ไฟฟ้าพลังงานลมใน YRD น่าจับตา.. ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทย
26 Apr 2023“พลังงานลม” เป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งที่แต่ละประเทศพยายามพัฒนานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประกาศเป้าหมาย “คาร์บอนคู่ (Dual Carbon)” เมื่อกันยายน 2563
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจากทั่วโลก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยปี 2565 จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่ง 5.157 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ถือเป็นพื้นที่ที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งได้มากที่สุดในจีนเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจผลิตกังหันลมที่มีชื่อเสียง ศูนย์ BIC จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพและความก้าวหน้าของไฟฟ้าพลังงานลงในเขต YRD ซึ่งสามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานลมของไทยได้
YRD จริงจัง.. ตั้งเป้าหมายพลังงานลมชัดเจน
ภายหลังจากที่จีนประกาศเป้าหมาย Dual Carbon โดยจะหันมาใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล และลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง จีนได้ประกาศแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายฉบับ อาทิ “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” และ “แผนงานระบบพลังงานใหม่ ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” เป็นต้น โดยเขต YRD ได้มีการประกาศแผนงานที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับแผนงานระดับชาติ ดังนี้
เซี่ยงไฮ้
เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศ “แผนดำเนินงาน Carbon Peak ด้านพลังงานไฟฟ้านครเซี่ยงไฮ้” ซึ่งระบุว่า เร่งบุกเบิกการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมบนและนอกชายฝั่ง และจัดทำแผนพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งชุดใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการใช้ประโยชน์ไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 และปี 2573 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานลมไม่ต่ำกว่า 2.62 กิกะวัตต์ และ 5 กิกะวัตต์ ตามลำดับ
เจียงซู
เมื่อกรกฎาคม 2565 มณฑลเจียงซูได้ประกาศ “แผนงานพิเศษสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจียงซู ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” โดยตั้งเป้าหมายว่า ในช่วง 5 ปีดังกล่าว เจียงซูจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 12.53 กิกะวัตต์ และภายในปี 2568 เจียงซูจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมไม่ต่ำกว่า 28 กิกะวัตต์
เจ้อเจียง
เมื่อ 30 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลเจ้อเจียงได้ประกาศ “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจ้อเจียง ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 เจ้อเจียงจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 10.41 กิกะวัตต์ และจะสร้างทุ่งกังหันลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งระดับ 1 กิกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 แห่งในพื้นที่ทะเลของเมืองหนิงโป เมืองโจวซาน เมืองไทโจว และเมืองเวินโจว
อานฮุย
เมื่อ 1 สิงหาคม 2565 มณฑลอานฮุยได้เน้นย้ำเป้าหมายการพัฒนาพลังงานสะอาดตาม “แผนพัฒนาพลังงานมณฑลอานฮุย ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” ว่า ภายในปี 2568 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 3.88 กิกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ทั่วทั้งมณฑลจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมผลิตไฟฟ้ารวม 8 กิกะวัตต์
YRD ชูศักยภาพ.. ยืนหนึ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง
ด้วยความโดดเด่นในที่ตั้งภูมิศาสตร์ซึ่งมีแนวชายฝั่งทะเลรวม 3,507 กิโลเมตร กอปรกับมีจำนวนเกาะมากที่สุด ในจีน และมีกระแสลมบริเวณชายฝั่งทะเลที่มากเพียงพอ จึงทำให้เขต YRD เป็นพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่สำคัญที่สุดของจีน จากสถิติล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแลtสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (ปี 2559 – 2563) พบว่า ทั่วทั้งจีนมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งรวม 10.87 กิกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งในเขต YRD 7.64 กิกะวัตต์[1] คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.28 ของกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งทั้งหมดของจีน
ทั้งนี้ ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) แต่ละพื้นที่ของเขต YRD ได้วางแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นการเฉพาะ อาทิ
– นครเซี่ยงไฮ้ จะผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในโครงการนอกชายฝั่งระยะใกล้ 3 พื้นที่ทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ เขตเฟิ่งเสียน เขตหนานฮุ่ย และเขตจินซาน และโครงการนอกชายฝั่งระยะไกล 1 พื้นที่ในทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะฉงหมิงที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเซี่ยงไฮ้
– มณฑลเจียงซู มุ่งพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งรวม 28 แห่ง (มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลมากกว่า 10 กิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 1,444 ตารางกิโลเมตร รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 9.09 กิกะวัตต์
– มณฑลเจ้อเจียง มุ่งดำเนินการตามโมเดลการพัฒนาแบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วย “ฐานประยุกต์ใช้ไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งระยะใกล้และไกล + พลังงานจาdมหาสมุทร (Marine Energy) + ฐานอุตสาหกรรมบนบก” รวมทั้งตั้งเป้าหมายว่า ในช่วงปี 2564 – 2568 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งอีกไม่ต่ำกว่า 4.5 กิกะวัตต์ และภายในปี 2568 ทั่วทั้งมณฑลจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งรวม 5 กิกะวัตต์
รู้จักเทคโนโลยีกังหันลม YRD.. แหล่งรวมผู้ผลิตระดับโลก
นอกจากเขต YRD จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่สำคัญแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตกังหันลมที่มีชื่อเสียงระดับสากลอีกด้วย อาทิ
– Envision Energy Co., Ltd. (นครเซี่ยงไฮ้)
เป็นผู้ผลิตกังหันลมและซัพพลายเออร์รายใหญ่ชั้นนำของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดยเมื่อปี 2565 ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก และในปี 2562 ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของ “World’s 50 Smartest Companies” โดย MIT Technology Review โดย Envision Energy ยังให้บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการพลังงาน และบริการด้านเทคโนโลยีพลังงานด้วย
Envision Energy ได้ติดตั้งกังหันลมทั่วโลกกว่า 12,500 เครื่อง และได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกังหันลมกว่า 6,000 เครื่องในอเมริกาเหนือ ยุโรป ลาตินอเมริกา และจีน เป็นต้น ล่าสุด Envision Energy ได้เปิดตัวกังหันลมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รุ่น EN-220/10MW ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำได้สูงถึง 10 เมกะวัตต์ และมีเส้นผ่านศูนย์กลางระยะกวาดใบพัด (Rotor Diameter) กว้างที่สุดในโลก
– Shanghai Electric Wind Power Group Co., Ltd. (นครเซี่ยงไฮ้)
ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า อาทิ กังหันลม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และระบบอัจฉริยะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประกอบธุรกิจการประเมินทรัพยากรลม การลงทุนและพัฒนาฟาร์มกังหันลมดิจิทัล การบริหารจัดการสินทรัพย์ฟาร์มกังหันลม และพลังงานอัจฉริยะ เป็นต้น โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยกังหันลมที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1.25 – 10 เมกะวัตต์
ปี 2565 บริษัทฯ มียอดกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่นอกชายฝั่งทะเลเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Vestas (เดนมาร์ก) โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมรุ่น EW8.X-230 ติด 1 ใน 10 กังหันลมนอกชายฝั่งยอดนิยมประจำปี 2565 ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางระยะกวาดใบพัดขนาด 230 เมตร (กว้างที่สุดในบรรดารุ่นกังหันลมที่มีการติดตั้ง) หรือมีขนาดเท่ากับขนาดสนามฟุตบอลมาตรฐาน 5.8 สนาม
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ติดตั้งกังหันลมขนาด 8 เมกะวัตต์ที่ฐานการผลิตอัจฉริยะเมืองซ่านโถวในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตมากที่สุดที่เคยติดตั้งในจีน
– Zhejiang Windey Co., Ltd. (นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง)
เดิมคือ Zhejiang Windey Wind Power Co., Ltd. ซึ่งก่อตั้งใหม่เมื่อปี 2544 โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกังหันลมที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจีน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานลมมาเป็นเวลา 40 ปี รวมทั้งเคยเป็นศูนย์วิจัยพลังงานลมของ Zhejiang Institute of Mechanical and Electrical Engineering Co., Ltd. ที่เป็นผู้บุกเบิกและผู้ผลิตกังหันลม รายแรกในจีน ต่อมาในปี 2553 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อปัจจุบัน
บริษัทฯ มุ่งเน้นการวิจัย การออกแบบ การดำเนินงาน และการบำรุงรักษากังหันลม รวมทั้งมีการลงทุนและบริหารจัดการฟาร์มกังหันลม โดยในปี 2565 บริษัทฯ ติดอันดับที่ 7 ของผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ของโลก มีฐานการผลิต 3 แห่งในจีน ได้แก่ นครหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง เมืองจางเป่ยในมณฑลเหอเป่ย และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย โดยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ กังหันลมขนาด 1.5 – 3 เมกะวัตต์
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในข้อตกลงกับ Fintel (อิตาลี) เพื่อส่งมอบ ประกอบ และบำรุงรักษากังหันลมสำหรับโครงการ Maestrale Ring ขนาด 854 เมกะวัตต์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย ซึ่งเป็นฟาร์มกังหันลมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป
– Anhui Hummer Dynamo Co., Ltd. (นครเหอเฝย มณฑลอานฮุย)
ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และส่งเสริมระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมขนาดกลาง – เล็ก และการตั้งค่าฟาร์มกังหันลมขนาดเล็ก โดยใช้เทคโนโลยี Supercritical Fluid (SCF) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทางเทคนิคในการวิจัยและพัฒนาเครื่องกำเนิดพลังงานลมแบรนด์ HUMMER โดยกังหันลมที่ผลิตโดยบริษัทฯ จะเน้นที่น้ำหนักเบา มีขนาดเล็ก และมีประสิทธิภาพสูง ด้วยระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมทั้งแบบ off-gird และ on-grid ตั้งแต่ 500 วัตต์ – 200 กิโลวัตต์ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการยอมรับจาก 91 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย ชิลี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย อินเดีย ปากีสถาน ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ เป็นต้น
– Nanjing High Speed Gear Manufacturing Co., Ltd (NGC) (นครหนานจิง มณฑลเจียงซู)
เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์กล่องเกียร์กังหันลมรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2565 ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรสาธิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแห่งชาติจีน และเป็นแบรนด์หลักที่มณฑลเจียงซูมุ่งบ่มเพาะและพัฒนา โดยได้เข้าร่วมกับ China High Speed Transmission Equipment Group Co., Ltd. ตั้งแต่ปี 2512 ทั้งนี้ NGC ได้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ส่งกำลังลม กล่องเกียร์พลังลม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งมุ่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนความเร็วปานกลาง รวมถึงกล่องเกียร์ขนาด 13.5 – 15.0 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์พลังงานลม อุตสาหกรรมยานยนต์ รถไฟ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
กล่องเกียร์พลังงานลมของ NGC มีการใช้งานกว่า 100,000 ชุด ใน 30 ประเทศทั่วโลก และในปี 2565 NGC ได้รับรางวัล “Gold Award for Best Transmission Chain” จากวารสารพลังงานลมระดับโลก Windpower Monthly โดยปัจจุบัน NGC ได้ผลิตกล่องเกียร์รุ่นใหม่ขนาด 16-18 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างขยายขีดความสามารถเป็น 20 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
เทคโนโลยี YRD ก้าวไกล.. ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานลมในไทย
การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 ของไทย โดยแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) พ.ศ. 2561 – 2580 ระบุว่า ภายในปี 2580 ไทยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรวม 3,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเข้าระบบ Overcurrent Device (OCD) รวมกว่า 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นการกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาพลังงานลมของไทยที่ชัดเจน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนได้จัดทำรายงานข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ณ มกราคม 2565 ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม 29 แห่งทั่วประเทศที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ OCD แล้ว โดยมีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าแหลมพรหมเทพ จ. ภูเก็ต และโรงไฟฟ้าลำตะคอง จ. นครราชสีมา
ทั้งนี้ เขต YRD เป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมระดับแนวหน้าของจีน รวมทั้งเป็นที่ตั้งของธุรกิจด้านกังหันลมที่มีชื่อเสียงระดับสากล (ทั้งบริษัทผู้ผลิตกังหังลมและส่วนประกอบกังหันลม) เขต YRD จึงนับเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่ไทยสามารถศึกษาเรียนรู้และแสวงหาโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการลงทุน เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของไทยให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องของไทยต่อไป
****************
จัดทำโดย นางสาวณัฐธิดา นิสภกุลชัย และนายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://finance.sina.com.cn หัวข้อ去年全国海上风电新增装机容量515.7万千瓦,六央企规模居首วันที่ 28 มีนาคม 2566
2. https://m.163.com หัวข้อ 目标5GW,上海市将指定新一轮海上风电发展规划วันที่ 14 สิงหาคม 2565
3. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ “十四五”期间,江苏预计将新增风电1253万千瓦、光伏1816万千瓦วันที่ 11 กรกฎาคม 2565
4. www.capwhale.com หัวข้อ海上风电重大事项点评:浙江“十四五”海风目标出炉,10GW争当碳中和排头兵วันที่ 30 มิถุนายน 2564
5. www.ccmyhb.org.cn หัวข้อ新增光伏14.3GW、风电3.88GW,安徽发布能源发展“十四五”规划!วันที่ 9 สิงหาคม 2565
6. www.jlnyxx.com หัวข้อ我国各地“十四五”海上风电开发规模目标统计วันที่ 7 กรกฎาคม 2565
7. https://www.envision-group.com หัวข้อ Renewables and Intelligent loT Technology are Redefining the Future วันที่ 20 มีนาคม 2565
8. https://energywatch.com หัวข้อ Envision Energy unveils biggest onshore wind turbine on the market วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566
9. https://www.rechargenews.com หัวข้อ ‘World’s largest onshore wind turbine’: China’s Envision to launch 10MW giant วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
10. https://www.evwind.es หัวข้อ Goldwind and Vestas in Photo Finish for Top Spot as Global Wind Power Additions Fall วันที่ 23 มีนาคม 2566
11. https://www.prnewswire.co.uk หัวข้อ Shanghai Electric’s EW8.X-230 Recognized One of the Top 10 Offshore Turbines of the Year 2022 by Wind Power Monthly วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566
12. https://www.shanghai-electric.com หัวข้อ The wind turbine capacity ranges from 1.25MW to 8MW+ with full capacity range coverage วันที่ 28 มีนาคม 2566
13. https://blog.bizvibe.com หัวข้อ Global Wind Energy Market Figures and Facts 2022 วันที่ 26 พฤษภาคม 2565
14. https://www.chinawindey.com หัวข้อ Zhejiang Windey Co., Ltd. วันที่ 9 มกราคม 2566
15. https://balkangreenenergynews.com หัวข้อ Fintel selects Windey as preferred supplier for giant wind park in Serbia วันที่ 21 มีนาคม 2566
16. http://www.chinahummer.cn หัวข้อ Anhui Hummer Dynamo Co., Ltd. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566
17. https://www.ngctransmission.com หัวข้อ NGC 16-18MW fully integrated medium-speed transmission gearbox wins Windpower Monthly’s “Gold Award for Best Transmission Chain” in 2022 วันที่ 28 มกราคม 2566
18. https://www.windpowermonthly.com หัวข้อ NGC: Leap in torque density for fully-integrated 18MW offshore wind powertrain วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
[1] แบ่งเป็นมณฑลเจียงซู 6.81 กิกะวัตต์ (มากที่สุดในจีน) นครเซี่ยงไฮ้ 0.42 กิกะวัตต์ และมณฑลเจ้อเจียง 0.41 กิกะวัตต์