“ด่านผิงเสียง” ปรับกลยุทธ์ เป็นมากกว่า “ด่านการค้าผลไม้”

8 Jan 2019

 

ไฮไลท์

  • ผลไม้เมืองร้อนที่นำเข้าไปจำหน่ายในตลาดจีนกว่าร้อยละ 50 มาจากอำเภอระดับเมืองผิงเสียง ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะ “เมืองหน้าด่านการค้าผลไม้” ของจีนกับอาเซียน
  • เมืองผิงเสียงกำลังปรับกลยุทธ์ให้ผิงเสียงเป็นมากกว่าเมืองการค้าผลไม้ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนา “เศรษฐกิจชายแดน” ของเมือง โดยมุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านการแปรรูปผลไม้เชิงลึก
  • “หมู่บ้านผลไม้อาเซียนผิงเสียง” ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโหย่วอี้กวานเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ทางการเมืองผิงเสียงจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนด้านการแปรรูปผลไม้เชิงลึกแบบครบวงจร

 

การค้าชายแดนกว่างซีมีแนวโน้มการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น

“อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” เป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญของประเทศจีน ปัจจุบัน มีกลุ่มผู้ค้ารายน้อยใหญ่ที่เป็นคนท้องถิ่นและต่างถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะการค้าผลไม้ ทำให้เมืองผิงเสียงยังคงรั้งเก้าอี้ “เมืองการค้าผลไม้” เบอร์หนึ่งของจีนด้วยจำนวนกว่า 2.35 ล้านตันเมื่อปี 2560

แม้ว่าการค้าชายแดนในเมืองผิงเสียงจะมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บทบาทของเมืองผิงเสียงเป็นเพียง “ทางผ่าน” ของสินค้า ซึ่งไม่ได้ส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เมืองผิงเสียงจึงปรับกลยุทธ์ให้ผิงเสียงเป็นมากกว่าเมืองการค้าผลไม้ โดยหันมาส่งเสริมการลงทุนด้านการแปรรูปผลไม้เชิงลึก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โครงการ “หมู่บ้านผลไม้อาเซียนผิงเสียง” (中国凭祥东盟水果小镇) ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโหย่วอี้กวานเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่เมืองผิงเสียงริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนด้านการแปรรูปผลไม้เชิงลึกแบบครบวงจร บนเนื้อที่ 376.5 เฮกตาร์ โดยเมืองผิงเสียงเตรียมสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้เชิงลึกที่เป็นโรงงานสำเร็จรูป คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านหยวน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) ที่รัฐบาลกว่างซีระบุให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจด่านชายแดน โดยเฉพาะการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมถึงปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชายแดนซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของนโยบายขจัดความยากจนของจีน

ปัจจุบัน ในหมู่บ้านผลไม้แห่งนี้ มีโรงงานแปรรูปเพื่อการนำเข้าส่งออกที่เริ่มเดินสายการผลิตแล้ว 8 โครงการ มีโครงการที่กำลังก่อสร้างและโครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้วอีก 12 โครงการ

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีด่าน 5 แห่งที่ได้รับอนุมัติให้เปิดนำเข้าผลไม้ รวมมากกว่า 50 ชนิด จาก 44 ประเทศทั่วโลก (อีก 2 แห่งได้รับอนุมัติแล้วเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคและรอตรวจรับจากส่วนกลาง) โดยส่วนใหญ่เป็นผลไม้จากเวียดนามและไทย

ไม่กี่ปีมานี้ ผลไม้เขตร้อนได้เข้าตีตลาดคนชนชั้นกลางจีนด้วยปัจจัยด้าน “ราคาที่เอื้อมถึง” ทำให้ผลไม้เขตร้อนเป็นที่นิยมมากในประเทศจีน กระแสความร้อนแรงของการทำธุรกิจค้าผลไม้จีนกับอาเซียนดึงดูดให้ภาคธุรกิจต่างรุกสู่พื้นที่ชายแดนเพื่อจับจองพื้นที่ทำธุรกิจแปรรูปผลไม้ในเมืองผิงเสียงในขณะนี้

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561
รูปประกอบ www.pexels.com

 

R12R9ค้าผลไม้ด่านผลไม้ด่านผิงเสียงด่านโหย่วอี้กวาน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน