นครฉงชิ่งเปิดตัวสถาบันวิจัยการออกแบบสมัยใหม่ เพื่อเตรียมยกระดับให้เป็นเมืองแห่ง “World Design Capital”

28 Jun 2024

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ นครฉงชิ่งได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับระบบการสอนและการวิจัยการออกแบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ฉงชิ่ง (Chongqing Industry and Information Vocational College) และได้มีการเปิดตัว “สถาบันวิจัยระบบการออกแบบสมัยใหม่นครฉงชิ่ง” (重庆市现代设计体系研究院) เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาการก่อสร้างเมืองของนครฉงชิ่งให้เป็น “เมืองออกแบบระดับโลก” หรือ “World Design Capital”

เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ นครฉงชิ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)ให้เป็น “เมืองออกแบบระดับโลก” หรือ “World Design Capital” ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) โดยฉงชิ่งเป็นเมืองที่ห้าในประเทศจีนและเป็นเมืองแรกในภูมิภาคตะวันตกที่ได้รับเกียรตินี้ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา หน่วยงานต่าง ๆของนครฉงชิ่ง อาทิ หน่วยงานจากภาครัฐ วิสาหกิจ สถานศึกษา และองค์กรทางสังคม ได้ร่วมกันผลักดันการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมการออกแบบภายในเมืองเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชิงลึกในการขับเคลื่อนการพัฒนา “เมืองออกแบบระดับโลก”

ในการประชุม ฯ มีผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้ รวมถึงมีการเปิดตัว “สถาบันวิจัยระบบการออกแบบสมัยใหม่นครฉงชิ่ง” ซึ่งเป็นการก่อตั้งร่วมกันโดย Chongqing Jiaotong University และศูนย์แฟชั่นของ Chongqing Daily ซึ่งให้การสนับสนุนด้านความรู้และนวัตกรรมหลากหลายด้านสำหรับการก่อสร้าง “เมืองออกแบบระดับโลก” ของนครฉงชิ่ง

นอกจากนี้ นครฉงชิ่งกำลังมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ “๓๓๖๑๘” โดยใช้การออกแบบอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือในการเร่งการพัฒนาผลผลิตใหม่และส่งเสริมการบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง และยังคงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถในการให้บริการด้านการออกแบบ การรวมทรัพยากร และการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาและการดำเนินการของศูนย์ออกแบบอุตสาหกรรม และการสร้าง “เมืองออกแบบระดับโลก”

การพัฒนาของนครฉงชิ่งในการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการออกแบบสมัยใหม่และการพัฒนาระบบกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ “๓๓๖๑๘” เป็นตัวอย่างที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบ การพัฒนาพลังงานใหม่ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การนำโมเดลการพัฒนาของนครฉงชิ่งมาใช้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

“๓๓๖๑๘” หมายถึง “ระบบกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่”
๓: การพัฒนา ๓ กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าล้านล้านหยวน ได้แก่ รถยนต์พลังงานใหม่อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ และวัสดุขั้นสูง
๓: การพัฒนา ๓ กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีมูลค่า ๕ แสนล้านหยวน ได้แก่ อุปกรณ์อัจฉริยะและการผลิตอัจฉริยะ การแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร และการบริการข้อมูลซอฟต์แวร์
๖: การพัฒนา ๖ กลุ่มอุตสาหกรรมพิเศษที่มีมูลค่า ๑ แสนล้านหยวน ได้แก่ การแสดงผลรุ่นใหม่ รถจักรยานยนต์ระดับไฮเอนด์ วัสดุโลหะเบาผสม สิ่งทอ ชีวเภสัชกรรม พลังงานใหม่และการกักเก็บพลังงานแบบใหม่
๑๘: การพัฒนา ๑๘ กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ๖ กลุ่มและกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ๑๒ กลุ่ม


ที่มาข้อมูล:

  • เว็บไซต์ cqnews (เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๖๗)
https://news.cqnews.net/1/detail/1250409502105931776/web/content_1250409502105931776.html
  • เว็บไซต์ cq.gov.cn (เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๖๗)
https://www.cq.gov.cn/zwgk/zfxxgkml/lwlb/cqzxd/zzdt/202306/t20230606_12035424.html

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน