นครหยินชวน เขตฯ หนิงเซี่ย เปิดตัวเที่ยวขนส่งสินค้าทางรางรอบพิเศษสู่ไทย

24 Jun 2021

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 สำนักข่าว ChinaNews สาขานครหยินชวน รายงานศูนย์โลจิสติกส์ทางหลวงและทางรางแห่งเขตฯ หนิงเซี่ยหุย (Ningxia Yinchuan Highway and Railway Transport Logistics Center, 宁夏银川公路铁路运输物流中心) เปิดตัวเที่ยวการขนส่งสินค้าทางรางรอบพิเศษ โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทาง New Western Land-Sea Corridor (西部陆海新通道)1 ส่งสินค้าผ่านนครฉงชิ่ง สู่ท่าเรือชินโจว (钦州港) ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ. ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบังของไทยและท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีเป็นท่าเรือพี่น้องกันตั้งแต่ปี 2561) ถือเป็นการขนส่งสินค้ากลุ่มหินและแกรนิตแปรรูปของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยรอบปฐมฤกษ์ที่ขนส่งไปยังประเทศไทย

เส้นทางขนส่งฯ เดินทางออกจากศูนย์โลจิสติกส์ฯ บรรทุกสินค้ารวม 60 ตู้ รวม 1,650 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.73 ล้านหยวน คาดการณ์ใช้เวลาในการขนส่งรวม 20 วัน ซึ่งเมื่อนำโมเดลการขนส่งแบบหลากหลาย (Multimodal Transportation) มาใช้งาน ทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งทางเรือเพียงอย่างเดียวมากถึงร้อยละ 20

ปัจจุบัน เขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีความพยายามในการยกระดับช่องทางการขนส่งสินค้าทางรางไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนบ้างแล้วเช่นกัน จากเดิมที่มักเน้นเส้นทางการขนส่งสินค้าสู่เอเชียกลางไปยังทวีปยุโรปเป็นหลัก โดยเมื่อเดือน ส.ค. 2560 เขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้เข้าเป็น 1 ในพันธมิตร The New International Land Sea Trade Corridor (西部陆海大通道)2 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนมุ่งลงใต้โดยมีนครฉงชิ่งเป็นข้อต่อสำคัญ ซึ่งร่วมสร้างโดยมณฑลในภูมิภาคจีนตะวันตกและสิงคโปร์

ต่อเมื่อปี 2562 เขตฯ ได้เข้าเป็น 1 ในมณฑลสมาชิกของ “แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道) “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” หรือเดิมใช้ชื่อว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้” (Southern Transportation Corridor/南向通道) เป็นข้อริเริ่มที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน

นอกต่อมาเมื่อ 7 ม.ค. 2563 เขตฯ หนิงเซี่ยหุยร่วมกับอีก 7 มณฑลทางภาคตะวันตก ได้แก่ นครฉงชิ่ง เขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ และมณฑลยูนนาน ได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการสร้างช่องทางการส่งเสริมเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางทะเล ต่อมาเมื่อ 13 ต.ค. 2563 ศุลกากร 15 แห่งในภูมิภาคตะวันตกได้ร่วมลงนาม MOU สนับสนุนการดำเนินการของเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางทะเล (Memorandum of Cooperation on the Joint Support of Regional Customs for the Construction of “New Land Sea Channel in Western China”) ครอบคลุมศุลกาการนครซีอาน นครหลานโจว และนครหยินชวนด้วย

อย่างไรก็ดี เส้นทางขนส่งสินค้าทั้งสองเส้นนี้ ได้ใช้ประโยชน์จากระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ ซึ่งผลักดันให้นครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและใช้ท่าเรือในเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นประตูสู่ท่าเรือทั่วโลก ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางรางผ่าน ILSTC สู่ต่างประเทศมีรูปแบบการขนส่งในประเทศ โดยสังเขป คือ

(1) นครฉงชิ่ง – นครกุ้ยหยาง (贵阳市) มณฑลกุ้ยโจว – นครหนานหนิง (南宁市) เขตฯ กว่างซีจ้วง– อ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (北部湾) เขตฯ กว่างซีจ้วงหรือท่าเรือหยางผู่ (洋浦港) ของมณฑลไหหลำ – ขนส่งไปยังสิงคโปร์

(2) นครฉงชิ่ง- เมืองหวยฮวา (怀化市) มณฑลหูหนาน – เมืองหลิ่วโจว (柳州市) เขตฯ กว่างซีจ้วง – อ่าวเป่ยปู้ เขตฯ กว่างซีจ้วง

(3) นครเฉิงตู – เมืองหลูโจว (泸州市) มณฑลเสฉวน – เมืองไป๋เซ่อ เขตฯ กว่างซีจ้วง – อ่าวเป่ยปู้  เขตฯ กว่างซีจ้วง

ปัจจุบัน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย ได้เร่งยกระดับความสามารถในการส่งออกสินค้าผ่านเมืองต่าง ๆ มากขึ้น (ในอดีต เขตฯ พึ่งพาเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านทางรางไปยังท่าเรือเทียนจิน (天津港) เพียงแห่งเดียว) ซึ่งการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางขนส่ง ILSTC นี้จะช่วยเพิ่มช่องทางในการส่งออกเพื่อประโยชน์ในการขยายตลาดได้มากขึ้น โดยมีศูนย์โลจิสติกส์ทางหลวงและทางรางแห่งเขตฯ หนิงเซี่ยหุย (Ningxia Yinchuan Highway and Railway Transport Logistics Center, 宁夏银川公路铁路运输物流中心) เป็นฐานสำคัญในการรองรับการเติบโตของเส้นทางการขนส่งสินค้าทางราง ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญของศูนย์กลางภูมิภาคในประเทศและภูมิภาคในการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน

ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

  1. พลิกโฉมงานขนส่งกับจีน : “เรือ+รถไฟ” ที่กว่างซี คำตอบใหม่ของผู้ค้าไทยกับจีน
  2. กว่างซีทุ่มงบมหาศาล พัฒนาโครงข่ายขนส่งทุกมิติเชื่อมสู่ทะเล

ข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.sohu.com/a/472600801_162758

______________

  1. 西部陆海新通道 หรือ New western land-sea corridor (NWSLC) เป็นชื่อทางการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่​แห่งภาคตะวันตก” (New Western LandSea CorridorNWLSC /西部陆海新通道) “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” หรือเดิมใช้ชื่อว่า “เส้นทางมุ่งลงใต้” (Southern Transportation Corridor/南向通道) เป็นข้อริเริ่มที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน มีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) กับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt)
  2. 西部陆海大通道เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC) ซึ่งร่วมสร้างโดยมณฑลในภูมิภาคจีนตะวันตกและสิงคโปร์ โดยจะเชื่อมโยงประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เข้าไปด้วย

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน