กวางตุ้งทะยานอันดับ 1 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตสูงสุดของจีน

26 May 2016

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559  การประชุม อุตสาหกรรม “อภิมหาข้อมูล” (Big Data) จีนและการประชุมนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ประกาศรายงานดัชนีการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนระหว่างปี 2557-25558 โดยมณฑลกวางตุ้งมีค่าดัชนีการพัฒนาสูงสุดเป็นอันดับ 1ของจีน

มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มี GDP สูงสุดของจีน โดยในปี 2558 มีมูลค่ามากถึง 7.28 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 โดยในอุตสาหกรรมการบริการเป็นอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขเติบโตมากที่สุด คิดเป็น 3.69 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 9.7 สูงสุด ซึ่งเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของพฤติกรรมผู้บริโภคในมณฑลกวางตุ้ง ที่นิยมใช้บริการที่เกิดจากการจับจ่ายหรือซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของมณฑลกวางตุ้งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง

รายงานดัชนีการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนระหว่างปี 2557-25558 จัดทำขึ้นจากความร่วมมือของศูนย์วิจัยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยชิงหัว ศูนย์วิจัยอินเตอร์เน็ตเศรษฐกิจจีนมหาวิทยาลัยจงยางฉายจิง ศูนย์สังคมและวิทยาศาสตร์วิทยาลัยสังคมและวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กระทรวงพาณิชย์ ศูนย์วิจัย Ebrun.com และศูนย์วิจัยอาลี (อาลีบาบา) โดยแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ ดัชนีขนาด การเติบโต ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อรวมค่าดัชนีของทั้ง 4 ประเภทแล้วมณฑลกวางตุ้งได้คะแนนรวมสูงสุด เป็นอันดับ 1 แซงหน้ามณฑลเจ้อเจียง กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซู

โดยค่าดัชนีการพัฒนาอยู่ที่ 71.26 ในปี 2557 และ 69.67 ในปี 2558 โดยสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของตัวเลขมี 2 ประการสำคัญ ได้แก่

1.    เมืองเซินเจิ้นและเมืองตงก่วน ถือเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของบริษัทต่าง ๆ ที่นอกจากดำเนินการด้านอุตสาหกรรมการผลิตและยังมีแพล็ตฟอร์มเพื่อรองรับการค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง อาทิ เสื้อผ้า อุปกรณ์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก วัสดุก่อสร้างและรถยนต์

2.    มณฑลกวางตุ้งมีการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอกนิกส์ข้ามพรมแดนและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชนบทอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในปี 2558 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมากถึง 6,850 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่า 3.74 เท่า และมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชนบทมีมากถึง 73,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 64.3

จากข้อมูลดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า มณฑลกวางตุ้งยังคงเป็นกลุ่มตลาดที่น่าสนใจสำหรับสินค้าไทยที่ต้องการเข้ามาทำตลาดผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวกวางตุ้งที่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ ซึ่งไทยก็มีศักยภาพรวมถึงความน่าเชื่อถือด้านผลิตภัณฑ์อาหารที่ดี แต่ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดี ทั้งด้านความเข้าใจด้านผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงภาษาจีน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับตลาดสินค้าในจีน

กวางตุ้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน