดันให้มณฑลกวางตุ้งอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่ระดับ High-end ระดับโลก กระจายความเจริญไปสู่ชายฝั่งโดยรอบ เป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมยุทธศาสตร์ในทุกระดับ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) เขตพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (PPRD) เขตพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของจีน จนไปถึงเป็นมณฑลสำคัญในการดำเนินโครงการตามแนวคิดริเริ่ม One Belt One Road กับนานาประเทศ

ในปี 2559 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่า GOP เท่ากับ 1.59 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP ทั้งหมดของมณฑลกวางตุ้ง สูงที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นเวลา 22 ปี พื้นชายฝั่งของมณฑลกวางตุ้งจึงนับว่าเป็นพื้นที่ศักยภาพ เปิดกว้างและมีนวัตกรรมสูงที่สุดในจีน พร้อมที่จะผู้นำด้านเศรษฐกิจของจีนให้ก้าวไปสู่ระดับการแข่งขันที่สูงขึ้น 

กวางตุ้งมณฑลกวางตุ้งฮ่องกงมาเก๊าCEBDCoastalEconomicBeltDevelopmentGBAGreaterbayareaGuangdongPPRDเศรษฐกิจชายฝั่งกวางตุ้งเศรษฐกิจชายฝั่งจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน