มิติใหม่ในการนำเข้า “พืชสมุนไพร” จากอาเซียนด้วยรถไฟเป็นครั้งแรก มองโอกาสของธุรกิจสมุนไพรไทยในกว่างซี(จีน)

20 May 2022


ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้นำเข้าพืชสมุนไพรด้วย ‘รถไฟ’ วิ่งตรงจากประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกในประเทศจีน ขบวนรถไฟดังกล่าวบรรทุกพืชสมุนไพรที่ชาวจีนเรียกกันในชื่อ 鸡血藤 หรือเถาวัลย์เลือดไก่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia dielsiana) จำนวน 12 ตู้ น้ำหนักราวตู้ละ 15 ตันไปที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของกว่างซี เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคพืชที่เกี่ยวข้อง โดย 10% จะแปรรูปในท้องถิ่น ขณะที่ส่วนใหญ่จะจำหน่ายต่อไปยังพื้นที่อื่นในจีน
  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นแหล่งวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนที่สำคัญของประเทศจีน และเป็นมณฑลที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียนมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ (ราว 60% -70% ของทั้งประเทศ) แต่ละปีมีมูลค่าการค้าวัตถุดิบยาสมุนไพรกับอาเซียนมากกว่า 2,000 ล้านหยวน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้าพืชตระกูลหวาย/เถาวัลย์แห้งที่ใช้ทำยา จันทน์เทศ และชะเอมเทศจากไทยด้วย
  • ปัจจุบัน ธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare and Wellness) ตามหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี อย่างในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง สามารถพบเห็นร้านนวดเพื่อสุขภาพได้ทั่วไป ทั้งร้านนวดตัว และร้านนวดเท้าเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งมีการใช้ยาสมุนไพรเป็นส่วนประกอบในการประคบตัวหรือแช่เท้า จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้ายาสมุนไพร(ไทย) และการค้าบริการที่แฝงด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรไทย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้าได้

เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้นำเข้าพืชสมุนไพรด้วย ‘รถไฟ’ วิ่งตรงจากประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรกในประเทศจีน ขบวนรถไฟดังกล่าวบรรทุกสมุนไพรที่ชาวจีนเรียกกันในชื่อ 鸡血藤 หรือเถาวัลย์เลือดไก่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia dielsiana) จำนวน 12 ตู้ น้ำหนักราวตู้ละ 15 ตันไปที่“ด่านรถไฟผิงเสียง” ของกว่างซี เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคพืชที่เกี่ยวข้อง โดย 10% จะแปรรูปในท้องถิ่น ขณะที่ส่วนใหญ่จะจำหน่ายต่อไปยังพื้นที่อื่นในประเทศจีน

ปัจจุบัน “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นหนึ่งในด่านสากลทางบกที่มีบทบาทสำคัญในการทำการค้าระหว่างกว่างซี(จีน)กับอาเซียน ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่ว ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานราว 14 กิโลเมตร และเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีน โดยผลไม้ไทยใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563

จากสถิติปี 2564 ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม วิ่งให้บริการรวม 346 เที่ยว เพิ่มขึ้น 108.4% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นการขนส่งผลไม้ 19,400 ตัน เพิ่มขึ้น 14.66% (YoY) ขบวนรถไฟดังกล่าวสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเทกอง (Bulk) สินแร่ ไม้ซุง และเหล็กกล้า อุปกรณ์เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง ผลไม้สด และล่าสุด วัตถุดิบพืชสมุนไพรแห้ง

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นแหล่งวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนที่สำคัญของประเทศจีน และเป็นมณฑลที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียนมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ (ราว 60% -70% ของทั้งประเทศ) แต่ละปีมีมูลค่าการค้าวัตถุดิบยาสมุนไพรกับอาเซียนมากกว่า 2,000 ล้านหยวน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากต่างประเทศผ่านทางกว่างซีพุ่งสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา

สำหรับประเทศไทย นอกจากสินค้าเกษตร (ผลไม้สด มันสำปะหลัง) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่กว่างซีนำเข้าจากประเทศไทยแล้ว ยังพบว่ามีการนำเข้าพืชตระกูลหวาย/เถาวัลย์แห้งที่ใช้ทำยา จันทน์เทศ และชะเอมเทศจากประเทศไทยด้วย

จึงกล่าวได้ว่า… กว่างซีเป็น Gateway ในการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ปัจจุบัน มีด่านที่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนแล้ว 5 แห่ง คือ ด่านสนามบบินนครหนานหนิง ด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง ด่านทางบกหลงปัง และด่านอ้ายเตี้ยน การค้าวัตถุดิบยาสมุนไพรของกว่างซีมีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน 2 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2563 ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรผ่านด่านในกว่างซีมีแนวโน้ม ‘พุ่ง’ สูงขึ้นจากรวดเร็ว

เจ้าหน้าที่ศุลกากรกำลังตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในเถาวัลย์เลือดไก่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia dielsiana)

โดยเฉพาะ ด่านรถไฟผิงเสียง กำลังก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางหลักในการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียน จากสถิติในไตรมาสที่ 1/2565 พบว่า ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียน 1,590.4 ตัน เพิ่มขึ้น 487.2% (YoY) ซึ่งคิดเป็น 86.8% ของปริมาณการนำเข้าผ่านด่านต่างๆ ในกว่างซี

รัฐบาลกว่างซี ได้วางเป้าหมายว่า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) จะเร่งพัฒนา “ฐานการส่งออกบริการด้านการแพทย์และยาแพทย์แผนจีนระดับประเทศ” แสวงหาแนวทางการพัฒนาโมเดลธุรกิจ  “อินเทอร์เน็ต + การค้ายาสมุนไพรจีน” รวมทั้งพัฒนาเขตการค้าและการแปรรูปวัตถุดิบยาสมุนไพรบริเวณด่านพรมแดนภายใต้กรอบสิทธิและประโยชน์ของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยฉงจั่ว รวมถึงพัฒนาตลาดซื้อขายวัตถุดิบยาสมุนไพร เพื่อให้กว่างซีเป็น ‘ช่องทาง’ การค้ายาสมุนไพรจีนและยาแผนโบราณระหว่างจีน-อาเซียน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare and Wellness) ตามหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี อย่างในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วง สามารถพบเห็นร้านนวดเพื่อสุขภาพได้ทั่วไป ทั้งร้านนวดตัว และร้านนวดเท้าเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งมีการใช้ยาสมุนไพรเป็นส่วนประกอบในการประคบตัวหรือแช่เท้า จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้ายาสมุนไพร(ไทย)และการค้าบริการที่แฝงด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรไทย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้าได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของกว่างซีในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสร้างเครือข่าย health and wellness resort การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้

ในภาพรวม เขตฯ กว่างซีจ้วงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนและการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ โดย “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซี เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจไทยด้วย เพราะเป็นตัวช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์และเภสัชกรรม และเป็นช่องทางสำคัญที่จีนใช้เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียนอีกทางด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gxftz.gxzf.gov.cn/ (中国广西自贸试验) วันที่ 11 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 06 พฤษภาคม 2565
Wechat official account
凭祥融媒

ด่านรถไฟผิงเสียงพืชสมุนไพรวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน