ดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้า ตัวชี้ทิศทางเกษตรกรและผู้ค้ากล้วยในจีน

22 May 2019

ไฮไลท์

  • จีนมีข้อจำกัดด้านพื้นที่การเพาะปลูกและผลกระทบจากโรคกล้วยเหี่ยวเฉาตาย ส่งผลให้ปี 2561 จีนมีการนำเข้ากล้วยหอมมากถึง 1.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% (YoY)
  • China Economic Information Service ในสังกัดสำนักข่าวซินหัว ได้จัดทำ “ดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้า” ด้วยเทคโนโลยี Big Data เพื่อสร้างฐานข้อมูลอ้างอิงให้ภาครัฐและเกษตรกรชาวสวนกล้วย
  • ดัชนีดังกล่าวเปรียบเสมือน “ลูกศร” ชี้ทางให้กับเกษตรกรรู้ว่าตนเองควรปลูกอย่างไร ผู้ค้าเข้าใจว่าตนเองควรขายอย่างไร รวมทั้งเป็นแนวทางที่ภาครัฐสามารถนำมาศึกษาอ้างอิงเพื่อกำหนดนโยบาย

เมื่อไม่นานมานี้ China Economic Information Service (中国经济信息社) ในสังกัดสำนักข่าวซินหัว ได้เปิดตัว “ดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้า” ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีตัวที่ 4 ในชุดดัชนีราคากล้วยหอม ต่อจากดัชนีราคากล้วยไข่ท้องถิ่นมณฑลไห่หนาน ดัชนีราคากล้วยหอมท้องถิ่น และดัชนีราคาขายส่งกล้วยหอมในท้องถิ่น

การจัดทำดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้าจัดเก็บข้อมูลจาก 5 แหล่ง คือ ท่าเรือ แหล่งผลิต ผู้นำเข้า แบรนด์ และสเปคสินค้า ขณะนี้มีการเก็บข้อมูลราคาขายส่งกล้วยหอมนำเข้าที่ผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ และเวียดนาม จากท่าเรือ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้และท่าเรือต้าเหลียน

ข้อจำกัดด้านพื้นที่การเพาะปลูกและผลกระทบจากโรคกล้วยเหี่ยวเฉาตาย ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกกล้วยในจีนเป็นไปได้ยาก ซึ่งส่งผลต่อปริมาณการผลิตกล้วยในประเทศ ทำให้ในปี 2561 จีนมีการนำเข้ากล้วยหอมมากถึง 1.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% (YoY)

ตั้งแต่เริ่มเก็บดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้าเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2561 (ค่าฐานที่ 1,000 จุด) จนถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์ราคากล้วยหอมนำเข้ามีความผันผวนเล็กน้อย ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ค่าดัชนีอยู่ที่ 991.90 จุด (ลดลง 8.10 จุด) ขยายตัวลดลง 0.81% และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมจึงสรุปได้ว่า ปริมาณการนำเข้ากล้วยหอมเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อราคากล้วยหอมในจีน

ดัชนีดังกล่าวเปรียบเสมือน “ลูกศร” ชี้ทิศบอกทางให้กับภาคการเกษตรของจีน เป็นการใช้ประโยชน์จากการพัฒนา Big Data ภาคการเกษตร เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ช่วยให้เกษตรกรรู้ว่าตนเองควรปลูกอย่างไร ผู้ค้าเข้าใจว่าตนเองควรขายอย่างไร

ในมุมของภาครัฐ ดัชนีดังกล่าวเป็นแนวทางที่ภาครัฐสามารถนำมาอ้างอิงเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ชี้แนะแนวทางการปลูกกล้วยให้กับเกษตรกร ซึ่งการผสมผสานเชิงลึกระหว่าง Big Data กับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่เขตร้อน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社) ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2562
แหล่งภาพ www.pixabay.com

China Economic Information Serviceดัชนีราคากล้วยหอมนำเข้าเทคโนโลยี Big Data

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน