GUIZHOU

มณฑลกุ้ยโจว

1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่

มณฑลกุ้ยโจวตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นมณฑลเขตชั้นในที่ไม่มีทางออกทะเล อยู่ที่ราบสูงหยูนกุ้ย (Yungui) เส้นลองจิจูด 103°36’ – 109°35’ เส้นละติจูด 24°37’ – 29°13’ มีอาณาเขตติดต่อกับ 3 มณฑล 1 มหานคร และ 1 เขตปกครองตนเอง คือ ทิศเหนือติดกับมณฑลเสฉวน (Sichuan) และมหานครฉงชิ่ง (Chongqing) ทิศใต้ติดกับเขตปกครองตนเองกวางสี (Guangxi) ทิศตะวันออกติดกับมณฑลหูหนาน (Hunan) และทิศตะวันตกติดกับมณฑลยูนนาน (Yunnan) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 176,167 ตารางกิโลเมตร มีสัดส่วน 1.8% ของทั้งประเทศ ร้อยละ 92.5 เป็นภูเขาสูง ความสูงเฉลี่ยเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร จึงได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งขุนเขา จุดสูงสุดเหนือระดับน้ำทะเลสูง 2,900.6 เมตร จุดต่ำสุดเหนือระดับน้ำทะเลสูง 147.8 เมตร

ข้อมูลประชากร

38.60 ล้านคน (2567) มีชนกลุ่มน้อยถึง 17 ชนชาติ ตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณนี้มานานหลายศตวรรษ) ชนชาติกลุ่มน้อยเชื้อสายต่าง ๆ มีประมาณร้อยละ 35 ของจำนวนประชากรทั้งมณฑล ได้แก่ ชาวฮั่น (Han) แม้ว (Miao) ปู้อี (Buyi) ต้ง (Dong) ถู่เจีย (Tujia) อี๋ (Yi) เป็นต้น

สภาพภูมิอากาศ

อยู่ในเขตมรสุมกึ่งร้อนชื้น สภาพอากาศจึงอบอุ่นและชุ่มชื้น อุณหภูมิตลอดปีโดยเฉลี่ยประมาณ 15 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว อากาศจึงไม่หนาวจัด ประมาณ 3-6 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนอากาศไม่อบอ้าว ประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยระหว่าง 1,100 – 1,300 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำฝนมากที่สุดที่เมืองอี้ซี (Yixi) น้อยที่สุดที่เมืองปี้เจี๋ย (Bijie)

ทรัพยากรสำคัญ

กุ้ยโจว ได้ชื่อว่า เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศ เนื่องจากแม่น้ำอู่เจียง (Wujiang) ไหลผ่านทั่วทั้งมณฑล มณฑลมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำต่อปีจำนวน 2.188 ล้านกิโลวัตต์ ปริมาณการสำรองกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ มีปริมาณ 18.75 ล้านกิโลวัตต์ นับเป็นปริมาณการสำรองอันดับ 6 ของประเทศ

กุ้ยโจวถูกขนานนามว่า ทะเลถ่านหินทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเมืองหลวงของถ่านหินทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เนื่องจากมีปริมาณถ่านหินจำนวนมากถึง 269.7 พันล้านตัน โดยได้เก็บสำรองไว้มากกว่า 51 พันล้านตัน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

กุ้ยโจวยังมีทรัพยากรธรณีมากกว่า 110 ชนิด โดยเฉพาะ ปรอท อลูมิเนียม พลวงทองคำ ถ่านหิน แมงกานีส และฟอสฟอรัส มูลค่าการสำรองแร่ต่าง ๆ ภายในมณฑล มีมูลค่ามากกว่า 3,000 พันล้านหยวน สูงกว่ามูลค่าการสำรองของมณฑลและดินแดนต่าง ๆ การสำรองฟอสฟอรัส นับเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีปริมาณ 2.6 พันล้านตัน (ผลผลิตรายปี จำนวนประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งประเทศ) การสำรองอะลูมิเนียมมีปริมาณ 400 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ของประเทศปริมาณสำรองแมงกานีส และพลวง ถือเป็นร้อยละ 12.9 และ 14.6 ของปริมาณสำรองทั่วประเทศ นับเป็นปริมาณการสำรองอันดับ 3 ของประเทศ และยังเป็นแหล่งผลิตออกไซด์ของโลหะที่หายาก (ซึ่งมีประมาณ 14 ชนิด เช่น ซีเรียม) คือ แกลเลียม และหินผลึกใส รวมทั้งเป็นแหล่งเหมืองทอง

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

กุ้ยโจวเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการค้นพบเศษพาชนะของมนุษย์ยุคเริ่มต้นใช้ที่ถ้ำกวนอินในอำเภอเฉียนซี และยังได้พบชิ้นส่วนพาชนะของมนุษย์โบราณในสมัยต่าง ๆ มากมาย จนได้รับฉายาว่า เป็น “ตะเกียงแห่งวัฒนธรรมเอเชีย” และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาชนมณฑลกุ้ยโจวขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 1949 หลังการปลดปล่อยกองทัพกุ้ยหยางได้ไม่นาน ปัจจุบัน กุ้ยโจวเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย มีชนกลุ่มน้อยถึง 17 ชนชาติ รองจากมณฑลยูนนาน

2. การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

มณฑลกุ้ยโจวแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 เมือง/เขต และ 77 อำเภอ ดังนี้

  • 4 เมือง (City) ได้แก่ นครกุ้ยหยาง (Guiyang) ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑล เมืองลิ่วผานสุ่ย (Liupanshui) เมืองจุนอี้ (Zunyi) และเมืองอานซุ่น(Anshun)
  • 2 เขต (Prefecture) ได้แก่ เขตปี้เจี๋ย (Bijie) และเขตถงเหริน (Tongren)
  • เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย 3 เขต ได้แก่
    เขตปกครองตนเองชนชาติแม้วและต้งเฉียนตงหนาน
    เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนหนาน และ
    เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนซีหนาน

 

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมือง (เขต) สำคัญของมณฑลกุ้ยโจว

1. นครกุ้ยหยาง (Guiyang)

เป็นเมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว และเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา การคมนาคม และการสื่อสาร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 8,034 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 872-1,659 เมตร ร้อยละ 89 ของเนื้อที่ทั้งหมดมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,250 เมตร อุณหภูมิในนครกุ้ยหยางโดยเฉลี่ยเท่ากับ 15.3 องศาเซลเซียส อากาศจะร้อนที่สุดในเดือนกรกฎาคม โดยมีอุณหภูมิประมาณ 24 องศาเซลเซียส และหนาวที่สุดในเดือนมกราคม โดยจะมีอุณหภูมิต่ำประมาณ 5 องศาเซลเซียส นครกุ้ยหยางมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจ (Development Zone) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 63.13 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้ว 9.55 ตารางกิโลเมตร อีก 6.55 ตารางกิโลเมตร กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ โดยพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเขตพัฒนาฯ เป็นเขตอุตสาหกรรม พื้นที่บริเวณตอนเหนือเป็นเขตที่พักอาศัย และพื้นที่บริเวณตะวันตกเป็นเขตเกษตรกรรม ปัจจุบันบริเวณภาคตะวันตกของเขตพัฒนาฯ กำลังดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมให้เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเขตธุรกิจบริการและอำนวยความสะดวกสำหรับภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันมีการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และนักลงทุนค่อนข้างครบถ้วน อาทิเช่น สถาบันการเงิน การประกันภัย โรงพยาบาล สถานศึกษา บริการด้านกฏหมายและบัญชี การท่องเที่ยว การค้า สถานบันเทิง และโรงแรม อีกทั้งยังมีบริการเกี่ยวกับการพาณิชย์ ศุลกากร แรงงาน ตำรวจ ศาลตุลาการ เพื่อสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนครกุ้ยหยางอีกด้วย

2. เมืองลิ่วผานสุ่ย (Liupanshui)

เป็นเมืองอุตสาหกรรมของมณฑลกุ้ยโจว เนื่องจากเป็นเมืองที่มีทรัพยากรแร่ธาตุกว่า 30 ชนิด ดังนั้นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเมือง คือ การทำเหมืองแร่และถ่านหิน การถลุงแร่เหล็กและเหล็กกล้า โดยเหมืองแร่ เหมืองถ่านหิน และโรงงานหลักของเมืองลิ่วผานสุ่ยจะกระจายอยู่ตามเขตอุตสาหกรรมย่อย 15 แห่ง นโยบายด้านการลงทุนจะเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การลงทุน สร้างแรงจูงใจให้มาลงทุน และพัฒนาในทุก ๆ ด้านอันก่อให้เกิดการลงทุน

3. เมืองจุนอี้ (Zunyi)

เป็นเมืองโบราณ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีแร่ธาตุมีค่าอยู่มากมาย เช่น อลูมิเนียม (มีผลผลิตเป็นอันดับ 2 ของมณฑลกุ้ยโจว) ซิลิคอน เหล็กซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส เหล็ก และหินปูน อีกทั้งยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านการถลุงโลหะ เคมี อาหาร เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสำคัญของเมือง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กผสมทอง แก๊ส เหล็กหลอม ฟอสเฟตเหลือง อลูมิเนียมแปรรูป พริกแปรรูป ปูนซีเมนต์ อิฐดินเหนียว ปุ๋ย เหล้ายาซีเจี้ยว (เหล้ามีชื่อเสียงประจำมณฑลกุ้ยโจว) และผลิตภัณฑ์ยา ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เริ่มมีบทบาทของเมืองจุนอี้คือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแยกแร่โลหะ เคมีและอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้เมืองจุนอี้ยังมีชื่อเสียงระดับประเทศด้านการเป็นแหล่งผลิตผักปลอดสารพิษ แหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับทำน้ำมันธัญพืช และหมูเนื้อแดง

4. เมืองอันซุ่น (Anshun)

จากตัวเมืองอันซุ่นไม่ถึง 100 กิโลเมตรมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิเช่น น้ำตกหวงกั่วซู (Huangguoshu pubu) จุดชมวิวหลงกง (Longgong) ถ้ำหินคาร์ส และแหล่งฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในสมัยโบราณ เป็นต้น เมืองอันซุ่นมีอ่างเก็บน้ำมากมาย ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคของประชาชนผู้อยู่อาศัยและการดำเนินอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ สนามกีฬานานาชาติ และโรงแรมห้าดาว เมืองอันซุ่นนมีการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการทหารที่ต้องใช้ความละเอียดและความแม่นยำ เป็นแหล่งผลิตเครื่องบินทางทหาร นอกจากนี้ยังมีการผลิตสินค้าประเภท เครื่องมือเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และสินค้าศิลปะพื้นเมืองอื่น ๆ อีกด้วย

5. เขตถงเหริน (Tongren)

เป็นเขตที่มีแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีการจ่ายไฟฟ้าให้แก่มณฑลหูหนาน และมหานครฉงชิ่งอีกด้วย (ตามนโยบายของโครงการการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาคตะวันตกส่งไปยังภาคตะวันออกของประเทศ) อย่างไรก็ตามด้านตะวันออกของเขตถงเหรินได้รับการจัดส่งแก๊ซจากเมืองลิ่วผานสุ่ย ส่วนทางด้านตะวันตกของเขตมีการผลิตเพื่อใช้เอง เขตถงเหรินมีการพัฒนาการคมนาคมทั้งทางรถไฟ ทางหลวง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีสถานีรถไฟ 2 แห่ง มีทางรถไฟหลักเชื่อมต่อระหว่างมณฑลกุ้ยโจวและมณฑลหูหนาน มีสนามบินต้าซิ่ง (Daxing Feijichang)) นอกจากนี้ยังมีบริการทางด้านไปรษณีย์ การสื่อสารและโทรคมนาคม ธนาคาร การศึกษา และสาธารณสุข

6. เขตปี้เจี๋ย (Bijie)

ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกุ้ยโจว ถือเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว มีพื้นที่ประมาณ 3,414.9 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศ ด้านตะวันตกเป็นที่ราบสูง ด้านตะวันออกเป็นที่ราบต่ำ มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,511 เมตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ กว่า 20 ชนิด เช่น ซัลเฟอร์ เหล็ก ถ่านหิน สังกะสี ทองแดง ดินเหนียว หินอ่อน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าวสาลี ใบยาสูบอบ ถั่วลิสง ใบชา กระเทียม เผือก และสมุนไพรต่าง ๆ ที่นำมาผลิตยาแผนจีนกว่า 73 ชนิด ปัจจุบันการคมนาคมค่อนข้างสะดวก การสื่อสารและโทรคมนาคม การศึกษา และสาธารณสุขมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สำหรับด้านอุตสาหกรรมก็มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด เช่น อุตสาหกรรมกรรมสิ่งทอ ฟอกหนัง อาหาร บุหรี่ แก๊ส วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักรและ ผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลเขตปี้เจี๋ยมีนโยบายเน้นการพัฒนาด้านการเกษตร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคุมจำนวนประชากร ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศให้เข้ามาลงทุน

7.เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อี และแม้วเฉียนซีหนาน (Qianxinan)

ถือเป็นศูนย์กลางและเขตเมืองท่าที่สำคัญในการติดต่อกับมณฑลและเมืองต่าง ๆ ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เช่น มณฑลยูนนาน เมืองกุ้ยหลิน และมณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากความพร้อมด้านการขนส่งทั้งทางรถไฟ ทางหลวง ทางอากาศ และทางน้ำ ทางด้านโครงการการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาคตะวันตกส่งไปยังภาคตะวันออกของประเทศมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสถานีไฟฟ้าหลายแห่ง และมีสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดกลางและเล็กมากมาย ปัจจุบันกำลังก่อสร้างสถานีไฟฟ้าซิ่งเหริน (Xingren) ซึ่งเป็นสถานีแลกเปลี่ยนไฟฟ้าขนาด 500 KV ดังนั้นเมืองนี้จึงมีความสำคัญทั้งการเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคม แหล่งผลิตไฟฟ้า และเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

8. เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อี และแม้วเฉียนหนาน (Qiannan)

ตั้งอยู่ภาคใต้ตอนกลางของมณฑลกุ้ยโจว มีพื้นที่ 26,179 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 54% เป็นชนกลุ่มน้อยอาทิ ปู้อี (Buyi) แม้ว (Miao) จ้วง (Zhuang) สุ่ย (Shui) และเหมานาน (Maonan) เป็นต้น มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ส่งผลให้พื้นที่แถบนี้มีความหลากหลายทางด้านพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เขตปกครองตนเองชนชาติปู้อีและแม้วเฉียนหนาน ถือเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของมณฑลกุ้ยโจว ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น สวนอุตสาหกรรมลั่วปาง (luobang) ที่ตูจวิน (Dujun) สวนอุตสาหกรรมชางหมิง (Changming) ที่กุ้ยติ้ง (Guiding) สวนอุตสาหกรรมตู๋ซานม่าเหวย (Dushanmawei) สวนอุตสาหกรรมฉางเถียน (Changtian) เป็นต้น โดยเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้เน้นหนักทางด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปโลหะ และการขนส่งโลจิสติกส์

9.เขตปกครองตนเองชนชาติแม้ว และเฉียนตงหนาน (Qiandongnan)

เป็นเมืองท่าสำคัญด้านตะวันออกของมณฑลกุ้ยโจว มีเส้นทางหลักทั้งทางรถไฟและทางบกเชื่อมต่อไปยังมณฑลอื่น ๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ด้านการติดต่อสื่อสารและโทรคมนาคมนั้น มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีสายไฟไฟเบอร์ออฟติค คลื่นแม่เหล็กแบบชอร์ตเวฟ และไมโครเวฟ ทุกอำเภอมีการเข้าถึงของบริการโทรศัพท์ทั้งใน และต่างประเทศ ด้านไปรษณีย์ก็มีบริการที่ครบถ้วน ทางด้านสาธารณูปโภคด้านการประปา มีคุณภาพน้ำค่อนข้างดี และสามารถให้บริการได้เพียงพอ

การคมนาคมและโลจิสติกส์

เป้าหมายการพัฒนาด้านคมนาคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (2564-2568)

มณฑลกุ้ยโจววางแผนงบประมาณลงทุนด้านคมนาคมในช่วงแผนฯ 14 รวมมูลค่าราว 600,000 ล้านหยวน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ยกระดับความสามารถของการบริการขนส่งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เมืองรูปแบบใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมณฑล (2) เร่งสร้างการเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่มีระบบการเชื่อมโยงรอบด้าน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับแม่น้ำสายสำคัญของมณฑล เช่น แม่น้ำอูเจียง และแม่น้ำหงสุ่ยเหอ เพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงกับแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำจูเจียง (3) ส่งเสริมการคมนาคมเข้มแข็ง 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการลงทุนด้านการขนส่งและการจัดหาเงินทุน พัฒนาการขนส่งและการเดินทาง พัฒนาคุณภาพถนนในชนบท สร้างระบบคมนาคมอัจฉริยะ รวมถึงบริหารและควบคุมความเสี่ยงในการก่อสร้างและดำเนินงานโครงการถนนในเขตภูเขา

เส้นทางทางบก

1) เส้นทางถนน

จนถึงสิ้นปี 2567 กุ้ยโจวมีทางหลวงที่ใช้งานแล้วกว่า 220,000 กิโลเมตร และทางด่วน 9,042 กิโลเมตร ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยมีระยะทางของทางด่วนที่เปิดใช้งานแล้วสูงเป็นอันดับ 5 ของจีน ปัจจุบัน ทางหลวงระดับประเทศที่พาดผ่านมณฑลกุ้ยโจวมี 5 เส้นทาง ได้แก่
– G 56 หังโจว-รุ่ยลี่ (เจ้อเจียง อันฮุย เจียงซี หูเป่ย หูหนาน กุ้ยโจว ยูนนาน)
– G 60 เซี่ยงไฮ้-คุนหมิง (เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซี หูหนาน กุ้ยโจว ยูนนาน
– G 75 หลานโจว-ไห่โข่ว (กานซู เสฉวน ฉงชิ่ง กุ้ยโจว กว่างซี กวางตุ้ง ไห่หนาน)
– G 76 เซี่ยเหมิน- เฉิงตู (ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน กว่างซี กุ้ยโจว เสฉวน)
– G 78 ซัวเถา-คุนหมิง (กวางตุ้ง กว่างซี กุ้ยโจว ยูนนาน)

2) เส้นทางรถไฟ

จนถึงสิ้นปี 2567 กุ้ยโจวจะมีเส้นทางรถไฟ 4,256 กิโลเมตร โดยเป็นรถไฟความเร็วสูง 1,808 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่

2.1 รถไฟระหว่างมณฑล

     2.1.1 กุ้ยหยาง-กว่างโจว (贵广高铁เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557

แล่นผ่าน 3 มณฑล/เขต คือ มณฑลกุ้ยโจว-เขตกว่างซี-มณฑลกวางตุ้ง (กุ้ยหยาง-กุ้ยหลิน-กว่างโจว)ความเร็ว 250 กม./ชม. มีระยะทางรวม 857 กม. แบ่งเป็นระยะทางในกุ้ยโจว 301 กม. เขตกว่างซี 349 กม. และกวางตุ้ง 207 กม. เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2551 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 90,000 ล้านหยวน ส่งผลให้การเดินทางจากกุ้ยหยาง-กุ้ยหลิน ใช้เวลาราว 2 ชม. (เดิม 13 ชม.) และกุ้ยหยาง-กว่างโจวใช้เวลาประมาณ 5 ชม. (เดิม 21 ชม.) เพื่อออกสู่ทะเลในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta)

     2.1.2 เซี่ยงไฮ้-กุ้ยหยาง-คุนหมิง (沪昆高铁เปิดให้บริการตลอดเส้นทางแล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559

ระยะทางรวม 2,252 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 11-12 ชั่วโมง แบ่งเป็น (1) เซี่ยงไฮ้-หังโจว เปิดให้บริการแล้วเมื่อ 26 ตุลาคม 2553 ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง (2) หังโจว-ฉางซา เปิดให้บริการแล้วเมื่อ 10 ธันวาคม 2557 ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง (3) ฉางซา-กุ้ยหยาง เปิดให้บริการแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน 2558 ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง (4) กุ้ยหยาง-คุนหมิง เปิดให้บริการแล้วเมื่อ 28 ธันวาคม 2559 ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง

     2.1.3 กุ้ยโจว-ฉงชิ่ง (渝黔高铁) เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561

ความเร็ว 200 กม./ชม. มีระยะทางรวม 345 กม. เป็นระยะทางในกุ้ยโจว 233 กม. และฉงชิ่ง 112 กม. เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2553 มูลค่าการลงทุนประมาณ 51,600 ล้านหยวน ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางจากกุ้ยหยาง-ฉงชิ่งใช้เวลา 2 ชม. (เดิม 10 ชม.)

     2.1.4 กุ้ยหยาง-เฉิงตู (成贵高铁เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562

ความเร็ว 250 กม./ชม. ระยะทางรวม 648 กม. เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2551 มูลค่าการลงทุนประมาณ 78,000 ล้านหยวน การเดินทางจากกุ้ยหยาง-เฉิงตูจะใช้เวลา 3-4 ชม. (เดิม 18 ชม.) มีสัดส่วนของสะพานและอุโมงค์ราวร้อยละ 85 และไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-กว่างโจว เพื่อออกสู่ทะเลในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta)

     2.1.5 รถไฟความเร็วสูงสายวงแหวนเชื่อมกุ้ยหยาง-ฉงชิ่ง-เฉิงตู เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563

ระยะทางรวม 1,290 กิโลเมตร เริ่มจากสถานีกุ้ยหยางเหนือ-สถานีฉงชิ่งตะวันตก-สถานีเฉิงตูใต้-สถานีกุ้ยหยางเหนือ รวม 12 สถานี ใช้เวลาเดินทางหนึ่งรอบประมาณ 8 ชั่วโมง โดยมีความเร็วช่วงกุ้ยหยาง-ฉงชิ่ง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉงชิ่ง-เฉิงตู 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และช่วงเฉิงตู-กุ้ยหยาง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

     2.1.6 กุ้ยหยาง-หนานหนิง (贵南高铁) เปิดให้บริการตลอดสายแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566

มีระยะทาง 482 กิโลเมตร เป็นระยะทางในกุ้ยโจว 200 กิโลเมตร งบประมาณ 75,760 ล้านหยวน ได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2560 เป็นเส้นทางรถไฟที่มีความยากในก่อสร้าง เนื่องจากมีสัดส่วนของสะพานและอุโมงค์มากถึงร้อยละ 89 ของเส้นทาง (สะพาน 188 แห่ง และอุโมงค์ 106 แห่ง) อย่างไรก็ดี เส้นทางนี้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (G) 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้การเดินทางจากกุ้ยหยาง-หนานหนิงร่นเวลาเหลือเพียง 3 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟด่วน (D) ผ่านเส้นทางกุ้ยหยาง-กุ้ยหลิน-หนานหนิง ซึ่งใช้เวลาเดินทางราว 5 ชั่วโมง

     2.1.7 รถไฟความเร็วสูงเส้นใหม่จากนครกุ้ยหยางไปยังนครฉงชิ่ง (渝贵高铁) ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมแผน
งานก่อสร้าง

ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารโดยเฉพาะ มีความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะยกระดับจากปัจจุบันที่มีความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง และใช้ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นใหม่นี้
จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างทั้งสองเมืองจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง

2.2 รถไฟระหว่างเมืองภายในมณฑลกุ้ยโจว

     2.2.1 รถไฟระหว่างเมืองอันซุ่น-ลิ่วผานสุ่ย (安六高速) เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

เป็นรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองสายแรกของมณฑลกุ้ยโจว และเป็นรถไฟสำหรับผู้โดยสารโดยเฉพาะ
มีระยะทาง 125 กิโลเมตร รวม 8 สถานี ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2558
ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ตลอดเส้นทางเป็นสะพาน 81 แห่ง อุโมงค์ 62 แห่ง รวมระยะทาง 88.13 กิโลเมตร
คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของเส้นทางทั้งหมด รถไฟสายนี้เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงเซี่ยงไฮ้-กุ้ยหยาง-คุนหมิง ส่งผลให้การเดินทางจากเมืองลิ่วผานสุ่ยถึงนครกุ้ยหยางร่นเวลาเหลือ 1 ชั่วโมง (เดิม 3 ชั่วโมง)

     2.2.2 รถไฟระหว่างเมืองผานโจว-ซิงอี้ (盘兴) คาดเปิดให้บริการ ธ.ค. 2568

เป็นรถไฟความเร็วสูงระหว่างอำเภอ (ระดับเมือง) ผานโจวของเมืองลิ่วผานสุ่ยไปยังอำเภอ (ระดับเมือง) ซิงอี้ของเขตฯ เฉียนซีหนาน ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีผานโจว สถานีเป่าเถียน และสถานีซิงอี้สายใต้ ระยะทางรวม 98.3 กิโลเมตร ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี คาดใช้งบประมาณราว 16,100 ล้านหยวน

2.3) รถไฟวิ่งวนรอบเมืองนครกุ้ยหยาง

      2.3.1 รถไฟวงแหวนรอบเมืองนครกุ้ยหยาง (阳市域城快) เปิดให้บริการแล้วเมื่อ 30 มีนาคม 2565

ประกอบด้วย 17 สถานี แล่นผ่านสถานีสำคัญ เช่น สถานีเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน และสถานีเมืองมหาวิทยาลัยฮัวซี รวมระยะทาง 113 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางหนึ่งรอบประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ซึ่งเส้นทางรถไฟเหล่านี้จะเชื่อมกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของจีน เพื่อออกสู่ทะเลในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) และเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ (Pan Beibu Gulf Economic Zone) รวมถึงเชื่อมกับมณฑลตอนใน ผ่านยูนนานสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

และหากเส้นทางทั้งหมดข้างต้นแล้วเสร็จ จะทำให้การเดินทางจาก
– กุ้ยหยางไปปี้เจี๋ย จุนอี้ อันซุ่น ขายหลี่ ตูหยุน และถงเหริน (ภายในมณฑล) 1-2 ชม.
– กุ้ยหยาง-คุนหมิง/กุ้ยหลิน/ฉงชิ่ง 2-3 ชม.
– กุ้ยหยาง-เฉิงตู/หนานหนิง/ฉางซา 3-4 ชม.
– กุ้ยหยาง-กว่างโจว/อู่ฮั่น/หนานชาง 4-5 ชม.
– กุ้ยหยางไปปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ 9-11 ชม.

3) รถไฟใต้ดิน

กุ้ยโจวมีแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟใต้ดินในนครกุ้ยหยางทั้งหมด 9 เส้นทาง รวมระยะทาง 467 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 2.7 แสนล้านหยวน ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 4 สาย ได้แก่ สาย 1 สาย 2 สาย 3 และS1 โดยสาย 1 มีระยะทาง 35.11 กิโลเมตร รวม 25 สถานี เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ส่วนสาย 2 มีระยะทาง 40.6 กิโลเมตร รวม 32 สถานี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 สาย 3 มีระยะทาง 43.03 กิโลเมตร รวม 29 สถานี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 และสาย S1 มีระยะทาง 30.32 กิโลเมตร รวม 13 สถานี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ปัจจุบัน มีสายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ สาย S2 และสาย T2

4) Gui Yang Bus Rapid Transit

ปัจจุบัน นครกุ้ยหยางมีรถ BRT ไว้คอยบริการรวม 13 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางหลัก 4 สาย และเส้นทางรอง 9 สาย โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 13 ก.พ. 2560

เส้นทางอากาศ

ปัจจุบัน กุ้ยโจวมีสนามบินเปิดใช้งานรวม 11 แห่ง ครอบคลุมทุกเมืองของมณฑล และยังมีสนามบินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเตรียมการก่อสร้างอีก 5 แห่ง

สนามบินหลัก

1. สนามบินนานาชาติหลงต้งเป่า นครกุ้ยหยาง (Guiyang Longdongbao International Airport贵阳龙洞堡国际机场) (Guiyang Longdongbao International Airport: 贵阳龙洞堡国际机场)
อยู่ห่างจากตัวเมืองกุ้ยหยางไปทางทิศตะวันออก 11 กิโลเมตร เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 และยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2548 ปัจจุบัน มีอาคารผู้โดยสาร 3 หลัง แบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (T1) ขนาดพื้นที่ 81,000 ตารางเมตร อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (T2) ขนาดพื้นที่ 134,000 ตารางเมตร และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (T3) ซึ่งเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ขนาดพื้นที่ 167,000 ตารางเมตร รวมถึงลานจอดที่สามารถรองรับเครื่องบินได้พร้อมกัน 115 ลำ และทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาดความกว้าง 45 เมตร 2 เส้น โดยทางวิ่งเส้นตะวันออกมีความยาว 4,000 เมตร และทางวิ่งเส้นตะวันตกมีความยาว 3,500 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารปีละประมาณ 30 ล้านคน สินค้าและพัสดุภัณฑ์ 250,000 ตัน และเครื่องบินขึ้นลง 243,000 ลำ ทั้งนี้ ในปี 2567 สนามบินหลงต้งเป่ามีผู้โดยสารเข้า-ออกจำนวน 22.31 ล้านคน (อันดับ 23 ของจีน) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 ขนส่งพัสดุและไปรษณีย์รวม 106,600 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.69 และมีเครื่องบินขึ้น-ลง 157,600 ลำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.43

สนามบินย่อย

2. สนามบินเฟิ่งหวง เขตถงเหริน铜仁凤凰机场 (原名:铜仁大兴机场) 
3. สนามบินซิงอี้ เขตเฉียนซีหนาน 兴义机场
4. สนามบินหวงกั่วซู่ เมืองอันซุ่น 安顺黄果树机场
5. สนามบินหลีผิง เขตเฉียนตงหนาน 黎平机场
6. สนามบินลี่โผ เขตเฉียนหนาน 荔波机场
7. สนามบินซินโจว เมืองจุนอี้ 遵义新舟机场
8. สนามบินเฟยสง เขตปี้เจี๋ย 毕节飞雄机场
9. สนามบินขายหลีหวงผิง เขตเฉียนตงหนาน 凯里黄平机场
10.สนามบินรื้อจ้าว เมืองลิ่วผานสุ่ย 六盘水日照机场
11.สนามบินเหมาไถ เมืองจุนอี้ 遵义茅台机场

มีแผนจะก่อสร้างอีก 5 แห่ง
12.สนามบินเวยหนิงเฉ่าเหมย อำเภอเวยหนิง เมืองปี้เจี๋ย威宁草海机场
13.สนามบินเฉียนเป่ย黔北机场 อำเภอเต๋อเจียง เมืองถงเหริน
14.สนามบินลัวเตียน เขตฯ เฉียนหนาน罗甸机场
15.สนามบินผานเซี่ยน 盘县机场อำเภอผานเซี่ยน เมืองลิ่วผานสุ่ย
16.สนามบินเทียนจู้天柱机场อำเภอเทียนจู้ เขตฯ เฉียนตงหนาน

เส้นทางการบินระหว่างมณฑลกุ้ยโจวกับประเทศไทย

ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีเส้นทางการบินตรงระหว่างมณฑลกุ้ยโจวกับประเทศไทย ได้แก่ นครกุ้ยหยาง-กรุงเทพฯ โดยสายการบิน 9Air ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 15 นาที อย่างไรก็ดี ประชาชนยังนิยมไปต่อเครื่องที่เมืองอื่น เช่น นครคุนหมิง นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น และนครเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากมีเส้นทางบินให้เลือกเวลาเดินทางมากกว่า

เศรษฐกิจ

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลกุ้ยโจว

เป้าหมายการดำเนินงานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ได้แก่

(1) บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศสังคมนิยมทันสมัยในปี 2578 พร้อมกับส่วนอื่นของจีน (2) ดำเนินการพัฒนาตามแนวคิด “1 2 3 4” กล่าวคือ “1” เน้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงในภาพรวม “2” ส่งเสริมการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ “3” ส่งเสริมการพลิกฟื้นชนบท บิ๊กดาต้า และระบบนิเวศ “4” ส่งเสริมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เมืองสมัยใหม่ การเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (3) มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม ยกระดับความเป็นเมือง ส่งเสริมการเกษตร และการท่องเที่ยว (4) พัฒนาเขตนำร่องด้านบิ๊กดาต้าระดับชาติ เขตนำร่องระบบนิเวศแบบอารยะ และเขตนำร่องการเปิดกว้างสู่ภายนอกทางเศรษฐกิจของพื้นที่ตอนในของจีน (5) ส่งเสริมการเสริมกัน (complementarity) ของโครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรม และนวัตกรรม และ (6) ยึดมั่นแนวทางการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแผนการยกระดับการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ของมณฑลกุ้ยโจวที่ต้องการให้กุ้ยโจวกลายเป็นพื้นที่สำคัญของจีนใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) พื้นที่สำคัญตอนในของจีนแห่งใหม่ในการเปิดเศรษฐกิจสู่ภายนอก (2) เขตสาธิตการปฏิรูปการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ (3) เขตต้นแบบความสำเร็จในการหลุดพ้นจากความยากจนและการฟื้นฟูชนบท (4) เขตนวัตกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ (5) เขตบุกเบิกและสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศ

2. ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • มีพื้นที่เพาะปลูกชามากที่สุดในประเทศจีน ชาที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นชาเขียว มีชาตูหยุนเหมาเจียน (都匀毛尖) หรือชาเหมาเจียนของเมืองตูหยุนได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาจีน
  • ผลิตใบยาสูบมากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลยูนนาน
  • เป็น 1 ใน 4 แหล่งผลิตสมุนไพรจีนที่ใหญ่ที่สุดของจีนนอกเหนือจากมณฑลเสฉวน เขตฯ กว่างซี และมณฑลยูนนาน รวมถึงเป็นมณฑลที่มีความหลากหลายของสมุนไพรจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากมณฑลยูนนาน
  • เป็นแหล่งผลิตสุราขาวยี่ห้อ “เหมาไถ” (茅台) ซึ่งมียอดจำหน่ายอันดับหนึ่งของจีน
  • ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเขตนำร่องระดับชาติของจีนใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) เขตนำร่องด้านบิ๊กดาต้าระดับชาติ (National Big Data Pilot Zone) ที่นครกุ้ยหยาง โดยเป็นเขตนำร่องด้านบิ๊กดาต้าแห่งแรกของจีน ก่อตั้งเมื่อปี 2558 (2) เขตนำร่องด้านการเปิดกว้างเศรษฐกิจพื้นที่ตอนในระดับชาติ (National Inland Open Economy Pilot Zone) ก่อตั้งเมื่อปี 2559 มุ่งเน้นพื้นที่นครกุ้ยหยางและเมืองจุนอี้ และ (3) เขตนำร่องระบบนิเวศอารยะระดับชาติ (National Ecological Civilization Pilot Zone) ก่อตั้งเมื่อปี 2559
  • เป็น 1 ใน 8 “ศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติ” ของจีน เพื่อพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าแบบบูรณาการทั่วประเทศและรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมถึงเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ “ข้อมูลตะวันออกประมวลผลตะวันตก” (“东数西算”工程)
  • แหล่งผลิตกีตาร์ที่สำคัญของจีน โดยมีนิคมอุตสาหกรรมกีต้าร์ที่อำเภอเจิ้งอัน เมืองจุนอี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายขจัดความยากจนด้วยการดึงดูดผู้มีความสามารถเดินทางกลับมาพัฒนาบ้านเกิด
  • อุตสาหกรรมสำคัญของมณฑล ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า สินแร่และโลหะ เคมี ยาสูบ และสุราขาว
  • มีแร่ธาตุมากกว่า 110 ชนิด และมีปริมาณแร่สำรองใน 5 อันดับแรกของจีนถึง 28 ชนิด แร่สำคัญของมณฑลกุ้ยโจว ได้แก่ ปรอท บอกไซต์ อะลูมิเนียม ฟอสฟอรัส ถ่านหิน แมงกานีส พลวง ทองคำ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ธาตุในรูปแบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบบบูรณาการ อาทิ การนำถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ไฟฟ้าถลุงแร่อลูมิเนียมต่อ การนำแร่ธาตุสำคัญมาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน เช่น อะลูมิเนียมอัลลอยด์ (มณฑลกุ้ยโจวมีปริมาณสะสมของแร่บอกไซต์สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน ซึ่งแร่บอกไซต์เป็นวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม) ไทเทเนียมอัลลอยด์ และแมกนีเซียมอัลลอยด์ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับยานอวกาศเสินโจว 5 เสินโจว 6 และเสินโจว 7 เป็นต้น
  • มี “ศูนย์โลจิสติกส์ท่าเรือบกนครกุ้ยหยาง” (Guiyang Inland Port Logistics Hub) ซึ่งเป็นโครงการท่าบกระดับประเทศแห่งแรกของมณฑลกุ้ยโจวที่อยู่ในแนวระเบียงการค้าบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) โดยเป็นสะพานบกเชื่อมโยงระหว่างนครฉงชิ่งที่เป็นหนึ่งในต้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปกับเขตฯ กว่างซีซึ่งมีท่าเรือที่สามารถเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ท่าโลจิสติกส์บก-ทะเลนานาชาติตูลาหยิง เขตปลอดอากรนครกุ้ยหยาง และสถานีรถไฟตูลาหยิง เป็นต้น มุ่งเน้นดำเนินการขนส่งและกระจายสินค้าทางบกในภูมิภาค ข้อมูลโลจิสติกส์ การขนส่งระหว่างประเทศ การขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multimodal transportation) การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การสร้างห่วงโซ่อุปทานทางการเงิน และอีคอมเมิร์ซ

3. จุดเด่นด้านการพัฒนา

           (1) การพลิกฟื้นชนบทตามนโยบายการสร้างสังคมอยู่ดีกินดีระดับปานกลางอย่างรอบด้านของรัฐบาลจีนหลังจากประสบความสำเร็จจากนโยบายการขจัดความยากจนไปเมื่อปลายปี 2563 โดยมณฑลกุ้ยโจวได้พัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม 6 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ การก่อสร้างทันสมัย สมุนไพรจีน การเกษตรที่ราบสูง การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างงานและรายได้แก่ประชาชน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 มณฑลได้แถลงผลสำเร็จการขจัดความยากจนให้หมดไปจากอำเภอยากจนของมณฑลทั้ง 66 แห่ง ซึ่งสามารถลดจำนวนคนยากจน 9,230,000 คน เฉลี่ยปีละกว่า 1,000,000 คน ที่สำคัญ มณฑลสามารถลดจำนวนคนยากจนได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน นอกจากนี้ มณฑลยังย้ายถิ่นฐานคนยากจนไปยังแหล่งทำกินใหม่ถึง 1,880,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งใน 5 ของ
ทั้งประเทศและเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในจีน    
           (2) อุตสาหกรรม มีผลงานโดดเด่นด้านการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าที่มุ่งพัฒนาให้นครกุ้ยหยางกลายเป็น “หุบเขาดิจิทัล” ของจีน โดยได้รับอนุมัติให้เป็นเขตนำร่องด้านบิ๊กดาต้าระดับชาติ (National Big Data Pilot Zone) แห่งแรกของจีน มีการจัดงาน Big Data Expo เป็นประจำทุกปี และสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำรวมถึงบริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของโลกและของจีนให้มาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในนครกุ้ยหยาง อาทิ Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของไต้หวัน Qualcomm บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและผู้ผลิตไมโครชิพของสหรัฐฯ Apple ซึ่งได้ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของบริษัทแห่งแรกในจีนที่นครกุ้ยหยาง และ Huawei กับการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ขนาดใหญ่ เนื่องจากนครกุ้ยหยางมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของการเป็นเมืองหุบเขาที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวต่ำ มีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดราคาถูก และภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากตลอดทั้งปี ทำให้ศูนย์ข้อมูลในนครกุ้ยหยางที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยการเจาะหุบเขาสิ้นเปลืองพลังงานน้อยมาก ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มณฑลกุ้ยโจวเป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ และอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ที่สำคัญของจีน ขณะที่ ในด้านวิศวกรรม มณฑลกุ้ยโจวถือเป็นแหล่งที่ตั้งของสะพานสูง โดยครึ่งหนึ่งของสะพานที่สูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรกอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว และยังเป็นที่ตั้งของสะพานเป่ยผานเจียงซึ่งเป็นสะพานที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง 565 เมตร สะท้อนศักยภาพในด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาของจีน ที่สำคัญ บริษัทอุตสาหกรรมการบินกุ้ยโจว (Guizhou Aviation Industry Corp: GAIC) ในเครือบริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศจีน (Aviation Industry Corp of China หรือ AVIC) ยังสามารถผลิตเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์รุ่น FTC-2000G หรือ “ซานอิง” ของจีนที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ในด้านการเกษตร มณฑลยังมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีนของชนกลุ่มน้อย โดยเป็นหนึ่งในสี่แหล่งผลิตสมุนไพรจีนที่ใหญ่ที่สุดของจีน

มณฑลกุ้ยโจวแบ่งพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น 4 ส่วนสำคัญ ดังนี้

พื้นที่

เมือง

เน้นการพัฒนา

เขตเศรษฐกิจภาคกลาง
กุ้ยโจว
นครกุ้ยหยาง เมืองอานซุ่น เมืองจุนอี้ เมืองปี้เจี๋ย อำเภอ (ระดับเมือง) ตูยุ่น อำเภอ (ระดับเมือง) ขายหลี่ การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ การแปรรูปทรัพยากรเชิงลึก อุตสาหกรรมดาวรุ่ง อุตสาหกรรมบริการทันสมัย บิ๊กดาต้า
เขตความร่วมมือเศรษฐกิจภาคเหนือกุ้ยโจว เมืองจุนอี้ เมืองถงเหริน การผลิตอุปกรณ์การบิน การแปรรูปเชิงลึกและการหลอมโลหะ อุตสาหกรรมเคมี การท่องเที่ยว
เขตพลังงานปี้สุ่ยซิง เมืองปี้เจี๋ย เมืองลิ่วผานสุ่ย อำเภอ (ระดับเมือง) ซิงอี้ ถ่านหินและไฟฟ้า เหล็กกล้าและโลหะ การผลิตรถยนต์และอะไหล่ พลังงานใหม่
เขตวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย เขตเฉียนตงหนาน เขตเฉียนหนาน เขตเฉียนซีหนาน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา อุตสาหรรมเคมี ถ่านหินและฟอสฟอรัส วัสดุก่อสร้างรูปแบบใหม่ ยาชนกลุ่มน้อย (ยาพื้นเมือง) การแปรรูปสินค้าเกษตร

ในภาพรวม มณฑลกุ้ยโจวกำหนดอุตสาหกรรมที่มุ่งส่งเสริม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวน 10 ประเภท ได้แก่ พลังงาน ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สุราและบุหรี่คุณภาพดี วัสดุใหม่ อุตสาหกรรมเคมีทันสมัย การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง วัสดุขั้นพื้นฐาน อาหารอินทรีย์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเวชภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2565 อุตสาหกรรมของมณฑลกุ้ยโจวจะมีมูลค่าการผลิต 2 ล้านล้านหยวน อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี นอกจากนี้ มณฑลยังกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวน 3 กลุ่ม ได้แก่ บิ๊กดาต้า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

(3) การเกษตร มณฑลกุ้ยโจวให้ความสำคัญด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเป็นพืชสีเขียว ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการเพาะปลูกที่ประหยัดพลังงาน สินค้าเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมของมณฑล 12 ชนิด ได้แก่ ชา เห็ด ผลไม้ป่าชื่อหลี สมุนไพรสือหู ชาน้ำมัน พริก ไผ่ สมุนไพรจีน ผลไม้ พืชผัก ประมง และการเลี้ยงสัตว์  ทั้งนี้ มณฑลมีพื้นที่เพาะปลูกชา พริก ผลไม้ป่าชื่อหลี และลูกเดือย สูงที่สุดในจีน

(4) การท่องเที่ยว มณฑลกุ้ยโจวมีแหล่งท่องเที่ยวระดับสูงสุดของประเทศจีน หรือ ระดับ AAAAA จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ น้ำตกหวงกั่วซู่ (เมืองอันซุ่น) ถ้ำวังมังกร (เมืองอันซุ่น) สวนดอกตู้จวนร้อยลี้ (เมืองปี้เจี๋ย) มรดกโลกทางธรรมชาติอำเภอลี่โป (เขตฯ เฉียนหนาน) เมืองโบราณชิงเอี๋ยน (นครกุ้ยหยาง) ภูเขาฟ่านจิ้งซาน (เมืองถงเหริน) และเมืองโบราณเจิ้นหย่วน (เขตฯ เฉียนตงหนาน) อุทยานน้ำตกชื่อสุ่ย (เมืองจุนอี้) และถ้ำจือจิน (เมืองปี้เจี๋ย) แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางธรรมชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ลี่โป อุทยานน้ำตกชื่อสุ่ย ภูเขาหยุนไถซานอำเภอสือปิ่ง และภูเขาฟ่านจิ้งซาน แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรม 1 แห่ง ได้แก่ โบราณสถานไห่หลงถุนเมืองจุนอี้ นอกจากนี้ มณฑลยังมุ่งเน้นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชนกลุ่มน้อย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา สวนสาธารณะภูเขา และบ่อน้ำร้อน

(5) โครงสร้างพื้นฐาน โดยนอกจากการพัฒนาเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเน้นการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมเข้าถึงหมู่บ้านและตำบลอย่างครอบคลุม เช่น น้ำ ไฟฟ้า ถนน อินเทอร์เน็ต สถานีอนามัย โรงเรียน และห้องน้ำ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนกลุ่มน้อยแล้ว มณฑลกุ้ยโจวยังให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ (New Infrastructure) หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น สถานีฐาน 5G บิ๊กดาต้า และบล็อคเชน

4. ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ ปี 2567

  • การลงทุนจากต่างประเทศของมณฑลกุ้ยโจว ในปี 2565 กุ้ยโจวสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ 531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 123.5 ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในธุรกิจให้เช่าและเทรดดิ้ง อสังหาริมทรัพย์ การวิจัยและเทคโนโลยี คมนาคมและขนส่ง
  • การลงทุนในต่างประเทศของมณฑลกุ้ยโจว ในปี 2566 กุ้ยโจวออกไปลงทุนในต่างประเทศรวม 329.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 67.1
  • ในปี 2567 มณฑลกุ้ยโจวมีจำนวนนักท่องเที่ยว 702 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 10.4 ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 290,600 คน รวมถึงมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 838,812 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

5. การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ระหว่างไทยและมณฑลกุ้ยโจว

5.1 ด้านการค้า 

5.2 ด้านการลงทุน

  • การลงทุนของไทยในมณฑลกุ้ยโจว นับแต่ปี 2541-2567 มีบริษัทไทยที่จดทะเบียนตั้งกิจการในมณฑลกุ้ยโจว 9 บริษัท รวมมูลค่าการลงทุนจริง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน คงเหลือบริษัทไทยที่ยังดำเนินกิจการในมณฑลกุ้ยโจว 3 บริษัท โดยเป็นการลงทุนด้านการผลิตและการเกษตร
  • การลงทุนของมณฑลกุ้ยโจวในประเทศไทย นับจนถึงสิ้นปี 2567 มีบริษัทจากมณฑลกุ้ยโจวเพียง 1 ราย ที่ผ่านการบันทึกการลงทุนในไทยที่กรมพาณิชย์มณฑลกุ้ยโจว โดยเป็นบริษัทที่ดำเนินงานด้านการบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมและนำเข้า-ส่งออก รวมมูลค่าการลงทุนของฝ่ายจีน 2.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.3  การท่องเที่ยวและประชาชน

– ปี 2567 ชาวกุ้ยโจวเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยรวม 11,514 คน
– (สถิติจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567) มีคนไทยอาศัยอยู่ในกุ้ยโจว 66 คน แบ่งเป็นนักศึกษา 38 คน คนทำงาน 20 คน และพำนักกับครอบครัว 8 คน

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน