รัฐบาลกลางไฟเขียวให้กว่างซีเป็น “จุดทดลอง Blockchain การค้าระหว่างประเทศ”

14 Nov 2019

ไฮไลท์

  • รัฐบาลจีนแสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ด้วยการเชื่อมโยงกันระหว่าง Blockchain กับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT)
  • ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามาปฏิวัติกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยจุดเด่นของ Blockchain ที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสของระบบที่ตรวจสอบได้ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมาก
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็น “จุดทดลองแพลตฟอร์มการให้บริการ Blockchain การเงินข้ามแดน” (Cross-border Financial Blockchain Service Platform) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจส่งออกและตรวจสอบเครดิตของภาคธุรกิจ
  • เทคโนโลยี Blockchain เป็นการบูรณาการระหว่างการอำนวยความสะดวกทางการค้ากับการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจส่งออก และช่วยให้ภาคธุรกิจส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น

วงการบล็อกเชน (Blockchain) ทั่วโลกตื่นตัวเป็นอย่างมาก หลังจากรัฐบาลจีนแสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เนื่องจากเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาด้านการใช้ Blockchain ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน ครั้งที่ 18 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ของจีน และการเร่งผลักดันการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี Blockchain

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ด้วยการเชื่อมโยงกันระหว่าง Blockchain กับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) พร้อมย้ำบทบาทของ Blockchain ในการส่งเสริมการแชร์ข้อมูล การลดต้นทุนการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน การเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และการสร้างระบบที่น่าเชื่อถือ

เมื่อพูดถึงคำว่าเทคโนโลยี Blockchain หลายท่านอาจสงสัยว่าเทคโนโลยี Blockchain คืออะไร  หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ Blockchain เป็นเทคโนโลยีการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ฐานข้อมูลนี้เรียกว่า “บล็อก” (Block) และฐานข้อมูลเหล่านี้จะถูกแชร์ (Share) ให้กับทุกคนในเครือข่ายเสมือน “ห่วงโซ่” (Chain)

การทำธุรกรรมใดๆ ต่อฐานข้อมูล หรือ “บล็อก” นั้น จะต้องประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ และเครือข่ายจะมีระบบตรวจสอบความถูกต้องก่อนตอบรับข้อมูลด้วยการสร้าง “บล็อก” ใหม่และนำไปต่อหลังบล็อกสุดท้าย ฐานข้อมูลนี้มีลักษณะเป็นห่วงโซ่ของบล็อกที่บันทึกธุรกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บล็อกเชน” (Blockchain)

ทำไมเทคโนโลยี Blockchain จึงได้รับการจับตามองจากภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมต่างๆ และปฏิวัติกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยจุดเด่นของ Blockchain ที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสของระบบที่ตรวจสอบได้ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมาก

ความปลอดภัยของฐานข้อมูล การกระจายให้กับเครือข่ายในระบบทำให้ไร้ปัญหาเรื่องระบบล่ม และกระจายศูนย์นี้เองทำให้การขโมยหรือสร้างข้อมูลปลอมทำได้ยากกว่าการแฮกเครือข่าย Google Cloud หรือระบบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสียอีก เพราะแฮกเกอร์จะต้องแฮกคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลของเครือข่ายและยังต้องเชื่อมห่วงโซ่ทั้งหมดใหม่ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

เมื่อไม่นานมานี้ Financial Times สื่อยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ได้รายงานว่า จีนเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี Blockchain จำนวนมากที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain มากเพียงใด

ปัจจุบัน จีนมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง วันนี้ BIC ขอนำท่านผู้อ่านไปจับตาความเคลื่อนไหวของการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain กับการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Financing) ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลกลางโดยสำนักงานกำกับดูแลการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ หรือ SAFE ได้ทยอยอนุมัติให้เมือง/มณฑลหลายแห่งเป็น “จุดทดลองแพลตฟอร์มการให้บริการ Blockchain การเงินข้ามแดน” (Cross-border Financial Blockchain Service Platform) รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจส่งออกและการตรวจสอบเครดิตของภาคธุรกิจ

กล่าวคือ ภาคธุรกิจส่งออกและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มักมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากความยุ่งยากซับซ้อนที่มาจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย การส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบที่มักใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เทคโนโลยี Blockchain ใช้วิธีการเก็บข้อมูลอ้างอิงแบบเรียลไทม์ มีการตรวจสอบ และแชร์ข้อมูลให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย ฐานข้อมูลจะมีการอัปเดตเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ ธนาคารสามารถติดตามตรวจสอบความถูกต้องหรือประวัติเครดิตได้ทันที สร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ช่วยให้ต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจเมื่อเทียบกับระบบดั้งเดิม

แม้ว่าปัจจุบัน เทคโนโลยี Blockchain ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำมาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เทคโนโลยี Blockchain นับเป็นการบูรณาการการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจส่งออกและช่วยให้ภาคธุรกิจส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 25, 30  ตุลาคม 2562
     เว็บไซต์ http://3g.forbeschina.com (福布斯中国)
ภาพประกอบ www.pixabay.com

IoTการเงินข้ามแดนปัญญาประดิษฐ์ (AI)เทคโนโลยี Blockchainบิ๊กดาต้าBlockchainCross-border Financial Blockchain Service Platform

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน