การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในมณฑลกวางตุ้ง
2 Mar 2020“มณฑลกวางตุ้ง” แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน
มณฑลกวางตุ้งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในจีนติดต่อกัน 31 ปี เมื่อปี 2562 มี GDP 10.5 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปี 2561 นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งประกอบด้วยมีเมืองที่มีมูลค่า GDP เกิน 1 ล้านล้านหยวน จำนวน 3 เมือง ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น และเมืองฝอซาน
มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก (World Factory) มีมูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้ามากที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นเวลา 34 ปี โดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ และสินค้าที่นำเข้ามากที่สุดได้แก่ สารตั้งต้นเพื่อการผลิตพลาสติก ทองแดง เหล็กกล้า น้ำมันดิบ แร่เหล็ก และนอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune Global 500 จำนวน 13 บริษัท ได้แก่ นครกว่างโจวมี บ.China Southern Power Grid บ.Guangzhou Automobile Industry Group บ.Cedar Holdings เมืองเซินเจิ้นมี บ.Ping An Insurance บ.Huawei บ.Amer International Group บ.China Evergrande Group บ.China Vanke บ.Tencent Holdings บ.China Merchants Bank เมืองฝอซานมี บ.Midea บ.Country Garden Holdings และเมืองจูไห่มี บ.Gree Electrical Appliances
มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของจีนและของโลก มีท่าเรือสำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ (1) ท่าเรือกว่างโจว (2) ท่าเรือเซินเจิ้น (3) ท่าเรือตงก่วน (4) ท่าเรือจ้านเจียง และ (5) ท่าเรือซ่านโถว โดยมีท่าเรือ 3 แห่งที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากติดอันดับโลก ได้แก่ ท่าเรือเซินเจิ้นอันดับที่ 3 (27.74 ล้าน TEU) ท่าเรือกว่างโจวอันดับที่ 5 (21.87 ล้าน TEU) และท่าเรือตงก่วนอันดับ 42 (3.5 ล้าน TEU) นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของจีนตอนใต้ โดยเป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนานซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน
มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของจีนตอนใต้ โดยมีท่าอากาศยานไป๋หยุนนครกว่างโจวที่มีจำนวนผู้โดยสารมากเป็นอันดับ 3 ของจีน รองจากท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง และท่าอากาศยานผู่ตงนครเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ ท่าอากาศยานไป๋หยุนฯ มีอัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้บริการมากเป็นอัน 2 ของโลก รองจากท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี อินเดีย
COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง
นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ในจีน เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม 2563 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับที่ ๑ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากทั้งหมด 4 ระดับ ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฯ ที่เข้มงวด เช่น งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้งที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ปิดธุรกิจการบริการ เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร หยุดงาน และหยุดการเรียนการสอน นอกจากนี้ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราการเข้าออกเมืองและการบริหารชุมชนแบบปิด
มณฑลกวางตุ้งได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งประกาศ กำหนดวิสาหกิจในมณฑลกวางตุ้งให้เปิดทำการภายหลังวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจะต้องยื่นขอเปิดทำการผ่านทางออนไลน์ต่อรัฐบาลท้องถิ่นระดับเขตของแต่ละเมืองโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และจะเร่งสนับสนุนให้วิสาหกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติโดยเร็ว โดยออกมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดภาษี เลื่อนระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และสนับสนุนทางการเงินแก่วิสาหกิจจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้วิสาหกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลก โดยเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตและประกอบสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีท่าเรือและท่าอากาศยานที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นทั้งในจีนและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเดิมเป็นช่วงการหยุดยาวของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้รัฐบาลต้องประกาศขยายเวลาการหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้แรงงานจากต่างมณฑลไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ในระยะเวลาดังกล่าว อุตสาหกรรมการผลิตในมณฑลกวางตุ้งจึงต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ภายหลังการประกาศวันเริ่มทำงาน รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจึงต้องเร่งให้ อุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเป็นอันดับแรก โดยอุตสาหกรรมที่เร่งให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมสารสนเทศ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วิสาหกิจขนาดใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง (วิสาหกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านหยวน) 26,209 แห่งกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยจำนวนวิสาหกิจที่กลับมาดำเนินธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 50 ของวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดในมณฑลกวางตุ้ง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ มณฑลกวางตุ้งวิเคราะห์ผลกระทบภาพรวมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ของมณฑลกวางตุ้ง โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี ค.ศ. 2020 จำนวนผู้โดยที่โดยสารที่โดยสารรถไฟ รถยนต์ และเครื่องบินพาณิชย์ รวมถึง ปริมาณการขนส่งสินค้าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมไปรษณีย์และโทรคมนาคมจะยังคงแนวโน้มการพัฒนาที่ดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว
ผลกระทบต่อ SMEs
โดยนายหยาว เต๋อหง (Yao Dehong) ผู้อำนวยการสำนักงาน SMEs มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า SMEs ของมณฑลกวางตุ้งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โดย SMEs ขาดรายได้จากการดำเนินธุรกิจหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องมีภาระในการชำระค่าเช่าสถานที่ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างไรก็มี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมารัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ SMEs 5 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มการควบคุมและป้องกันโรค (2) ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น อนุญาตให้องค์กรเลื่อนชำระค่าประกันสังคมหรือค่าใช้จ่ายอื่น เป็นต้น (3) ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น ลดภาษีและค่าเช่าสถานที่ เป็นต้น (4) สนับสนุนด้านการเงิน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินแก่ SMEs มอบเงินกู้ยืมเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคระบาด เป็นต้นและ (5) ยกระดับการบริการของภาครัฐและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน SMEs มณฑลกวางตุ้ง แสดงความมั่นใจว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นฟูกำลังการผลิตและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
มณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางธุรกิจอาหารของจีน เมื่อปี 2561 มีจำนวนธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 2 ล้านหยวนต่อปี 3,491 แห่ง มากที่สุดในจีน หลังจากรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับที่ ๑ ต่อมา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 กรมพาณิชย์ มณฑลกวางตุ้ง ได้มีคำสั่งให้ร้านอาหารและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มหยุดให้บริการนั่งรับประทานในร้านชั่วคราว และส่งผลศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรม ในมณฑลกวางตุ้งได้รับผลกระทบ ในรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดผู้บริโภคของมณฑลกวางตุ้งที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน มณฑลกวางตุ้ง ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี ค.ศ. 2020 ธุรกิจศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรมของมณฑลกวางตุ้งจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน มณฑลกวางตุ้งให้ความเห็นว่าการประกาศมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิมได้
มณฑลกวางตุ้ง: สัญญาณเชิงบวก ?
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 63 เนื่องจากอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และอัตราการหายขาดของผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มขึ้น รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจึงได้ประกาศลดระดับภาวะฉุกเฉินจากระดับ 1 เป็นระดับ 2
(จากทั้งหมด 4 ระดับ) โดยเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งมีอัตราการเดินทางกลับเข้าเมืองมากเป็นอันดับ 1 ของจีน อัตราการเดินทางกลับเข้าเมืองของเมืองขนาดใหญ่ของจีน ๕ อันดับแรก (สถานะ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 63) ได้แก่ (๑) เมืองเซินเจิ้น (๒) นครกว่างโจว (๓) เมืองตงก่วน(๔) เมืองฝอซาน และ (๕) เมืองซูโจว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นเมืองในมณฑลกวางตุ้ง และเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งที่จะฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งอย่างใกล้ชิด และจะนำมาประมวลเป็นข่าวและบทความให้แก่ผู้ประกอบการทุกท่านเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของท่านต่อไป