เมืองฝางเฉิงก่างกับศักยภาพในอุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม : โอกาสความร่วมมือและเรียนรู้ของธุรกิจไทย

12 Jan 2024

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… การอุบัติขึ้นของโควิด-19 และแนวโน้มการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging society) เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการดูแลสุขภาพและทัศนคติของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนไป (ป้องกันดีกว่ารักษา) ซึ่งได้สร้างโอกาสให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ ‘เทรนด์สุขภาพ’ ที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงในประเทศจีน

“เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ เป็นผลพวงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้[1] หรือ Shanghai Cooperation Organisation (SCO) ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562

รัฐบาลจีนมุ่งสนับสนุนให้เขตนำร่องฯ เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มุ่งสู่ประเทศสมาชิก SCO และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นพื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรมนานาชาติ เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวัฒนธรรมทางการแพทย์นานาชาติ และเป็น Highland ใหม่ด้านการแพทย์นานาชาติ

อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 สาขา ประกอบด้วย (1) การเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง (2) การวิจัยและพัฒนายาระยะพรีคลินิก (pre-clinic) (3) การวิจัยและพัฒนาการแพทย์และยาแผนโบราณ และต่อยอดการพัฒนาในอุตสาหกรรม 3 สาขา ได้แก่ (3.1) อุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ (3.2) อาหารเพื่อสุขภาพ และ (3.3) การบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ

กล่าวได้ว่า… เขตนำร่องฯ กำลังเป็น “ดาวรุ่งดวงใหม่” ในสายตาของนักลงทุน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เขตนำร่องแห่งนี้สามารถดึงดูดโครงการลงทุน 66 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านหยวน มีบริษัทราว 30 รายเข้าจัดตั้งกิจการภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนำร่องดังกล่าวแล้ว

ล่าสุด ในงานส่งเสริมการลงทุนในเขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีการลงนามสัญญาการลงทุน 8 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,800 ล้านหยวน

โครงการที่น่าสนใจ อาทิ ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งและยารักษามะเร็งในระยะเริ่มต้น ตัวกลางชนิดใหม่ทางเภสัชกรรม (pharmaceutical intermediates) การแปรรูปเชิงลึกด้านอาหารเพื่อสุขภาพและวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์อาหารและยา สารโครงร่างของเซลล์ (cytoskeleton) กับศาสตร์การฟื้นฟูตับอ่อน การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีออนไลน์สำหรับการบริการด้านการแพทย์แนวทางใหม่ (Digital Health) อย่างเช่น การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine จึงกล่าวได้ว่า… ‘คลัสเตอร์อุตสาหกรรม’ ในสาขาการแพทย์และสุขภาพในเขตนำร่องฯ ได้เริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น” เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เมืองฝางเฉิงก่างมีรากฐานอุตสาหกรรมโลหะกลุ่มเหล็ก (ferrous Metal) และโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous Metal) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ไทเทเนียม เซอร์โคเนียม ทองแดง อะลูมิเนียม และสังกะสี จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้วัตถุดิบของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ เขตนำร่องฯ กำลังเป็นจุดหมายใหม่ของผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่กำลังเคลื่อนฐานอุตสาหกรรมออกจากภาคตะวันออกของประเทศจีน รวมถึงการจัดตั้งของกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์จีน-อาเซียน (中国—东盟医疗装备产业联盟) ในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

ข้อมูล ณ มิถุนายน 2566 เมืองฝางเฉิงก่างมีบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ที่จดทะเบียนแล้ว 73 ราย และตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 2 ปีนี้ จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทอุปกรณ์การแพทย์รายใหม่อย่างน้อย 50 ราย สร้างมูลค่าการผลิตมากกว่า 10,000 ล้านหยวน

ปัจจุบัน เขตนำร่องแห่งนี้ยังเป็น “ฐานการวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรมและพรีคลินิก (Pre-clinic)” สำหรับองค์กรผู้ให้บริการวิจัยทางคลินิก (Contract Research Organization – CRO) และองค์กรรับจ้างพัฒนาและผลิตยา (Contract Development and Manufacturing Organization – CDMO) ระดับชั้นนำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ตัวอย่างเช่น “ยาฉีด AHT-101 สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับอ่อน” นวัตกรรมด้านเภสัชศาสตร์ชีวภาพของบริษัท Innovos Biotech (是光科技) ที่ได้รับหนังสืออนุมัติการใช้ในทางคลินิกจากสำนักกำกับดูแลเภสัชภัณฑ์แห่งชาติจีน (National Medical Products Administration /国家药品监督管理局) แล้ว

ปรากฎการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ก็คงต้องพูดคุยกันสักเล็กน้อยเกี่ยวกับการพัฒนาเขตนำร่องฯ เป็น “ฐานการแพทย์ดิจิทัล” (Digital Health) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการในช่องทางที่หลากหลาย สะดวก และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฐานข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Database) บล็อกเชน (Blockchain) การแพทย์ทางไกล หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่งในการแพทย์ (Internet of Medical Things – IoMT)

ตัวอย่างเช่น บริษัท Akang Health ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม/โซลูชันการให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ให้กับสถานพยาบาล (ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลที่ใช้แพลตฟอร์ม 5 แห่ง) อย่างบริการ “ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ – ซื้อยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ผ่านร้านขายยาออนไลน์ – การนัดพบแพทย์และตรวจดูผลการตรวจร่างกายผ่านระบบออนไลน์ – การซื้อประกันสุขภาพผ่านระบบออนไลน์”

ที่สำคัญ บริษัท Akang Health กำลังแสวงหาช่องทางในการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce หรือ CBEC) ในการซื้อขายยาสามัญ (Generic Drug) ที่มีข้อจำกัดในการนำเข้า-ส่งออกที่เขตนำร่องฯ ของเมืองฝางเฉิงก่าง (คำอธิบายเพิ่มเติม ยาสามัญ คือ ยาที่ผลิตขึ้นโดยมีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยาเหมือนกับยาต้นแบบ (Original drugs))

พัฒนาการในปัจจุบันของ “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก บีไอซี เห็นว่า เขตนำร่องแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจที่ภาคธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ รวมถึงสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีของไทยสามารถแสวงหาช่องทางการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม รวมถึงด้านการค้าการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะสาขาที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นอย่างเช่น “สมุนไพรไทยและอาหารเพื่อสุขภาพ” รวมถึงแพทย์ทางเลือก (ศาสตร์การนวดแผนไทย การนวดประคบ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสายตาผู้บริโภคชาวจีน ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพและสังคมสูงวัยของจีน อาศัยเขตนำร่องฯ เป็น “ก้าวแรก” ของการลุยตลาดจีน

[1]องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน เป็นกลุ่มการเมืองและความมั่นคงที่ก่อตั้งขึ้นโดยจีนและรัสเซียเมื่อปี 2544 เพื่อคานอิทธิพลของชาติตะวันตกบนผืนทวีปยูเรเซีย นับเป็นกรอบความร่วมมือที่น่าจับตามองด้วยจำนวนประชากรกว่าร้อยละ 40 ของโลก (ราว 3,300 ล้านคน) และขนาดเศรษฐกิจใหญ่ (GDP) กว่าร้อยละ 20ของโลก



จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ https://gx.cnr.cn (央广网广西频道) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (新华网广西频道) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์ http://wsjkw.gxzf.gov.cn (广西卫生健康委员会) วันที่ 14 มิถุนายน 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西频道) วันที่ 13 มิถุนายน 2566
ภาพประกอบ www.chinadaily.com

การแพทย์เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่างเภสัชกรรม

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน