โอกาสของไทยในอุตสาหกรรมพืชน้ำมันหอมระเหยจีน

5 Aug 2019

ไฮไลท์

  • จีนเป็นประเทศที่มีทรัพยากรพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจ มีพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยในจีนกว่า 60 ตระกูล 400 กว่าชนิดจากกว่า 1,500 ชนิด (ที่ค้นพบในโลก) หรือเกือบ 40% ของพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยในโลกมีอยู่ในจีน โดยเฉพาะเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย” ของจีน
  • แม้ว่าจีนจะมีความได้เปรียบด้านแหล่งทรัพยากร แต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงลึกกลับล้าหลังกว่าประเทศอื่น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ชนิดของพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยที่นำมาแปรรูปยังไม่มีความหลากหลาย การแปรรูปยังมีขนาดเล็ก มาตรฐานเทคโนโลยีการแปรรูปยังล้าสมัย ทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มยังมีอยู่น้อย
  • การที่ประเทศไทยก็เป็นแหล่งทรัพยากรและเป็นแหล่งแปรรูปพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยชั้นนำ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นในจีนเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดขนาดใหญ่ของจีนได้

 

จีนเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และพืชพันธุ์นานาชนิด โดยเฉพาะพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย จากการสำรวจ มีพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยในจีนกว่า 60 ตระกูล 400 กว่าชนิดจากกว่า 1,500 ชนิด (ที่ค้นพบในโลก) หรือเกือบ 40% ของพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยในโลกมีอยู่ในจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และตอนใต้ของประเทศ เช่น กว่างซีที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย” ของจีน

มนุษย์มีวิวัฒนาการการใช้เครื่องหอมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น สินค้าหลากหลายชนิดนิยมนำเครื่องปรุงและเครื่องเทศธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบอย่างแพร่หลาย ทั้งในอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และยารักษาโรค ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากป่าที่ไม่ใช่ไม้ (Non-wood forest products)

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการส่งออกเครื่องหอมจากธรรมชาติไปยัง 120 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก อาทิ น้ำมันหอมระเหยอบเชยจีน โป๊ยกั๊ก ยี่หร่า น้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินต์ น้ำมันหอมระเหยเลมอน น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น พบว่า จีนมีความได้เปรียบด้านทรัพยากร แต่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงลึกกลับล้าหลังกว่า โดยมีการลงทุนเพื่อการผลิตและแปรรูปพืชที่ให้กลิ่นหอม (aromatic plants) เพียง 150 ชนิดเท่านั้น

นางฟู่ ยวี่เจ๋ (Fu Yuijie/付玉杰) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Northeast Forestry University (东北林业大学) ของจีน ชี้จุดอ่อนของการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชน้ำมันหอมระเหยในจีนว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบด้านทรัพยากร ชนิดของพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยที่นำมาแปรรูปยังไม่มีความหลากหลาย การแปรรูปยังมีขนาดเล็ก มาตรฐานเทคโนโลยีการแปรรูปยังล้าสมัย ทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมีอยู่น้อย

สำหรับสถานการณ์ในกว่างซี มณฑลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย” ของจีน มีผลผลิตอบเชยและโป๊ยกั๊กมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการแปรรูปอบเชยเชิงลึกยังล้าสมัย โรงงานผลิตให้น้ำหนักกับการผลิตสินค้าเพียงชนิดเดียว (การแปรรูปขั้นต้น) ละเลยการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่หลากหลายจากผลิตผล และขาดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าสูง เช่น การแปรรูปและใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์(ยา)และปศุสัตว์(อาหารสัตว์)

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย อาทิ โป๊ยกั๊ก อบเชย การบูร มะลิ สนทราย ตะไคร้ภูเขา พุดซ้อน โรสแมรี่ และเสม็ดขาว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของจีน คือ การมุ่งยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากแบบดั้งเดิม(การผลิตสินค้าขั้นปฐมภูมิ) ไปสู่การแปรรูปเชิงลึก (สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง) ดังนี้

  • การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยขั้นพื้นฐานและการพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม
  • การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางวิศวกรรมในกระบวนการผลิต
  • การพัฒนาขนาด ประสิทธิภาพ และสายพันธุ์พืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหย
  • การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างความหลากหลายในกระบวนการแปรรูป
  • การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตและการขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม
  • การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
  • การพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กร/สถาบันเพื่อบูรณาการด้านอุตสาหกรรม วิชาการ การวิจัย การใช้ประโยชน์ และการระดมเงินทุน

นอกจากนี้ จำเป็นต้องพัฒนาการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสกัดสาร (active ingredients) จากพืชน้ำมันหอมระเหยที่ทันสมัย และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการเชื่อมโยงและต่อยอดห่วงโซ่อุปทานให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

นัยสำคัญต่อประเทศไทย ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพืชน้ำมันหอมระเหยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจีนเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับจีน ตัวอย่างเช่นการก่อตั้งโครงการและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างโครงการ “ฐานข้อมูลเฉพาะพืชสมุนไพรจีน-ไทย” (Chinese-Thai Traditional Medicine Databases) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนกว่างซีกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นของไทย

อีกทั้งการที่ประเทศไทยก็เป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งแปรรูปพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยชั้นนำ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของจีนได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นในจีนเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดขนาดใหญ่ของจีนได้

 

 

จัดทำโดย นางสาววรินทร ผะอบเพ็ชร์ นิสิตฝึกงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com/ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2562

 

active ingredientsChinese-Thai Traditional Medicine Databasesคลังพืชสมุนไพรน้ำมันหอมระเหยฐานข้อมูลเฉพาะพืชสมุนไพรจีน-ไทยนวัตกรรมการสกัดสารน้ำมันหอมระเหยพืชสมุนไพร

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน