ส่องผลการสำรวจการลงทุนในจีนของหอการค้าอเมริกันในจีนตอนใต้ (AmCham South China) ปี 2023

ที่ผ่านมา จีนตอนใต้นับเป็นพลังขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ด้วยพื้นที่ที่ครอบคลุมมณฑลกวางตุ้ง กว่างซี ไห่หนาน รวมถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ในปี 2565 เศรษฐกิจของภูมิภาคมีมูลค่ากว่า 16.2 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 13.4 ของ GDP จีน

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอการค้าอเมริกันในจีนตอนใต้ (The American Chamber of Commerce in South China: AmCham South China) เปิดตัวหนังสือ 2023 White Paper on the Business Environment in China พร้อมเผยผลการสำรวจ 2023 Special Report on the State of Business in South China ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ AmCham South China ดำเนินการสำรวจบริษัทสัญชาติจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน ช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 โดยสรุปข้อมูลจากบริษัท 210 แห่งด้วยกัน นับเป็นการสำรวจประจำปีเป็นปีที่ 19 ซึ่งในบทความนี้จะขอสรุปผลรายงานโดยสังเขปสองด้านด้วยกัน คือ การลงทุนในจีนและการอุปโภคบริโภคในจีน

แนวโน้มการลงทุนในจีน

ผลการสำรวจระบุว่า นครกว่างโจวได้รับความนิยมสูงสุดในฐานะจุดหมายการลงทุนติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 39 ของเมืองที่สำรวจทั้งหมด ตามด้วยเมืองเซินเจิ้น ร้อยละ 30 นครเซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 14 และกรุงปักกิ่ง ร้อยละ 4 อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเรื่องความสนใจของบริษัทต่าง ๆ ต่อเขตการค้าเสรี (Free Trade Zones: FTZ) บริเวณจีนตอนใต้ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 มีบริษัทเพียงร้อยละ 14 (จากร้อยละ 23 ในปี 2564) ที่สนใจลงทุนในเขตการค้าเสรี ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ เขตหนานซาในนครกว่างโจว เขตเฉียนไห่และเสอโข่วในเมืองเซินเจิ้น ตามมาด้วยเขตเซี่ยเหมินในเขตนำร่องการค้าเสรีจีน (ฝูเจี้ยน) และเขตนำร่องการค้าเสรีจีน (ไห่หนาน)

ด้านแนวโน้มการลงทุนในจีนต่อ (Reinvestment Trends) พบว่าจีนยังคงเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ (กว่าร้อยละ 90) อย่างไรก็ดี บริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจเพียงร้อยละ 40 จัดให้จีนเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับแรกในแผนการลงทุนระดับโลกของบริษัท ซึ่งนับเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบห้าปี โดยแนวโน้มการลงทุนที่ลดลงปรากฏในมูลค่างบประมาณเพื่อการลงทุนต่อในปี 2566 เช่นกัน กล่าวคือ บริษัทที่ตั้งงบประมาณไว้สูงกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีจำนวนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 ขณะเดียวกัน สัดส่วนบริษัทในธุรกิจภาคการผลิตที่เลือกประเทศจีนเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับหนึ่ง ได้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 35 บ่งบอกถึงบทบาทที่ลดลงของจีนในฐานะฐานการผลิต (manufacturing base) ในขณะที่ ร้อยละ 44 ของบริษัทที่จำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อการบริโภคเลือกจีนเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับหนึ่ง ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของบริษัทให้จีนเป็นตลาดสินค้าและบริการมากกว่าการเป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (non-manufacturing PMI) ในเดือนมีนาคม 2566 ยังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ 58.2

ด้านการย้ายการลงทุน พบว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่ประสงค์ย้ายการลงทุนออกจากจีน (ร้อยละ 74) สำหรับบริษัทที่พิจารณาจะย้ายการลงทุนออก กว่าร้อยละ 80 ยังจำกัดสัดส่วนการลงทุนที่ย้ายออกไม่ถึงร้อยละ 30 ของการลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ ตลาดเอเชีย คือจุดหมายการย้ายการลงทุนออกจากจีนที่ได้รับความนิยมสูงสุด หากวิเคราะห์จุดหมายการย้ายฐานการผลิตบางส่วนหรือทั้งหมดออกจากจีน พบว่าเวียดนามยังคงเป็นประเทศปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด (ร้อยละ 35) ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 14) สิงคโปร์ (ร้อยละ 9) และประเทศไทย (ร้อยละ 8) เทียบเท่าอินเดีย

ประเด็นด้านการอุปโภคบริโภค

ผู้บริโภคชาวจีนระมัดระวังและอ่อนไหวต่อราคามากยิ่งขึ้นนับแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2565 – 2566 จีนจึงจะผลักดันการบริโภคด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดัน ขณะที่การเพิ่มจำนวนของสตรีชาวจีนที่มีรายได้สูงขึ้นและต้องการชีวิตคุณภาพสูงได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการบริโภคยุคใหม่ในจีน โดยพลวัตการบริโภคในจีนและสหรัฐอเมริกากลายเป็นแรงผลักดันการฟื้นตัวของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย (Personal luxury goods) ทั่วโลก ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการเพื่อผลักดันการบริโภค จีนยังตั้งเป้ารีไซเคิล 1 ใน 4 ของขยะสิ่งทอเพื่อนำมาใช้ผลิตเยื่อรีไซเคิล 2 ล้านเมตริกตันต่อปีภายในปี 2568 อีกด้วย

อีกหนึ่งเทรนด์การบริโภคที่เข้ามามีบทบาทคือการใช้บริการ Food delivery ออนไลน์ ซึ่งมีพนักงานออฟฟิศเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการรายใหญ่ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้บริการ E-Grocery หรือการสั่งซื้อของสดและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น กระทั่งครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่เข้ามาเร่งการเพิ่มจำนวนของ Food delivery และอาหารทางเลือกอย่างรวดเร็ว คือการเติบโตของรูปแบบเศรษฐกิจแบบบริโภคภายในบ้าน (Stay at home economy) นั่นเอง นอกจากนี้ จีนยังกำลังให้ความสำคัญกับการขยายปริมาณการผลิตโปรตีนทางเลือกอีกด้วย โดยถัดไปข้างกันในฝั่งเกษตรกรรม จีนยังตั้งเป้าส่งเสริมการเพาะปลูกธัญพืชใน scale ใหญ่ เพิ่มหนทางการเข้าถึงและการติดต่อสื่อสารกับชาวนาในชนบท ปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้านเมล็ดพันธุ์เพื่อเกื้อหนุนการพัฒนา รวมถึงยกระดับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพื้นที่เพาะปลูก

จีนตอนใต้ พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของจีน

จนถึงปัจจุบัน จีนตอนใต้ยังคงเป็นกำลังขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 จีนตอนใต้ได้รับการวางให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นโอกาสและโมเดลทางธุรกิจใหม่ ยิ่งตอกย้ำบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจของดินแดนใต้แห่งนี้ จึงน่าจับตามองว่าจีนตอนใต้จะพัฒนาต่อไปอย่างไรด้วยพื้นฐานและศักยภาพอันเข้มแข็งที่มี

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เดินทางเยือนเมืองจ้านเจียง เมืองเม่าหมิง และนครกว่างโจวในมณฑลกวางตุ้ง ในการนี้ นายสียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) โดยกล่าวว่าเขตอ่าวฯ มี ‘ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ’ ต่อการพัฒนาระดับชาติ พร้อมเสริมว่า เขตอ่าวฯ จะต้องได้รับการพัฒนาสู่การเป็นจุดศูนย์กลางเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนารูปแบบใหม่ เป็นเขตสาธิตของการพัฒนาคุณภาพสูง และเป็นผู้บุกเบิกการปรับปรุงจีนให้ทันสมัย ทั้งนี้ นายสียังย้ำอีกว่า ความแข็งแกร่งของตลาดจีนจะยิ่งทวีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นจากการที่จีนเร่งดำเนินการบ่มเพาะการพัฒนารูปแบบใหม่และยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

 

พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
19 เมษายน 2566

Print

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม