‘ทางรอด’ ของค้าปลีกกว่างซีในยุค Internet plus เขาทำอย่างไร?

8 Jun 2016

หนังสือพิมพ์กว่างซีเดลี่: ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวัน ธุรกิจค้าปลีกในกว่างซี (รวมทั้งจีน) ต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดครั้งใหญ่เพื่อสร้างแรงแข่งขันสู้กับธุรกิจค้าปลีกออนไลน์

เมื่อไม่นานมานี้ แพลทฟอร์มธุรกิจค้าปลีกในจีน Linkshop.com (联商网) ได้รายงานสถิติการปิดกิจการของธุรกิจค้าปลีก ประจำปี 2558 พบว่า ปีที่แล้วมีซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้ารายสำคัญในจีนต้องปิดกิจการ 138 แห่ง (ปี 2557 ที่มีการปิดกิจการไป 201 แห่ง) อายุเฉลี่ยของธุรกิจไม่ถึง 5 ปี

ในเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน มีธุรกิจค้าปลีกที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมด 3.6 หมื่นราย (เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกออนไลน์ ฯลฯ) ปี 2558 ยอดการค้าปลีกสินค้ามีมูลค่า 5.747 แสนล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 90.6 ของมูลค่ารวมการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค นับเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจธุรกิจค้าปลีกขนาดกลาง-ใหญ่ในกว่างซีพบว่า ธุรกิจ 42 ราย (จากทั้งหมด 65 ราย) มีผลประกอบการเติบโตลดลง คิดเป็นร้อยละ 65 ขณะที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 มีผลประกอบการเติบโตลดลง

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องประสบภาวะชะลอตัวลง คือ

หนึ่ง ต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า ช่วงเกือบ 2 ปีมานี้ เงินเดือนของพนักงานธุรกิจค้าปลีกมีการปรับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 9 โดยเฉพาะเงินเดือนของพนักงานห้างร้านมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลขสองหลัก ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าจำหน่ายของห้างร้าน ขณะที่ อัตราค่าเช่าพื้นที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 23 ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกมีผลกำไรลดลง

สอง การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ปีที่แล้ว มูลค่าการค้าปลีกผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของกว่างซีเติบโตมากกว่าร้อยละ 120 ทั้งนี้ พบว่า ผู้ค้าเสื้อผ้า รองเท้า สิ่งทอ เครื่องสำอาง และของใช้ในชีวิตประจำได้รับผลกระทบชัดเจนจากการเติบโตของธุรกิจค้าออนไลน์

นายจาง โหยว (Zhang You, 张友) ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทผู้ค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ Sunning สาขากว่างซี ให้ข้อมูลว่า ในไตรมาสแรกของปี 2559 ร้านค้าจริงของ Sunning ทำยอดจำหน่ายได้ 303 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 10.4 ขณะที่ ยอดจำหน่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ (เว็บไซต์ suning.com หรือ苏宁易购) มีมูลค่า 212 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 81.44

การปรับตัวตามกระแส e-Commerce เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าในนครหนานหนิงมีการนำโมเดลธุรกิจแบบ O2O (Offline to Online) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจค้าปลีกของตนเอง เช่น ห้างสรรพสินค้าหนานหนิง สาขาเหวินฮั่วกง (南宁百货文化宫店) มีการปรับปรุงพื้นที่ห้างชั้นสองเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ (南宁跨境商品直购体验中心) พร้อมๆ กับการเปิดตัวเว็บไซต์ mmgo.com เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์

ด้านซุปเปอร์มาร์เก็ต Guangxi Lianhua Supermarket Holdings (广西联华超市股份有限公司) มีการพัฒนาบริการสั่งจองสินค้าล่วงหน้า ลูกค้าสามารถสั่งจองผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ได้ล่วงหน้า แถมมีบริการส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและกระตุ้นยอดจำหน่าย โดยพบว่าในไตรมาสแรกที่ผ่านมามูลค่าจำหน่ายขยายตัวร้อยละ 2.55

สาม ความจำเจ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าหรูระดับ Hi-end ในนครหนานหนิง คือ ห้าง Printemps (巴黎春天百货) และห้าง Guangzhou Friendship (广州友谊商场) ต้องโบกมืออำลานครหนานหนิง เนื่องจากต้องประสบภาวะขาดทุนจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่มีความจำเจ ทำให้ลูกค้าไม่ค่อยมาเดินช็อปปิ้ง

ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมหลายแห่งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าในแต่ละยุคสมัย มีการพัฒนาปรับรูปแบบการบริการที่ครบวงจรมากขึ้น กล่าวคือ จากที่เดิมทีเป็นเพียงสถานที่ช็อปปิ้งอย่างเดียวก็เริ่มมีการพัฒนาฟังก์ชั่นเพิ่มสถานที่ดื่มที่กิน (ร้านอาหารเครื่องดื่ม) สถานที่เที่ยวพักผ่อนและบันเทิง (โรงภาพยนตร์ คาราโอเกะ ลานสเก็ตน้ำแข็ง) เพื่อดึงดูดและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค

"พวกเราอยู่ระหว่างการวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการใหม่ โดยจะลดจำนวนร้าน  ช็อปปิ้งให้น้อยลงเหลือร้อยละ 50-60 ของพื้นที่ห้าง (เดิมมีสัดส่วนร้อยะ 90) และหันมาเพิ่มพื้นที่ฟังก์ชั่นด้านกินดื่มและสิ่งบันเทิงที่หลากหลายให้แก่ลูกค้ามากขึ้น" เจ้าหน้าที่ห้าง Nanning Dream Island สาขา Shuijing Cheng (南宁梦之岛水晶城百货) ให้ข้อมูล

ปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้ามี สูตรการจัดสรรพื้นที่ภายใต้รหัส 532 คือ พื้นที่ร้อยละ 50 เป็นร้านช็อปปิ้ง ร้อยละ 30 เป็นร้านอาหาร และร้อยละ 20 เป็นร้านบันเทิง

ค้าปลีก,ชะลอตัว

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน