เปิดม่านกว่างซี: อุตสาหกรรม “ควายนม-นมควาย”

30 Apr 2024

รู้หรือไม่… เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลทางตอนใต้ของจีนถือเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในอุตสาหกรรมควายนม-นมควายของประเทศจีน โดยปี 2566 มูลค่าการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมควายนมของกว่างซีมีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านหยวน

สถิติอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงมีจำนวนควาย 2.35 ล้านตัว เป็นควายนม 46,400 ตัว แม่ควาย 31,300 ตัว ผลผลิตน้ำนมควาย 24,800 ตัน ซึ่งมากที่สุดในประเทศจีน ครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของทั้งประเทศจีน พื้นที่การเลี้ยงควายนมในกว่างซีหลัก ๆ อยู่ที่นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ และเมืองยวี่หลิน

ปัจจุบัน ในกว่างซีมีบริษัทแปรรูปนมควายรายสำคัญมากกว่า 10 ราย ซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ผลิตและแปรรูปนมควายมากที่สุดในจีน อาทิ Royal Group (皇氏集团) Guangxi Baifei (广西百菲) Zhuangniu (壮牛) และ Guiniu (桂牛)

นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นที่ตั้งของ “สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี)” ในสังกัดสภาเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน หรือ Chinese Academy of Agricultural Sciences (中国农业科学院) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับมณฑลเพียงแห่งเดียวของจีนที่มุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยด้านการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ควาย การขยายพันธุ์ควาย โภชนาการสำหรับควาย การวิจัยพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมควาย

เขตฯ กว่างซีจ้วงมีศักยภาพในการผลิต (Supply Capacity) ควายพันธุ์ได้มากที่สุดในจีน โดย “สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี)” มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมควายนมของจีน เป็นที่ตั้งของ “ฐานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ควายพันธุ์ดี” หนึ่งเดียวในจีน (กำลังจะย้ายไปที่อำเภอซั่งซือ เมืองฝางเฉิงก่าง) นอกจากนี้ ยังมี “ศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ควาย” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และ “ฟาร์มเพาะพันธุ์ควาย” (Breeding Stock Farm) ซึ่งกระทรวงเกษตรจีนกำหนดให้เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ระดับชาติ

เขตฯ กว่างซีจ้วงมีการนำเข้าพ่อพันธุ์ควายสายพันธุ์แม่น้ำ (River Type) หรือที่มักเรียกว่า “ควายแขก” ซึ่งเป็นควายที่เน้นให้ผลผลิตน้ำนม อาทิ ควายนมพันธุ์มูร่าห์อินเดีย (Murrah Buffalo) ควายนมพันธุ์นีลี-ราวีปากีสถาน (Nili- Ravi Buffalo) และควายนมพันธุ์เมดิเตอร์เรเนียนอิตาลี (Mediterranean Buffalo)

ผลงานชิ้นโบว์แดงด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ควายนมของศูนย์วิจัยฯ ได้แก่ การเพาะพันธุ์ “ควายนมลูกผสม” ที่เกิดจากนำควายนมสายพันธุ์นอก (พันธุ์มูร่าห์ พันธุ์นีลี-ราวี) ผสมกับควายพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ได้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยในระยะให้นมมากถึง 2,233.1 กิโลกรัม มากกว่าควายสายพันธุ์เดิมที่ให้น้ำนมได้เฉลี่ยราว 1,900 กิโลกรัม

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยฯ ยังมีผลงานวิจัยระดับชั้นนำของโลก อย่างเทคโนโลยีการผลิตตัวอ่อนควายจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย และเทคโนโลยีหลัก (Core Technology) ด้านการแปรรูปนมควายและกำหนดมาตรฐานการแปรรูปนมควาย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 สถาบันวิจัยกระบือ(กว่างซี) ได้เริ่มโครงการก่อสร้าง “ฐานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ควายความร่วมมือนานาชาติอำเภอซั่งซือ” (广西水牛研究所上思县国际合作水牛繁育研究基地项目) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งจะเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ควายแห่งใหม่ที่ย้ายมาจากนครหนาหนิง ใช้เงินลงทุนรวม 350 ล้านหยวน มีเนื้อที่เกือบ 821 ไร่ (1,970.01 หมู่จีน) ประกอบด้วยพื้นที่เลี้ยงควาย พื้นที่การเพาะพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ควาย พื้นที่การวิจัย พื้นที่ผลิตอาหารสัตว์ พื้นที่บำบัดของเสียและมูลสัตว์ เป็นต้น โดยสามารถรองรับควายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ 2,000 ตัว และมีระบบชลประทานและทุ่งหญ้ากว้าง 625 ไร่ (1,500 หมู่จีน)

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ “ฐานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ควายความร่วมมือนานาชาติอำเภอซั่งซือ” จะเป็นฐานการวิจัยการเพาะพันธุ์ควายระดับสากลหนึ่งเดียวในจีน และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละปีช่วยจัดการเศษซากใบอ้อย(ยอดอ้อย)ในพื้นที่ได้ 16,000 ตัน ให้ผลผลิตน้ำนมควายสดได้ 2,000 ตัน ผลิตตัวอ่อนควายนมพันธุ์ดีได้ 20,000 ตัว ผลิตพ่อแม่พันธุ์ควาย 800 ตัว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 12,000 ตัน

facial recognition payment

Nanning_editor2

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน