กวางตุ้งเร่งพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ทดแทนพลังงานจากถ่านหิน
9 Nov 2021มณฑลกวางตุ้งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานไฮโดรเจนแห่งหนึ่งของจีน โดยมีความสามารถในการผลิตไฮโดรเจน เป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทด้านพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อีกทั้งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน
พัฒนาการด้านพลังงานไฮโดรเจนของมณฑลกวางตุ้ง
ในช่วงที่ผ่านมา วิสาหกิจได้เริ่มลงทุนด้านพลังงานไฮโดรเจนในมณฑลกวางตุ้ง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มบริษัท Hyundai Motor บริษัทผลิตรถยนต์จากเกาหลีใต้ เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เขตหวงผู่ นครกว่างโจว โดยมีแผนเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยจะเน้นการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และเมื่อเดือนกันยายน 2564 บริษัท Sinopec ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่ระดับโลก เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์จัดส่งไฮโดรเจนสำหรับใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในมณฑลกวางตุ้ง โดยใช้เงินลงทุน 62.44 ล้านหยวน (9.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ซึ่ง Sinopec จะใช้เทคโนโลยีที่เป็นของบริษัททั้งหมด
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท GAC ซึ่งเป็นวิสาหกิจผลิตรถยนต์ของท้องถิ่น ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเครื่องยนต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่เกิดการเผาไหม้ (combustion risk) ลดความเสี่ยงการรั่วไหลของไฮโดรเจนทำให้สามารถใช้ไฮโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น โดยกลุ่มบริษัท GAC จะมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องยนต์ดังกล่าวทั้งหมด
การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน
เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งประกาศ “แนวทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่มณฑลกวางตุ้ง” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานใหม่โดยให้พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในทางเลือกด้านพลังงานในอนาคต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนประจำมณฑลกวางตุ้งประกาศ “แผนการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน การวิจัยและพัฒนาด้านเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน การใช้งานรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการเร่งก่อสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และไม่นานมานี้ รัฐบาลกลางจีนได้อนุมัติ โครงการ “กลุ่มเมืองกวางตุ้ง” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเมืองเพื่อสาธิตการประยุกต์ใช้รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกของจีน โดยเมืองฝอซานเป็นเมืองหลักที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวเนื่องจากมีความพร้อมด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการร่วมมือกับเมืองอื่น ๆ ที่อยู่นอกมณฑลกวางตุ้งแต่มีศักยภาพในด้านที่เกี่ยวกับรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนด้วย
สถานะล่าสุดของอุตสาหกรรมไฮโดรเจนในมณฑลกวางตุ้ง
ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งมีสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 30 แห่ง มีสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 29 แห่ง และมีแผนสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 300 แห่งภายในปี 2565 มากที่สุดในจีน นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน 1,450 แห่ง และมีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจน 6,740 ลูกบาศก์นาโนเมตรต่อปี (Nm^3/year) มากที่สุดในจีน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมในการรองรับการใช้งานยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนภายในกรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area: GBA) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ เมืองต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้งเริ่มใช้งานยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแล้ว เช่น เมืองฝอซานมีรถรางที่วิ่งโดยใช้พลังงานไฮโดรเจน เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2562 โดยใช้พลังงานจากไฮโดรเจนสีฟ้า และมีรถโดยสารประจำทางที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนถึง 1,000 คัน อีกทั้งเป็นที่ตั้งของ “ไฮโดรเจนวัลเลย์” ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เมืองเซินเจิ้น เริ่มใช้งานรถโดยสารประจำทางเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในเขตหลงกั่ง โดยจะใช้รับส่งผู้เข้าร่วมงาน Shenzhen International Low Carbon City Forum ครั้งที่ 9 ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานออกนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในไทยซึ่งรวมถึงพลังงานไฮโดรเจน โดยได้กำหนดเป้าหมายให้ใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20.3 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในไทยภายในปี 2565 อีกทั้งได้ร่างแผนปฏิบัติการพลังงานไฮโดรเจน เพื่อผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการใช้ไฮโดรเจน ไปจนถึงการใช้งานไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น จีนอาจเป็นต้นแบบการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในไทยได้ เช่น ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจน และด้านความปลอดภัยในการใช้งาน เป็นต้น
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.scmp.com/business/companies/article/3149113/chinas-carbon-neutral-goal-foshan-leads-silent-revolution-green
https://www.caixinglobal.com/2021-09-27/hydrogen-cars-may-be-as-cheap-to-make-as-fossil-fuel-vehicles-by-2030-state-researcher-says-101778547.html
https://www.researchgate.net/publication/347297183_Status_quo_of_China_hydrogen_strategy_in_the_field_of_transportation_and_international_comparisons
https://global.chinadaily.com.cn/a/202109/08/WS6138539aa310efa1bd66e28e.html
http://news.southcn.com/gd/content/2021-09/02/content_192724511.htm
https://zhuanlan.zhihu.com/p/345534148
https://mp.weixin.qq.com/s/7H7j-ic4fPfAMgjzi3i1Bw
https://www.chinadaily.com.cn/a/202101/06/WS5ff51a99a31024ad0baa0c53.html
http://www.gd.gov.cn/gkmlpt/content/0/146/post_146920.html#7
https://asia.nikkei.com/Business/China-tech/Hydrogen-Valley-powers-China-s-fuel-cell-industry