เมืองยวี่หลิน กับบทบาท “สะพาน” เชื่อมการค้าเครื่องเทศและสมุนไพรของจีน

26 Mar 2024

“เครื่องเทศและสมุนไพร” ถือเป็นของคู่ครัวที่ขาดไม่ได้ ทั้งในอาหารไทยและเทศ เครื่องเทศถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติ ความหอม สีสัน รวมถึงการถนอมอาหาร นอกจากนี้ เครื่องเทศยังใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมการผลิตยา น้ำหอม และเครื่องสำอางด้วย

การค้า “เครื่องเทศ” มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี ท่านทราบหรือไม่ว่า.. นอกจากผ้าไหม เครื่องลายคราม และใบชาแล้ว “เครื่องเทศ” เป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ค้าขายบนเส้นทางสายไหมทางบก และเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดการพัฒนาการเดินเรือเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งของโลกตะวันตก ก่อนจะนำไปสู่การค้นพบทวีปใหม่ และเข้าสู่ยุคแห่งการล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา โดยพื้นที่จีนตอนใต้เป็นแหล่งค้าขายเครื่องเทศที่สำคัญ

นับตั้งแต่สมัยโบราณ “ยวี่หลิน” (Yulin City/玉林市) เมืองทางตะวันออกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีบทบาทสำคัญในการค้าขายเครื่องเทศกับประเทศในเอเชียอาคเนย์ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น “เครื่องเทศ” จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีรากฐานแข็งแกร่งของเมืองยวี่หลิน

ปัจจุบัน เมืองยวี่หลินเป็นฐานนำเข้า-ส่งออก ซื้อขาย กระจายสินค้า และกำหนดราคาสินค้าเครื่องเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เป็นตลาดซื้อขายสมุนไพรจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน มีผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องเทศมากกว่า 2,000 ราย


สถิติอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า การค้าเครื่องเทศของเมืองยวี่หลินมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของจีน และ 2/3 ของโลก จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของแบรนด์เครื่องปรุงชั้นนำในจีนหลายราย และมีการส่งออกวัตถุดิบไปยังหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย


บนพื้นฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแรงเป็นทุนเดิม เมืองยวี่หลินกำลังมุ่งต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับการแข่งขันบนเวทีนานาชาติ ทั้งระบบการค้า การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชน โดยตั้งเป้าหมายให้เมืองยวี่หลินเป็น “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งเครื่องเทศและสมุนไพรแบบครบวงจร”ที่มีมูลค่าการผลิตระดับแสนล้านหยวน

เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องเทศให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น เมืองยวี่หลินได้ทุ่มงบ 5,000 ล้านหยวน สร้าง “ท่าโลจิสติกส์เครื่องเทศนานาชาติยวี่หลิน” หรือ Yulin International Spices Logistics Port (玉林国际香料物流港) ที่อำเภอลู่ชวน (Luchuan County/陆川县) โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างยอดการค้าได้ปีละ 50,000 ล้านหยวน และมีพื้นที่ร้านค้ารองรับผู้ประกอบการได้มากกว่า 2,000 ราย

ท่าโลจิสติกส์เครื่องเทศดังกล่าว มีกลุ่มบริษัท Fuda Holding Group (福达控股集团) เป็นผู้ลงทุน แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส โครงการเฟสแรก “ตลาดซื้อขายเครื่องเทศนานาชาติยวี่หลิน” หรือ Yulin International Spices Trading Market /玉林国际香料交易市场) ได้เปิดดำเนินกิจการแล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 บนเนื้อที่ 375 ไร่ ภายในโครงการมีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 6.5 แสน ตร.ม. ประกอบด้วยร้านค้าเครื่องเทศ คลังสินค้าทั่วไปและคลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์ทดสอบและตรวจวิเคราะห์ ศูนย์ไลฟ์สตรีมมิ่ง และศูนย์นิทรรศการเครื่องเทศ

ข้อมูลปี 2566 ตลาดซื้อขายเครื่องเทศนานาชาติยวี่หลินมียอดซื้อขายเครื่องเทศทั้งปี 32,000 ล้านหยวน ในบรรดาเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกกว่า 200 ชนิด ตลาดแห่งนี้มีอยู่ 160 กว่าชนิด มีผู้ค้ามากกว่า 600 ราย และเป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการเครื่องเทศจีน-อาเซียน ครั้งที่ 1 (2023 China-ASEAN Expo Spices Exhibition) หนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานของมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน

ในระยะต่อไป บริษัทกำลังเร่งรัดผลักดันความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการเฟสสอง “ศูนย์โลจิสติกส์สินค้าทัณฑ์บนเครื่องเทศนานาชาติยวี่หลิน” (Yulin International Spices Bonded Logistics Center /玉林国际香料保税物流中心) และโครงการเฟสสาม ซึ่งประกอบด้วย “สวนอุตสาหกรรมการแปรรูปเครื่องเทศนานาชาติยวี่หลิน” (Yulin International Spices Processing Park /玉林国际香料特色产业加工园) และสวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าเกษตร (Agriculture Products Cold Chain Logistics Park /农产品冷链物流园)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เมืองยวี่หลินเป็นจุดนำร่องการปฏิรูปการนำเข้าสมุนไพรเพื่อใช้เป็นอาหาร (เครื่องเทศบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มยาสมุนไพร ซึ่งกระบวนการนำเข้ามีความยุ่งยากซับซ้อน) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรนำเข้าสำหรับเครื่องเทศและสมุนไพรในบัญชีรายชื่อที่ได้รับอนุญาต

นโยบายดังกล่าวช่วยให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของผู้นำเข้า “ประหยัดเวลา” ทั้งในเรื่องขั้นตอนการนำเข้า จำนวนเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการนำเข้า และการอนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้นำเข้าสามารถนำเข้าผ่านด่านต่าง ๆ ในกว่างซี (จากเดิมที่ผู้นำเข้าต้องนำเข้าผ่านด่านในมณฑลกวางตุ้ง และนครเซี่ยงไฮ้)

ที่ผ่านมา ผู้นำเข้าเมืองยวี่หลินใช้ประโยชน์เต็มที่จากด่านท่าเรือชินโจว และด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงในการนำเข้าเครื่องเทศและสมุนไพรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขมิ้นชัน ยี่หร่า กระวาน

ในบทสัมภาษณ์ช่องสถานีข่าวยวี่หลิน คุณเปี้ยน เสว่ห์ (Bian Xue/卞雪) ประธานบริษัท Guangxi Xiangweinong Trading Co.,Ltd. (广西香味浓商贸有限公司) ให้ข้อมูลว่า นโยบายนำร่องการปฏิรูปการนำเข้าสมุนไพรเพื่อใช้เป็นอาหาร ช่วยให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าใช้เวลาเร็วสุดเพียง 1 วันทำการ จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง 10 วัน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 3,000 หยวนต่อตู้

บีไอซี เห็นว่า “เครื่องเทศและสมุนไพร” เป็นอาวุธลับในตำรับอาหารไทยและอาหารจีนที่ต้องมีติดบ้าน ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายตัวได้ดี ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องเทศในไทยสามารถศึกษาและทำความรู้จักกับ “เมืองยวี่หลิน” เพื่อใช้เมืองแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการทำการค้ากับประเทศจีน ทั้งการนำเข้าเครื่องเทศที่จีนมีจุดแข็ง (เช่น โป๊กกั๊ก อบเชย) และการส่งออกเครื่องเทศที่ตอบโจทย์ความต้องการบริโภคในจีน ทั้งการบริโภคขั้นสุดท้าย และใช้เป็นส่วนผสมของการผลิตอาหารสำเร็จรูป ซอสปรุงรส และเครื่องปรุงรส



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 3 และ 14 มีนาคม 2567
       เว็บไซต์
www.chinafuda.com (福达集团) วันที่ 14 มีนาคม 2567 และวันที่ 20 กันยายน 2566
       เว็บไซต์
https://gx.cnr.cn (央广网) วันที่ 2 มีนาคม 2567
       เว็บไซต์
http://bbwb.gxzf.gov.cn (北部湾经济区规划建设管理办公室) วันที่ 2 มีนาคม 2567
       หนังสือพิมพ์
Yulin Daily (玉林日报) วันที่ 22 มกราคม 2567

สมุนไพรท่าโลจิสติกส์เครื่องเทศนานาชาติยวี่หลินเครื่องเทศ

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน