ศุลกากรกว่างซีชวนผู้ประกอบการขอมาตรฐาน AEO หวังยกระดับ Ease of Doing Business ในกว่างซี

6 Jun 2019

ไฮไลท์

  • มาตรฐาน AEO เป็นกลไกที่ศุลกากรนำมาใช้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศุลกากรกับภาคธุรกิจ โดยสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AEO จะได้รับสิทธิพิเศษในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรในประเทศที่ได้ทำความตกลงยอมรับร่วมกัน พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ และความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทานการค้าระหว่างประเทศ
  • หน่วยงานศุลกากรของกว่างซีกำลังเร่งผลักดันนโยบายมาตรฐาน AEO และส่งเสริมให้สถานประกอบการขอรับรองสถานภาพการเป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากมาตรฐาน AEO และสนับสนุนการ “ก้าวออกไป” ของภาคธุรกิจ
  • ปัจจุบัน ศุลกากรจีนได้ทำความตกลงยอมรับมาตรฐาน AEO ร่วมกันกับ 40 ประเทศและดินแดนใน 13 กลุ่มเศรษฐกิจแล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การศุลกากรโลก (WCO) ที่ได้รับนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2549

 

ไม่นานมานี้ สำนักงานศุลกากรหนานหนิง (กำกับดูแลด่านสากลทั่วเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ได้จัดงานอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกกว่า 100 รายเพื่อแนะนำและประชาสัมพันธ์นโยบายมาตรฐาน AEO และวิธีการขอรับรองสถานภาพการเป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาส “โกอินเตอร์” เพิ่มมากขึ้น

AEO ย่อมาจาก Authorized Economic Operator หมายถึง องค์กรหรือบริษัทที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยได้รับการรับรองจากศุลกากรของแต่ละประเทศว่าได้ปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานขององค์การศุลกากรโลก (WCO) หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนเคลียร์สินค้า ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวมสินค้า ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ผู้ประกอบกิจการท่ารถ เจ้าของโรงพักสินค้า และตัวแทนจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

การรับรองสถานภาพการเป็นผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO นั้น ศุลกากรจะประเมินจากการรักษาระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ระดับความน่าเชื่อถือ และการรักษาความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการนั้นๆ โดยสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน AEO จะได้รับสิทธิพิเศษในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรในประเทศที่ได้ทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ การลดอัตราการเปิดตรวจสินค้านำเข้า-ส่งออก ในกรณีที่จะต้องเปิดตรวจสินค้าก็จะได้รับการตรวจปล่อยเป็นลำดับแรก การได้รับสิทธิการผ่านพิธีการศุลกากรเป็นลำดับแรก การผ่อนปรนความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารการนำเข้า-ส่งออก และการจัดตั้งผู้ประสานงานเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่พบปัญหาด้านการดำเนินพิธีการศุลกากร

ตามรายงาน สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้เริ่มลงนามความตกลงดังกล่าวร่วมกับศุลกากรของประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบัน มี 40 ประเทศและดินแดนใน 13 กลุ่มเศรษฐกิจที่ได้ทำความตกลงยอมรับร่วมกันแล้ว และขณะนี้ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนกำลังเร่งทำความตกลงยอมรับร่วมกันกับอีก 13 ประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งรวมถึงประเทศมาเลเซียและรัสเซีย

ในกว่างซี มีสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน AEO ประเภทพรีเมียม จำนวน 22 ราย และประเภททั่วไป 147 ราย ในไตรมาส 1 ของปี 2562 การตรวจสินค้านำเข้า-ส่งออกของสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน AEO ประเภทพรีเมียม มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 0.41% และประเภททั่วไปอยู่ที่ 2%

บริษัทยานยนต์ Liuzhou Hirotec Wuling Automotive Engineering Co.,Ltd (柳州广菱汽车技术有限公司) ในเมืองหลิ่วโจว เป็นหนึ่งในสถานประกอบการตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AEO ประเภทพรีเมียมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558

ตามรายงาน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สินค้าของบริษัทฯ ไม่เคยถูกตรวจสอบในกระบวนการทางศุลกากรแม้แต่ครั้งเดียว ช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่งเข้า-ออกสินค้า โกดังไม่มีวัตถุดิบคงคลัง ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้อีกมากเช่นกัน ทำให้กลายเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ชั้นหนึ่งของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง SAIC-GM-Wuling Automobile (SGMW)

ระยะต่อไป สำนักงานศุลกากรหนานหนิงจะเร่งประชาสัมพันธ์นโยบายมาตรฐาน AEO และบ่มเพาะสถานประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ พัฒนางานประเมินและติดตาม ให้คำแนะนำสถานประกอบการที่จะขอรับรองมาตรฐาน เร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมให้สถานประกอบการขอการรับรองมาตรฐาน มีมาตรการลงโทษสถานประกอบการที่ขาดความน่าเชื่อถือ และเร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติในการทำความตกลงยอมรับร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มจำนวนสถานประกอบการกว่างซีที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรฐาน AEO และโกอินเตอร์

ในกระบวนการการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ “มาตฐาน AEO” เป็นตัวประเมินความน่าเชื่อถือของคู่ค้าในจีนได้ ซึ่งช่วยป้องกันมิให้ผู้ประกอบการไทยถูกโกงหรือถูกหลอก เพราะในกระบวนการรับรองสถานภาพผู้ประกอบการมาตรฐาน AEO ของศุลกากร ศุลกากรมีการตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ระดับความน่าเชื่อถือ และการรักษาความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการนั้นๆ

 

จัดทำโดย นางสาวนางสาววรินทร ผะอบเพ็ชร์ นิสิตฝึกงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2562
รูปประกอบ https://uk.misumi-ec.com

Authorized Economic OperatorWCOการนำเข้า-ส่งออกมาตรฐาน AEOองค์การศุลกากรโลก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน