จาก “นโยบายลูกคนที่สอง” สู่ “นโยบายลูกคนที่สาม ”จีนก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
21 Jun 2021เมื่อปี 2556 จีนเริ่มผ่อนปรน “นโยบายลูกคนเดียว”[1] และเริ่มดำเนินการ “นโยบายลูกคนที่สอง”อย่างเต็มรูปแบบ[2] ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเตรียมตัวในการรับมือกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2559 – 2563 “นโยบายลูกคนที่สอง” ไม่ได้รับผลตามที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตามผลการสำรวจสำมะโนประชากรระดับชาติครั้งที่ 7 ที่จีนประกาศเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 พบว่า จำนวนประชากรวัยทำงาน (15-59 ปี) และอัตราเจริญพันธุ์ของจีนลดลงทั้งคู่ ซึ่งทำให้จีนก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 จีนอนุญาตให้คู่สามี-ภรรยามีลูกได้สามคน หรือเรียกกันว่าเป็น “นโยบายลูกคนที่สาม” โดยจีนจะมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครอบครัว การปรับปรุงกฎระเบียบการลาคลอดบุตรและการประกันคลอดบุตรให้สมบูรณ์แบบ รวมทั้งเพิ่มการสนับสนุนด้านภาษีและที่อยู่อาศัย
[1] หากคู่สามี-ภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น “ลูกคนเดียว” สามรถมีลูกที่สองได้ (ภาษาจีน 单独二孩)
[2] ซึ่งอนุญาตให้คู่สามี-ภรรยาจีนทั้งหมดมีลูกคนที่สองได้โดยไม่มีเงื่อนไข (ภาษาจีน 全面二孩)
จำนวนประชากรวัยทำงานลดลง
ตามผลการสำรวจสำมะโนประชากรระดับชาติครั้งที่ 7 ของจีน จำนวนประชากรที่มีอายุ 15-59 ปีลดลงร้อยละ 6.79 หรือลดลง 40 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2553 อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า ทรัพยากรแรงงานของจีนยังคงอุดมสมบูรณ์โดยมีจำนวนประชากรวัยทำงาน 880 ล้านคน ทั้งนี้ มณฑล/เมืองใหญ่ที่มีอัตราส่วนประชากรวัยทำงานสูงที่สุด ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง กรุงปักกิ่ง และมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งล้วนเป็นมณฑลที่มีประชากรไหลเข้าเป็นจำนวนมาก ส่วนมณฑล/เขตปกครองตนเองใหญ่ที่มีอัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่ำที่สุด ได้แก่ มณฑลเหอหนาน เขตปกครองตนเองกวางซี และมณฑลเหอเป่ย ซึ่งล้วนเป็นมณฑลที่มีประชากรออกไปหางานต่างเมืองเป็นจำนวนมาก
อัตราเจริญพันธุ์ลดลง
ปี 2563 อัตราเจริญพันธุ์รวม (total fertility rate) ของจีนอยู่ที่ 1.3 ซึ่งเป็นระดับค่อนข้างต่ำ เทียบกับ 0.98 ของเกาหลีใต้ 1.42 ของญี่ปุ่น 1.73 ของสหรัฐฯ และ 1.6 ของสหภาพยุโรป (สถิติปี 2561 ของธนาคารโลก) อันเป็นผลจาก (1) จำนวนประชากรสตรีวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 22-35 ปี) ลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ใน 10 ปีข้างหน้าจำนวนสตรีวัยเจริญพันธุ์จะลดลงมากกว่าร้อยละ 30 จากระดับปัจจุบัน ถ้าจีนไม่ใช้นโยบายสนับสนุนอย่างมีประสิทธิผล จำนวนเด็กที่เกิดใหม่จะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 10 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งอาจทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำสุดของโลก (2) “นโยบายลูกคนที่สอง” ไม่ได้มีผลตามที่คาด โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ของจีนลดลงจากมากกว่า 18 ล้านคนในปี 2559 (ปีที่จีนเริ่มดำเนินการ “นโยบายลูกคนที่สอง” อย่างเต็มรูปแบบ) เหลือ 12 ล้านคนในปี 2563 และ (3) ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ชาวจีนบางส่วนเป็นห่วงกังวลความไม่แน่นอนของการจ้างงานและรายได้ ซึ่งทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงไปอีก
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
โดยจีนมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีและ 60 ปีขึ้นไปทั้งหมด 260 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว จำนวนประชากรที่มีอายุ 65 ปีและ 65 ปีขึ้นไปทั้งหมด 190 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44 และร้อยละ 4.63 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2553 – 2563 โดยมณฑล/เมืองใหญ่ในจีนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว 12 มณฑล ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง นครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลซานตง มณฑลอันฮุย มณฑลหูหนาน นครเทียนจิน และมณฑลหูเป่ย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลเหลียวหนิง และมณฑลจี๋หลิน) เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรไหลออกไปยังต่างมณฑลมากที่สุด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรของภูมิภาคนี้ลดลงมากกว่า 10 ล้านคน เนื่องจากเป็นฐานอุตสาหกรรมเก่าของจีนและอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีโอกาสการจ้างงานน้อย ตลอดจนมีอากาศที่หนาวจัด
“นโยบายลูกคนที่สอง” ไม่ได้รับผลตามที่คาด แล้ว “นโยบายลูกคนที่สาม” จะเป็นยังไง…
เดิมจีนใช้เวลา 3 ปีจากการเริ่มผ่อนปรน “นโยบายลูกคนเดียว” สู่การดำเนิน “นโยบายลูกคนที่สอง”อย่างเต็มรูปแบบ เทียบกับครั้งนี้จีนประกาศ “นโยบายลูกคนที่สาม” เพียง 20 วันหลังจากเปิดเผยผลการสำรวจสำมะโนประชากรระดับชาติครั้งที่ 7 แสดงให้เห็นถึงกระตือรือร้นของทางการจีนในการเตรียมตัวกับรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) สรุปสาเหตุที่ความต้องการมีบุตรของชาวจีนลดลงในปัจจุบัน เช่น (1) เพิ่มภาระการเงิน โดยเฉพาะมีแรงกดดันสูงด้านการศึกษาและบ้านพักอาศัย (2) ขาดคนช่วงดูแลเด็ก (3) ยากที่จะหาจุดสมดุลระหว่างครอบครัวและการทำงาน และ (4) การระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มความไม่แน่นอนของการจ้างงานและรายได้ ซึ่งทำให้ชาวจีนบางส่วนเลื่อนหรือยกเลิกการวางแผนมีบุตร โดยนักวิเคราะห์จีนบางส่วนสรุปว่า ลักษณะการคลอดบุตรของชาวจีนได้เปลี่ยนจากเดิม “นโยบายจำกัดให้คลอดบุตรน้อย (政策性少生)” กลายเป็น “อยากมีบุตรน้อยลงด้วยตนเอง (意愿性少生)” ทั้งนี้ “นโยบายลูกคนที่สาม” จะมีผลมากเพียงใด ยังคงจะขึ้นอยู่กับครอบครัวที่ประสงค์มีลูกเพิ่มจะได้รับการสนับสนุนมากแค่ไหนโดยเฉพาะด้านการจ้างงาน ที่พักอาศัย การศึกษาและการรักษาของเด็ก และการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นที่มีการกดไลค์ 5 อันดับแรกภายใต้ Sina Weibo (คล้าย ๆ Facebook ของจีน) ของ People’s Daily ซึ่งเป็นสื่อทางการของจีน
อันดับที่ 1 “มีแรงกดดันผ่อนบ้านผ่อนรถมากอย่างนี้ จะมีลูกคนที่สามได้หรือ คนเดียวยังไม่อยากจะมีเลย” (473 ไลค์)
อันดับที่ 2 “ลดต้นทุนการเลี้ยงเด็กให้ลงมาก่อนและยกระดับสวัสดิการให้ดีขึ้น ไม่ต้องมีนโยบายลูกคนที่สาม อัตราการคลอดบุตรก็จะดีขึ้นไปเองแหล่ะ” (292 ไลค์)
อันดับที่ 3 “คนที่อยากจะคลอดลูกและมีความสามารถในการเลี้ยงก็จะเป็นกลุ่มคนเดิม ส่วนคนที่ไม่อยากคลอดลูกหรือคลอดลูกไม่ได้ จะเชียร์ยังไงก็ไม่มีผล” (261 ไลค์)
อันดับที่ 4 “ยังไงฉันก็เป็นคนโสด” (161 ไลค์)
อันดับที่ 5 “ฉันดูแลตัวเองให้ดีก่อนดีกว่า” (147 ไลค์)
ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ
ต้องยอมรับว่า จำนวนประชากรวัยทำงานลดลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนแรงงานในจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสาเหตุที่บริษัททุนต่างชาติบางส่วยย้ายภาคการผลิตออกจากจีน นอกจากนี้ NBS ระบุว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังคงจะเป็นแนวโน้มในระยะยาวของการพัฒนาสังคมจีน ซึ่งจะเป็นความท้ายทายด้านการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวในจีน รวมทั้งเพิ่มแรงกดดันของระบบการให้บริการสาธารณะ ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสของธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) คาดว่า ตลาดการดูแลผู้สูงอายุของจีนจะมีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านหยวนในปี 2568 และจะเติบโตสู่มูลค่า 20 ล้านล้านหยวนในปี 2573
จัดทำโดย นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (วันที่ 16 มิ.ย. 2564)
แหล่งข้อมูล :
直面高龄少子化
https://weekly.caixin.com/2021-05-14/101712600.html
“敢生、能生、想生”都不易:生育选择与照顾负担
https://opinion.caixin.com/2021-06-08/101724321.html
国新办举行第七次全国人口普查主要数据结果发布会
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/xwbfbh/wqfbh/44687/45470/wz45472/Document/1703620/1703620.htm