ส่องโอกาสความร่วมมือการแพทย์แผนไทย-จีน (กานซู)
5 Oct 2023ส่องโอกาสร่วมมือการแพทย์แผนไทย-จีน และร่วมรับชมความก้าวหน้าของสมุนไพรจีนภายใน มหกรรม China (Gansu) Traditional Chinese Medicine Industry Expo ครั้งที่ 4 ณ เมืองติ้งซี มณฑลกานซู เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้แทนศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน นครซีอาน ได้ร่วมติดตามคณะผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำโดยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมหารือความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทย-จีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกานซู (Gansu University of Chinese Medicine) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในมิติต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนและหลักสูตรการอบรมบุคลากรด้านการแพทย์ระหว่างกัน นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดมหกรรม China (Gansu) Traditional Chinese Medicine Industry Expo ครั้งที่ 4 ณ เมืองติ้งซี มณฑลกานซู ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมหกรรมด้านการแพทย์แผนจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศจีน โดยมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจีนที่มีชื่อเสียงจากบริษัทต่าง ๆ กว่า 105 ราย อาทิ Sinopharm GPH และ Yunnan Baiyao เป็นต้น

พัฒนาการอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนของกานซู
อุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีน หรือ Traditional Chinese Medicine (TCM) เป็น อุตสาหกรรมหลักของมณฑลกานซู โดยกานซูเป็น 1 ใน 4 ฐานสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีชื่อยกย่องว่าเป็น “Millennium Medicine Township” และ “Natural Medicine Storehouse” โดยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชสมุนไพรจีนและผลผลิตยาสมุนไพรจีนอยู่ในอันดับแรกของเมืองในประเทศจีน โดยเฉพาะพืชตระกูลโสม (ได้แก่ ตังกุย ตังเซิน หวงฉี ชะเอม และต้าหวง) และกานซูยังได้รับการรับรองจาก รัฐบาลจีนให้เป็น National Pilot and Demonstration Province for Comprehensive Reform of TCM Development ซึ่งปัจจุบันกานซูมีพันธุ์ทรัพยากรสมุนไพรจีนกว่า 2,540 ชนิด ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้กว่า 450 ชนิด และมีสมุนไพรที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 42 ชนิด โดยในปี 2565 มณฑลกานซูสามารถทำรายได้จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนรวมทั้งหมดถึง 70,000 ล้านหยวน โดยในปีนี้ กานซูตั้งเป้าจะต่อยอดการพัฒนาคุณภาพสูง ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพรและบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจนอกมณฑลและการต่อยอดส่งออกไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็น “Healthy Gansu” อีกด้วย

ต่อยอดตลาดสมุนไพรกานซู พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ
กานซูตอบสนองนโยบายของรัฐบาลจีนผ่านการใช้ healthcare diplomacy ดำเนินความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางและแอฟริกา ยกตัวอย่างเช่นความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีนกับประเทศมาดากัสการ์และกานซูที่ริเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 ซึ่งทางกานซูได้ส่งคณะแพทย์แผนจีนไปยังมาดากัสการ์ เพื่อไปรักษาและพัฒนาทรัพยากรด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยปัจจุบันมีคณะแพทย์จากมณฑลกานซูที่ได้เดินทางไปยังมาดากัสการ์แล้วกว่า 600 คน และมีโรงพยาบาลด้านการแพทย์แผนจีนในมาดากัสการ์ถึง 4 แห่ง ล่าสุดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 กานซูได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนรอบใหม่ไปยังมาดากัสการ์อีกถึงกว่า 30 ราย นอกจากนี้ ในมหกรรม China (Gansu) Traditional Chinese Medicine Industry Expo ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา ยังได้มีผู้แทนจาก World Health Organization (WHO) เข้าร่วม และได้กล่าวถึงความท้าทายของระบบการแพทย์ดั้งเดิม (Traditional Medicine) ในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ การขาดระบบการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ การทำให้ประชาชนทั่วไปเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการแพทย์ดั้งเดิม และการขาดระบบควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนานาชาติสามารถเรียนรู้ best practice ที่สำคัญจากการที่แพทย์แผนจีนสามารถคิดค้นยาอาร์เตมิซินิน (Artemisinin) รักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งสกัดจากสมุนไพรจีนชิงเฮา (Qinghao) ในห้วงปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นคุณูปการอย่างยิ่งในการรักษาโรคมาลาเรียทั่วโลก ทั้งนี้ จีน และ WHO ได้ร่วมประกาศแผนพัฒนาการแพทย์แผนจีน ปี ค.ศ. 2022-2026 เพื่อร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์แผนจีนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขต่อไป

ความท้าทายของอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนในกานซู
ถึงแม้ว่า มหกรรม China (Gansu) Traditional Chinese Medicine Industry Expo ครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา มีการลงนามความร่วมมือการส่งเสริมการลงทุนกว่า 102 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 63,900 ล้านหยวน และมีการลงนามสัญญาซื้อขายสมุนไพรมากกว่า 43 ฉบับ คิดเป็นเป็นมูลค่า 92,000 ล้านหยวน สะท้อนความสำเร็จในอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนของกานซู อย่างไรก็ดี ความท้าทายในอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนของกานซู คือ ถึงแม้ในปัจจุบันกานซูจะมีทรัพยากรสมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังต้องพึ่งพาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดในวิสาหกิจต่างมณฑล ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของกานซูคือ “การแปรรูปทรัพยากรสมุนไพรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด” ดังเช่นที่นายหู ฉางเชิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสส์จีนประจำมณฑลกานซูได้กล่าวในพิธีเปิดมหกรรมฯ ว่า “กานซูตั้งเป้าจะต่อยอดการพัฒนาคุณภาพสูง ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพรและบรรจุภัณฑ์”

มองกานซู มองไทย ส่องโอกาสต่อยอดความร่วมมือ
ปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีนกับมณฑลกานซูเช่นกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร และการจัดตั้ง “ศูนย์การแพทย์แผนจีนฉีหวง” (Qihuang Traditional Chinese Medicine Institute) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 ภายในโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น นอกจากนี้ นับแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกานซูยังได้ร่วมกับศูนย์ฯ เปิดคอร์สอบรมแพทย์แผนจีนระยะสั้นในรูปแบบออนไลน์เป็นประจำทุกปี และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกานซูได้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปยังศูนย์ฯ เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรแพทย์ชาวไทยอีกด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์แผนไทย-จีนจะมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องด้วยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจหรือสถาบันใด ๆ ที่สนใจ สามารถริเริ่มความร่วมมือในลักษณะ โครงการวิจัยร่วม หรือ Joint Research Program อาทิ ร่วมวิจัยสูตรยาสมุรไพรร่วมกัน ก็จะสามารถช่วยต่อยอดเพื่อปูทางสู่ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในอุตหกรรมสมุนไพรระหว่างกันได้ต่อไป


