เครื่องบินโดยสารจีน C919 ต้นแบบลำที่ 5 บินทดสอบผ่านฉลุย เตรียมทดสอบการบินครั้งสุดท้าย สิ้นปีนี้

31 Oct 2019

เครื่องบินโดยสาร C919 เป็นเครื่องบินแบบลำตัวแคบที่จีนเริ่มพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2551 ถูกพัฒนาให้มีเครื่องยนต์คู่ (Turbo engines) มีพิสัยการบินระยะใกล้-กลาง (short to medium range) ต่อยอดมาจากเครื่องบิน รุ่น ARJ21 ที่พัฒนาโดย China Aviation Industry Corporation (AVIC) โดยใช้ฐานอุตสาหกรรมการบินสาขาย่อย ได้แก่ (1) เขตอุตสาหกรรมการบินแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง นครซีอาน (2) เขตอุตสาหกรรมการบินตงหยิน มณฑลซานตง และ (3) เขตอุตสาหกรรมการบินหนานชาง มณฑลเจียงซี ร่วมกันพัฒนาและทดสอบระบบการบินในเครื่องบิน C919 รหัสต้นแบบ 101 – 104 ซึ่ง นอกจากการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีของจีนเองแล้ว Commercial Aircraft Corporation of China, Ltd. (COMAC) ผู้ผลิตอากาศยานพาณิชย์ของจีน ยังได้มีความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับ Ryan Air และร่วมทุนกับสหพันธ์อากาศยานแห่งรัสเซีย (Russia’s United Aircraft Corporation: UAC) ก่อตั้ง บ. China-Russia Commercial Aircraft International Co. Ltd ในการร่วมกันพัฒนาและออกแบบห้องโดยสาร โดยมีฐานการวิจัยและออกแบบ ณ กรุงมอสโก และโรงงานประกอบชิ้นส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้อีกด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 COMAC เปิดเผยว่า เครื่องบิน C919 ต้นแบบ ทำการทดสอบการบินครั้งที่ 5 รหัส 105 ณ สนามบินนานาชาติผู่ตงเซี่ยงไฮ้ ตลอดระยะเวลาทำการบิน 1.37 ชั่วโมง ก่อนบินกลับไปยังสนามบินต้นทางอย่างสวัสดิภาพ ผ่านการทดสอบสมรรถนะการบินด้านสภาวะอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบการปล่อยของเหลว รวมถึงระบบอื่นๆ

ภาพแสดงโรงงานผลิตชิ้นส่วน C919 ภายใต้การกำกับของ China Aviation Industry Corporation (AVIC)

ข้อมูลจาก นสพ. การบินแห่งชาติ (中国航空报讯) ระบุว่า ชิ้นส่วนเครื่องบินโดยสาร C919 อาทิ ปีกส่วนนอก (Outer Wing) และผนังลำตัวเครื่องส่วนล่าง (Central Lower Wall) จะถูกผลิตที่โรงงานในเขตอุตสาหกรรมการบินของนครซีอาน นครเฉิงตู และนครเซี่ยงไฮ้ เป็นหลัก ในขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ จะกระจายไปยังโรงงานผู้ผลิตภายใต้ AVIC ในนครซีอาน นครเฉิงตู นครเสิ่นหยาง นครหนานชาง นครฮาร์บิน และนครหังโจว โดยมี COMAC เป็นผู้รับผิดชอบในการประกอบทั้งหมด โดยเครื่องบินโดยสาร C919 จะใช้เครื่องยนต์ Medium CFM leap-1c จากบริษัท CFM ซึ่งเป็นบริษัทลูกร่วมทุนของ GE (สหรัฐอเมริกา) และ SNECMA (ฝรั่งเศส) และยังเป็นเครื่องยนต์รุ่นเดียวกับที่ใช้ใน Boeing 737 MAX และ Airbus A320neo อีกด้วย

อนึ่ง เครื่องบินโดยสาร C919 ขนาดความจุประมาณ 169 ที่นั่งนี้ มีกำหนดการทดสอบเครื่องบินต้นแบบ ทั้งสิ้น 6 ลำ ภายใต้รหัส 101, 102, 103, 104, 105 และ 106 คาดว่าการทดสอบการบินครั้งสุดท้าย (รหัส 106) จะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2562 เพื่อให้ทันต่อแผนการเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2564 ปัจจุบัน มีคำสั่งซื้อจากสายการบินต่างๆ มากกว่า 1,000 ลำ แม้โดยมากจะเป็นคำสั่งซื้อจากสายการบินในประเทศ แต่ก็พบคำสั่งซื้อจาก GE Capital Aviation Service และ Puren Airlines

คาดการณ์ว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินจีนที่เติบโตต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 14 ข้อมูลจาก China Industrial Information ระบุว่า ในปี 2561 จีนมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์ สูงถึง 610 ล้านคน (Person Times) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 10.6 และมีอัตราการโดยสารด้วยเครื่องบิน (Per Capita Flight) เฉลี่ยที่ 0.43 / คน (สหรัฐอเมริกา 2.54 / คน และ ญี่ปุ่น 0.93/ คน) จะเห็นว่าจีนยังมีช่องว่างและโอกาสการเติบโตในธุรกิจนี้ได้อีกมาก

 

ความสำเร็จในการทดสอบการบิน C919 ต้นแบบ รหัส 105 นี้ จึงเป็นหนึ่งในคำตอบของความมุ่งมั่นในการพัฒนาและผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงของจีน ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและธุรกิจการบินจะเติบโตต่อเนื่องแล้วยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้า/การวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เน้นพึ่งพาตนเองของจีนตามนโยบาย Made In China 2025 ที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์โรงงานค่าแรงถูกสู่ประเทศผู้ผลิตสินค้าไฮเทคแห่งใหม่ของโลก

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://zhidao.baidu.com/question/465572657.html
  2. http://www.xac.com.cn/
  3. http://www.chinamil.com.cn/hkht/2019-09/29/content_9639567.htm
  4. http://www.chyxx.com/industry/201905/738068.html?xueqiu_status_id=127268843
Xi'anC919Yanliang Aerospace Industries Base

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน