จับตาความเคลื่อนไหว —— 20 ปี China-ASEAN Expo นัยสำคัญของความร่วมมือจีน-อาเซียน

14 Sep 2023
China-ASEAN Expo

ใกล้เข้ามาแล้ว… สำหรับงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2566 ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยปีนี้ ถือว่ามีความสำคัญและมีความยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะเป็นปีแรกหลังวิกฤตโควิด-19 ที่จีนเปิดให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเข้าไปเพื่อร่วมออกบูธจัดแสดงสินค้าได้แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 20 ปีของการจัดงานดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จะเดินทางมาเข้าร่วมพิธีเปิดและหารือกับผู้นำจากชาติสมาชิกอาเซียนด้วย

ในการจัดแถลงข่าวปีที่ 20 ของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (State Council Information Office/国务院新闻办公室) เกี่ยวกับงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 และ China-ASEAN Business and Investment Summit ได้ระบุถึง การคงมาตรฐานทางการเมืองและการทูตของในระดับสูง ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย  Building a harmonious homeland, a common destiny to the future – promoting high-quality development of BRI and building an economic growth center กับคีย์เวิร์ด 3 ปฐมบทใหม่ คือ

การดำเนินพันธกิจใหม่ : งาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 นี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำข้อริเริ่มสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปปฏิบัติ  ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มการร่วมกัน “สร้างบ้าน 5 หลัง” [1] ของจีนกับอาเซียน ข้อริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative : GDI) ข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative : GSI) และข้อริเริ่มด้านอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative : GCI) โดยใช้โอกาสการครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) และการครบรอบ 20 ปีของ China-ASEAN Expo และ China-ASEAN Business and Investment Summit เป็นจุดนัดรวมตัวของคณะผู้แทนระดับสูงของจีนและชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เชิงลึก ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างประชาคมจีนกับอาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

การจุดระเบิดขุมพลังใหม่ : เปิดหน้าศักราชใหม่ของความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกที่มีมาตรฐานสูง (high-standard opening up) โดยจะมีการจัดการประชุมคู่ขนานในหัวข้อ “การเปิดกว้างทางสถาบัน : รูปแบบใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความสำเร็จกับชาติสมาชิกอาเซียนในด้านการเปิดกว้างของสถาบัน (opening up based on rules and related institutions) ทั้งด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ การกำกับดูแล และมาตรฐาน การยกระดับแพลตฟอร์มความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกอย่างเขตทดลองการค้าเสรี เพื่อสร้างพลวัตใหม่ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

สุดท้าย คือ การสร้างผลลัพธ์ใหม่ : งาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 นี้ มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ มีวิสาหกิจเข้าร่วมเกือบ 1,700 แห่ง เป็นพื้นที่จัดแสดงของต่างประเทศมากกว่า 30% โดยพื้นที่จัดแสดงของชาติอาเซียนฟื้นคืนสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 ในส่วนนิทรรศการที่ฝ่ายจีนจัดขึ้นนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชั่น 3.0 โดยเน้นความร่วมมือในด้านสำคัญๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว ความมั่นคงและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรม และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดโซนนิทรรศการใหม่เป็นครั้งแรก อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การออกแบบอุตสาหกรรม และการเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้า (side event) อีกกว่า 70 กิจกรรม

ด้านการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า สำนักเลขาธิการงาน China-ASEAN Expo ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ สินค้าของผู้ประกอบการต่างชาติที่จะนำไปเข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายภายในงาน China-ASEAN Expo ได้เริ่มทยอยขนส่งถึงคลังสินค้าที่กำหนดในนครหนานหนิงเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่องแล้ว

นอกจากเรื่องการทดลองใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ ในงาน China-ASEAN Expo ปีนี้แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจับตาสำหรับงานในปีนี้คงเป็นความเคลื่อนไหวของประเทศฟิลิปปินส์ที่เตรียมนำ “ทุเรียน” มาเปิดตัวประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวหนานหนิง(จีน) ภายหลังจากที่ “ฟิลิปปินส์” เป็นชาติที่ 3 ที่ศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC อนุญาตให้ส่งออก “ทุเรียนสด” ไปยังจีนได้ ต่อจากประเทศไทย และเวียดนาม (มาเลเซีย ได้รับอนุญาตเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง) โดยความสำเร็จของการส่งออกทุเรียนฟิลิปปินส์ไปจีนเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำระดับสูง (ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เยือนจีนเมื่อเดือนมกราคม 2566)

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ทุเรียนฟิลิปปินส์ล็อตแรก (สายพันธุ์ Puyat น้ำหนัก 18 ตัน) ส่งออกไปประเทศจีนโดยเที่ยวบินคาร์โก้ HT3834 ของสายการบิน Tianjin Airlines ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (IATA: NNG) ของกว่างซี ทำให้ “ทุเรียนสด” เป็นผลไม้ส่งออกชนิดที่ 7 ของฟิลิปปินส์ที่สามารถส่งออกไปจีนได้ ต่อจากกล้วยหอม (75% ของการส่งออกไปจีน) สับปะรด มะม่วง มะละกอ มะพร้าว และอะโวคาโด

เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ได้ส่งทุเรียน Musang King น้ำหนัก 20 ตัน (แบบแช่เย็นทั้งลูก) ออกจากท่าเรือกวนตัน ไปยังท่าเรือชินโจว เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์และจำหน่ายในงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 และจะมีการเปิดป้ายศูนย์จัดแสดงทุเรียน Musang King ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนครหนานหนิง

ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา China-ASEAN Expo เป็นแพลตฟอร์มได้รับความสนใจจากวิสาหกิจชั้นนำของฟิลิปปินส์ มีภาคธุรกิจที่เข้าร่วมออกบูธมากกว่า 400 ราย โดยสินค้าที่นำไปเข้าร่วมงานฯ ส่วนใหญ่เป็นอาหาร สินค้าเกษตร งานศิลปะหัตถกรรม สิ่งทอเครื่องนุ่มห่ม และผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว

Tips… ส่องตลาดทุเรียนสดของประเทศจีน

ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 ประเทศจีนมีปริมาณการนำเข้า 989,000 ตัน เพิ่มขึ้น 56.36% (YoY) มูลค่าการนำเข้า 32,898 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 61.94% โดยมีแหล่งนำเข้าทุเรียนสดจาก 3 ประเทศ คือ ไทย (สัดส่วน 76.22% แง่ปริมาณ) เวียดนาม (สัดส่วน 23.72%) และฟิลิปินส์ (สัดส่วน 0.05%)

  • ประเทศไทย ปริมาณ 753,863 ตัน มูลค่า 25,733 ล้านหยวน ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 34.14 หยวน
  • เวียดนาม ปริมาณ 234,624 ตัน มูลค่า 7,150 ล้านหยวน ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 30.48 หยวน
  • ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 512 ตัน มูลค่า 13 ล้านหยวน ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 26.75 หยวน

มณฑลไหนชอบนำเข้าทุเรียนมากที่สุด : มณฑลกวางตุ้ง (สัดส่วนต่อทั้งประเทศ 31.42%) เขตฯ กว่างซีจ้วง (17.09%) มณฑลยูนนาน (14.45%) มณฑลเจ้อเจียง (11.11%) และนครฉงชิ่ง (6.99%)

‘ทุเรียนไทย’ ยังรักษาฐานที่มั่นเดิมได้ดี : มณฑลกวางตุ้ง (สัดส่วน 36.36% ของปริมาณนำเข้าจากไทย) มณฑลยูนนาน (15.95%) เขตฯ กว่างซีจ้วง (13.23%) มณฑลเจ้อเจียง (9.32%) และนครฉงชิ่ง (7.66%)

‘ทุเรียนญวน’ เข้าท้าชิงตลาดดั้งเดิมของไทย : เขตฯ กว่างซีจ้วง (สัดส่วน 29.51% ของปริมาณนำเข้าจากเวียดนาม) มณฑลเจ้อเจียง (16.76%) มณฑลกวางตุ้ง (15.62%) มณฑลยูนนาน (9.68%) และมณฑลเจียงซู (5.81%)

‘ทุเรียนปินส์’ ยังตอบยากว่า ได้ใจ หรือแค่อยากลองของใหม่ : มณฑลเจ้อเจียง (สัดส่วน 29.51% ของปริมาณนำเข้าจากฟิลิปปินส์) นครเซี่ยงไฮ้ (23.67%) มณฑลกวางตุ้ง (13.34%) มณฑลหูหนาน (1.43%) และมณฑลซ่านซี (0.70%) แต่ที่แน่ๆ ‘ทุเรียนปินส์’ ไม่พลาด เล็งคว้า โอกาส เปิดตลาดทุเรียนในจีนผ่านแพลตฟอร์ม —– งาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20

บีไอซี เชื่อมั่นว่า งาน China-ASEAN Expo ปีนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจ และช่วยสร้างโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย

[1] ในปี 2564 ในการประชุมสุดยอด ความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ครบรอบ 30 ปี ประธานาธิบดีสีฯ ได้เสนอแนวคิดริเริ่ม “สร้างบ้านห้าหลัง” เพื่อร่วมกันสร้างบ้านที่สันติ บ้านที่สงบสุข บ้านที่มั่งคั่ง บ้านที่สวยงาม และบ้านที่เป็นมิตร



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 03 กันยายน 2566
       เว็บไซต์ www.scio.gov.cn/ (国务院新闻办公室) วันที่ 26 สิงหาคม 2566
       เว็บบล็อก China-ASEAN Panorama  (广西《中国-东盟博览》杂志官方账号) วันที่ 25 สิงหาคม 2566
       เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署网)

China-ASEAN Expoจีน-อาเซียน

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน