บทความเตือนภัย: การชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้กับบริษัทจีน
26 Jan 2018บทความเตือนภัย: การชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้กับบริษัทจีน
ด้วยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ได้รับการร้องเรียนจากวิสาหกิจไทยว่าบริษัทไทยได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทจีน หลังการลงนามในสัญญาซื้อขายแล้ว บริษัทจีน (ผู้ซื้อ) จะขอให้บริษัทไทย (ผู้ขาย) ชำระเงินค่านิติกรณ์ ค่าธรรมเนียมการทำสัญญา หรือค่าธรรมเนียมสกุลเงินต่างประเทศก่อน บริษัทจีนจึงจะสามารถชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัทไทยได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อย เมื่อได้รับยอดคำสั่งซื้อจำนวนมากก็ได้เดินทางมาลงนามในสัญญาที่ประเทศจีน (ซึ่งช่วงนี้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยอาจรู้สึกติดใจสงสัยเล็กน้อยเมื่อเห็นสถานที่ แต่ก็คิดว่าลงนามในสัญญาต่อหน้าแล้ว น่าจะไม่มีปัญหาอะไร) เมื่อบริษัทจีนขอให้ชำระเงินค่าต่างๆ จึงโอนเงินไปให้บริษัท และภายหลังการชำระเงินแล้วก็ไม่สามารถติดต่อบริษัทจีนได้อีกเลย
จากการตรวจสอบของศูนย์ข้อมูลฯ พบว่า บริษัทคู่ค้าชาวจีนดังกล่าวมีการจดหมายเลขทะเบียนพาณิชย์จริง ซึ่งทำให้กรณีการตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานพาณิชย์ท้องถิ่นของจีนไม่สามารถระบุความโปร่งใสในการทำธุรกิจได้อีกต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ประสานไปยังสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลส่านซี ให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีทางกฎหมาย และเพื่อป้องกันไม่ให้วิสาหกิจไทยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ขออนุญาตแนะนำข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของท่าน ดังนี้
1. เมื่อได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทจีน หากเป็นยอดสั่งซื้อจำนวนมาก ขอให้ผู้ประกอบการไทยพิจารณาข้อสัญญาและรายละเอียดการสั่งซื้อให้รอบคอบและเป็นเหตุเป็นผลตามหลักธุรกิจสากล
2. หากพิจารณาข้อสัญญาและรายละเอียดของคำสั่งซื้อแล้ว พบว่ามีข้อสงสัยหรือไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาค้นหาข้อมูลโดยการพิมพ์ชื่อบริษัทคู่ค้าใน Google หรือค้นหาชื่อผ่านเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดที่รวบรวมข้อมูลการฉ้อโกง เช่น www.fraudslist.com หากพบชื่อบริษัทคู่ค้าของท่านในเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดเหล่านี้ ขอให้ท่านตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นคำสั่งซื้อหลอก หรือมีเจตนาฉ้อโกงแอบแฝง นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ มีข้อสังเกตว่า ในเว็บไซต์ของบริษัทจีนเหล่านี้ มักมีแต่หน้าภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบริษัทมากนัก หรือข้อมูลสินค้าของบริษัทก็มักเป็นเพียงรูปภาพ ไม่มีรายละเอียด รวมถึงข่าวสารของบริษัทก็มักเป็นข่าวภาษาอังกฤษที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เหมือนเป็นการคัดลอกมาจากเว็บไซต์ต่างๆ แบบสุ่มๆ
3. ท่านสามารถติดต่อหน่วยงานไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อช่วยตรวจสอบสถานะของบริษัทคู่ค้าชาวจีนได้ ได้แก่ (1) ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ประจำสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั้ง 10 แห่ง และ (2) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับเขตความรับผิดชอบของ สคต. ได้ที่เว็บไซต์ www.thaitradechina.cn/en
ปัจจุบัน การทำการค้ากับคู่ค้าชาวจีนจำเป็นต้องเพิ่มความรอบคอบและรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากปรากฏข่าวการหลอกลวงตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก และด้วยความก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ทำให้มิจฉาชีพสามารถหลอกลวงผู้อื่นให้โอนเงินหรือชำระเงินค่าธรรมเนียมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลฯ มักได้รับการร้องเรียนในกรณีฉ้อโกงที่มักจะมีการพัฒนารูปแบบที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งกว่าผู้ประกอบการชาวไทยจะทราบว่าเป็นการฉ้อโกงก็ได้สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจของท่านเสียแล้ว ดังนั้น การเพิ่มความระมัดระวังในการลงนามในสัญญาและไม่ตื่นเต้นกับยอดการสั่งซื้อสินค้าจนขาดความรอบคอบในการพิจารณาเหตุและผลจนเกินไป รวมไปถึงการประสานหน่วยงานไทยในพื้นที่ให้ช่วยตรวจสอบสถานะบริษัทคู่ค้าก่อนการลงนามในสัญญา ก็จะช่วยลดโอกาสความเสี่ยงในการถูกฉ้อโกง ซึ่งดีกว่า “วัวหายแล้วล้อมคอก” ได้ ท่านสามารถติดตามประเด็นข่าวสารและข้อมูลทางด้านธุรกิจการค้าแบบเจาะลึกรายมณฑล และพัฒนาการต่างๆ ในพื้นที่มณฑลส่านซี มณฑลกานซู และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลฯ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com เฟสบุ๊คศูนย์ข้อมูลฯ www.facebook.com/thaibizchina และเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน www.thaiembassy.org/xian/business หรือติดต่อศูนย์ข้อมูลฯ ณ นครซีอาน เพื่อสอบถามข้อมูลทางธุรกิจ (ในมณฑลทั้ง 3) ได้ที่ [email protected]
****************************