เซินเจิ้น เมืองแรกของจีนที่อนุญาตทดสอบ “ยานยนต์ไร้คนขับ” ระดับ L4 ของจีน
9 Aug 2022ปัจจุบันเมืองเซินเจิ้นเป็นพื้นที่ทดสอบการขับขี่ของบริษัทยานยนต์ไร้คนขับมากมาย เช่น บริษัท Tencent บริษัท Pony.ai บริษัท AutoX (Alibaba) บริษัท Baidu บริษัท DeepRoute และบริษัท Momenta เป็นต้น แต่โครงการยานยนต์ไร้คนขับดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยานยนต์ไร้คนขับ” ได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การทดสอบการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับทั้งในเมืองเซินเจิ้นและเมืองอื่น ๆ ของจีนยังกำหนดว่าจะต้องมีผู้ขับขี่อยู่หลังพวงมาลัย อย่างไรก็ดี แต่นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป เมืองเซินเจิ้นจะเป็นเมืองแรกของจีนที่อนุญาตให้ดำเนินโครงการยานยนต์ไร้คนขับได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับขี่อยู่หลังพวงมาลัยหรือการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติระดับที่ 4 (Level 4 – High Automation) ซึ่งสถานะการพัฒนาอนาคตของยานยนต์ไร้คนขับของเมืองเซินเจิ้นจะเป็นอย่างไร วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะมาเล่าให้ผู้อ่านได้รับทราบ
ระเบียบว่าด้วย “การจัดการรถยนต์ไร้คนขับอัจฉริยะฉบับแรกของจีน”
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 คณะกรรมการสภาประชาชนแห่งชาติจีนประจำเมืองเซินเจิ้นประกาศ “ระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการยานพาหนะอัจฉริยะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น” โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยระเบียบดังกล่าวจะอนุญาตให้ดำเนินโครงการยานยนต์ไร้คนขับในพื้นที่ที่กำหนดได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับขี่อยู่หลังพวงมาลัย ซึ่งนับว่าเป็นระเบียบเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับอัจฉริยะฉบับแรกที่ก้าวหน้าที่สุดของจีน อนึ่ง ปัจจุบัน กฎหมายการอนุญาตและควบคุมการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับลักษณะเดียวกันนี้มีการบังคับใช้ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี เป็นต้น ระเบียบดังกล่าวเปิดกว้างสำหรับการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 3 (Level 3 – Conditional Automation) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถขับเคลื่อนได้เอง แต่ผู้ขับสามารถเข้าควบคุมรถได้หากมีความจำเป็น ระดับ 4 รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถเคลื่อนที่ตามเส้นทางที่กำหนดโดยไม่ต้องมีความช่วยเหลือจากคนขับที่อยู่หลังพวงมาลัย และระดับ 5 (Level 5 – Full Automation) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับเต็มรูปแบบที่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามคำสั่งโดยไม่ต้องมีคนขับอยู่ด้านหลังพวงมาลัย[1]
นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าวยังได้กำหนดเกณฑ์ความรับผิดชอบหากเกิดกรณียานยนต์ไร้คนขับละเมิดกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น (1) กรณีละเมิดกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุขณะที่มีผู้ขับขี่ ผู้ขับขี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (2) กรณีละเมิดกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุโดยไม่มีผู้ขับขี่ เจ้าของรถหรือผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และ (3) กรณีละเมิดกฎจราจรหรือเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากความผิดพลาดของระบบ เจ้าของรถหรือผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไร้คนขับได้ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นที่และรูปแบบของการทดสอบการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน การจดทะเบียนเอกสารใบอนุญาตการขับขี่ กฎจราจร และการคุ้มครองข้อมูล เป็นต้น
เทคโนโลยี LiDAR อนาคตยานยนต์ไร้คนขับของจีน
ปัจจุบันบริษัทยานยนต์ไร้คนขับชั้นนำของจีนได้นำเทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Raging) มาใช้งานอย่างแพร่หลายร่วมกับกล้องจับภาพและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแตกต่างจากการใช้เทคโนโลยีกล้องจับภาพและการเรียนรู้ของโปรแกรมด้วยตัวเองด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Cameras and Machine Learning) เพียงอย่างเดียวของบริษัท Tesla
เทคโนโลยี LiDAR เป็นเทคโนโลยีการใช้แสงเพื่อตรวจจับและคาดคะเนระยะทางของวัตถุเพื่อสร้างแผนที่ 2 มิติ หรือ 3 มิติ โดยทำงานด้วยการการยิงลำแสงไปที่วัตถุรอบข้างและสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์รับ – ส่งสัญญาณที่ติดตั้งรอบตัวรถ เทคโนโลยี LiDAR จะทำหน้าเสมือนดวงตาของรถยนต์ที่สามารถมองเห็นได้ 360 องศาซึ่งจะเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการรับรู้วัตถุรอบตัวรถ และทำให้ยานยนต์ไร้คนขับสามารถขับเคลื่อนได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นยังเป็นที่ตั้งของ RoboSense หรือ บริษัท Suteng Innovation Technology จำกัด โดย RoboSense เป็นผู้ให้บริการระบบเซนเซอร์ Smart LiDAR ชั้นนำของจีน บริษัท RoboSense โดดเด่นด้านฮาร์ดแวร์และปัญญาประดิษฐ์ และการประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์ LiDAR กับืปัญญาประดิษฐ์ และชิปประสิทธิภาพสูง โดยบริษัท RoboSense มีเทคโนโลยีของตนเองที่สามารถเปลี่ยนเซนเซอร์สามมิติ LiDAR ทั่วไปเป็นระบบวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเต็มรูปแบบ โดยเทคโนโลยี LiDAR ของ RoboSense ยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ(Autonomous driving) แท็กซี่ไร้คนขับ (Robo Taxi) รถบรรทุกไร้คนขับ (Robo Truck) รถบัสไร้คนขับ (Robo Bus) และถนนอัจฉริยะ เป็นต้น ปัจจุบัน RoboSense มีสิทธิบัตรของตนเองมากกว่า 600 รายงาน
อนาคตของรถยนต์ไร้คนขับในจีนกับโอกาสความร่วมมือกับไทย
เราทราบกันดีว่าบริษัทยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเกมการแข่งขัน (game changer) นอกจากนี้ กฎระเบียบยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ศูนย์ BIC จึงเห็นว่า พัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะของเมืองเซินเจิ้นเป็นอีกหนึ่งโอกาสของความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ทั้งในส่วนของภาครัฐของไทยในการศึกษาแนวทางกฎระเบียบและการจัดการยานยนต์ไร้คนขับและภาคเอกชนไทยในการสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์อัจฉริยะทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัจฉริยะของไทยสามารถรุดหน้าต่อไปในอนาคต สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จะมุ่งมั่นแสวงหาโอกาสความร่วมมือในเรื่องนี้ระหว่างจีนกับไทยต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://techcrunch.com/2022/07/25/real-driverless-cars-legal-in-chinas-shenzhen/
https://www.tesla.com/autopilot
http://www.szrd.gov.cn/rdlv/chwgg/content/post_826149.html
https://www.robosense.ai/en/tech-show-50
[1] ระดับ 0 (Level 0 – No Automation) รถยนต์ที่คนขับต้องควบคุมการขับเคลื่อนทั้งหมดด้วยตนเอง
ระดับ 1 (Level 1 – Driver Assistance) รถยนต์มีระบบการช่วยเหลือคนขับขั้นพื้นฐาน เช่น เซนเซอร์วัดระยะรอบตัวรถ
ระดับ 2 (Level 2 – Partial Automation) รถยนต์มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ยังต้องการการควบคุมโดยคนขับ