ZHEJIANG

มณฑลเจ้อเจียง

1. ข้อมูลทั่วไป

– ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

ข้อมูลทั่วไป

  • เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกของจีน
  • มีขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของจีนรองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และชานตง
  • ฮับด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน โดยรัฐบาลท้องถิ่นตั้งเป้าหมายเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในทุกด้านภายในปี 2565 โดยการมีมูลค่าการผลิตด้านดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 13 ของ GDP
  • เป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งอี้อู ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • เป็นที่ตั้งของท่าเรือหนิงโป-โจวซาน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ Maritime Silk Road ของจีน ซึ่งเป็นท่าเรือระดับโลกและมีปริมาณการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 10 ปี

 

ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและทางใต้ของสามเหลี่ยมแม่น้ำฉางเจียง มีพื้นที่ทั้งหมด 101,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเเพียงร้อยละ 1.06 ของประเทศจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลเจียงซูและนครเซี่ยงไฮ้ ทิศตะวันออกเป็นแนวชายฝั่งติดกับทะเลจีนตะวันออก ทิศตะวันตกติดกับมณฑลอันฮุยและเจียงซี และทิศใต้ติดกับมณฑลฝูเจี้ยน

ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ประมาณร้อยละ 70.4 ของพื้นที่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ราบร้อยละ 23.2 และทะเลสาบและแม่น้ำร้อยละ 6.4 พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้สูงกว่าและลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นขั้นบันได ทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นเขตภูเขามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 800 เมตร และมียอดเขาที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 1500 เมตรอยู่จำนวนมาก ตอนกลางของมณฑลมีลักษณะเป็นภูเขาเล็กๆ และมีพื้นที่ราบบางส่วนกระจายอยู่ระหว่างตีนเขา มณฑลเจ้อเจียงมีชายฝั่งทะเลที่ยาวที่สุดในประเทศ 6,486 กิโลเมตร และเป็นมณฑลที่มีเกาะมากที่สุดในประเทศ มีพื้นที่สามารถเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลน้ำตื้นได้กว่า 400 ตารางกิโลเมตร

– ข้อมูลประชากร

มณฑลเจ้อเจียงมีจำนวนประชากรประมาณ 57.37 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชนชาติฮั่น (99.2% ของประชากรทั้งหมดในมณฑล)

– สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของมณฑลเจ้อเจียงเป็นแบบมรสุมเขตร้อน มีแดดเกือบตลอดทั้งปี และแบ่งได้เป็น 4 ฤดูกาลชัดเจน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 15–18 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกที่สุดในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี

– ทรัพยากรสำคัญ

มณฑลเจ้อเจียงอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรสินแร่สำคัญที่ไม่ใช่โลหะ 12 ชนิด และมีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เช่น ถ่านหิน สารส้ม เถ้าภูเขาไฟใช้ในงานก่อสร้างและงานปูน แร่ฟลูโอไรท์ ดินสาหร่ายเปลือกแข็ง เป็นต้น

– ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

มณฑลเจ้อเจียงมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่สมัย 50,000 ปีที่แล้ว โดยพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เป็นซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างในสมัยยุคหินใหม่ภายในเขตมณฑลเจ้อเจียงกว่า 100 แห่ง ประกอบด้วยอารยธรรมเห่อหมู่ตู้(河姆渡)ในยุค 7,000 ปีก่อน อารยธรรมหม่าเจียปัง(马家浜)ในยุค 6,000 ปีก่อน และอารยธรรมเหลียงจู่(良渚)ในยุค 5,000 ปีก่อน นอกจากนี้ หางโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียงยังจัดเป็น 1 ใน 7 เมืองหลวงเก่าของจีนในสมัยราชวงศ์หนานซ่งอีกด้วย

ในปัจจุบัน มณฑลเจ้อเจียงได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เมืองผ้าไหมและเมืองแห่งวัฒนธรรม มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ตงจิ้นที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจแพร่ขยายมาทางตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้เศรษฐกิจของมณฑลเจ้อเจียงเติบโตและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

2. ข้อมูลด้านการปกครอง

– การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลเจ้อเจียงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เมือง ได้แก่ หางโจว(杭州)หนิงโป(宁波)เวินโจว(温州)หูโจว(湖州)เจียซิง(嘉兴)เส้าซิง(绍兴)จินหัว(金华)ฉวีโจว(衢州)โจวซาน(舟山)ไถโจว(台州)และลี่สุ่ย(丽水) โดยมีนครหางโจวเป็นเมืองเอก

3. ผู้บริหารฝ่ายการเมือง

นายเชอ จวิ้น
(Mr. Che Jun)

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ รับตำแหน่ง : มิถุนายน ค.ศ. 2016
ประธานสภาผู้แทนประชาชน รับตำแหน่ง : กรกฎาคม ค.ศ. 2017

นายหยวน เจียจวิน
(Mr. Yuan Jiajun)

ผู้ว่าราชการมณฑล รับตำแหน่ง : กรกฎาคม ค.ศ. 2017

นางเก๋อ ฮุ่ยจวิน
(Mrs. Ge Huijun)

ประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง รับตำแหน่ง : มกราคม ค.ศ. 2018

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญ

1. นครหางโจว(杭州)

  • มีพื้นที่ 16,596 ตร.กม. เป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน โดยหางโจวได้รับยกย่องว่าเป็น 1 ใน 7 เมืองเก่าแก่ที่สำคัญของจีน อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ทะเลสาบซีหู วัดหลิงหยิ่น ยอดเขาเฟยไหลเฟิง เป็นต้น

    นครหางโจวเป็นเมืองที่มีสภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจดีติด 1 ใน 10 เมืองของจีน และเป็นเมืองที่มีกำลังการบริโภคสูงที่สุดในมณฑลเจ้อเจียง โดยมีความโดดเด่นทางอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน อาทิ การสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน ธุรกิจ e-commerce ซอฟแวร์ข้อมูล การผลิตอุปกรณ์ทันสมัย และพลังงานใหม่ เป็นต้น

2. เมืองหนิงโป(宁波

มีพื้นที่ 9,816 ตร.กม. เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 7,000 ปี โดยเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมเหอหมู่ตู้ (河姆渡文化) ในสมัยยุคหินใหม่ และเป็นเมืองการค้าและเมืองท่าที่สำคัญของจีนตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา

หนิงโปเป็นเมืองที่มีศักยภาพเป็นแหล่งกระจายสินค้าในเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมที่มีเส้นทางคมนาคมสายใหม่พาดผ่าน ซึ่งมีเครือข่ายการระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาซที่สมบูรณ์ อีกทั้งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกระดับ 18 เมตร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญของจีน และเป็นท่าเรือแห่งที่ 7 ของจีนที่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ (ต่อจากท่าเรือกวางโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ชิงเต่า และหนานจิง)

3. เมืองอี้อู(义乌)

มีพื้นที่ 1,105 ตร.กม. ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในมณฑลเจ้อเจียงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยได้พัฒนาอุตสาหกรรมทางการค้าอย่างเป็นระบบ และให้ความสำคัญกับการค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย

อี้อูเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของมณฑลเจ้อเจียง โดยเป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งขนาดใหญ่หลากหลายประเภท อาทิ ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งภายในบริเวณเดียวกันมีตลาดค้าส่งต้นไม้-ดอกไม้ ตลาดค้าส่งข้าวสาร ตลาดค้าส่งผลไม้ และตลาดค้าส่งสินค้าสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายสินค้าไทยด้วย

4. เมืองเวินโจว(温州)

มีพื้นที่ 11,784 ตร.กม. เป็นเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของมณฑลเจ้อเจียง และอยู่ใกล้กับมณฑลฝูเจี้ยน เวินโจวเป็นเมืองที่ธุรกิจภาคเอกชนมีศักยภาพเข้มแข็งระดับแนวหน้าของจีน โดยได้รับคัดเลือกให้เป็น “เมืองนำร่องการทดลองปฏิรูประบบการเงินแบบบูรณาการ” ของประเทศ

เมืองเวินโจวเป็นหนึ่งในพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญของจีน โดยอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเวินโจว ได้แก่ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตรองเท้า การผลิตอุปกรณ์ทั่วไป การผลิตพลาสติก การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตอุปกรณ์การคมนาคมขนส่ง การผลิตวัตถุดิบทางเคมีและเคมีภัณฑ์ การผลิตโลหะ เป็นต้น

5. เมืองเส้าซิง(绍兴)

มีพื้นที่ 8,279 ตร.กม. โดยเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันของจีน เส้าซิงเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การเงิน โลจิสติกส์ เป็นพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของมณฑลเจ้อเจียงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย

เส้าซิงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นเมืองแม่แบบด้านวิศวกรรมสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีที่สำคัญระดับประเทศ และเป็นพื้นที่ด้านการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่สำคัญของมณฑลเจ้อเจียง โดยมีอุตสาหกรรมหลัก อาทิ การผลิตอุปกรณ์ทันสมัย วัสดุใหม่ ยาชีวภาพ พลังงานใหม่ ข้อมูลสารสนเทศสมัยใหม่ การประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

6. เมืองไถโจว(台州)

มีพื้นที่ 9,411 ตร.กม. เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมทะเลตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียง โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางของเมืองหนิงโป (ทิศเหนือ) และเมืองเวินโจว (ทิศใต้) ซึ่งมีเส้นทางรถไฟและเส้นทางด่วนเชื่อมต่อทั้ง 3 เมือง และสามารถเชื่อมต่อกับเซี่ยงไฮ้ได้โดยผ่านเมืองหนิงโป

เมืองไถโจวมีวิสหากิจภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 97 ของภาคเศรษฐกิจทั้งหมดของเมือง โดยเมืองไถโจวเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญหลากประเภท เช่น รถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาจีน ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลไม้ประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์ประมง และงานศิลปะหัตถกรรม เป็นต้น

เขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ

เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีหนิงโป (Ningbo Economic & Technical Development Zone (NETD) -NETD

ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้สร้างขึ้นในปี 2527 มีพื้นที่ทั้งหมด 29.6 ตร.กม. เป็นเขตพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออกของจีน และเป็นหนึ่งในห้าของเขตพัฒนาที่ได้รับการประเมินว่ามีบรรยากาศการลงทุนที่ดีที่สุดโดยกระทรวงการค้า และความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จนถึงปลายปี 2549 ได้มีโครงการการลงทุนจากต่างประเทศ 1,511 โครงการจาก 46 ประเทศ มีสัญญาการลงทุน 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการลงทุนแล้ว 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย NETD มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ทั้งนี้ มีจำนวน 23 โครงการการลงทุนที่เป็นโครงการภายในประเทศ 354 โครงการที่ได้รับอนุมัติสิทธิบัตร และ 44 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป NETD มีเป้าหมายที่จะเป็นชิ้นส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในจีนตะวันออก การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค และการเป็นเมืองริมทะเลที่ทันสมัย

1. Ningbo Export Processing Zone (NEPZ)

NEPZ ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้สร้างเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542 มีพื้นที่ 3 ตร.กม. เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีนโยบายพิเศษอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการออกสินค้าในการเข้า-ออกเมือง นอกจากนี้ยังมีนโยบายพิเศษในการยกเว้นภาษี ภาษีผูกมัด และภาษีซื้อร้อยละ 0 ในการซื้อของ ดำเนินการ และการส่งออก โดย NEPZ จะให้บริการแจ้ง / ทดสอบ / ตรวจสอบ ตลอด 24 ชม. โดยเมื่อปลายปี 2548 มีสินค้า 37 ชนิดที่ผ่านกระบวนการใน NEPZ มีมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการใช้จ่ายจริง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการริเริ่มก่อสร้างรูปแบบในเบื้องต้นของห่วงโซ่อุตสาหกรรมในด้านข้อมูล อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน โดยมีบริษัท Qimei Electron เป็นผู้นำ

2. Ningbo Bonded Logistics Zone(NBLZ)

NBLZ ตั้งอยู่ในเฟสที่ 4 ของทางออกคอนเทนเนอร์ในท่าเรือหนิงโป โดยเมื่อ ส.ค. 2547 รัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างขึ้นในพื้นที่ 0.95 ตร.กม. NBLZ ได้รับสิทธิพิเศษและนโยบายพิเศษเช่นเดียวกับ Free Trade Zone นอกจากนี้ หน้าที่หลักของ NBLZ ได้แก่ การเป็น international transit, global sourcing, entrepot trade (การค้าระหว่างท่าเรือที่ได้รับการยกเว้นภาษี), และ international delivery ภาษีนำเข้า-ส่งออก เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดให้กับ NEPZ สินค้าที่ผลิตภายในประเทศหากเข้า NBLZ ก็จะได้รับการปฏิบัติเช่นสินค้าส่งออกที่จะต้องแจ้งที่ด่านตรวจสินค้าเสียภาษีและสามารถขอคืนภาษีได้ สินค้าใน NBLZ ที่จะกระจายไปยังตลาดภายในประเทศต้องแจ้งเช่นเดียวกับสินค้านำเข้า โดยจะต้องกำหนดสถานะไปตามประเภทของสินค้า ในขณะที่การหมุนเวียนของสินค้าภายใน NBLZ เป็นไปอย่างเสรี บริษัทที่ตั้งอยู่ใน NBLZ จะสามารถจัดหาตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศได้ และสามารถดำเนินการค้าเช่น การเป็นโกดังเก็บสินค้า การหมุนเวียนและการแปรรูป การบริการส่งถึงบ้าน การส่งผ่านการ entrepot trade ภายใน NBLZ

3. The Daxie Island Development Zone (DIDZ)

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอ New Beilun ของหนิงโปในบริเวณพื้นที่ 30.84 ตร.กม. รัฐบาลได้อนุมัติให้ China International Trust & Investment Cooperation (CITIC) ดำเนินนโยบายยกระดับให้เกาะ Daxie เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับชาติ ภายหลังการพัฒนา 12 ปี โครงสร้างพื้นฐานในเกาะ Daxie ได้ยกระดับขึ้นมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม photoelectron , กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มบริษัทโกดังและโลจิสติกส์ เป็นต้น และ DIDZ ได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และการจัดนิทรรศการสมัยใหม่ของภูมิภาค และเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาไฮเทคบริเวณแม่น้ำฉางเจียง และยังเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออก

4. Ningbo Hi-Tech Park (NHPT)

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหนิงโป เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเมือง สร้างเสร็จเมื่อ ก.ค. 2541 ในพื้นที่ 18.9 ตร.กม. เป็นเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งแรกของมณฑลเจ้อเจียง และได้รับการอนุมัติจาก National Torch Plan ในด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นเขตสาธิตวงจรนิเวศวิทยาในเขตเทคโนโลยีเทคโนโลยีชั้นสูงโดยได้รับ ISO 14000 ในระดับมณฑล NHPT มีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยกว่า 120 หน่วยงาน และมีบริษัทกว่า 420 บริษัท โดยมีผู้เชี่ยวชาญถึง 12,000 คน ผลผลิตโดยรวมปี 2548 มูลค่า 3.35 พันล้านดอลลาร์หยวน และมูลค่าผลผลิตจากโรงงานมีถึง 8.1 พันล้านหยวน ภายใต้แผน 5 ปีฉบับที่ 11 NHTP จะเป็นส่วนสำคัญของ “การประดิษฐ์ การสำรวจ และการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม” โดยจะเร่งพัฒนาร่วมกับวิทยาศาสตร์และการวิจัย รวมทั้งยกระดับคุณภาพของผู้เชี่ยวชาญและโรงงานเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของมณฑลเจ้อเจียง และเป็นเขตชั้นนำของการประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งเป็นเขตสาธิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของหนิงโป

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

1. เส้นทางหลวง

เส้นทางหลวงสำคัญในมณฑลเจ้อเจียงประกอบด้วยทางหลวงระดับประเทศ 6 สาย และทางหลวงเขตมณฑล 66 สาย รวมระยะทาง 46,193 กิโลเมตร โดยเป็นทางด่วน 770 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญในเขตเศรษฐกิจฉางเจียง เช่น เซี่ยงไฮ้ หางโจว หนิงโป ไถโจว เวินโจว จินหัว หนานจิง เป็นต้น ซึ่งสามารถเดินทางถึงกันได้ภายใน 4 ชั่วโมง

2. สะพานข้ามอ่าวหางโจว(杭州湾跨海大桥

เป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งมีระยะทาง 36 กิโลเมตร ส่วนเหนือของสะพานเริ่มต้นที่เมืองเจียซิง(嘉兴)และเมืองจ้าผู่(乍浦)ของมณฑลเจ้อเจียงพาดผ่านอ่าวหางโจวไปบรรจบกับส่วนใต้ของสะพานที่เมืองฉือซี(慈溪)ในเมืองหนิงโปของมณฑลเจ้อเจียง สะพานแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน พ.ย. 2546 และเปิดใช้บริการในวันที่ 1 พ.ค. 2551 ซึ่งมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี เกียงทั้งภาคการผลิต การขนส่ง และการท่องเที่ยว

3. เส้นทางรถไฟ

ชุมทางเส้นทางรถไฟของมณฑลเจ้อเจียงอยู่ที่นครหางโจว มีเส้นทางรถไฟสายสำคัญ 3 สาย เชื่อมต่อนครหางโจวกับ 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซี และเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง นอกจากนี้มีเส้นทางย่อยอีก 2สาย คือ สายหางโจว-ซวนเฉิง มณฑลอันฮุย และ สาย จินหัว-เวินโจว รวมระยะทาง 1,185 กิโลเมตร ปัจจุบัน รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงได้ดำเนินแผนพัฒนาเครือข่ายเส้นทางรถไฟดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในปี 2547 ได้เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 3 สาย เช่น สายเวินโจว-ฝูโจว ระยะทาง 321 กิโลเมตร และได้ดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าลงในรางรถไฟสายเจียงซี มูลค่า 9 พันล้านหยวน ซึ่งแลัวเสร็จในปี 2548

เส้นทางทางน้ำ

เนื่องจากมณฑลเจ้อเจียงเป็นมณฑลติดชายฝั่งทะเลที่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดในจีน มณฑลเจ้อเจียงจึงมีการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ 10,539 กิโลเมตร จัดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีท่าเรือ 105 แห่ง มีการขนถ่ายสินค้า 210 ล้านตัน ท่าเรือที่สำคัญโดยเฉพาะใน 5 เมือง ได้แก่ ท่าเรือ หนิงโป โจวซาน จ้าผู่ ไห่เหมิน และเวินโจว ซึ่งมีท่าเทียบเรือที่สามารถรับรองการขนถ่ายสินค้าน้ำหนัก 10,000 ตันขึ้นไปถึง 44 จุด สามารถขนถ่ายสินค้าได้ถึง 270 ล้านตันต่อปี และยังมีเส้นทางเดินเรือเชื่อมต่อกับท่าเรือใหญ่ 400 แห่ง ในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น ปัจจุบัน ท่าเรือหนิงโปถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในประเทศ สามารถรับรองการขนถ่ายสินค้าได้สูงสุดถึง 300,000 ตัน รองลงมาคือ ท่าเรือโจวซานเอ้าซัน ในเมืองโจวซาน ซึ่งได้ มาตรฐานท่าเรือ ใหญ่ระดับประเทศ สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าของเรือบรรทุกน้ำมัน 250,000 ตัน มณฑลเจ้อเจียงและนครเซี่ยงไฮ้ยังได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ชื่อว่า ท่าเรือหยางซาน โดยตั้งอยู่บริเวณเกาะเล็กๆ 2 เกาะ ในหมู่เกาะในอ่าวหางโจว ด้วยความลึก 15 เมตร มีท่าเทียบเรือกว่า 50 แห่ง สามารถรองรับปริมาณสินค้าขนส่งรวม 25ล้านทีอียู ต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 สำหรับการก่อสร้างระยะที่หนึ่งสามารถเปิดให้บริการได้แล้ว ในปลายปี 2548 ซึ่งสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 8,000 ทีอียู ได้ มูลค่าการลงทุน 14.3 พันล้านหยวน

1. ท่าเรือหนิงโป(宁波港)

ท่าเรือหนิงโปมีระดับความลึกของน้ำที่ 18 เมตร มีปริมาณขนถ่ายสินค้าและขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์สูงเป็นอันดับแนวหน้าของจีนที่ 2 ของจีน โดยสินค้าหลักที่มีการขนถ่ายผ่านท่าเรืองหนิงโป ได้แก่ น้ำมันดิบ แร่หิน และถ่านหิน เป็นต้น โดยเป็นท่าเรือแห่งที่ 7 ของจีนที่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ (ต่อจากท่าเรือกวางโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ชิงเต่า และหนานจิง)

2. ท่าเรือเป่ยหลุน(北仑港)

ท่าเรือเป่ยหลุนเป็นหนึ่งในท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีระดับความลึกของน้ำที่ 17 เมตร โอบล้อมด้วยทะเลทั้ง 3 ด้าน โดยด้านเหนือติดกับอ่าวหางโจว ทางใต้ติดกับอ่าวเซียงซาน และทางตะวันตกติดกับเขตเมืองหยินโจว เกาะเล็กๆ ของโจวซานที่อยู่ใกล้กับบริเวณหาดเป่ยหลุน ช่วยปกป้องท่าเรือจากลมพายุ

เส้นทางทางอากาศ

มณฑลเจ้อเจียงมีท่าอากาศยานสำคัญ 7 แห่งในเมืองใหญ่ ได้แก่ นครหางโจว หนิงโป เวินโจว หวงเหยียน อี้อู โจวซาน และ ฉวีโจว ให้บริการเส้นทางบินทั้งในและระหว่างประเทศ 174 เส้นทาง รวมทั้ง ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และไทย

เส้นทางการบินระหว่างมณฑลเจ้อเจียง – ไทย

1) เที่ยวบินหางโจว – กรุงเทพฯ (ไป-กลับ) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 22 เที่ยวบิน จากสายการบิน 2 บริษัท คือ Air Asia (FD) และ China Eastern Airlines (MU)2) เที่ยวบินหางโจว – ภูเก็ต (ไป –กลับ) มีเที่ยวบินในทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ซึ่งเป็นเที่ยวบินของบริษัท China Eastern Airlines (MU) เที่ยวบินที่ MU7419

เศรษฐกิจ

ภาพรวมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ/ นโยบายที่สำคัญของมณฑลเจ้อเจียง

ข้อมูลเศรษฐกิจปี 2561 

GDP – USD 8.36 แสนล้าน หรือ 5.61 ล้านล้านหยวน (+7.1%)

GDP per Capita – USD 14,907 (98,643 หยวน)
CPI – 2.3%
การค้ากับต่างประเทศ – USD 4.24 แสนล้าน (2.85 หยวน)
มูลค่าการนำเข้า – USD 1.09 แสนล้าน หรือ 7.33 ล้านล้านหยวน (+19.0%) โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พลาสติก แร่เหล็ก เศษโลหะ น้ำมัน และตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

มูลค่าการส่งออก – USD 3.15 แสนล้าน หรือ 2.11 ล้านล้านหยวน (+9.0%) โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าที่ใช้แรงงานเป็นหลัก สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อาเซียนญี่ปุ่น รัสเซีย

การค้ากับไทย – USD 4,255.65 ล้าน (+1.83%) โดยเจ้อเจียงนำเข้าสินค้าจากไทย USD 1,401.15 ล้าน (+28.83%) และส่งออกไปไทย USD 2,854.50 ล้าน (-7.67%) ไทยเสียดุลการค้า USD -1,453.36 ล้าน

สินค้านำเข้าจากไทย – (1) พลาสติก (2) ยางพารา (3) เคมีภัณฑ์อินทรีย์ (4) แป้ง/อินูลิน (inulin) (5) เครื่องจักรกลไฟฟ้า

สินค้าส่งออกไปไทย – (1) เครื่องจักรกล (2) เครื่องจักรกลไฟฟ้า (3) พลาสติก (4) ปลา/ผลิตภัณฑ์ทางทะเล (5) เฟอร์นิเจอร์และเตียงนอน

ภาพรวมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ/ นโยบายที่สำคัญของมณฑลเจ้อเจียง

  1. ภาพรวมมณฑลเจ้อเจียง

1.1 มลฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน เป็นมณฑลชายฝั่งทะเลที่มีความร่ำรวยและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และชานตง) ปัจจุบันมีประชากร 57 ล้านคน มีนครหางโจวเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม ดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะของจีน โดยเป็นที่ตั้งของ Alibaba Group ธุรกิจ E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ตั้งเป้าหมายเป็นเส้นทางสายไหมด้านดิจิทัลของจีนและ
มีมูลค่าการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน 13,000 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2562 จัดสรรหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม 16,000 ตัว ผลักดันการประยุกต์ใช้ Big Data/ Cloud Computing/ AI ในภาคอุตสาหกรรม และจะใช้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครบทุกด้านภายในปี 2565

1.2 มีขนาด GDP 5.61 ล้านล้านหยวน (8.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 7.1 และมี GDP ต่อหัว

ของประชากร 98,643 หยวน (14,907 ดอลลาร์สหรัฐ) มีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 2.85 ล้านล้านหยวน (4.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นที่ตั้งของตลาดค้าส่งอี้อู ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่ตั้งของท่าเรือหนิงโป-โจวซาน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ Maritime Silk Road ของจีน ซึ่งเป็นท่าเรือระดับโลกและมีปริมาณการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 10 ปี  เจ้อเจียงยังมีบทบาทด้านการต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำ G20 ครั้งที่ 11 ที่นครหางโจวเมื่อปี 2559 และการประชุม World Internet Conference ที่เมืองอูเจิ้นในทุกปีตั้งแต่ปี 2557 และจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ในปี 2565 ที่นครหางโจว

  1. ผลการดำเนินงานสำคัญของรัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงในปี 2561

    2.1 ผลักดันการปฏิวัติในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของภาคเอกชน อาทิ ริเริ่มนโยบาย “ดำเนินเรื่องเพียงหนึ่งครั้ง” ซึ่งลดขั้นตอนการติดต่อและดำเนินงานที่ภาคเอกชนจะได้รับจากภาครัฐ โดยร้อยละ 100 สามารถยื่นขออนุมัติได้ผ่านหน้าเว็บไซต์ของทางการ และร้อยละ 63.6 สามารถยื่นขออนุมัติโดยใช้หลักฐานเพียงชนิดเดียว ลดเวลาอนุมัติเอกสารเหลือเพียง 4 วันทำการ ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มีการทดลองเขตท่าเรือเสรี
มีการส่งมอบเครื่องบินโบอิ้งลำแรกที่ผลิตในโรงงานของบริษัทโบอิ้งแห่งใหม่เมืองโจวซาน (Zhoushan) และ
มีมูลค่าการค้าผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวร้อยละ 35

2.2 ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม ผลักดันโครงการเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น “โครงการหมายเลขหนึ่ง” ของรัฐบาลโดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านดิจิทัลในทุก ๆ ด้านให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยการผลิตในหมวดเศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่าการเติบโตร้อยละ 13.1 มีโรงงานและสายพานการผลิตไร้มนุษย์เกิดขึ้นใหม่จำนวน 66 แห่ง มีกิจการระบบ Cloud เกิดใหม่กว่า 120,000 แห่ง ปรับสัดส่วนการลงทุนในด้านต่าง ๆ ให้สมดุล โดยมีโครงการเกิดใหม่ในมณฑลเจ้อเจียงจำนวน 326 โครงการ แบ่งเป็นลงทุนในโครงการคมนาคมขนส่งร้อยละ 25.8 ลงทุนในโครงการเทคโนโลยีระดับสูงร้อยละ 22.6 และการลงทุนในภาคเอกชนร้อยละ 17.8

    2.3 ผลักดันโครงการก่อสร้างที่สำคัญภายในเมือง ครอบคลุมการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค อาทิ ระบบคมนาคมอัจฉริยะ และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวหางโจว โดยมูลค่าเศรษฐกิจ
นครหางโจวขยายตัวมากถึง 1.35 ล้านล้านหยวน และหนิงโปขยายตัวมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยมีนักท่องเที่ยวมากถึง 690 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
1 ล้านล้านหยวน

  1. นโยบายสำคัญของรัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงในปี 2562

    3.1 ส่งเสริมการเติบโตอย่างมั่นคงของกิจการภาคเอกชน ตั้งเป้าหมาย GDP ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ
ออกนโยบาย “บัญชีขาว” เพื่อช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาผ่านมาตรการทางลดภาษีและลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่ไม่จำเป็นของภาคเอกชน โดยคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้มากกว่า 1.5 แสนล้านหยวน
ต่อปี พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างแพลตฟอร์มการค้าระหว่างประเทศที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น พัฒนาระบบการค้าออนไลน์ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ BRI

    3.2 ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิตที่มีคุณภาพ มีมูลค่าการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ 2.6
ของ GDP ขยายตัวร้อยละ 12 ผลักดันโครงการ “Zhejiang Made” เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์
ของผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าแบรนด์คุณภาพใหม่ 300 กิจการ จัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล 1 หมื่นล้านหยวน สร้างเขตดิจิทัล 100 แห่ง และผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวร้อยละ 15 ประยุกต์ใช้ IoT/ Big Data/ Cloud Computing/ 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ cybersecurity รถยนต์พลังงานใหม่ กิจการสิ่งทอ การแพทย์ อุตสาหกรรม
การบิน มีโครงการอัจฉริยะ 5,000 โครงการ เพิ่มหุ่นยนต์อัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิต 1.7 หมื่นตัว

    3.3 ส่งเสริมนโยบายการพัฒนาของชาติ พัฒนาเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ส่งเสริมการเปิดกว้างทางการค้า เศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจการภาคเอกชน สนับสนุนเมืองเจียซิง (Jiaxing) ในทุก ๆ ด้านให้รองรับการพัฒนาจากนครเซี่ยงไฮ้ ยกระดับสาธารณูปโภคเขตหมู่เกาะโจวซาน รวมมือในการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม G60 (มีชื่อตามเส้นทางหลวง G60 เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามเส้นทางหลวง 9 เมืองหลักทางทิศตะวันออกของจีน โดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู อานฮุย ร่วมกันประกาศ “ปฏิญญาซงเจียง G60 Science & Technology Innovation Valley”)

    3.4 ส่งเสริมโครงการ “4 การก่อสร้างสำคัญ” พัฒนา “กลุ่มเมืองทั้งห้า” ประกอบไปด้วยเมืองหูโจว (Huzhou) เจียซิง (Jiaxing) เส้าซิง (Shaoxing) หวงซาน (Huangshan) และฉวีโจว (Quzhou)  ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีให้เป็นกลุ่มเมืองระดับโลก ส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวหางโจว พัฒนาสวนสาธารณะ การคมนาคม และพัฒนาเมือง พร้อมทั้งสนับสนุนเขตหนิงโปโจวซาน เจียซิง และหูโจวให้เป็นเขต “อ่าวดิจิทัล” ที่สำคัญในอนาคต พัฒนาสวนสาธารณะให้สวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยว พัฒนา Transportation Hub โดยเน้นย้ำระบบคมนาคมแบบ “1 ชั่วโมง” ในการเดินทางภายในมณฑลเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง

 

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์สำหรับส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ 9 สาขา ได้แก่

  • อุตสาหกรรมชีวเคมี เน้นการพัฒนายาชีวภาพ ยาจีนแผนปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชีวเคมีสำหรับการเกษตรปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายทางชีวเคมี และโครงการแพทย์ศาสตร์ทางชีวเคมี เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมเครือข่ายโทรคมนาคม เน้นการพัฒนา Wireless Sensor Networks (WSN) การบริหารข้อมูล/การส่งต่อเครือข่าย การพัฒนาซอฟท์แวร์/Systems and Integration Standardization และให้บริการ Tele-networking
  • อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เน้นการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังงานลม ไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนจากแสง การใช้พลังงานชีวมวล และอุปกรณ์ผลิตกระไฟฟ้าจากคลื่นทะเล (Tidal Power) เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ เน้นการพัฒนาวัสดุข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุโลหะรูปแบบใหม่/วัสดุอโลหะสารอนินทรีย์ วัสดุทางเคมีรูปแบบใหม่ และวัสดุสิ่งทอรูปแบบใหม่
  • อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฮเทค เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ
  • อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นการนำพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์แสงไฟคุณภาพสูง ตลอดจนการควบคุมคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และการควบคุมการปล่อยมลพิษ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมใหม่ทางทะเล เน้นการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเกี่ยวกับโครงการวิศวกรรมทางทะเล การผลิตเรือด้วยเทคโนโลยีระดับสูง การแปรรูปน้ำเค็มเป็นน้ำจืด การผลิตยาจากสิ่งมีชีวิตในทะเล บริการบุกเบิกเส้นทางการเดินเรือและโลจิสติกส์ทางทะเล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาชิ้นส่วนอะไหล่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เน้นการผลิตอุปกรณ์ด้านไฟฟ้านิวเคลียร์ งานบริการบำรุงรักษาการใช้งานไฟฟ้านิวเคลียร์ และงานบริการวิจัยเทคโนโลยีไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น

ภาพรวมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ/ นโยบายที่สำคัญของหางโจว

  • นครหางโจว (Hangzhou) เป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของจีน และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ Alibaba Group หนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำ G20 ครั้งที่ 11 เมื่อเดือน ก.ย. 2559 และจะเป็นเมืองเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ในปี 2565
  • นครหางโจวมีประชากร 9.81 ล้านคน มีพื้นที่ 16,596 ตร.กม. มีที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง โดยในปี 2561 หางโจวมี GDP 1.35 ล้านล้านหยวน (2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากปีก่อนหน้า และมี GDP ต่อหัว 140,180 หยวน (21,184 ดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการค้าต่างประเทศ 5.25 แสนล้านหยวน (7.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ เศรษฐกิจนครหางโจวมีขนาดใหญ่อันดับ 4 เมื่อเทียบกับเมืองหลวงของมณฑลต่าง ๆ ของจีน (รองจากกว่างโจว เฉิงตู และอู่ฮั่น)
  • การประชุมสภาผู้แทนประชาชนหางโจวครั้งที่ 13 เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ตั้งเป้าหมายการทำงานรัฐบาลนครหางโจว ในปี 2561 อาทิ การปฏิวัติโครงสร้างภาษีเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีสูงที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีมากกว่า 1,600 บริษัท ปฏิรูประบบราชการที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการทำงาน ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 4 ของสนามบินเซียวซาน (Xiaoshan International Airport) การก่อสร้างรถไฟใต้ดิน การพัฒนาเขตชนบท โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเขตชนบทที่สมบูรณ์แบบใหม่ 70 แห่ง เขตท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ 40 แห่ง ยกระดับชีวิตและสร้างโอกาสในการทำงานให้แก่ประชาชนในชนบท
  • นครหางโจวส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 รวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านนโยบาย เช่น ให้แรงจูงใจด้านภาษีแก่บริษัทที่ลงทุนในอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนา นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้สำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการกู้ยืมเงินหยวน รวมไปถึงส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมในหลายด้าน อาทิ การศึกษา การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตเครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบใหม่
  • นครหางโจวตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเส้นทางสายไหมด้านดิจิทัลของจีน มีมูลค่าการค้า E-Commerce ข้ามพรมแดน 13,000 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2562 ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ช่วยขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในนครหางโจว อาทิ การประยุกต์ใช้ Big Data/ Cloud Computing/ E-Commerce ทำเกิดบริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลของจีนเพิ่มเติม อาทิ Ant Financial (เทคโนโลยีการเงิน) NetEase (IT) Hikvision (กล้องวงจรปิด) และ H3C (ICT ดิจิทัล)
  • ในการประชุม Yunqi Cloud Computing Conference ที่จัดขึ้นโดยเครืออาลีบาบาเมื่อเดิือน ก.ย. 2561 รัฐบาล นครหางโจว ร่วมกับอาลีบาบาได้ร่วมกันเปิดตัว Hangzhou City Brain 0 หรือสมองของเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจราจรในเมืองหางโจวโดยนำ Big Data ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมือง อาทิ การดับเพลิง การจัดการทิวทัศน์ของเมือง การจราจร การท่องเที่ยว และระบบตรวจสอบสินเชื่อ
  • นครหางโจวได้เริ่มเตรียมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ในปี 2565 ซึ่งนับเป็นเมืองที่ 3 ต่อจาก กรุงปักกิ่ง และนครกว่างโจวที่ได้จัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ โดยได้ริิเริ่มดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมในหลายด้าน
    อาทิ การปรับปรุงศูนย์การกีฬาเขตเซียวซาน (Xiaoshan District Sport Center) โดยใช้งบประมาณ 430 ล้านหยวน การสร้างหมู่บ้านนักกีฬาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทางรางเพิ่ม 400 กม. โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นเวทีแสดงศักยภาพของนครหางโจวต่อประชาคมโลก
กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน