อัพเดทพัฒนาการล่าสุด พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสของธุรกิจไทยใน GBA
18 Jul 2022นับเป็นเวลากว่า 5 ปีที่คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปจีน (National Development and Reform Commission) รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และรัฐบาลเขตบริหารพิเศษมาเก๊าได้ร่วมลงนาม “กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า ในการพัฒนาพื้นที่อ่าวมหานคร[1] (Framework Agreement on Deepening Guangdong – Hong Kong – Macao Cooperation in the Development of the Greater Bay Area: GBA) เพื่อจัดสรรงบประมาณให้เมืองต่าง ๆ ใน GBA และออกนโยบายเพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การปฏิรูปรอบด้าน และการเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่าง 3 พื้นที่ ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะมาอัพเดทพัฒนาการล่าสุด และโอกาสของธุรกิจไทยใน GBA ดังนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจ GBA ขยายตัวต่อเนื่อง
ภาพรวมเศรษฐกิจของ GBA ในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อปี 2564 GBA มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 12.6 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.55 โดยมูลนิธิการวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติจีน (China Development Research Foundation) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของ GBA จะมีมูลค่า กว่า 14.76 ล้านล้านหยวน (228,837 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจะแซงหน้า GDP ของเขตอ่าวโตเกียว (Tokyo Bay) ของญี่ปุ่น ภายในปี 2565
ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของ GBA คิดเป็นร้อยละ 11 ของ GDP ทั้งหมดของจีน ถึงแม้ GBA จะมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ปัจจุบัน ขนาดเศรษฐกิจของ GBA ใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ 1.2 เท่า และใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของรัสเซีย 1.3 เท่า
สถานะล่าสุดของการพัฒนา
คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะรัฐมนตรีจีน และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้จัดสรรงบประมาณและออกนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงกับฮ่องกงและมาเก๊าตามกรอบ GBA เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อปี 2564 GBA ได้ดำเนินนโยบายและโครงการที่สำคัญ ได้แก่
- ด้านนโยบาย ในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนประกาศนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตาม “กรอบแผนพัฒนาเขตความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า[2]” ที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 โดยในช่วงปี 2564 – 2565 รัฐบาลกลางจีนได้ประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีศักยภาพ (talent) ผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน ศุลกากร และการผลักดันความคืบหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ (1) แผนการพัฒนาเขตความร่วมมือเชิงลึกระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับมาเก๊าที่เขตเหิงฉิน[3] ประกาศเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 โดยมีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตเหิงฉิน พัฒนาระบบศุลกากร และสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับมาเก๊า (2) แผนการส่งเสริมการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับฮ่องกงที่เขตเฉียนไห่[4] ประกาศเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 โดยมีสาระสำคัญเพื่อขยายพื้นที่เขตเฉียนไห่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้น และ (3) แผนความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊าเพื่อเปิดสู่นานาชาติในเขตหนานซา นครกว่างโจว[5] ประกาศเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 โดยมีสาระสำคัญเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจ้างงาน และการเปิดกว้างรอบด้าน
- โครงการพื้นฐานด้านคมนาคม มณฑลกวางตุ้งยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมภายใต้นโยบายการเดินทางระหว่างเมืองในพื้นที่ GBA ใน 1 ชั่วโมง (one-hour living circle) เช่น (1) การก่อสร้างสะพานเซินเจิ้น – จงซาน (Shenzhen-Zhongshan Bridge) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2567 และ (2) การก่อสร้างสะพานเซินเจิ้น – จูไห่ (Shenzhen-Zhuhai bridge) ซึ่งเป็นสะพานรถไฟความเร็วสูงข้ามทะเลระหว่างเขตเฉียนไห่ เมืองเซินเจิ้นกับเขตความร่วมมือเซินเจิ้น – จูไห่ เมืองจูไห่ โดยสามารถลดเวลาเดินทางจากเดิม 2 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 30 นาที
- โครงการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เมื่อปี 2564 กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มณฑลกวางตุ้งระบุ วิสาหกิจด้านเทคโนโลยีในมณฑลกวางตุ้งมีจำนวนกว่า 60,000 แห่ง มากเป็นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะผลักดันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น (1) การก่อสร้างศูนย์ข้อมูลเมืองเสากวน (Shaoguan Data Centre Cluster) มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บ ประมวลและโอนถ่ายข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเมืองใน GBA โดยเฉพาะนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น และ (2) การจัดตั้งอุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง – เซินเจิ้น (Hong Kong – Shenzhen Innovation & Technology Park) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับฮ่องกง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 – 2570
- การพัฒนาด้านการศึกษา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทั้งจากฮ่องกงและมาเก๊ารวม 6 แห่งได้เข้ามาจัดตั้งวิทยาเขตที่เมืองต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ Chinese University of Hong Kong, Shenzhen, Hong Kong University of Science and Technology (Guangzhou), City University of Hong Kong, Dongguan, Hong Kong Polytechnic University Shenzhen Campus, Hong Kong Metropolitan University (Zhaoqing), Macau University of Science and Technology (Guangzhou)
โอกาสของไทยใน GBA
ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำคัญของภูมิภาคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ การบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตร และการมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในขณะที่ GBA เป็นศูนย์กลางการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (cross-border e-commerce) และนวัตกรรม ซึ่งหากเมืองใน GBA ในมณฑลกวางตุ้งสามารถผนึกกำลัง และมีการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่ดี พื้นที่ GBA จะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนสำหรับนักธุรกิจไทย ดังนี้
- โอกาสในอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยใช้ช่องการการนำเข้า – ส่งออก และการจำหน่ายสินค้าในจีนผ่านช่องทางธุรกิจแบบดั้งเดิม (traditional trade) ซึ่งนักธรกิจไทยทำได้ดีและมีการขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เห็นว่า นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (cross-border e-commerce) ซึ่งเป็นช่องทางการนำเข้า – ส่งออก และการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ที่รวดเร็วกว่าการค้าแบบดั้งเดิม โดยครอบคลุมสินค้ากว่า 1,000 รายการ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวในการจำหน่ายสินค้าอาหาร สินค้าตกแต่งบ้าน และสินค้าสุขภาพ โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวกวางตุ้งที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการตกแต่งบ้าน
- โอกาสในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัจฉริยะ มณฑลกวางตุ้งและไทยมีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยมณฑลกวางตุ้งมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งในเรื่องนี้ไทยสามารถเรียนรู้จากมณฑลกวางตุ้งได้มาก โดยที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้ผลักดันส่งเสริมในเรื่องนี้ และบริษัทของไทยที่เกี่ยวข้องกับ EV และห่วงโซ่อุตสาหกรรมสามารถมีความร่วมมือกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ มณฑลกวางตุ้งเป็นที่ตั้งของบริษัทยานยนต์สำคัญได้แก่ บริษัท BYD จำกัด บริษัท GAC และบริษัท XPeng Motors และบริษัทห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท EAST Group และบริษัท Zhuhai Enpower Electric เป็นต้น
- โอกาสในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งจัดเป็นมณฑลที่มีบริษัทหุ่นยนต์มากที่สุดในจีนโดยมีบริษัทกว่า 72,000 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจำนวน 34,004 บริษัทซึ่งจัดว่ามากที่สุดในจีนเช่นกัน โดยเมืองสำคัญ เช่น นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้นและเมืองฝอซาน เริ่มนำหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเกษตร การผลิต และภาคบริการ ในเรื่องนี้ โดยที่ไทยอยู่ระหว่างก่ารผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) บริษัทไทยในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อาจพิจารณากระชับความร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของมณฑลกวางตุ้งมากขึ้น และนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่อาจพิจารณาลงทุนในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมแห่งอนาคตนี้
- โอกาสในอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ พื้นที่ GBA มีประชากรที่มีรายได้ปานกลางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per capita) กว่า 19,367 ดอลลาร์สหรัฐ หากมีการพัฒนาตามแผน GBA ประชากรใน GBA จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กอปรกับความเชื่อมโยง GBA ของ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊า ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนเห็นว่า GBA เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนด้านการแพทย์ โดยเฉพาะด้านการตรวจสุขภาพทั่วไป (Medical Check-up) คลินิกเฉพาะทาง ธุรกิจผู้สูงอายุ สุขภาพจิต และการดูแลสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น
GBA เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมที่สำคัญระดับโลก และเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในจีน นักธุรกิจไทยยิ่งจะต้องให้ความสนใจจับตามองและติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊าในการเข้ามาตีตลาดจีนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะติดตามพัฒนาการที่สำคัญและนำเสนอให้แก่นักธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.wipo.int/global_innovation_index/en/2021/
https://www.wipo.int/publications/en/details.jsp?id=4560
https://mp.weixin.qq.com/s/bPXpbMiDLyX5k0BYa82Nrw
https://mp.weixin.qq.com/s/VkX7w5UPYdXMbASYvIToig
https://mp.weixin.qq.com/s/Mqx1N8eIAYJTX8-3EYjHZg
https://www.lwxsd.com/pc/info_view.php?tab=mynews&VID=25034
https://mp.weixin.qq.com/s/yYdYszBt1Fo6toTC25Ek1w
https://static.nfapp.southcn.com/content/202206/08/c6567548.html?colID=11389&firstColID=4935&appversion=8800&from=
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1735407344039694677&wfr=spider&for=pc
[1] กรอบความร่วมมือ GBA ครอบคลุม 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ ได้แก่ นครกว่างโจว (Guangzhou) เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) เมืองจูไห่ (Zhuhai) เมืองฝอซาน (Foshan) เมืองฮุ่ยโจว (Huizhou) เมืองตงก่วน (Dongguan) เมืองจงซาน (Zhongshan) เมืองเจียงเหมิน (Jiangmen) เมืองจ้าวชิ่ง (Zhaoqing) กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
[2] Outline Development plan for the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area
[3] Plan for the Development of the Guangdong – Macao In-delpt Cooperation Zone in Hengqin
[4] Plan for thr Comprehensive Deepening Reform and Opening Up pf the Qianhai Shenzhen – Hojng Kong Modern Service Industry Cooperation Zone
[5] Overall Plan for Guangzhou Nansha to Deepen Guangdong-Hong Kong-Macao Comprehensive Cooperation Facing the World