ศึกษาศักยภาพเศรษฐกิจนครเฉิงตู! เมืองที่คว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับ “เมืองที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดของจีน” ต่อเนื่อง 10 สมัย
5 Jul 2023หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน” ในฐานะบ้านเกิดของหมีแพนด้า เมืองแห่งความเผ็ดชาของหม้อไฟหม่าล่าเสฉวน แต่อาจไม่รู้ว่านครเฉิงตูมีดีมากกว่านั้น จากการเป็นเมืองแรกที่ตอบสนองแนวคิด “เมืองแห่งสวนสาธารณะ” สู่การเป็นพื้นที่สาธิตการสร้างเมืองในสวนของจีน ทำให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองที่มีการจัดการสภาพแวดล้อมของเมืองที่ดี จนสามารถดึงดูดประชากรจากทั่วสารทิศเข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองแห่งความสุขแห่งนี้… ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนจะขอนำเสนอข้อมูลเพื่อแสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพและความสำเร็จของนครเฉิงตูในอีกด้านที่ท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อน…
ปัจจุบัน จีนกำลังมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของจีนอย่างเต็มกำลัง และนครเฉิงตูจัดเป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีนตะวันตก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 Global Times จัดงาน “THE 3RD GLOBAL PROMOTION EVENT FOR FOREIGN BUSINESS INVESTMENT ATTRACTION” ณ กรุงปักกิ่ง มีการรายงานดัชนีความน่าดึงดูดการลงทุนของจีน และนครเฉิงตูคว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับเมืองที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดของจีน ประจำปี 2565 “2022 China’s Most Attractive Cities for Investment”
ตามรายงาน นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ “Global Times” เริ่มมีการประเมินและจัดอันดับมายาวนาน นครเฉิงตูสามารถครองตำแหน่ง “เมืองที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดของจีน” มานับตั้งแต่ปี 2556 – 2565 ต่อเนื่อง 10 สมัย ในปีนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่เฉิงตูตะวันออกได้รับการจัดอันดับให้เป็น “10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดของจีน ประจำปี 2565” เขตชิงไป่เจียงและเมืองเผิงโจวของนครเฉิงตูได้รับเลือกให้เป็น “10 เมือง/เขตที่มีสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนคุณภาพดีที่สุดของจีน ประจำปี 2565” เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเฉิงตูได้รับเลือกให้เป็น “เขตอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดของจีน ประจำปี 2565” และเขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ได้รับเลือกเป็น “เขตเศรษฐกิจใหม่ที่ดึงดูดการลงทุนที่สุดของจีน ประจำปี 2565” โดยนครเฉิงตูได้รับการประเมินด้วยคะแนนที่โดดเด่นใน 2 ตัวชี้วัด คือ สภาพแวดล้อมการลงทุนและระดับความเป็นสากล ด้วยคะแนนประเมิน 98.19 และ 98.01 ตามลำดับ และอีก 4 ตัวชี้วัดก็ได้รับการประเมินในระดับคะแนนที่ดีเช่นกัน โดยด้านทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงในการดำรงชีวิตของประชาชน ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจได้รับคะแนนประเมิน 97.86, 97.08, 95.22 และ 94.53 ตามลำดับ ด้วยข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้นครเฉิงตูได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองดึงดูดการลงทุนอันดับที่ 1 ครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 10
จากข้อมูลของสำนักส่งเสริมการลงทุนนครเฉิงตู แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 นครเฉิงตูได้ลงนามในสัญญาเพื่อเปิดตัวโครงการหลักกว่า 378 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 723,759 ล้านหยวน โดยในบรรดาโครงการที่เปิดตัวในปีที่แล้ว มี 131 โครงการ ที่มีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านหยวน โดยมีการลงทุนรวม 610,378 ล้านหยวน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดอยู่ในระดับแนวหน้าของภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 73 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งมณฑล
เพราะเหตุใด นครเฉิงตูจึงสามารถครองตำแหน่งเมืองที่ดึงดูดการลงทุนมาอย่างยาวนานกว่า 10 สมัย และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก
ในฐานะที่เป็นเมืองชั้นหนึ่งใหม่ (New first-tier cities) นครเฉิงตูมุ่งมั่นส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด ถูกกฎหมาย เป็นสากล และสะดวกสบาย โดยมีการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งในหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การบินและอวกาศ การแพทย์และสุขภาพ การขนส่งทางรถไฟ อุตสาหกรรมรถยนต์ วัสดุใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นครเฉิงตูได้ส่งเสริมการพัฒนาแบบเปิดและเชื่อมโยงทรัพยากรทั่วโลกด้วยกลยุทธ์การพัฒนา ดังนี้
- กลยุทธ์การขยายช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ นครเฉิงตูได้ปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว และเปิดใช้งานท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ และได้กลายเป็นเมืองที่ 3 ในจีน ที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดเส้นทางการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (ระดับภูมิภาค) ใหม่ 43 เส้นทาง โดยในปี 2565 ได้เป็นเมืองที่มีปริมาณผู้โดยสารทางอากาศจัดอยู่ในอันดับ 1 ของจีน นายหลี่ เว่ยหราน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการจัดการเขตเศรษฐกิจการบินเฉิงตูซวงหลิว กล่าวว่า เขตซวงหลิววางแผนก่อตั้งเขตเศรษฐกิจสนามบินนานาชาติเฉิงตูในอนาคต โดยจะสร้างเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน อุตสาหกรรมการบำรุงรักษาเครื่องบิน และอุตสาหกรรมบริการการบินสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการขนส่งทางรถไฟที่มีคุณภาพสูง อาทิ รถไฟจีน-ยุโรป รถไฟจีน-ลาว รถไฟจีน-เวียดนาม ที่เชื่อมกับนครเฉิงตูเชื่อมไปยัง 100 เมืองในต่างประเทศด้วย
- กลยุทธ์ความร่วมมือแบบรวมกลุ่ม นครเฉิงตูอยู่ระหว่างการเร่งรัดการก่อสร้างอุทยานความร่วมมือร่วมกับต่างประเทศระดับชาติ 6 แห่ง อาทิ จีน-อิตาลี จีน-ฝรั่งเศส สิงคโปร์-เสฉวน เป็นต้น และกำลังเร่งก่อสร้างโครงการสาธิตความร่วมมือแบบเปิดของอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ และปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของ Chengdu High-tech Comprehensive Bonded Zone จัดอยู่ในอันดับ 1 ของจีน เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน
- กลยุทธ์ขยายขอบเขตความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ นครเฉิงตูได้รับการอนุมัติให้เป็นฐานการส่งออกบริการด้านวัฒนธรรม ข้อมูลดิจิทัล และทรัพยากรบุคคลแห่งชาติ โดยได้รับเลือกให้เป็นเขตนำร่องการขยายและเปิดอุตสาหกรรมบริการครบวงจรแห่งชาติ นอกจากการขยายความร่วมมือแล้ว นครเฉิงตูยังนำกลยุทธ์ในการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ อาทิ งานประชุมสัมมนาความร่วมมือการลงทุนการค้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-ยุโรป งานมหกรรมแสดงสินค้า Western China International Expo ซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญที่ส่งเสริมให้นครเฉิงตูประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีบริษัทใหม่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนกว่า 566 แห่ง และมีบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 เพิ่มขึ้นอีก 34 แห่ง รวมเป็น 315 แห่งในปัจจุบัน
- กลยุทธ์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีสถานกงสุลใหญ่ต่างประเทศได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งสำนักงานที่นครเฉิงตูเพิ่มขึ้นอีก 8 แห่ง รวมเป็น 23 แห่ง ซึ่งจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของเมืองในภาคกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ จำนวนเมืองพี่เมืองน้องกับต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็น 105 แห่ง โดยนครเฉิงตูได้มีการลงนามเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับ 3 จังหวัดของไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอุบลราชธานี
แชมป์ “เมืองที่มีความสุขที่สุดของจีน” 14 สมัยติดต่อกัน
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ในงาน The “2022 China’s happiest cities” ที่นครหางโจว จัดโดย Oriental Outlook ร่วมกับ Liaowang Institute ได้มีการประกาศรายชื่อ “2022 China’s happiest cities” 10 อันดับแรก และนครเฉิงตูคว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2565 สามารถครองแชมป์เป็นสมัยที่ 14 ได้สำเร็จ
แม้ว่านครเฉิงตูอาจยังฟังดูใหม่สำหรับใครหลายคน แต่หลายคนคงเคยได้ยินได้รู้จักมณฑลเสฉวนมาบ้าง จากการบังคับใช้ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการสาธิตการเชื่อมต่อโครงข่ายยุทธศาสตร์จีน-สิงคโปร์ (ฉงชิ่ง) และความเชื่อมโยงทางรถไฟไปยังทวีปยุโรปผ่านเส้นทางหรงโอวพลัสที่ส่งเสริมให้มณฑลเสฉวนเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แห่งภาคตะวันตกของจีน ส่งผลให้การค้าระหว่างมณฑลเสฉวนและไทยอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจุบัน บริษัทของไทยเริ่มมีการขยายกิจการสู่ภาคตะวันตกของจีนมากขึ้น เริ่มมีการเข้ามาลงทุนในมณฑลเสฉวนทั้งในด้านการบริการ อุตสาหกรรมการผลิต กิจการค้าปลีก-ส่ง ฟาร์ม ร้านอาหารไทย การเงิน และเครื่องดื่ม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้เข้ามาก่อตั้งโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์และฟาร์มสัตว์ ธนาคารกสิกรไทยที่ได้มาเปิดสาขาที่นครเฉิงตูเป็นสาขาที่ 2 ในประเทศจีน และล่าสุดกลุ่มธุรกิจ TCP ก็ได้มาก่อตั้งฐานการผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดงที่มณฑลเสฉวนแล้วเช่นกัน
เมื่อจีนเปิดประเทศหลังจากที่ปิดประเทศไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 นานกว่า 3 ปี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการหยิบยกกลยุทธ์ขยายขอบเขตความร่วมมือทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐในหลายมณฑลของจีนรวมถึงมณฑลเสฉวนมีการนำคณะวิสาหกิจจีนเดินทางมุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรป ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อฟื้นฟูความร่วมมือกับคู่ค้ารายเก่า และจับมือกับคู่ค้ารายใหม่
สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามอง
ในปี 2566 นครเฉิงตูวางแผนจะก่อสร้างศูนย์การค้าเสรีอาเซียน-จีน (เสฉวน) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิด มุ่งมั่นเสริมความแข็งแกร่งด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ผลักดันการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางการบินสู่รูปแบบ “ผู้โดยสาร+สินค้า” มากขึ้น ดึงดูดฐานบริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศ เสริมความแข็งแกร่งของศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ อาทิ ระบบขนส่งด่วน และระบบขนส่งโซ่ความเย็น ฯลฯ พยายามเชื่อมโยงเครือข่ายช่องทาง “EU-Chengdu-ASEAN” สร้างเขตสาธิตการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยวางแผนให้มีการเดินรถไฟระหว่างประเทศมากกว่า 4,700 ขบวน และเร่งส่งเสริมการก่อสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (ILSTC) สายตะวันตก โดยปัจจุบันเส้นทาง ILSTC มีช่องทางหลักสามช่องทาง ได้แก่
- สายกลาง : วิ่งจากนครฉงชิ่ง – นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว – นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง – อ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้/ท่าเรือหยางผู่ เมืองตันโจว มณฑลไห่หนาน)
- สายตะวันออก : วิ่งจากนครฉงชิ่ง – เมืองหวยฮวา มณฑลหูหนาน – เมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง – อ่าวเป่ยปู้
- สายตะวันตก : วิ่งจากนครเฉิงตู – เมืองหลูโจว/เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน – เมืองไป๋เซ่อ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง – อ่าวเป่ยปู้
เส้นทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงของจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากภาคตะวันตกของจีน (นครฉงชิ่ง/นครเฉิงตู) ผ่านเมืองต่าง ๆ มาถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และออกสู่ทะเล นอกจากนี้ นครเฉิงตูมีเส้นทางเชื่อมโยงทางรถไฟไปยังทวีปยุโรปผ่านเส้นทางหรงโอวพลัสได้อีกด้วย ซึ่งหากเครือข่ายเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้แบบไร้รอยต่อ อาจกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดทางการค้าและต้องนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังจีนและทวีปยุโรปได้ในอนาคต
ที่มาข้อมูล:
- บัญชีทางการ Wechat “蓉城政事” ของ成都市政务服务管理、网络理政办公室、成都商报 (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566) : https://mp.weixin.qq.com/s/z81utAhI0Av75TURsWBhsg
- เว็บไซต์ทางการ Chengdu New Economic Development Commission (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566) : http://cdxjj.chengdu.gov.cn/xjjfzw/c001001/2023-04/03/content_9f0ebb1b01b640b892b9c3a36e307742.shtml
- เว็บไซต์ทางการ成都市工商业联合会(总商会)(เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566) : https://www.cdsgsl.gov.cn/news/00000011/00004957
- เว็บไซต์ทางการ Chengdu Municipal Development and Reform Commission (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566) : http://cddrc.chengdu.gov.cn/cdfgw/fzggdt/2022-12/22/content_6a7f9f755c984abfbd8b1d0752df4478.shtml
- เว็บไซต์ทางการ www.chengdu.gov.cn (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566) : https://www.chengdu.gov.cn/chengdu/home/2023-02/28/content_ed9d4023c0fa42adb55553deb8bf05a6.shtml
- เว็บไซต์ทางการ Chengdu New Economic Development Commission (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566) : http://cddrc.chengdu.gov.cn/cdfgw/fzggdt/2019-08/16/content_1cc4bb7e030a4cae81d553ff82976eb1.shtml