QA

การนําเข้าสินค้าจากจีน

Qบริษัทมีความสนใจสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายชาวจีนที่รู้จักผ่านทางเว็บไซต์ แต่ยังไม่มั่นใจสถานะความน่าเชื่อถือของบริษัทจีนที่จะซื้อสินค้าด้วย ไม่ทราบว่าจะสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเบื้องต้นของคู่ค้าด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง

A

Q&A การนำเข้าสินค้าจากจีน

ก่อนการเริ่มตกลงทางธุรกิจกับคู่ค้าจีนรายใหม่ที่ร่วมทำธุรกิจด้วยกันเป็นครั้งแรกจึง บริษัทควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านความน่าเชื่อถือของคู่ค้าที่ควรมีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนตั้งแต่เริ่มต้น อย่าไว้ใจข้อมูลเพียงที่ได้รับจากคู่ค้าเพียงอย่างเดียว เพื่อความไม่ประมาทศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอแนะนำวิธีเบื้องต้นในการตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าได้จากวิธีการดังต่อไปนี้

1. การตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากเว็บไซต์บริษัท สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของบริษัท เช่น ข้อมูลแนะนำบริษัท ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ ข้อมูลด้านการผลิตและสินค้า โดยระวังเว็บไซต์แอบอ้างที่สร้างมาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือแต่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เช่นเว็บไซต์ประเภท Web Phishing ซึ่งมักจะมีข้อมูลที่ดูไม่สมจริงให้เห็นอยู่ปรากฏ เช่น รูปภาพโรงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องในการผลิตสินค้าที่ระบุ หมายเลขรหัสพื้นที่โทรศัพท์ที่ไม่ตรงกับพื้นที่ที่ตั้ง ข้อมูลแนะนำบริษัทที่ดูเสมือนจริง เป็นต้น รายละเอียดข้อควรระวังเว็บไซต์ประเภท Web Phishing สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “เตือนภัยธุรกิจไทยในจีน : เผยกลลวง Phishing Website!! จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม? (ระวัง.. อย่าตกเป็นเหยื่อเว็บไซต์ปลอมส่งออกสินค้าในจีน)” (Link)

2. การตรวจสอบข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในอินเทอร์เน็ต  บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือมีตัวตนอยู่จริง อาจมีข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอยู่ด้วย เช่น กิจกรรมของบริษัทที่มีตามข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อต่างๆที่มีการพูดถึงบริษัทนี้ โดยแม้ว่าบริษัทตามชื่อที่ค้นหานั้นอาจมีตัวตนมีความน่าเชื่อถืออยู่จริง แต่ถูกผู้ไม่หวังดีแอบอ้างสวมรอยใช้ชื่อบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือนี้มาติดต่อ อาจพิจารณาเช็คข้อมูลเพิ่มเติมจากชื่อบริษัทด้วยภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ ในเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (Search engine) ต่างๆ ว่ามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องอ้างถึงบริษัทนี้อย่างไรบ้าง เช่น เป็นบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำที่เคยมีข้อพิพาทกับคู่ค้ารายอื่นๆ หรือเป็นบริษัทที่มีผู้ร้องเรียนปัญหาทางการค้าอ้างถึง เป็นต้น

3. การติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังพนักงานที่ติดต่ออยู่ด้วย โดยผ่านหมายเลขโทรศัพท์กลางของบริษัท เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าผู้ที่ติดต่อด้วยทำงานอยู่ในบริษัทดังกล่าวจริง อาจพิจารณาติดต่อกลับไปยังผู้ติดต่อด้วย โดยไม่ใช้หมายเลขที่ระบุในท้ายอีเมล์หรือในนามบัตร แต่ติดต่อโดยค้นหาหมายเลขกลางของบริษัทจากฐานข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือ และโทรไปเพื่อขอสายพนักงานชื่อดังกล่าวที่อยู่ในแผนกที่ระบุ การตรวจสอบย้อนกลับทางโทรศัพท์ดังกล่าวนี้จะสามารถป้องกันปัญหาที่ผู้ไม่หวังดีแอบอ้างชื่อพนักงานขาย หรือพนักงานเก่าของบริษัทจีน แอบอ้างชื่อบริษัทมาเพื่อเสนอขายสินค้า โดยใช้นามบัตรเก่าและอีเมล์เก่า หรือสำหรับการซื้อขายต่อเนื่องจากครั้งก่อนเพื่อตรวจสอบว่าพนักงานคนดังกล่าวยังมีหน้าเดิมประจำอยู่ฝ่ายเดิมหรือไม่ หรือไม่ได้ทำงานแล้วแต่อาศัยความสัมพันธ์ที่เคยติดต่อซื้อขายกันมา รับออร์เดอร์ต่อเนื่องแต่มาจากแหล่งผลิตสินค้าอื่น

4. การตรวจสอบสถานะการคงอยู่ของบริษัทจากฐานข้อมูลหน่วยงานพาณิชย์จีน โดยทั่วไปการจดทะเบียนบริษัทในจีนจะขึ้นตรงกับกระทรวงพาณิชย์จีนซึ่งสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ที่กรมพาณิชย์ท้องถิ่น และกรมพาณิชย์ท้องถิ่นในบางพื้นที่สามารถค้นหาข้อมูลของบริษัทโดยจากชื่อบริษัทภาษาจีนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลผลการค้นหาจะระบุหมายเลขทะเบียนพาณิชย์ ชื่อบุคคลผู้เป็นตัวแทนทางกฏหมายของบริษัท(法定代表人)ทุนจดทะเบียน สถานะกิจการของบริษัท แต่ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่แสดงว่าบริษัทชื่อดังกล่าวมีการจดทะเบียนอยู่จริง แต่ยังไม่อาจให้ความชัดเจนในด้านความน่าเชื่อถือด้านอื่นๆ เช่น สถานะความเชื่อถือทางด้านการเงิน การมีที่สถานที่ตั้งดำเนินกิจการอยู่จริง เป็นต้น นอกจากนี้ ในกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีสวมรอยใช้ชื่อบริษัทที่มีตัวตนอยู่จริงมาแอบอ้างเสนอขายสินค้า การเช็คความน่าเชื่อถือจากชื่อบริษัทในฐานข้อมูลกรมพาณิชย์จีนก็อาจไม่พบข้อผิดปรกติให้เป็นที่สังเกตได้ง่ายนัก

5. การขอเอกสารหนังสือรับรองบริษัทจากคู่ค้า ผู้ซื้ออาจสอบถามหาเอกสารทางการค้าที่จำเป็นจากผู้ขายหากไม่แน่ใจว่า บริษัทที่ติดต่อด้วยมีตัวตนจริงหรือไม่ เช่น เอกสารการจดทะเบียนบริษัท เอกสารใบอนุญาตการส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกจีนที่มีความจริงใจและเป็นมืออาชีพย่อมเข้าใจและให้ความร่วมมือในจุดนี้ดี ทั้งนี้ ใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองบริษัทนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลด้วยชื่อบริษัทในฐานข้อมูลกรมพาณิชย์ที่ได้ระบุไปในข้อ 3 ข้างต้น ก็ควรพบข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุตรงกันด้วย เช่น เลขที่บริษัท ชื่อบุคคลผู้เป็นตัวแทนทางกฏหมายของบริษัท ทุนจดทะเบียน เป็นต้น

6. การขอหนังสือรับรองฐานะทางการเงินของคู่ค้า ผู้ซื้ออาจสอบถามคู่ค้าโดยตรงถึงหนังสือรับรองหรือหนังสือรับรองฐานะทางการเงินที่ธนาคารหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเคยออกให้ เพื่อเป็นการคัดกรองบริษัทที่จดทะเบียนตั้งอยู่จริงแต่พร้อมจะปิดตัวลงไปได้ทุกเมื่อเนื่องจากสถานะการเงินที่มีความเสี่ยง การขอให้บริษัทคู้ค้าเองส่งหนังสือเอกสารรับรองทางด้านการเงินนี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งได้

7. การใช้บริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานรัฐบาลจีน ปัจจุบันมีหน่วยงานสังกัดรัฐบาลจีน เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ CCPIT หรือ State Administration for Industry & Commerce of the People’s Republic of China (SAIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศกับจีน ซึ่งมีบริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทจีนโดยมีค่าใช้จ่าย รายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หน่วยงาน คือ www.ccpit.org และ www.saic.gov.cn ได้โดยตรง

8. การเดินทางไปสำรวจความน่าเชื่อถือด้วยตัวเอง แม้ว่าวิธีที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะสามารถทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทได้ในระดับหนึ่ง แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการเดินทางเข้าไปเยี่ยมพบบริษัทผู้ขายด้วยตัวเอง การพิจารณาจากใบอนุญาตหรือใบรับรองมาตรฐานที่คู้ค้าส่งมาให้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งหากเป็นการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงหรือสินค้าที่มีรายละเอียดซับซ้อน หรือสินค้าที่จำเป็นต้องมีมาตรฐานในการผลิต เช่น มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐานด้านกรรมวิธีการผลิต มาตรฐานทางเทคนิคในด้านอุตสาหกรรม ก็ควรมีการเดินทางไปสำรวจคู่ค้าก่อนตกลงซื้อขายจริง

9. ใช้บริการบริษัทตรวจสอบความน่าเชื่อถือ หากไม่สะดวกเดินทางไปเยี่ยมพบผู้ซื้อด้วยตนเอง อาจพิจารณาเลือกบริษัทผู้ให้บริการตรวจสอบที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะตรวจสอบรายละเอียดสินค้าเมื่อผลิตเสร็จว่าถูกต้องตามสเปคหรือไม่เท่านั้น หลายบริษัทยังมีบริการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย หรือ Factory audit ว่าได้รับใบอนุญาต หรือได้รับมาตรฐานถูกต้องตามที่ระบุไว้หรือไม่ นอกจากนี้บางบริษัทยังมีบริการตรวจสอบลึกไปถึงข้อมูลทางการเงินอีกด้วย รายชื่อบริษัทตรวจสอบ (Inspection agent) สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ http://inspection.alibaba.com

นอกจากวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือคู้ค้าวิธีต่างๆที่ได้กล่าวมานี้ การพิจารณาว่าคู่ค้ามีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ อาจสามารถสังเกตได้จากจากเจตนาอันดีที่มีให้เห็นต่อกันในครั้งแรก เช่น ความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลเอกสารต่างๆ เมื่อผู้ซื้อถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท การทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันที่มีการระบุเงื่อนไขเทอมการรับผิดหากเกิดเหตุที่ไม่เป็นไปตามสัญญาอย่างชัดเจน การมีการติดตามเอาใจใส่ในรายละเอียดสเปกสินค้า รูปแบบการขนส่งก่อนการมุ่งเน้นที่การเสนอราคาเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

สำหรับข้อแนะนำเพิ่มเติมด้านการตรวจสอบความน่าเชื่อถือคู่ค้าในจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำข้อมูลวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือคู้ค้าจีนรายใหม่ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ บอกลา “ความกังวล” ด้วยวิธีตรวจเช็ค “ตัวตน” บริษัทในจีน

อ่านคำถามอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน