หลากมุมมองกับโอกาสสินค้าไทยบนเส้นเศรษฐกิจ “R3A+” กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู ตอนที่ 1
15 Jan 2016เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงไทยกับจีนตอนใต้ที่เรารู้จักและคุ้นหูกันดี คือ “R3A” หรือ “คุนมั่น กงลู่–昆曼公路” (เส้นทางบกคุนหมิง-กรุงเทพฯ) เส้นทางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ที่เชื่อมระหว่างประเทศ จีน ลาวและไทย ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการมานานกว่า 7 ปี (ตั้งแต่ปี 2551) ปัจจุบันเส้นทางนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าของไทยและจีน ซึ่งเข้ามาใช้ประโยชน์และได้รับอานิสงส์จากเส้นทางเศรษฐกิจนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน “R3A” กำลังเตรียมตัวรอรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ภายใต้ยุทธศาสตร์ระดับชาติของรัฐบาลจีน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt-One Road) ซึ่งหวังใช้เส้นทางเศรษฐกิจสายนี้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างจีนกับไทยและอาเซียนทำให้ “R3A” กำลังจะเป็นกุญแจดอกสำคัญของจีนในการเปิดประตูมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่อย่าง “อาเซียน” ขณะเดียวกัน ไทยในฐานะประตูของจีนตะวันตกสู่อาเซียนจะสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ได้ในการกระจายสินค้าไทยเข้าสู่จีนตะวันตก ตามเส้นทาง “R3A+” (R3A ‘plus’) กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู
“R3A+” เป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ‘plus ‘+’ คือ ส่วนต่อขยายจาก “R3A” จากคุนหมิงเชื่อมโยงมายังนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งมีระยะทางเพียง 918 กม.ในความเป็นจริงแล้ว “R3A+” ไม่ใช่เส้นทางใหม่ เส้นทางถนนเชื่อมระหว่างคุนหมิงกับเฉิงตูเส้นทางนี้มีมานานแล้ว แต่ถูกพูดถึงน้อยมากเมื่อเทียบกับเส้นทาง “R3A” เนื่องจากมณฑลทางภาคตะวันตกของไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมากนัก
ด้วยความสำคัญของนครเฉิงตูที่เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรไทยไปยังมณฑลอื่น ๆ จากแหล่งกระจายสินค้าเกษตรชานเมืองของนครเฉิงตูที่มีชื่อว่า ‘ตลาดเหมิงหยาง’ และนำเข้าผลไม้ไทยในแต่ละปีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการศึกษาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวน ผ่านเส้นทาง “R3A+“ จากนครเฉิงตู-คุนหมิง-เชียงราย-เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16-23 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลและลงพื้นที่จริง เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัจจุบันของการคมนาคมขนส่งทางบกของเส้นทางเฉิงตู-คุนหมิง สำรวจตลาดกระจายผลไม้ในนครคุนหมิงในส่วนที่ส่งต่อมายังนครเฉิงตู และศึกษาสถานการณ์การส่งออกผลไม้จากไทยไปยังนครเฉิงตูผ่านเส้นทาง “R3A+” รวมทั้งสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศุลกากรด่านบ่อหาน (โม่ฮัน) ผู้ประกอบการนำเข้าจีน และผู้ประกอบการส่งออกไทย เพื่อจัดทำบทวิเคราะห์รวมเล่ม และเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ เรือโทโกเมศ กมลนาวิน กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้มอบหมายให้คณะจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ซึ่งประกอบด้วย นางจิตนิภา หวังเชิดชูวงศ์ ผอ.สนง.การค้าระหว่างประเทศ นครเฉิงตู น.ส.พีร์ภากรณณ์ เนียมใย กงสุลฝ่ายเศรษฐกิจ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู นายธวัช มหิตพงษ์ และ น.ส.หฤทัย ใจน้อย เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตูเดินทางไปสำรวจเส้นทางดังกล่าว
ลงพื้นที่จริง “เริ่มต้นจากเฉิงตูสู่คุนหมิง” สำรวจตลาดผลไม้ใหญ่สุดในนครคุนหมิง
การลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง “R3A+” ในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เดินทางผ่านนครคุนหมิง-เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา-เมืองบ่อหาน (โม่ฮัน) มณฑลยูนนาน เข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมืองหลวงน้ำทาและเมืองบ่อแก้ว และสิ้นสุดที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,871 กม.แบ่งเป็นระยะทางในจีน 1,624 กม.(เฉิงตู-คุนหมิง-บ่อหาน) ระยะทางใน สปป.ลาว 247 กม.ถึงด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย
เส้นทางจากนครเฉิงตูสู่นครคุนหมิง มีระยะทาง 918 กม.โดยต้องผ่านเมืองของมณฑลเสฉวน 2 เมือง ได้แก่ เขตปกครองตนเองอี๋เหลียงซาน มีเมืองเอกคือ เมืองซีชาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของฐานยิงจรวดและดาวเทียมที่สำคัญของจีน เมืองพานจือฮวา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใต้สุดของมณฑลเสฉวนมีพื้นที่ติดต่อกับมณฑลยูนนาน เป็นแหล่งเหมืองแร่ขนาดใหญ่ อาทิ แร่วาเนเดียม แร่ไทเทเนียมและแร่แมกนีไทต์ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูกเกษตรกรรมสำคัญของมณฑลเสฉวน
ตลอดเส้นทางนครเฉิงตูสู่นครคุนหมิงเป็นถนนทางด่วนมอเตอร์เวย์ 4 เลน เรียกว่า เส้น “คุนหมิง- ปักกิ่ง” ซึ่งสามารถเดินทางไปถึงกรุงปักกิ่งของจีนได้ (ระยะทาง 2,865 กม.) ถนนเส้นนี้มีสภาพดี มากตลอดทั้งสาย และตัดผ่านพื้นที่ภูเขาและหุบเขา โดยจีนได้เจาะอุโมงค์ลอดผ่านหุบเขาสำหรับให้รถยนต์วิ่งผ่านไปมาได้สะดวกและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น และตลอดเส้นทางพบเห็นรถบรรทุกสินค้าวิ่งสวนตลอดทางซึ่งแสดงให้เห็นว่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ไปยังมณฑลภาคอื่น ๆ ของจีน รวมใช้ระยะเวลาการเดินทางจากนครเฉิงตูถึงนครคุนหมิงราว 10 ชม.
|
จุดหมายแรกของการลงพื้นที่สำรวจคือ “ตลาดค้าส่งผลไม้จินหม่าเจิ้งชาง” (金马正昌果品市场)ตลาดค้าส่งผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนครคุนหมิง
คณะฯ ได้พบและสัมภาษณ์นายฉง เสี่ยวเจียง ผอ. ตลาดค้าส่งผลไม้จินหม่าเจิ้งชาง ซึ่งให้ข้อมูลว่า “ตลาดค้าส่งผลไม้จินหม่าเจิ้งชาง เป็นตลาดกลางที่รวบรวมผลไม้จากภูมิภาคอาเซียนสู่จีนตอนใต้ และกระจายไปสู่เมืองอื่น ๆ ทั่วจีน โดยผลไม้ในตลาดแห่งนี้ประมาณ 90% มาจากการขนส่งโดยทางบกผ่านทั้งเส้นทาง R3A และ R3B (ไทย-พม่า-จีน) โดยผลไม้ไทยที่ขนส่งไปยังตลาดแห่งนี้ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด กล้วยไข่ และส้มโอ เป็นต้น คิดเป็น 40% ของผลไม้ทั้งหมด นอกจากนี้ ในแต่ละวันจะมีรถบรรทุกขนส่งผลไม้จากประเทศอาเซียน ได้แก่ พม่า เวียดนาม และจากเมืองต่าง ๆ ในมณฑลยูนนานประมาณ 500 คัน มาส่งที่ตลาดแห่งนี้ หลังจากนั้นรถบรรทุกขนาดเล็กจำนวนกว่า 1,500 คัน จะทำหน้าที่กระจายผลไม้ดังกล่าวไปยังตลาดท้องถิ่นในมณฑลยูนนานและตลาดในเมืองอื่น ๆ ทั่วจีน
นายฉง เสี่ยวเจียง ได้นำคณะฯ เดินสำรวจตลาดทั้งในส่วนของจุดรวบรวมผลไม้และจุดกระจายผลไม้ อีกทั้งพาคณะฯ ไปทำความรู้จักกับ นายติง เจียงเซิง เจ้าของบริษัทสุ๋ยกว่อเหลียนเมิ๋ง และนางเหอ เสี่ยวเหมย เจ้าของบริษัทไคหลงซิน ซึ่งเป็นสองบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่ในนครคุนหมิง
นายติง เจียงเซิง เจ้าของบริษัทสุ๋ยกว่อเหลียนเมิ๋ง(水果联盟有限公司)พ่อค้าผลไม้ไทยที่ใหญ่ที่สุดในนครคุนหมิง เล่าให้ฟังว่า “ผมประกอบธุรกิจนำเข้าผลไม้ต่างประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี บริษัทฯ ของผมนำเข้าแต่ผลไม้ไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยผลไม้เหล่านี้มาจากทุกภาคของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของผลไม้ด้วย โดยผลไม้ไทยที่บริษัทฯ นำเข้า ได้แก่ มังคุด ลำไย ทุเรียน ส้มโอ ซึ่งผลไม้ทั้งหมดขนส่งผ่านเส้นทาง R3A จากไทยมายังนครคุนหมิงทั้งสิ้น เนื่องจากประหยัดเวลาในการขนส่งและรักษาคุณภาพของผลไม้ได้ดีโดยลดความเสี่ยงจากการที่ผลไม้เกิดเน่าเสีย และสามารถนำเข้าผลไม้ต้นฤดูเข้าสู่ตลาดได้ทันต่อความต้องการ ทำให้ขายได้ราคา และที่สำคัญช่วยป้องกันการกดราคาผลไม้จากพ่อค้าคนกลางที่ตลาดเจียงหนานอีกด้วย”
นายติง เจียงเซิง เสริมว่า “ทันทีที่รถตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยมาถึงตลาดจินหม่าเจิ้งชาง บริษัทฯ จะแบ่งแยกผลไม้ออกเป็น 2 ส่วนอย่างละครึ่ง โดยส่วนแรกจะกระจายสินค้าจำหน่ายในมณฑลยูนนาน และส่วนที่ 2 จะจัดส่งสินค้าตามใบสั่งสินค้าจากเมืองใหญ่ ๆ ทั่วจีน ได้แก่ นครเฉิงตู นครกุ้ยหยาง นครฉงชิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเจิ้งโจว และกรุงปักกิ่ง ในส่วนของนครเฉิงตู จะจัดส่งให้ลูกค้า ณ ตลาดเหมิงหยาง ตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่สุดในมณฑลเสฉวนคิดเป็น 10-15% ของปริมาณผลไม้ทั้งหมด ทั้งนี้ ผลไม้ไทยยอดนิยมในตลาดเฉิงตู ได้แก่ มังคุด ทุเรียนและส้มโอ”
|
นายติง เจียงเซิง มองว่า “ตลาดนครเฉิงตู เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงกว่านครคุนหมิง ผู้บริโภคชาวเฉิงตูยินดีจ่ายค่าผลไม้ในราคาสูง เพื่อแลกกับผลไม้สดที่นำเข้าตามฤดูกาล แม้ว่าปริมาณความต้องการผลไม้ไทยในตลาดเฉิงตูยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับความต้องการในนครคุนหมิง แต่สามารถทำกำไรให้กับบริษัทฯ ได้มากกว่าการจำหน่ายผลไม้ไทยในนครคุนหมิง”
“ปัจจุบัน ผลไม้ไทยที่ติดตลาดจีนแล้ว ได้แก่ มังคุด ทุเรียน กล้วยไข่ และลำไย ในขณะที่สับปะรดภูแล และมะม่วงงาช้างแดง กำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดจีน ทั้งนี้ ในอนาคตปริมาณความต้องการผลไม้ไทยในตลาดจีนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน”
ข้อมูลเพิ่มเติม มะม่วงงาช้างแดงหรือหงเซียงหยา (红象牙) เป็นมะม่วงที่นิยมปลูกเพื่อเก็บผลส่งออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะส่งออกไปยังประเทศจีน ไต้หวัน และประเทศอียิปต์ เนื่องจากผลมะม่วงมีขนาดใหญ่และรสชาติหวานอร่อย |
|
ข้อมูลเพิ่มเติม
ตลาดเหมิงหยางตั้งอยู่ที่เมืองเผิงโจว (ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของนครเฉิงตู) มีชื่อเสียงในด้านการเป็นแหล่งปลูกผักสำคัญของมณฑลเสฉวนมาตั้งแต่ในอดีต โดยรัฐบาลนครเฉิงตูได้เล็งเห็นศักยภาพการเป็นศูนย์กระจายสินค้าผักและผลไม้ ซึ่งเมื่อปี 2556 จึงได้ย้ายศูนย์กระจายสินค้าผักและผลไม้ตลาดซื่อหม่าเฉียวเดิมที่ตั้งอยู่ในนครเฉิงตูซึ่งคับแคบไปยังเมืองเผิงโจว ซึ่งก็คือ ตลาดเหมิงหยางในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาให้เมืองเผิงโจว กลายเป็นเมืองผักและผลไม้อย่างครบวงจรในภาคตะวันตก ทั้งในด้านการเพาะปลูกผัก การวิจัยและเพาะพันธุ์เมล็ดผัก และศูนย์กระจายผักและผลไม้ไปยังมณฑลใกล้เคียง
ตลาดเหมิงหยางเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 มีการจัดการคล้ายคลึงกับตลาดผลไม้เจียงหนานในมณฑลกวางตุ้ง มีขนาดพื้นที่ 2.4 แสนตารางเมตร ใช้งบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 8,000 ล้านหยวน ปัจจุบันมีปริมาณซื้อขายสินค้าผักและผลไม้ 9,000 ตันต่อวัน สูงสุด 13,000 ตัน/วัน มูลค่าการซื้อขายเกือบ 10,000 ล้านหยวน เฉพาะสินค้าผักมีกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่ส่งไปขายภายในมณฑลเสฉวน นครฉงชิ่งและมณฑลในภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลที่ส่งไปขายไกลที่สุด ได้แก่ เขตปกครองตนเองทิเบต และเขตปกครองตนเองซินเจียง
นางเหอ เสี่ยวเหมย เจ้าของบริษัทไคหลงซิน(凯龙欣商贸有限公司)เล่าว่า “บริษัทได้เหมาซื้อสวนลำไยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะนำเข้าลำไยจากไทยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ตัน นอกจากลำไยแล้ว ยังนำเข้ามังคุดและมะขามจากไทยบ้างเป็นครั้งคราว ขึ้นอยู่กับออเดอร์สั่งสินค้า ซึ่งผลไม้ทุกชนิดที่บริษัทนำเข้าจากไทยอาศัยการขนส่งผ่านเส้นทาง R3A กว่า 90% เพราะถนนสาย R3A เป็นเส้นทางขนส่งทางบกจากไทยมาจีนที่สะดวกรวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะกับการขนส่งผลไม้จากไทย”
คุนหมิง-สิบสองปันนา-บ่อหาน พบหารือและสัมภาษณ์ด่านศุลกากรบ่อหาน
ระยะทางจากคุนหมิงถึงสิบสองปันนาประมาณ 536 กม.ถนนเป็นทางด่วนมอเตอร์เวย์เช่นเดียวกัน แต่มีบางช่วงที่ถนนแคบลงเหลือ 2 เลน เป็นเส้นทางลัดเลาะตามแนวภูเขา และพื้นถนนมีการปิดปรับปรุงในบางช่วง ตลอดเส้นทางพบรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่วิ่งไปทางเดียวกันและวิ่งสวนต่อเนื่อง สังเกตป้ายทะเบียนของรถบรรทุก พบว่า เป็นป้ายทะเบียนจากมณฑลต่าง ๆ ในจีน จึงสันนิษฐานได้ว่ารถบรรทุกดังกล่าววิ่งมารับและส่งสินค้าที่ด่านบ่อหานเพื่อกระจายสินค้าไปทั่วจีน
|
สำหรับในช่วงระหว่างสิบสองปันนาถึงด่านบ่อหาน เป็นเส้นทางปกติ 2 เลนที่ค่อนข้างแคบ มีรถวิ่งสวนกันตลอดทาง และถนนบางช่วงชำรุดกำลังปิดซ่อมแซม เนื่องจากรองรับการวิ่งของรถบรรทุกขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง แม้ระยะทางมีเพียงประมาณ 170 กม.แต่ด้วยสภาพถนน 2 เลน จึงทำให้ทำเวลาไม่ค่อยได้และใช้เวลาการเดินทางกว่า 3 ชม.
|
คณะฯ ได้พบปะกับนายเจิง เจี้ยนหลิน ผอ.ด่านตรวจสอบและกักกันสินค้าด่านศุลกากรบ่อหาน และได้สอบถามถึงสภาพการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยผ่านด่านศุลกากรแห่งนี้ รวมถึงปัญหาการนำเข้าสินค้าจากไทยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และแนวโน้มการเติบโตของการนำเข้าสินค้าไทยบนเส้นทางขนส่ง R3A
นายเจิง เจี้ยนหลิน ได้ให้ข้อมูลว่า “ปัจจุบัน ด่านศุลกากรบ่อหานอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ทั้งสิ้น 9 ชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ ทุเรียน ลำไย มังคุด ส้มโอ มะละกอ มะขาม มะม่วง และลิ้นจี่ โดยช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2558 มีปริมาณการนำเข้าผลไม้จากไทยจำนวน 106,500 ตัน รวมมูลค่ากว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านเส้น R3A มีอัตราการเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 20-25% สำหรับประเภทของผลไม้ไทยที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ กล้วยไข่ มังคุดและลำไย”
นายเจิง เจี้ยนหลิน อธิบายต่อไปว่า “ความตกลงทวิภาคีไทย-จีน ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่ 3 ซึ่งลงนามเมื่อปี 2554 เป็นกรอบความตกลงที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อการในส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีน โดยระบุว่า รถบรรทุกสินค้าจากไทยทุกคันที่เข้าจีนจะต้องถูกปิดผนึก (seal) เพื่อรับประกันว่าสินค้าดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบโรคพืชและผลไม้แล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติจะสามารถขนส่งสินค้าเข้าสู่จีนได้โดยตรงที่ด่านบ่อหานของจีน แต่ด้วยเหตุที่ สปป.ลาว มิได้เป็นภาคีในพิธี สารฯ ดังกล่าว จึงทำให้ สปป. ลาวซึ่งเป็นประเทศทางผ่านของเส้นทาง R3A ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกสินค้าจีนหรือไทยผ่าน สปป.ลาวได้โดยตรง จึงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าและเปลี่ยนหัวรถตู้คอนเทนเนอร์”
ต่อข้อสักถามของคณะฯ ที่ว่า ปัญหาที่พบในการตรวจสอบผลไม้จากไทยมีอะไรบ้าง นายเจิง เจี้ยนหลิน ให้คำตอบว่า “การตรวจสอบพบลำไยที่รมสารซัลเฟอร์เกินขนาดและพบเจอหนอนในผลลำไย คือปัญหาที่ด่านศุลกากรพบเจอบ่อยครั้งที่สุด นอกจากนี้ กรณีการตัดตัวปิดผนึก (seal) และการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ด่านบ่อเต็น สปป.ลาว ก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศจีนนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ”
ปัญหาการเปิดตัวปิดผนึก (seal) ที่ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านบ่อหานของจีนแสดงความกังวล เนื่องจากจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าจากไทย และสร้างความลำบากให้กับหน่วยงานตรวจสอบโรคพืชของจีน
นายเจิง เจี้ยนหลิน กล่าวเสริมว่า “นอกจากการนำเข้าผลไม้ไทยบนเส้น R3A แล้ว ยังมีการนำเข้าเครื่องปรุงอาหารไทยและเครื่องไม้ของตกแต่งบ้านจากไทยด้วย แต่ปัจจุบันปริมาณการขนส่งสินค้าประเภทดังกล่าวค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่คุ้มกับต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ค่อนข้างสูง สำหรับสินค้าจากจีนที่ขนส่งไปไทยบนเส้น R3A ได้แก่ แอปเปิ้ล ส้ม กระเทียม พริก”
“เส้นทาง R3A เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างจีน-ไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งมีความได้เปรียบกว่าการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ ทั้งในด้านของต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และแน่นอนว่าในอนาคตเส้น R3A จะเป็นเส้นเศรษฐกิจสำคัญกระตุ้นภาคการค้าและการลงทุนระหว่างจีนและไทย”
|
เดินทางผ่าน สปป.ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย
สปป.ลาว คือประเทศที่คั่นกลางระหว่างจีนและไทย ซึ่งเป็นจุดครึ่งทางและทางผ่านของเส้นทางขนส่ง R3A โดยมีด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) เป็นด่านพรมแดนติดกับด่านบ่อหาน (จีน) และด่านห้วยทราย (สปป.ลาว) เป็นด่านชายแดนที่ติดกับด่านเชียงของ (ไทย) รวมระยะเส้นทาง R3A ใน สปป.ลาวประมาณ 247 กม.ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 4 ชม.กว่า เนื่องจากเส้นทางเป็นถนน 2 เลนค่อนข้างแคบ ผ่านชุมชนตลอดทาง ถนนบางช่วงกำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม กอปรกับเส้นทางถนนส่วนใหญ่ตัดผ่านไปตามภูเขาที่คดเคี้ยว จึงทำให้การคมนาคมช้าลงในบางช่วง
เมื่อคณะฯ เดินทางเข้าสู่ สปป.ลาว ได้พบเห็นลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่มีรถตู้คอนเืทนเนอร์ขนส่งสินค้าจากจีนและไทยจำนวนมากจอดอยู่เพื่อรอเปลี่ยนหัวรถและเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าเพื่อขนส่งเข้าสู่ สปป.ลาว และจีน
ภาพ ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ด่านบ่อเต็น สปป.ลาว
|
ภาพ สภาพถนนของ สปป.ลาว บนเส้นทาง R3A
จัดทำโดย นายธวัช มหิตพงษ์ และนางสาวหฤทัย ใจน้อย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
แหล่งที่มา การลงพื้นที่สำรวจเส้นทางขนส่งสาย R3A+ (นครเฉิงตู-จ.เชียงใหม่)
ระหว่างวันที่ 16 – 23 กันยายน 2558