ทำไมผู้ส่งออก “ผลไม้ไทย” จึงเลือกนำเข้าผ่านเมืองผิงเสียง?

13 Aug 2018

ทำไมผู้ส่งออก "ผลไม้ไทย" จึงเลือกนำเข้าผ่านเมืองผิงเสียง?

 

โดย…ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

 

      รู้หรือไม่…. 1/4 ของผลไม้ที่จีนแผ่นดินใหญ่นำเข้าเป็นการนำเข้าผ่านด่านในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang City/凭祥市) เพราะเมืองชายแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของด่านทางบกที่มีปริมาณการนำเข้า-ส่งออกผลไม้มากที่สุดของประเทศจีน จนผู้ค้าผลไม้ในจีนยกให้เป็น “เมืองแห่งผลไม้จีน-อาเซียน”

      จากข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรนครหนานหนิง ชี้ว่า ตัวเลขการนำเข้าผลไม้ไทยที่ด่านโหย่วอี้กวานตามพิธีสารฯ R9 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นมาก หลังจากที่ตัวเลขการค้าหายกลายเป็น “ศูนย์” ระหว่างปี 2554-2557

      โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ผลไม้ไทยที่นิยมนำเข้าที่ด่านโหย่วอี้กวาน 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน (33,575 ตัน เพิ่มขึ้น 332.2% / มูลค่า 568.3 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 352.6%) มังคุด (19,381 ตัน ลดลง 7.26% / มูลค่า 289.8 ล้านหยวน ลดลง 7.17%) และลำไยสด (242 ตัน มูลค่า 2.23 ล้านหยวน ปีก่อนหน้าไม่พบการนำเข้า)

      เจ้าหน้าที่ศุลกากรผิงเสียงยืนยันว่า เมื่อผลไม้ขนส่งถึงด่านโหย่วอี้กวาน การผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับผลไม้นำเข้าสามารถดำเนินการให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือแล้ว ผู้ค้าผลไม้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาตู้สินค้าค้างท่าและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่งอกเงยตามมา

      วันนี้ BIC จะมาไขข้อข้องใจว่า….เมืองผิงเสียงมีดีอะไร เมืองผิงเสียงพร้อมแค่ไหน ทำไมผู้ค้าผลไม้จึงเลือกเมืองผิงเสียง

 การขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว ที่ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) มีบริเวณช่องทางสัญจรพิเศษ (Fast track Lane) สำหรับรถบรรทุก ซึ่งมีรถบรรทุกผลไม้ป้ายทะเบียนเวียดนามจำนวนมากจอดเรียงรายเพื่อรอผ่านพิธีการศุลกากร

      ขณะที่บริเวณลานสินค้าในเขตสินค้าทัณฑ์แบบครบวงจรเมืองผิงเสียง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับด่านโหย่วอี้กวานก็มีรถบรรทุกป้ายทะเบียนจีนนับร้อยคันจอดรอขนถ่ายผลไม้ไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีน

      เนื่องจากสภาพภูมิประเทศบริเวณด่านโหย่วอี้กวานเป็นช่องเขาแคบ ส่งผลให้การจราจรแออัด เมืองผิงเสียงจึงสร้างช่องทางพิเศษดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และช่วยให้ผลไม้รักษาความสดใหม่เมื่อถึงมือผู้บริโภค โดยเปิดใช้งานเมื่อเดือนกันยายน 2560 ทำให้ปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้าออกในแต่ละวันเพิ่มขึ้นจาก 700 คันเป็น 1,200 คัน

      การขนส่งด้วยรถบรรทุกได้เปรียบกว่าการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการขนส่งที่ช่วยให้ผลไม้คงความสดใหม่ ขายได้ราคา และมีความยืดหยุ่นในการขนส่งผลไม้ล็อตเล็กๆ โดยไม่ต้องขนย้ายตู้สินค้าหลายครั้ง ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับการขนถ่ายผลไม้ได้

 ขั้นตอนพิธีการศุลกากร ภายหลังการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานจีนโดยการควบรวมสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค (AQSIQ) ภายใต้สังกัดสำนักงานศุลกากร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 สำนักงานศุลกากรได้ปฏิรูประบบยื่นสำแดงเอกสารและการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออกใหม่ ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบและอนุมัติเอกสารกระชับขึ้น (การยื่นสำแดงเอกสารและยื่นตรวจกักกันโรคสินค้าทำเพียงครั้งเดียว) ทำให้ผลไม้จากอาเซียนผ่านเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 เครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบที่ล้ำสมัย ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรจะกำหนดเงื่อนไขประเมินความเสี่ยงตามหลักการบริหารความเสี่ยงของศุลกากร เพื่อคัดเลือกและกำหนดการสั่งการตรวจสอบใบขนสินค้า กรณีที่พบสินค้าที่มีปัญหา จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ(สุ่ม)ตรวจสอบสินค้า

นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรได้ติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ด้วยเครื่องเอกซเรย์ รุ่น H986 เพื่อใช้ตรวจสอบสินค้าภายในตู้สินค้าด้วยการฉายลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) พลังงานสูง โดยเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของสินค้ากับเอกสารได้ทันที กรณีที่พบปัญหาจะส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง



“เมื่อก่อน กระบวนการตรวจสอบสินค้าในรถบรรทุกขนาด 40 ตัน ต้องใช้คนงาน 10 คนและใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง หลังจากใช้เครื่องเอกซเรย์ H986 รถบรรทุกหนึ่งคันใช้เวลาไม่ถึง 3 นาทีเท่านั้น”

ในกระบวนการสุ่มเก็บตัวอย่าง การตรวจสอบผลไม้นำเข้าจากไทย นอกจากตรวจสอบความถูกต้องของสินค้ากับใบรับรองแล้ว การตรวจกักกันโรคในผลไม้มีความสำคัญ เจ้าหน้าที่จะสุ่มผลไม้เพื่อส่งเข้าห้องแล็บที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากลานตรวจสินค้าเพื่อประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชกักกันที่อาจติดมากับผลไม้ ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น กรณีที่พบสินค้าที่มีปัญหา เจ้าหน้าที่จะส่งกลับไปยังประเทศต้นทางหรือทำการทำลายตามสมควร

 แพลตฟอร์มค้าผลไม้ครบครัน เมืองผิงเสียงเพิ่งเปิดตัวแหล่งการค้าผลไม้และสินค้าเกษตรแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า ศูนย์ผลไม้จีน(ผิงเสียง)-อาเซียนหรือ China-ASEAN Pingxiang Fruits City (中国—东盟(凭祥)水果城) เฟสแรก บนเนื้อที่ 7.2 หมื่น ตร.ม. สำหรับการค้าผลไม้ทั้งแบบออนไลน์และ ออฟไลน์ ภายในศูนย์ฯ มีหน้าร้าน ช่องจอดรถขนถ่ายผลไม้ ลานขนถ่ายสินค้า ลานซื้อขายผลไม้ โรงคัดบรรจุและแปรรูปผลไม้ โกดังเย็น รวมทั้งมีบริการจัดส่งด่วน (courier) ด้วย

 การคมนาคมหลายมิติ นอกจากการขนส่งด้วยรถบรรทุกแล้ว เมืองผิงเสียงกำลังเร่งปรับปรุงและยกระดับด่านรถไฟผิงเสียง เพื่อรองรับการเป็น ด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของจีน โครงการก่อสร้างเฟสแรกเปิดใช้งานแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 การขนส่งด้วยระบบรางสามารถเชื่อมต่อหัวเมืองสำคัญทั่วจีน ช่วยให้ผู้ค้าสามารถขยายช่องทางการค้าและระบายความแออัดของด่านโหย่วอี้กวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ที่สำคัญไปกว่านั้น ปัจจุบัน “ผิงเสียง” เป็นเมืองเดียวของจีนที่มี เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ ที่เชื่อมไปยังอาเซียน เพื่อใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โดยช่วงเส้นทางผิงเสียงฮานอยจะเป็นแบบ Door to Door กล่าวคือ ขนส่งจากสถานีต้นทางถึงสถานีปลายทางโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า และในอนาคตอาจมีการขยายเส้นทางรถไฟดังกล่าวไปถึงนครโฮจิมินห์ และพัฒนาเส้นทางรถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เย็น (Reefer Container) เชื่อมกับรถไฟ China-Europe Railway Express เพื่อเชื่อมอาเซียน-จีน-ยุโรปอีกด้วย

 

บทสรุป

      การที่ผู้ค้าผลไม้กลับมาใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R9 เพื่อนำเข้าผลไม้ไทยตามพิธีสารฯ ผ่านทางด่านโหย่วอี้กวานเป็นจำนวนมาก นอกจากปัจจัยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูประบบงานราชการจีนแล้ว

      อีกส่วนสำคัญ คือ ผู้ค้าผลไม้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการทำการค้า ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมทั้งผู้ค้าผลไม้มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับระบบภาษีและราคาประเมินกลาง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าผลไม้ของไทย

      นอกจากนี้ วิธีการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าในการใช้เส้นทาง R9 เพื่อค้าขายผลไม้ไทย และวิธีการปรับตัวของธุรกิจผลไม้ไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โลจิสติกส์ (Logistics E-Commerce) ในปัจจุบัน ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจผลไม้ไทยและเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทย-จีน(กว่างซี)มากยิ่งขึ้น

 

*********************************

เมืองผิงเสียงด่านโหย่วอี้กวานส่งออกผลไม้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน