ส่องนวัตกรรมในอุตสาหกรรม “น้ำตาล” กว่างซี ทำอย่างไรถึง ‘ยืนหนึ่ง’ ได้ในจีน

2 Jul 2024

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และขยะล้นโลก เป็นโจทย์ที่สังคมโลกกำลังให้ความตระหนักและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโลกใบนี้

วันนี้ บีไอซี จะขอนำท่านผู้อ่านไปพบกับ… ต้นแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจใน “อุตสาหกรรมน้ำตาล” กับการจัดการ “เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เขตการปกครองระดับมณฑลที่ ‘ยืนหนึ่ง’ ฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาล 33 ปีติดต่อกัน ด้วยสัดส่วนการผลิตราวร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ หรือพูดง่าย ๆ ว่า… น้ำตาลที่คนจีนใช้ทุก 3 ช้อน มี 2 ช้อนมาจากกว่างซี

หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงให้น้ำหนักกับ  (1) การพัฒนาการแปรรูปน้ำตาลเชิงลึก มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์น้ำตาล โดยส่งเสริมให้ธุรกิจน้ำตาลมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และ (2) การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและของเสีย ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

“ชานอ้อย” บ้างก็เรียก “กากอ้อย” เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยในโรงงานน้ำตาล ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ตามรายงาน ในฤดูกาลหีบอ้อย ปี 2566/2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงสามารถผลิตน้ำตาลได้ 6.18 ล้านตัน มีอัตราการใช้ประโยชน์หมุนเวียนจากชานอ้อย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็น “การเกษตรปลอด การเผา” (Zero Burn) ทำให้สิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นของไร้ประโยชน์เป็นจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่าง “ชานอ้อย” ได้รับการพลิกโฉม เพิ่มค่าด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการ

แนวทางการนำชานอ้อยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” และช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย อาทิ การนำชานอ้อยไปทำเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมัก ทำอาหารสัตว์ ทำเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในรูปแบบกากปกติ อัดเม็ด และอัดก้อน นำไปผลิตเอทานอล นำไปผลิตวัสดุก่อสร้างอย่างพวกกระดานไม้อัด นำไปผลิตเยื่อกระดาษ และนำไปผลิตภาชนะจานชามที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ

ในบริบทที่ “ภาชนะทางเลือก” ที่ย่อยสลายได้ง่ายกำลังเป็นที่ต้องการจากทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภาชนะจากวัสดุชีวภาพมากมาย โดย “ภาชนะชานอ้อย” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งมีความปลอดภัยและช่วยลดขยะประเภทถุงและภาชนะพลาสติก (ประเทศจีนห้ามใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร) โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นฐานการผลิตและส่งออก “ภาชนะชานอ้อย” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ในแง่ของการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นอกจากการสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแล้ว เขตฯ กว่างซีจ้วงยังผลักดันให้โรงงานน้ำตาลต่อยอดและยกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์และมีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โดยเฉพาะการแปรรูปน้ำตาล    เชิงลึกที่มีมากกว่า 20 ชนิด อาทิ น้ำตาลไซรัป/น้ำเชื่อม น้ำตาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา น้ำตาลที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่ (Functional Sugar) รวมถึงการพัฒนาความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มน้ำอ้อย และเหล้ารัม

เมื่อมาพิจารณาในบริบทของประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โครงสร้างอุตสาหกรรมมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเขตฯ กว่างซีจ้วง กอปรกับทุกภาคส่วนกำลังมุ่งผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-economy / Circular Economy / Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บีไอซี เห็นว่า แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของกว่างซี เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการเรียนรู้ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ หรือพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับกว่างซีในการใช้ประโยชน์จากอ้อยและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างชานอ้อย เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ “การเติบโตสีเขียว” (Green growth) และยังนับว่าเป็นการ “เปลี่ยนขยะเป็นเงิน” เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อีกทาง



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://fgw.gxzf.gov.cn (广西发改委) วันที่ 20 มิถุนายน 2567
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 19 มิถุนายน 2567

น้ำตาลเศรษฐกิจหมุนเวียนชานอ้อย

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน