MUNICIPALITY OF CHONGQING

มหานครฉงชิ่ง

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งและพื้นที่

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ระหว่างลองจิจูดที่ 105º17′ – 110º11′ ตะวันออกและละติจูดที่ 28º10′ – 32º13′ เหนือ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 82,402 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นพื้นที่สูง ภูมิประเทศศเป็นเนินเขาและภูเขาเป็นหลัก ยังมีบริเวณแอ่งกระทะ นอกจากนี้ บริเวณระหว่างภูเขามีที่ราบเหลียงผิง ที่ราบซิ่วซัน และแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจียหลิง แม่น้ำวูเจียง แม่น้ำฉี และมีแม่น้ำแยงซีเกียงไหลผ่านจากทางตะวันตกไปทางตะวันออกของนครฉงชิ่ง ไหลลงสู่ทะเลจีนตะวันออก นครฉงชิ่งมีพื้นที่ติดกับมณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนานทางด้านทิศตะวันออก มณฑลกุ้ยโจวทางด้านทิศใต้ มณฑลเสฉวนทางทิศตะวันตก และมณฑลส่านซีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับที่ตั้งของมหานครฉงชิ่ง จัดเป็นบริเวณสำคัญสำหรับรัฐบาลจีนในการดำเนินแผนการ “Great West Development” ในการที่จะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนกลางและภูมิภาคตะวันตกของประเทศ

ประชากร

มีจำนวนประชากรประมาณ 31.4423 ล้านคน ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 22,968 หยวนต่อปี (2555) ประชากรประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยจำนวน 49 ชนชาติ คิดเป็นจำนวน 1.75 ล้านคน หรือ 5.6% ของประชากรในนครฉงชิ่ง ซึ่งประกอบด้วยชาว ถูเจีย แม้ว ฮุย หยี ทิเบต เย้า หม่าน จ้วง เชียง มองโกล ลีซอ แมนจู น่าซี ไป๋ ไต ปูยี ตง อุยกูร์ เกาหลี ฮานิ อี้เหลา และว้า

ภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศเป็นแบบเขตกึ่งร้อนชื้น (Sub-tropical) อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส และในฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 6-8 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ 27-29 องศาเซลเซียส มีปริมาณแสงแดดประมาณ 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี และปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000-1,400 มม.ต่อปี โดยที่ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันระหว่างหุบเขาทำให้ลักษณะอากาศเป็นอากาศแบบปิด กล่าวคือ เมื่อมีการปล่อยควันออกจากโรงงานหรือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ควันต่างๆ จะวนเวียนอยู่ในช่วงหุบเขา ระบายตัวออกได้ช้า จึงทำให้ลักษณะอากาศเหมือนมีหมอก

แหล่งพลังงาน

แหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในนครฉงชิ่งคือพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีการวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและแผงวงจรควบคุมการทำงานของเมืองที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบการใช้งานและแจ้งเตือนเมื่อระบบการส่งก๊าซเกิดปัญหาขัดข้อง นครฉงชิ่งมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ 3.2 แสนล้านคิวบิกเมตร โดยเป็นก๊าซธรรมชาติคุณภาพสูงเนื่องจากมีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ต่ำ ถือเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam) ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตกำลังไฟฟ้าเท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 18 แห่งรวมกัน

ทรัพยากรธรรมชาติ

มีพืชพันธุ์ธรรมชาติและสัตว์หายากอนุรักษ์อยู่จำนวนมาก  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันเทศ ยาสูบ ชา ถั่วลิสง ธัญพืช และพืชน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรอีกกว่า 2,000 ชนิด มีแร่ธาตุประมาณ 75 ชนิด แร่ Strontium พบมากที่สุดในจีน และมีแร่แมงกานีสมากเป็นอันดับ 2 ในจีน แร่ vanadium มากเป็นอันดับ 3 ในจีน

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม 

นครฉงชิ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้าและการติดต่อกับฝั่งตะวันออกของจีนโดยเดินทางผ่านทางแม่น้ำแยงซีเกียง ในปี ค.ศ.1918 รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ฉงชิ่งเป็นหนึ่งในเมืองไม่กี่แห่งที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายได้ โดยถือเป็นเมืองท่า ของพื้นที่ตอนในของจีน เมื่อปี ค.ศ.1997 นครฉงชิ่งได้รับการยกระดับขึ้นเป็นมหานครขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง โดยเป็นมหานครที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้นครฉงชิ่งเป็นเมืองหลักในการกระจายความเจริญสู่พื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันตกของจีน

สัญลักษณ์ประจำเมือง

ดอกไม้และต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของนครฉงชิ่งได้แก่ ดอกแต้ฮั้งฮวย และ ต้นไทร

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Camellia japonica

ชื่อไทย : แต้ฮั้งฮวย ชาญี่ปุ่น ชากุหลาบแดง แต้ฮวย
ชื่อจีน : 山茶花

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus virens

ชื่อไทย : ไทร
ชื่อจีน : 黄葛树, 黄桷树

การเมืองการปกครอง

นครฉงชิ่งแบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 40 เขตการปกครองย่อย ประกอบด้วย

15 เขต (District)

  • เขตปาหนาน (Banan / 巴南区)
  • เขตเป่ยเป้ย (Beibei / 北碚区)
  • เขตฉางโซ่ว (Changshou / 长寿区)
  • เขตต้าตู้โขว่  (Dadukou / 大渡口区)
  • เขตฝูหลิง (Fuling / 涪陵区)
  • เขตเจียงเป่ย (Jiangbei / 江北区)
  • เขตจิ่วหลงโพว (Jiulongpo / 九龙坡区)
  • เขตหนานอาน (Nan’an / 南岸区)
  • เขตเฉียนเจียง (Qianjiang / 黔江区)
  • เขตซาผิงปา (Shapingba / 沙坪坝区)
  • เขตซวงเฉียว (Shuangqiao / 双桥区)
  • เขตว่านเซิ่ง (Wansheng / 万盛区)
  • เขตว่านโจว (Wanzhou / 万州区)
  • เขตหยูเป่ย (Yubei / 渝北区)
  • เขตหยูจง (Yuzhong / 渝中区)

4 เมืองเทียบเท่าอำเภอ (County-level city)

  • เขตเหอชวน (Hechuan/ 合川市)
  • เขตเจียงจิน (Jiangjin/ 江津市)
  • เขตหย่งชวน (Yongchuan/ 永川市)
  • เขตหนานชวน (Nanchuan/ 南川市)

17 อำเภอ (County)

  • อำเภอปี้ซาน (Bishan / 璧山县)
  • อำเภอเฉิงโขว่ (Chengkou / 城口县)
  • อำเภอต้าจู๋ (Dazu / 大足县)
  • อำเภอเตี้ยนเจียง (Dianjiang / 垫江县)
  • อำเภอเฟิงตู (Fengdu / 丰都县)
  • อำเภอเฟิ่งเจี่ย (Fengjie / 奉节县)
  • อำเภอไคเสี้ยน (Kai / 开县)
  • อำเภอเหลียงผิง (Liangping / 梁平县)
  • อำเภอฉีเจียง (Qijiang / 綦江县)
  • อำเภอหรงชาง (Rongchang / 荣昌县)
  • อำเภอถงเหลียง (Tongliang / 铜梁县)
  • อำเภอถงหนาน (Tongnan / 潼南县)
  • อำเภออูหลง (Wulong County/ 武隆县)
  • อำเภออูซาน (Wushan / 巫山县)
  • อำเภออูซี (Wuxi / 巫溪县)
  • อำเภอหยุนหยาง (Yunyang / 云阳县)
  • อำเภอจงเสี้ยน (Zhong Xian/忠县)

4 เขตปกครองตนเอง (Autonomous county)

  • เขตปกครองตนเองชนชาติเหมียวและถู่เจีย เผิงสุ่ย
    (Pengshui Miao and Tujia Autonomous County / 彭水苗族土家族自治县)
  • เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียฉือจู้
    (Shizhu Tujia Autonomous County / 石柱土家族自治县)
  • เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียซิ่วซาน
    (Xiushan Tujia Autonomous County / 秀山土家族自治县)
  • เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียและเหมียวโหยว่หยาง
    (Youyang Tujia and Miao Autonomous County / 酉阳土家族苗族自治县)

นายซุน เจิ้งไฉ (Mr. Sun Zhengcai)

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครฉงชิ่ง (Secretary of the CPC Chongqing Municipal Committee) รับตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2555

นายหวง ฉีฟาน (Mr. Huang Qifan)

นายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่ง (มีตำแหน่งเทียบเท่าผู้ว่าการมณฑล) (Mayor of Chongqing Municipality) รับตำแหน่งเมื่อ มกราคม พ.ศ. 2553

นางจาง เสวียน (Mrs. Zhang Xuan)

ประธานสภาผู้แทนประชาชน (Chairmen of Chongqing People’s Congress) รับตำแหน่งเมื่อ มกราคม พ.ศ. 2556

นายสวี๋ จิ้งเย่ (Mr. Xu JingYe)

ประธานสภาที่ปรึกษาการเมือง (Chairmen of CPPCC Chongqing Committee) รับตำแหน่งเมื่อ มกราคม พ.ศ. 2556

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาครัฐบาลนครฉงชิ่งได้ที่ www.cq.gov.cn

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

ลักษณะเด่นของนครฉงชิ่ง

ฉงชิ่งยกระดับขึ้นเป็นมหานคร เมื่อเดือนมีนาคม 1997 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาจีนตะวันตก เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ เป็นเมืองท่าที่สำคัญของพื้นที่ตอนใน (Inland port) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีความสำคัญต่อระบบ logistics ขนส่งสินค้าและวัตถุดิบระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกกับพื้นที่ตอนในในภาคตะวันตกของจีน โดยผ่านทางแม่น้ำแยงซี (ตามเสันทางเขื่อนซานเสีย) ไปยังอู่ฮั่น ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือที่นครเซี่ยงไฮ้

รัฐบาลนครฉงชิ่งได้แบ่งพื้นที่ในมหานครออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. One-hour Economic Circle(พื้นที่รอบใน) หรือเขตและอำเภอที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. จากใจกลางเมือง ประกอบด้วย 23 อำเภอ เป็นเขตรอบในของนครฉงชิ่งที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรม บริการ และการสร้าง Industrial Cluster เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับส่งจำหน่ายซึ่งกันและกันในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
  2.  Wings (พื้นที่รอบนอก) ประกอบด้วย

2.1 พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ 11 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ตามเส้นทางเขื่อนสามโตรก(ซานเสี่ย) กิจกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในพื้นที่ดังกล่าวจะเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร การท่องเที่ยว ป่าไม้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการวางแผนระยะยาวในการอพยพประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนซานเสี่ย การสร้างงาน และการให้การฝึกและพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผู้ที่ต้องอพยพจากพื้นที่ทำกินเดิมของตนที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีการดำรงชีวิตใหม่ได้

2.2 พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ 6 เขตปกครองตนเอง เป็นเขตพื้นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อย เน้นทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(Ecological Tourism)รัฐบาลนครฉงชิ่งกำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่รอบในให้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งก่อน โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่ม GDP ให้เป็น 3 เท่าของมูลค่า GDP ในปี 2548 ทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และสามารถบรรลุนโยบายการสร้างความเป็นอยู่ทีดี (Xiaokang Target) ให้กับผู้อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว ในปี ด.ศ. 2558 (5 ปี ก่อนปีที่รัฐบาลกลางกำหนด) โดยหวังว่า เมื่อประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่รอบในแล้ว ก็จะขยายขอบเขตการพัฒนาไปยังพื้นที่ทั้งสองปีก และให้พื้นที่รอบในเป็นแหล่งผลิตงานให้กับประชาชนจากพื้นที่ที่เหลืออีกสองเขต

  1. พื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคตะวันตกประตูจากจีนอีสานเชื่อมโยงสู่อาเซี่ยน

จากแผนยุทธศาสตร์สำคัญแห่งการพัฒนาพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งภาคตะวันตกของจีนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพื้นที่ 2 นครใหญ่แห่งภูมิภาคตะวันตกอย่างนครเฉิงตูและฉงชิ่ง เพื่อเชื่อมสู่พื้นที่ทั้งภูมิภาคจีนตอนกลาง สู่นครใหญ่ทางภาคตะวันออกภาคพื้นแปซิฟิก เชื่อมตะวันตกเฉียงใต้ และจีนตะวันออกเฉียงเหนือสู่เขตอาเซี่ยนเข้าด้วยกัน

ภาพ การพัฒนาพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งภาคตะวันตกของจีน

 นครฉงชิ่งและนครเฉิงตู เป็นสองนครใหญ่ที่สำคัญที่สุดในเขตภูมิภาคตะวันตกของจีน นครเฉิงตู เป็นทั้งศูนย์กลางแห่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรแรงงาน และศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ สำหรับนครฉงชิ่ง มีทำเลที่อยู่ต่อเนื่องกับที่ราบเสฉวนตะวันออก มีศักยภาพที่สามารถเชื่อมโยงกับมณฑลหูเป่ย หูหนาน กวางสี กวางตุ้ง และทณฑลที่อยู่ขนาบสองข้างแม่น้ำแยงซีเกียง

นอกจาก การพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันตกแล้ว พื้นที่นี้ ยังถือว่าเป็นดินแดนแห่งเศรษฐกิจหนาแน่นระดับสูงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ เพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมระดับปฐมภูมิและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

อีกทั้งสิ่งที่สำคัญยิ่งคือ ความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ทำให้มณฑลเสฉวน เป็นชุมทางสำคัญแห่งภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ในทั้งการขนส่งและจุดกระจายสินค้าหลายหลากชนิด เพื่อเป็นเส้นทางในการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือต่อไป

เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของการเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งภาคตะวันตกของจีนจะต้องยึดแนวทางการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ อีกทั้งรวบรวมแหล่งอุตสหกรรมเข้าด้วยกัน รวมถึงการกำหนดมาตรการเขตปลอดภาษีไชน่า-อาเซียน เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าระหว่างภูมิภาคระหว่างจีนและอาเซี่ยน

เขตพื้นที่เศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง สามารถดึงดูดทรัพยการในด้านต่างๆที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตภาคตะวันตกจากเขตภาคตะวันออกซึ่งมีความเจริญก้าวหน้า จะทำให้ความร่วมมือทางการค้าเศรษฐกิจระหว่างเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและภูมิภาคอาเซี่ยนแข็งแกร่งและเป็นไปอย่างมีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต

เขตพัฒนาทางเศรษฐกิจ

 เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง两江新区) ก่อตั้งในเดือน มิ.ย 2010 และอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาตะวันตกของจีน ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2011 การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติว่าด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ค.ศ. 2011-2015) ฉบับที่ 12 ระบุถึงความสำคัญ ยก “เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง” สู่พื้นที่นำร่องเพื่อปฏิรูปและพัฒนานครฉงชิ่ง เพื่อเป็นหัวจักรใหญ่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันตกแถบต้นแม่น้ำแยงซีเกียง และเร่งกระจายความเจริญสู่ดินแดนจีนตอนในในอีกทศวรรษนับจากนี้ไป

 

 

 

 

 

 

 

 

ตำแหน่งที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง นครฉงชิ่ง

 “เหลียงเจียง ถือเป็นเขตเศรษฐกิจแหล่งใหม่แห่งที่ 3 ของจีน ตั้งอยู่ในเขตเมืองที่มีการปกครองขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางต่อจาก “เขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตง (ก่อตั้งปี 1990)” ในนครเซี่ยงไฮ้ และ “เขตเศรษฐกิจใหม่ปินไห่ (ก่อตั้งปี 2000)” ในนครเทียนจิน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่แห่งแรกที่อยู่ในดินแดนจีนตอนใน

เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ด้าน คือ เป็นเขตริเริ่มการทดลองใช้นโยบายลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท เป็นฐานการผลิตระดับสูงในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการของดินแดนจีนตอนใน เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคต้นน้ำแยงซีเกียง เป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อจีนตอนในออกสู่โลกภายนอก รวมถึงเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์

สำหรับด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง มุ่งเน้นไปใน 5 ด้าน คือ เกี่ยวกับระบบรางและการคมนาคม เกี่ยวกับการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ (รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานลม) เกี่ยวกับยานยนต์พลังงานทางเลือก เกี่ยวกับการทหารและการป้องกันประเทศ และเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ

รวมถึงมียุทธศาสตร์การพัฒนาด้านนวัตกรรมในเขตเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวโดยจัดตั้ง 3 สถาบันหลัก ได้แก่ สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติ สร้างฐานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระดับสูง และสร้างศูนย์สำรองข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์

เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงนี้ จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจดินแดนตอนในของจีนให้เติบโตทัดเทียมกับเขตชายฝั่งตะวันออก ทั้งด้านธุรกิจการเงิน การค้าการลงทุน การนำเข้าส่งออก ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และระบบการจัดการ ระบบการจัดเก็บภาษี รวมถึงเป็นช่องทางสำคัญเพื่อดึงดูดการพัฒนาด้านต่างๆ สู่ดินแดนตอนใน ในขณะเดียวกันเป็นทางเพื่อเชื่อมโยงสู่ภายนอกทั้งในและนอกประเทศ

จากยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงกำลังจะก้าวสู่การเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตและแปรรูปขนาดใหญ่เพื่อรองรับการนำเข้าส่งออก เป็นที่ตั้งของเขตวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคและภาคอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางการเงินและโมเดิร์นโลจิสติกส์แห่งต้นแม่น้ำแยงซีเกียง

เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง มีอาณาเขต 1,200 ตร.กม ตั้งอยู่ใน 3 เขตใหญ่ทางด้านเหนือของเขตอวีจง (เป็นที่ตั้งของตัวเมืองฉงชิ่ง) 3 เขตดังกล่าว คือ

  1. เขตเป่ยเป้ย(北碚) จำนวนประชากร 6.3 ล้านคน อยู่ทางด้านตะวันตก มีแม่น้ำเจียหลิงเจียงไหลผ่านกลาง เป็นที่ตั้งของ “เขตสินค้าทัณฑ์บนเหลียงลู่ชุ่นทาน” ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีแห่งแรกที่อยู่ในดินแดนตอนในของจีนก่อตั้งขึ้นในปี 2009
  2. เขตเจียงเป่ย江北จำนวนประชากร 4.5 ล้านคน อยู่ทางด้านใต้ติดกับแม่น้ำเจียหลิงเจียงและแยงซีเกียงตลอดแนว อยู่ติดกับเขตอวีจง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองฉงชิ่ง
  3. เขตอวีเป่ย渝北จำนวนประชากร 7.93 ล้านคน เป็นเขตที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด อยู่ตรงลางระหว่างเขตเป่ยเป้ยและเขตเจียงเป่ยโดย ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจียหลิงเจียง

 แนวความคิดการพัฒนาที่ดินในเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงจากพื้นที่ทั้งหมด 1,200 ตร.กม. นั้น แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาจริง 650 ตร.กม. (ซึ่งได้พัฒนาไปแล้วมากกว่า 150 ตร.กม.) โดยจะเริ่มต้นจากด้านใต้สู่เหนือในเป็น 3 บริเวณ คือ บริเวณริมแม่น้ำเจียหลิงเจียงเป็นย่านธุรกิจบริการสมัยใหม่และย่านธุรกิจการเงิน บริเวณส่วนตรงกลางเป็นย่านที่พักอาศัยสมัยใหม่ และบริเวณด้านทิศเหนือเป็นย่านอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมด

รัฐบาลได้วางกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาในเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ปี 2009-2010 ช่วงเริ่มต้นการพัฒนา

รัฐบาลนครฉงชิ่งยื่นเสนอแผนโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง รวมถึงขอบเขตการดำเนินงาน การบริหารงาน รวมถึงระบบสาธาณูปโภคพื้นฐานและระบบการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ (ทั้งทางถนน ทางราง ท่าเรือ) เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ระยะที่ 2 : ปี 2011-2012 ช่วงกลางการพัฒนา

โดยรัฐบาลมีเป้าหมายว่า เมื่อระยะที่ 2 สิ้นสุดลง สามารถเห็นถึงผลสำเร็จเบื้องต้นในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาฟังก์ชั่น และกระบวนการพัฒนารูปแบบโดยรวม สำหรับตัวเลขการนำเข้าส่งออกจะมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะสามารถดึงดูดบรรษัท 500 อันดับแรกของโลกเข้าสู่เขตเศรษฐกิจเหลี่ยงเจียงได้ที่จำนวน 200 ราย และจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภายในประเทศที่ 200,000 ล้านหยวน รวมถึงจะมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 50 ล้านตู้

ระยะที่ 3 ปี 2013-2020 ช่วงยกระดับการพัฒนา

มีการตั้งเป้าหมายว่า และเมื่อถึงปี 2015 สามารถเห็นเป็นรูปร่างเขตเศณษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงอย่างชัดเจน จนถึงปี 2020 จะสามารถบรรลุผลสำเร็จในภาพรวมอย่างสมบูรณ์ เขตเศรษฐกิจใหม่แห่งนี้จะมีความแข็งแกร่งในทุกด้านสามารถผลิกโฉมหน้าของนครฉงชิ่งก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งต้นแม่น้ำแยงซีเกียงที่มีอิทธิพลผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกและโดยรวมของประเทศสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงสู่ต่างประเทศทั่วโลกได้

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าตัวเลข GDP เมื่อถึงปี 2020 จะมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 600,000 ล้านหยวน โดยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 1,000,000 ล้านหยวน ครองสัดส่วนเกินกว่า 1 ใน 4 ของนครฉงชิ่ง รวมถึงจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งปริมาณการนำเข้าส่งออก และภาคธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทั้งหมดจะครองสัดส่วนเกินกว่า 1 ใน 3 ของนครฉงชิ่ง ตลอดจนด้านโลจิสติกส์ จะมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สูงถึง 34,000,000 ตู้ และจะมีปริมาณขนส่งผู้โดยสารทางอากาศสูงถึง 45 ล้านคน ด้านจำนวนประชากรที่พำนักถาวรในนครฉงชิ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน

นายหวง ฉีฟาน นายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงจะเป็นเขตที่ทำให้นครฉงชิ่งมีการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัด ในเวลาเดียวกันจะต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ แสวงหาช่องทางในการเร่งพัฒนา และแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ

“การพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง จะยึดโมเดลของเขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตงและปินไห่เป็นสำคัญ ซึ่งทั้ง 3 แห่ง มีขนาดพื้นที่เท่ากันที่ 1,200 ตร.กม. และมีทำเลที่ถูกจัดสรรใหม่ขึ้นใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนาโดยเฉพาะ”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ได้ระบุถึงบทบาทของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงอีกว่า จะเป็นเวทีอันดีเลิศในการศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติ บุคลากร สิ่งแวดล้อมด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการย้ายฐานผลิตจากเขตชายฝั่งตะวันออกเข้าสู่พื้นที่ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายและสิทธิพิเศษต่างๆ โดยยึดรูปแบบการดำเนินงานเฉกเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตงและปินไห่

ศ.หวัง หมิงเจี่ยน แห่ง ม. Chongqing Technology and Business มองว่า การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง อยู่ในช่วงเวลาที่จีนกำลังพัฒนาประเทศอย่างเต็มกำลัง รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนต่างๆ นำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

รัฐบาลนครฉงชิ่งได้อนุมัติงบประมาณเริ่มต้นสู่เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงเป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านหยวน ซึ่งถือว่ามากพอต่อการพัฒนาในเบื้องต้น หากเทียบกับงบประมาณในยุคที่เริ่มต้นก่อตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่ผู่เจียงที่มีเพียง 2,000 ล้านหยวนเท่านั้น ฉะนั้น การเจริญเติบโตของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงที่อัตรา 30% จะทำให้ค่า GDP เพิ่มขึ้นทวีคูณภายใน 3 ปี มีความเป็นไปได้สูง

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมและกระตุ้น เขตเศรษฐกิจเฉิงตูฉงชิ่ง成都重庆经济带) ให้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 10 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 5 โดยภาคอุตสาหกรรมพลังงานน้ำ ไฟฟ้า เหมืองแร่ และอื่นๆ ในมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจว จะได้รับอานิสงค์ ส่งผลต่อการพัฒนาและเศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 5 อีกทั้งช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านการตลาดและความร่วมมือต่างๆ ขยายไปสู่มณฑลหูหนาน หูเป่ย ส่านซี เขตปกครองตนเองกวางสี และภูมิภาคอื่นๆ ในเขตตะวันตก นอกจากนี้ ด้านการคมนาคมขนส่งและภาคการผลิตราวร้อยละ 50 ที่จะเข้าสู่ตลาดในเขตภาคตะวันตกจะต้องผ่านเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง โดยคาดว่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 5

จากสถิติจนถึงเดือน ก.ค. 2012 มีจำนวนวิสาหกิจ 500 อันดับแรกของโลก ได้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงแล้วจำนวน 95 ราย อาทิ HP, Seimens, Lumiere Pavilion, Chanel, Ford China, Honeywell และยอดการลงนามสัญญาโครงการลงทุนรวมทั้งสิ้น 131 โครงการ

เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภายในประเทศได้เป็นจำนวน 263,100  ล้านหยวน 530 โครงการ ส่วนเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 92,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 135 โครงการ ครองสัดส่วนร้อยละ 50 ของนครฉงชิ่ง

ขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง นครฉงชิ่ง

  ปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากทั่วโลก ภารกิจแรกของรัฐบาล คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และในขณะเดียวกันได้มีการออกมาตรการที่เอื้อต่อการพัฒนา ซึ่งวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เช่นเดียวกับการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตงและจินปิน ทว่าเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงมีขนาดใหญ่กว่าผู่ตงเกือบ 1 เท่าตัว

ต่อจากนี้ไปเป็นโอกาสของภูมิภาคตะวันตกที่กำลังได้รับการพัฒนาเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักลงทุนที่มองเห็นถึงศักยภาพและความรุ่งโรจน์ของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง นครฉงชิ่ง เขตเศรษฐกิจใหม่แห่งที่ 3 ของจีนและแหล่งลงทุนแห่งใหม่ของโลกในปัจจุบัน

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เส้นทางทางบก

ทางหลวง

นครฉงชิ่งได้พัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกให้สามารถเชื่อมโยงกับเมืองหลวงของมณฑลข้างเคียงได้ภายในเวลา 8 ชั่วโมง และให้สามารถเดินทางจากใจกลางเมืองไปยังอำเภอต่างๆ ในมหานครได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมง และในปัจจุบัน เขต อำเภอ และเขตปกครองตนเองในนครฉงชิ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงกันโดยทางด่วน ยกเว้นเพียงอำเภอเฉิงโขว่เท่านั้น

นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังได้สร้างทางด่วนเชื่อมโยงระหว่างฉงชิ่ง-เฉิงตู ทำให้สามารถเดินทางถึงกันได้ภายในเวลาเพียง 3 ชม. การเชื่อมโยงดังกล่าวนอกเหนือจากการเพิ่มเส้นทางเชื่อมโยงเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคตะวันตกแล้ว ยังเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการร่วมมือกับมณฑลเสฉวนในการใช้ทรัพยากรดึงดูดนักลงทุน เทคโนโลยีและแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ เพื่อลดการแข่งขัน เพิ่มพูนอำนาจต่อรองกับนักลงทุนต่างประเทศ ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมอย่างแท้จริง

เครือข่ายเชื่อมโยงทางบกของนครฉงชิ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงเป็นระยะทางมากกว่า150,000 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็น

–    ในปี 2553 รัฐบาลนครฉงชิ่งมีแผนสร้างทางด่วนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมระยะทางกว่า 2,100 กิโลเมตร

–    ทางหลวงเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ของมณฑล ระยะทางรวม 90,000 กิโลเมตร

–    ถนนในเมือง/เขต/อำเภอ/เขตปกครองตนเอง ระยะทางรวม 60,000 กิโลเมตร

ทางรถไฟ

นครฉงชิ่งมีสถานีรถไฟ 3 สถานี ได้แก่ Chongqing CaiYuanBa Railway Station, Chongqing ShaPingBa Railway Station และChongqing LongTouShi Railway Station โดยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญต่างๆ เช่น กุ้ยโจว เฉิงตู ปักกิ่ง คุนหมิง เจิ้งโจว เซี่ยงไฮ้ กวางโจวและ อุรุมูฉี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังได้เปิดให้บริการของรถไฟความเร็วสูงเส้นทางฉงชิ่ง-เฉิงตู ระยะทาง 315 กม. เปิดให้บริการเดือน ก.ย. 52 นับเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของภาคตะวันตก วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 160-230 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากนครเฉิงตูถึงนครฉงชิ่ง 2 ชั่วโมง 15 นาที ปัจจุบันมีการเดินรถวันละ 16 เที่ยวไปกลับ ขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 11,000 คน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้โดยสาร

 

โมโนเรล (รถไฟลอยฟ้ารางเดี่ยว)

เนื่องจากนครฉงชิ่งมีลักษณะภูมิประเทศแบบเนินเขาสลับที่ราบ จึงทำให้การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในเมืองมีลักษณะที่พิเศษกว่าที่อื่น โดยการใช้ระบบ “โมโนเรล” ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟลอยฟ้ารางเดี่ยวสายแรกของจีน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 39 กม

ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเดี่ยวของนครฉงชิ่ง ได้รับความสนใจอย่างมากจากหลายประเทศ โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้นำระบบการขนส่งดังกล่าวไปใช้ โดยบริษัทรถไฟฟ้าฉงชิ่งเป็นผู้ออกแบบโครงการทั้งหมด นอกจากนี้ ปัจจุบัน อินโดนีเซียและบราซิลก็กำลังให้ความสนใจระบบรถไฟฟ้านครฉงชิ่ง ตลอดจนอยู่ในขั้นตอนเจรจาความร่วมมือในโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว

เส้นทางทางน้ำ

นครฉงชิ่ง ศูนย์กลางแห่งการขนส่งทางน้ำ หนึ่งในท่าเรือที่สำคัญของแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบน และเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก โดยเป็นท่าเรือหลักที่เชื่อมการขนส่งทางเรือกับนครเซี่ยงไฮ้ ผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งมีระยะทางการขนส่งรวม 4,222 กม. และที่สำคัญเมื่อโครงการเขื่อนสามโตรก (ซานเสี่ยต้าป้า) สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้เรือบรรทุกขนาด 10,000 ตันสามารถเข้าเทียบท่า ซึ่งสามารถช่วยผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ท่าเรือที่สำคัญของนครฉงชิ่งได้แก่  ท่าเรือเฉาเทียนเหมิน (Chao Tian Men) ท่าเรือว่านโจว (Wanzhou) และท่าเรือฝูหลิง (Fuling)

ท่าเรือเฉาเทียนเหมิน (Chao Tian Men)

ท่าเรือเฉาเทียนเหมิน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉงชิ่ง เป็นบริเวณที่แม่น้ำเจีย  หลิงเจียงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดของนครฉงชิ่ง

โดยในปี 2548 รัฐบาลนครฉงชิ่ง ได้ประกาศใช้นโยบายปฎิรูปท่าเรือเฉาเทียนเหมินเป็นท่าเรือเปิด รองรับทั้งภาคการขนส่งและภาคการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกลไลสำคัญในการกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของนครฉงชิ่ง

ท่าเรือว่านโจว (Wanzhou)

ท่าเรือว่านโจว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉงชิ่ง เป็น 1 ใน 10 ท่าเรือหลักของแม่น้ำแยงซีเกียง

ปัจจุบัน รัฐบาลนครฉงชิ่งมุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาท่าเรือว่านโจว เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำตอนกลางของแม่น้ำแยงซีเกียง และเมื่อเขื่อนสามโตรกเสร็จสมบูรณ์ ท่าเรือว่านโจวจะกลายเป็นแหล่งพักและกระจายสินค้าที่สำคัญของจีนตะวันตก

เขตสินค้าทัณฑ์บนเหลียงลู่ชุ่นทาน

“เขตสินค้าทัณฑ์บนเหลียงลู่ชุ่นทาน” ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 ตั้งอยู่ที่เขตเป่ยเป้ย ทางทิศตะวันตกของนครฉงชิ่ง มีแม่น้ำเจียหลิงเจียงไหลผ่านกลางและเป็นเขตสินค้าปลอดภาษีแห่งแรกที่อยู่ในดินแดนตอนในของจีน มีพื้นที่ขนาด 8.37 ตร.กม.นอกจากนี้ ภายใน “เขตเหลียงลู่ชุ่นทาน” ยังมีท่าเรือชุ่นทาน ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่ไม่ได้ติดต่อกับทะเลที่ใหญ่ที่สุดในจีน

ท่าเรือชุ่นทาน นับเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศที่สำคัญของจีนตะวันตก ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าจากทะเลเข้ามายังเขตเมือง โดยรัฐบาลนครฉงชิ่งได้ลงทุนงบประมาณมหาศาลในการสร้างและปรับปรุงขยายขนาดท่าเรือดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักถึง 12,000 ตัน

นอกจากนี้  เขตสินค้าทัณฑ์บนเหลียงลู่ชุ่นทาน ยังมีโครงการพัฒนาขยายบริเวณเชื่อมต่อกับสนามบินเจียงเป่ย นครฉงชิ่ง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพอุตสาหกรรมบริการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อยอดการพัฒนาเพื่อก้าวขึ้นสู่ความครบวงจรในด้านโลจิสติกส์บริการครองความเป็นผู้นำในจีนตะวันตก

ท่าเรือว่านโจว (Wanzhou)

ท่าเรือว่านโจว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉงชิ่ง เป็น 1 ใน 10 ท่าเรือหลักของแม่น้ำแยงซีเกียง

ปัจจุบัน รัฐบาลนครฉงชิ่งมุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาท่าเรือว่านโจว เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำตอนกลางของแม่น้ำแยงซีเกียง และเมื่อเขื่อนสามโตรกเสร็จสมบูรณ์ ท่าเรือว่านโจวจะกลายเป็นแหล่งพักและกระจายสินค้าที่สำคัญของจีนตะวันตก

เขื่อนสามโตรก (Three Gorges Dam)

เขื่อนสามโตรก เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกั้นแม่น้ำแยงซี ตั้งอยู่ในเขตเมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนานครฉงชิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำแยงซีซึ่งห่างจากจุดสร้างเขื่อนมาทางภาคตะวันตกราว 450 กม. ตามแผนงานของรัฐบาลจีน คาดว่าจะมีกำหนดพิธีเปิดอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค. 52 ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่นครฉงชิ่งอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการเพิ่มความคล่องตัวในด้านการขนส่งที่ทำให้เรือเดินทะเลขนาด 10,000 ตัน สามารถเดินทางขึ้นถึงนครฉงชิ่งได้ (ปัจจุบันนี้ เรือขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดที่จะขึ้นไปถึงได้มีขนาดเพียง 1,500 ตัน)

นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากนครฉงชิ่งออกสู่ทะเลบริเวณนครเซี่ยงไฮ้แล้ว ยังรวมทั้งผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวในทะเลสาบเหนือเขื่อน ที่แทรกระหว่างโตรกแม่น้ำ ความยาวราว 640 กม. อย่างไรก็ดี การสร้างเขื่อนดังกล่าว ทำให้ต้องมีการย้ายถิ่นฐานประชากรกว่า 1.3 ล้านคนและต้องปล่อยให้น้ำท่วมชุมชนเมืองถึง 116 แห่ง โดยรัฐบาลจีนต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อชดเชยให้กับประชนชนผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว

เส้นทางทางอากาศ

รัฐบาลจีนมีแผนพัฒนานครฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศที่ใหญ่และครบวงจรในจีนตะวันตก ปัจจุบันนครฉงชิ่งมีท่าอากาศยานที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย ท่าอากาศยานว่านโจว และท่าอากาศยานเฉียนเจียง โดยมีสายการบินตรงทั้งภายในและต่างประเทศกว่า 50 เมือง อาทิ กรุงเทพฯ ฮ่องกง มาเก๊า มิวนิค  เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสนามบินอีก 2 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่หลงและท่าอากาศยานอูซาน

 

ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย นครฉงชิ่ง

ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย 1 ใน 3 ท่าอากาศยานสำคัญของจีนตะวันตกเฉียงใต้ 1 ใน 10 ท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของจีน เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ.1990 ตั้งอยู่ในเขตอวี๋เป่ย ห่างจากศูนย์กลางนครฉงชิ่งประมาณ 21 กิโลเมตร มีอาคารที่พักผู้โดยสารจำนวน 3 แห่ง และเป็นท่าอากาศยานแห่งแรกของจีนตะวันตกที่เปิดเส้นทางการบินตรงสู่ทวีปยุโรป

ในปี 2555 ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ย  รองรับผู้โดยสารทั้งสิ้น 22,030,000 ราย มากเป็นอันดับหนึ่งของท่าอากาศยานในจีน  และจากสถิติในปี 2548 – 2553 มีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูงถึง 137% ครองอันดับหนึ่งของท่าอาศยานทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างโดดเด่น

นอกจากนี้ ช่วงกลางปี 2555 คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนานครฉงชิ่ง ได้อนุมัติโครงการสร้างอาคารผู้โดยสารตะวันออกและสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ของท่าอาศยานฯ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 26,300 ล้านหยวน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารตะวันออกขนาด 4.5 แสน ตร.กม. และโครงการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ซึ่งมีความยาว 3.8 กม. โครงการดังกล่าวมีกำหนดที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารทั้งจากในและต่างประเทศได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี และ รองรับการขนส่งสินค้าได้ถึง 1.1 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี นครฉงชิ่งยังคงมุ่งมั่นพัฒนาท่าอาศยานนานาชาติเจียงเป่ยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นท่าอากาศยานระดับสากล และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของเอเชีย อีกทั้งยกระดับประสิทธิภาพในด้านเทคโนโลยีและการบริการ เพื่อครองใจผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลก

 

 

 

เศรษฐกิจ

 

 

 

 

 

 

 

นครฉงชิ่ง ได้รับการวางแผนให้เป็น มหานครแห่งอุตสาหกรรมแบบเข้มข้น โดยเน้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับการผลักดันและกระตุ้นจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ จึงทำให้การพัฒนาของนครฉงชิ่งยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยอาศัยการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจีนภาคตะวันตกอย่างเคร่งครัด

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล

1)       แผนงาน/เป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ค.ศ. 2011  2015)

  • อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่และรายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรในเมืองและชนบทจะต้องมีการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยมาตรฐานของประเทศ
  • มูลค่า GDP ในแต่ละปีต้องมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 12.5% สิ้นสุดปี 2558 มีมูลค่า GDP  ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านหยวน
  • มูลค่า GDP ต่อหัวประชากรไม่ต่ำกว่า 48,000 หยวน
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัว/ปี ของประชากรเมืองไม่ต่ำกว่า 31,000 หยวน
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัว/ปี ของประชากรชนบทไม่ต่ำกว่า 10,000 หยวน
  • ดำเนินการสร้างคมนาคมระบบรางเพิ่มเติม 15,000 กม.
  • สร้างพื้นที่สีเขียวภายในนครให้มีสัดส่วนประมาณ 19%
  • ลดอัตราการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลงประมาณ 15%
  • ลดอัตราการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมลงประมาณ 30%
  • ส่งเสริมให้เยาวชนได้รับศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่ำ 9 ปีในอัตราส่วน 90%
  • เร่งพัฒนาชนบท โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น 15%

         2)  แผนงาน/เป้าหมายประจำปี ค.ศ. 2014

  • มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 11%
  • มีเม็ดเงินการลงทุนด้านสินทรัพย์ถาวรไม่ต่ำกว่า 1. 2 ล้านล้านหยวน ขยายตัวจากเดิม 15%
  • มูลค่าการค้าปลีกสูงขึ้นประมาณ 12.5%
  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (นำเข้า-ส่งออก) เพิ่มขึ้นประมาณ 15%
  • มูลค่าด้านอุตสาหกรรมสูงขึ้นประมาณ 12.5%
  • พัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบริการ และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้เป็นเลิศ เพื่อความทันสมัยและยกระดับความเป็นเมืองให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
  • พัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ และระบบการขนส่ง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
  • พัฒนาพื้นที่เขตใหม่ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร โรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • พัฒนาด้านการคมนาคม อาทิ ทางด่วน เครื่องบิน เพื่อความพร้อมในด้านการขนส่ง

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

ภาคเกษตรกรรม

สินค้าเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่  ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด มันเทศ ต้นเรพ (ไม้ชนิดหนึ่งสำหรับปลูกไว้เพื่อเลี้ยงแกะ อีกทั้งสามารถนำเมล็ดมาคั้นผลิตน้ำมันพืช) ถั่วลิสง รังไหมดิบ ธัญพืช เนื้อหมู น้ำมันพะเยา และยาสูบ  ผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ แอปเปิ้ล ผลไม้รสเปรี้ยว ส้มโอ ลูกท้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมพาณิชย์นครฉงชิ่ง เตรียมนำสินค้าเกษตรพื้นบ้านขึ้นประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ขยายช่องทางการจำหน่ายแบบ“พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในจีนและทั่วโลก คาดระบบจะถูกจัดตั้งเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2556

ในขณะเดียวกัน กรมพาณิชย์ฯ ยังมีแผนการเร่งพัฒนาหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญภาคเกษตรกรรมในท้องถิ่นกว่า 1,000 แห่ง ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์พัฒนาด้านเกษตรกรรมของนครฉงชิ่งสู่สากล

 

ภาคอุตสาหกรรม

นครฉงชิ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญ 1 ใน 6 ของประเทศมาตั้งแต่อดีต อุตสาหกรรมหลักประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อาวุธ เหล็ก และอลูมิเนียม รูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมของฉงชิ่งในอดีตใช้วิธีเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแบบเทคโนโลยีของบริษัทต่างประเทศ (Reverse Engineering) ปัจจุบันรัฐบาลนครฉงชิ่งจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้บริษัทในพื้นที่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองได้มากยิ่งขึ้น เป็นการวางนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าในหลายภาคอุตสาหกรรมตาม WTO มีผลลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าหลายประเภท เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยา ทำให้บริษัทท้องถิ่นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของสินค้าและการบริการเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทท้องถิ่นจีนส่วนหนึ่งได้ซื้อกิจการในต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าส่งขายกลับมายังจีนและนำเข้าสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าสินค้าในท้องถิ่น และมีการออกแบบที่ทันสมัยยิ่งขึ้น

ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ

 

 

 

 

 

 

ตัวเลข GDP ปี 2556 มีมูลค่า 1,265,700 ล้านหยวน เติบโต 12.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของจีนตะวันตก และเป็น

อันดับที่สองของประเทศ อีกทั้งนครฉงชิ่งยังคงสภาพการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมั่นคงต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าทั่วประเทศที่ 4.6% โดยแบ่งเป็นอุตสาหกรรมปฐมภูมิมีมูลค่า 100,268 ล้านหยวน ขยายตัว 4.7% ทุติยภูมิมีมูลค่า 639,792 ล้านหยวน ขยายตัว 13.4%และตติยภูมิมีมูลค่า 525,609 ล้านหยวน ขยายตัว 12%

สำหรับภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปี 2556 มีมูลค่า 1,120,503 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.5% โดยแบ่งออกเป็นมูลค่าการลงทุนด้านเกษตรกรรมที่ 44,154 ล้านหยวน ขยายตัว 21.3% ด้านอุตสาหกรรมมูลค่า 353,421 ล้านหยวน ขยายตัว 14.9% และด้านการบริการที่มูลค่า 722,928 ล้านหยวน ขยายตัว 21.7%

ด้านการนำเข้าส่งออกของนครฉงชิ่งในปี 2556 มีมูลค่ารวม 68,704 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 29.1สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 21.5จัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศ และอันดับ 1 ของจีนตะวันตก โดยเป็นการส่งออก 46,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตถึง 21.3สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 13.4และเป็นการนำเข้า 21,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.7% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 42.4%

สำหรับรายได้ภาคประชาชนของนครฉงชิ่งในปี 2556 มีจำนวนเพิ่มขึ้น รายได้หลังหักภาษีของชาวเมืองเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 25,216 หยวน เพิ่มขึ้น 9.8และรายได้เกษตรกรเฉลี่ยตัวหัวอยู่ที่ 8,332 หยวน เพิ่มขึ้น 12.8% เห็นได้ว่าเงินในกระเป๋าของชาวฉงชิ่งเพิ่มพูนขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้อัตราการบริโภคของนครฉงชิ่งสูงขึ้นที่มูลค่า 451,177 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึง 14% โดยแบ่งออกเป็นการบริโภคค้าส่งที่มูลค่า 72,377 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.8การบริโภคค้าปลีกที่มูลค่า 312,042 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14.1% และตัวเลขด้านที่อยู่อาศัยและโภชนาการที่มูลค่า 66,757 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.2%

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน