GUANGXI

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

1. ข้อมูลทั่วไป

  • ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยทิศเหนือติดมณฑลกุ้ยโจวและมณฑลหูหนาน ทิศตะวันตกติดมณฑลยูนนาน ทิศตะวันออกติดมณฑลกวางตุ้ง และทิศใต้ติดทะเลอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) และประเทศเวียดนาม
  • เป็น 1 ใน 5 เขตปกครองตนเองของประเทศจีน (มีฐานะเทียบเท่ามณฑล) และเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลที่มีชนชาติส่วนน้อยจำนวนมากที่สุดในประเทศจีน
  • มีพื้นที่ 236,660 ตร.กม. (ประมาณร้อยละ 46 ของประเทศไทย) ขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศจีน (สัดส่วนร้อยละ 2.5 ของทั้งประเทศ)
  • เส้นแนวชายแดน (ติดเวียดนาม) 1,020 กิโลเมตร และเส้นแนวชายฝั่งทะเล 1,628.6 กิโลเมตร

ข้อมูลประชากร

ปี 2557 มีประชากรรวม 54.755 ล้านคน เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ประจำ 47.54 ล้านคน (เขตเมือง 21.87 ล้านคน คิดเป็น 46%) แบ่งเป็นชนชาติฮั่้น (62%) และชนชาติจ้วง (34%) ใช้ภาษาจีนกลาง จีนกวางตุ้ง จีนกุ้ยหลิ่ว และจ้วง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมหายาน คริสต์ และอิสลาม (ไม่เคร่ง)

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศแบบลมมรสุมเขตกึ่งร้อน (ร้อนชื้น) แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 17.8 – 24.3 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่า 1,676.3 มิลลิเมตร

ทรัพยากรสำคัญ

พื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกเป็นเนินเขาและภูเขาสูง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่ อาทิ แมงกานีส อลูมิเนียม เหล็ก ซัลเฟอร์ ถ่านหิน เจอร์มาเนียม พื้นที่ภาคใต้ติดทะเลอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศจีน นอกจากนี้ กว่างซียังเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญของจีน โดยมีผลผลิตประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ

ประวัติศาสตร์ / วัฒนธรรม

เขตฯ กว่างซีจ้วงมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน โดยมีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และปรากฏหลักฐานเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จีนโบราณในสมัยราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty) โดยปรากฏการใช้ชื่อ “กว่างซี” เป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) ยุคต้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน (พรรคคอมมิวนิสต์) ทางการจีนได้จัดตั้งเป็น “มณฑลกว่างซี” (Guangxi Province) มี “นครหนานหนิง” เป็นเมืองเอก จากนั้นในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957) รัฐบาลกลางได้ผ่านร่างอนุมัติการเปลี่ยนชื่อจาก “มณฑล” เป็น “เขตปกครองตนเองกว่างซี (ชนชาติ) ต้ง” (Guangxi Dong Autonomous Region) ก่อนที่ในปีถัดมา (5 มีนาคม พ.ศ. 2501) ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนกว่างซีได้ประกาศจัดตั้ง “เขตปกครองตนเอง” อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ.1965) ทางการจีนได้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อจากเขตปกครองตนเองกว่างซี “ต้ง” เป็นเขตปกครองตนเองกว่างซี (ชนชาติ) “จ้วง” (Guangxi Zhuang Autonomous Region) และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

2. การปกครอง

การบริหารส่วนท้องถิ่น (ระดับเมือง)

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแบ่งเขตการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็น 14 เมือง ดังนี้

1. นครหนานหนิง เป็นเมืองเอก เป็นที่ตั้งของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในระดับมณฑล และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าของกว่างซี

2. เมืองหลิ่วโจว เป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกว่างซี เป็นเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรก่อสร้าง

3. เมืองกุ้ยหลิน เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ และเมืองอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4. เมืองยวี่หลิน เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายใน และอุตสาหกรรมเซรามิก

5. เมืองอู๋โจว เป็น 1 ใน 3 เมืองท่าแม่น้ำที่สำคัญของกว่างซี เป็นฐานอุตสาหกรรมวัสดุรีไซเคิล ตลอดจนประตูเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ GBA (Greater Bay Area)

6. เมืองชินโจว เป็น 1 ใน 3 เมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้ เป็นที่ตั้งของเขตท่าเรือสินค้าทัณฑ์บน และนิคมอุตสาหกรรมระดับชาติจีน-มาเลเซีย

7. เมืองไป่เซ่อ เป็นหนึ่งในฐานอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นเมืองชายแดนติดจังหวัดลาวก๋าย ประเทศเวียดนาม และกำกับดูแลเมืองระดับอำเภอจิ้งซี (ด่านหลงปัง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ไทย)

8. เมืองกุ้ยก่าง เป็น 1 ใน 3 เมืองท่าแม่น้ำที่สำคัญของกว่างซี เป็นฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

9. เมืองเหอฉือ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเมืองท่องเที่ยว “หมู่บ้านอายุยืน”

10. เมืองหลายปิน เป็นเมืองอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และเป็นฐานการผลิตน้ำตาลที่สำคัญของกว่างซี

11. เมืองเป๋ยไห่ เป็น 1 ใน 3 เมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้ มีเป้าหมายเป็น “ซิลลิคอน วัลเล่ย์” และมีเขตสินค้าทัณฑ์บน

12. เมืองฉงจั่ว เป็นเมืองการค้าชายแดนอันดับ 1 ของกว่างซี เป็นฐานอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน มีชายแดนติดจังหวัดลางเซิน ประเทศเวียดนาม และกำกับดูแลเมืองระดับอำเภอผิงเสียง (ด่านโหย่วอี้กวาน และด่านรถไฟผิงเสียง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ไทย)

13. เมืองฝางเฉิงก่างเป็น 1 ใน 3 เมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้ มีท่าเรือขนส่งสินค้าเทกอง (Bulk) ขนาดใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีพรมแดนติดจังหวัดกวางนิงห์ เวียดนาม และกำกับดูแลเมืองระดับอำเภอตงซิง (ด่านตงซิง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ไทย)

14. เมืองเฮ่อโจว ได้รับการกำหนดให้เป็นฐานรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก

 

ทำเนียบผู้บริหารระดับสูง

 

 

ส่วนราชการท้องถิ่น (ระดับกรม)

เมืองสำคัญ/เขตพัฒนาเศรฐกิจ

เมืองสำคัญของกว่างซี

1. นครหนานหนิง (Nanning)

“เมืองเอก” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีความสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ (อ่าวเป่ยปู้) ของมณฑล เป็นเมืองที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 จาก 14 เมือง) ของกว่างซี ทั้งในแง่พื้นที่ ประชากร และขนาดเศรษฐกิจ) ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอีกหลายเมืองใหญ่ของจีน นครหนานหนิงอาจได้รับการจัดให้เป็น “หัวเมืองชั้น 2” ของประเทศ

นครหนานหนิง เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่จัดถาวรของ “งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Expo; CAEXPO) ได้รับการขนานนามเป็น “Green City” เป็นบ้านพี่เมืองน้องกับเทศบาลเมืองขอนแก่น และมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนภาษาไทยมากที่สุดในเขตฯ กว่างซีจ้วง

นครหนานหนิง มีพื้นที่ราว 2.2 หมื่น ตร.กม. (ใหญ่กว่า กทม. 14 เท่า) มีประชากรราว 7.1 ล้านคน (ปี 55) แบ่งเป็นการปกครองเป็น 6 เขต 6 อำเภอ นครหนานหนิงเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดขอนแก่น

เขตธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่

1.1 เขตซิงหนิง (兴宁区)

ถือเป็นเป็นย่านใจกลางเมืองและเป็นแหล่งธุรกิจที่มีความเก่าแก่ที่สุด รวมทั้งเป็นที่ตั้งของแหล่งช็อปปิ้ง และถนนคนเดิน (walking street) ที่มีชื่อเสียงที่สุดของนครหนานหนิง

ย่านใจกลางเมืองแห่งนี้ ถือเป็นทำเลทองที่เหมาะกับการค้าขายสินค้าของผู้ประกอบการ เนื่องจากมีลูกค้าหมุนเวียนเป็นจำนวนมากและเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

1.2 เขตเมืองใหม่ (ธุรกิจ) ล่างตง(埌东新区)

ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของนครหนานหนิง เป็นย่านธุรกิจ สำนักงาน แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของนครหนานหนิง เป็นพื้นที่ที่มีระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีการพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์สูงที่สุดพื้นที่หนึ่งของนครหนานหนิง

ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสถานกงสุลต่างประเทศในนครหนานหนิง ซึ่งในชั้นนี้ มีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา

ทางการหนานหนิงวางแผนให้เขตนี้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของนครหนานหนิง โดยนอกจากเป็นที่ตั้งของสถานีรถขนส่ง (บขส.) ในปัจจุบันแล้ว ในอนาคต จะเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูง (เชื่อมระหว่างเมือง และข้ามมณฑล)

กล่าวได้ว่า “เขตเมืองใหม่ล่างตง” จะเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของนครหนานหนิงในอนาคต

1.3 เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง(五象新区)

ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของนครหนานหนิง มีพื้นที่ 175 ตร.กม.เป็นเขตใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของนครหนานหนิง โดยได้รับการกำหนดให้เป็นที่ตั้งของที่ทำการของหน่วยงานราชการ พื้นที่โลจิสติกส์ และพื้นที่พักผ่อนแห่งใหม่ของเมือง

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบ

2. เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou)

เป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมณฑล มีบทบาทสำคัญภาคอุตสาหกรรม โดยเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์และเครื่องจักรวิศวกรรมก่อสร้าง” ที่ใหญ่ที่สุดของกว่างซี

ทำเลที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมณฑล ด้านเหนือติดมณฑลหูหนาน ด้านใต้ติดเมืองหลายปิน ด้านตะวันออกติดเมืองกุ้ยหลิน และด้านตะวันตกติดเมืองเหอฉือ

เมืองหลิ่วโจว มีพื้นที่ 18,618 ตร.กม. โดยเป็นพื้นที่้เขตเมือง 1,214 ตร.กม. มีประชากรรราว 3.7 ล้านคน (ปี 54) แบ่งการปกครองออกเป็น 4 เขต 6 อำเภอ

อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีเมือง ได้แก่ ถลุงโลหะ เคมีภัณฑ์ ผลิตยา ผลิตน้ำตาล ผลิตกระดาษ วัสดุก่อสร้าง และสิ่งทอ

เมืองหลิ่วโจวเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัดระยอง

3. เมืองกุ้ยหลิน (Guilin)

เป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของมณฑล ในอดีตเคยเป็น “เมืองเอก” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก จากที่มีทัศนียภาพที่งดงาม ประหนึ่ง “ภูผาธารา หนึ่งในใต้หล้า”

กุ้ยหลิน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑล ด้านเหนือและตะวันออกติดมณฑลหูหนาน ด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ติดเมืองหลายปิน ด้านใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดเมืองอู๋โจวและเมืองเฮ่อโจว มีขนาดพื้นที่ 2.78 หมื่น ตร.กม. มีประชากร 4.9 ล้านคน (ปี 53)

นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว อุตสาหกรรมสำคัญของเมือง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม (เบียร์) ตลอดจนเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงกุ้ยหลิน

4. เมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้ : เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว และเมืองเป๋ยไห่

เมืองท่าสำคัญของเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ทั้ง 3 เมืองได้รับการกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน ดังนี้

เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ ด้านเหนือติดนครหนานหนิง (ห่างจากเขตเมืองหนานหนิงประมาณ 180 กิโลเมตร) ด้านตะวันออกติดเมืองชินโจว ด้านตะวันตกติดประเทศเวียดนาม มีขนาดพื้นที่ 6,173 ตร.กม. ประชากร 9.3 แสนคน (ปี 55) แบ่งการปกครองออกเป็น 2 เขต 1 อำเภอ และ 1 อำเภอระดับเมือง

ฝางเฉิงก่างนี้มีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง กล่าวคือ เป็นที่ตั้งของท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกว่างซี ระยะทาง 8 กิโลเมตร (มีเส้นทางเดินเรือตรงสู่ประเทศไทย) และมีพรมแดนติดประเทศเวียดนามทั้งทางบก (อำเภอระดับเมืองตงซิง) และทางทะเล และเป็นแหล่งนำเข้าส่งออกสินค้าเทกองที่สำคัญ (สินแร่ ถ่านหิน และวัสดุก่อสร้าง) ของพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศจีน

เมืองชินโจว (Qinzhou) ตั้งอยู่ตรงกลางของเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ ด้านเหนือติดนครหนานหนิง (ห่างจากเขตเมืองหนานหนิงประมาณ 120 กิโลเมตร) ด้านตะวันออกติดเมืองเป๋ยไห่ ด้านตะวันตกติดเมืองฝางเฉิงก่าง มีขนาดพื้นที่ 10,843 ตร.กม. มีประชากร 3.7 ล้านคน (ปี 53) แบ่งการปกครองออกเป็น 2 เขต 2 อำเภอ

“ชินโจว” มีท่าเรือน้ำลึกธรรมชาติ เป็นเมืองได้รับการกำหนดให้เป็นจุดนำเข้า แปรรูป และสำรองน้ำมันปิโตรเลียมของเขตฯ กว่างซีจ้วง

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ “ท่าเรือสินค้าทัณฑ์บนเมืองชินโจว” สำหรับการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (แห่งที่ 5 ของประเทศจีน) และศูนย์กลางการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ (ศูนย์กระจายเหล้าไวน์นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

และล่าสุด ทางการจีนได้ร่วมกับทางการมาเลเซียจัดตั้ง “เขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย” ณ เมืองชินโจว โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนแห่งที่ 3 ต่อจากนิคมอุตสาหกรรมจีน (ซูโจว) -สิงคโปร์ และเมืองนิเวศจีน (เทียนจิน)-สิงคโปร์

เมืองชินโจวและจังหวัดสมุทรสาครได้สถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกันตั้งแต่ปี 2550

เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ ด้านเหนือติดเมืองชินโจว เมืองตะวันออกเฉียงเหนือติดเมืองยวี่หลิน ด้านตะวันออกติดเมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง มีขนาดพื้นที่ 3,337 ตร.กม. มีประชากร 1.6 ล้านคน (ปี 53) แบ่งการปกครองออกเป็น 3 เขต 1 อำเภอ

นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวริมทะเลแล้ว เป๋ยไห่ยังได้รับการกำหนดบทบาทเป็น“ซิลลิคอน วัลเล่ย์แห่งอ่าวเป่ยปู้” (ฐานอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์)

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมเด่นอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ฐานผลิตของ Sinopec) และอุตสาหกรรมวัสดุใหม่

เมืองเป๋ยไห่ เป็นที่ตั้งอยู่ “เขตนิคมแปรรูปเพื่อการส่งออกเมืองเป๋ยไห่”

เมืองเป๋ยไห่และอำเภอหาดใหญ่ ได้สถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกันตั้งแต่ปี 2548

5. เมืองฉงจั่ว (Chongzuo)

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ด้านตะวันออกติดนครหนานหนิง ด้านเหนือติดเมืองไป่เซ่อ ด้านใต้และตะวันตกติดประเทศเวียดนาม

เป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญของมณฑล เป็น “ถนนสู่อาเซียน” โดยสามารถเชื่อมต่อกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผ่านเส้นทาง R8 R9 และ R12

ฉงจั่วมีชายแดนด้านใต้และตะวันตก) ติดกับประเทศเวียดนาม ยาว 533 กิโลเมตร โดยมีด่านชั้นหนึ่ง (ด่านสากล) 3ด่าน ด่านชั้นสอง ( จุดผ่อนปรนกับประเทศเพื่อนบ้าน) 4 ด่าน และตลาดการค้าชายแดน 15 แห่ง

อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (Pingxiang) เป็นอำเภอที่มีความสำคัญของเมืองฉงจั่ว และเขตฯ กว่างซีจ้วง ในฐานะ “เมืองหน้าด่าน” หรือ “ประตูสู่อาเซียน” เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างนครหนานหนิงกับกรุงฮานอย (ห่างจากนครหนานหนิงและกรุงฮานอย 160 และ 172 กิโลเมตร) ในการนี้ อำเภอผิงเสียงจึงปริมาณการค้าระหว่างประเทศ

ด่านสากลที่มีชื่อเสียงของอำเภอฯ ผิงเสียง คือ ด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border) และด่านระดับ 2 คือ ด่านผู่จ้าย (Puzhai Border)

นอกจากนี้ ผิงเสียงยังเป็นที่ตั้งของ “เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการผิงเสียง” และเขตความร่วมมือข้ามชาติจีน-เวียดนามอีกด้วย

ปัจจุบัน เทศบาลเมืองฉงจั่วกำลังผลักดันการสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ณ เมืองฉงจั่ว

เมืองฉงจั่วกับจังหวัดมุกดาหาร ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกันตั้งแต่ปี 2554

นิคมอุตสาหกรรมของกว่างซี

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านการอนุมัติ 31 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 18,802 เฮกตาร์ อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วเพียง 15.373 เฮกตาร์ นิคมอุตสาหกรรมของกว่างซี หลักๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology Development Zone)

เรียกสั้นๆ ว่า “นิคมไฮเทค” เป็นเขตพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนในระดับประเทศ มีอยู่ 4 แห่ง ตั้งอยู่ในนครหนานหนิง เมืองกุ้ยหลิน เมืองเป๋ยไห่ และเมืองหลิ่วโจว มีอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ ยาและเวชภัณฑ์ โลหะนอกกลุ่มเหล็ก วัสดุใหม่ อะไหล่ยานยนต์ อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเชิงบูรณาการ (Economy and Technology Development Zone)

เป็นเขตพัฒนาระดับมณฑลหรือระดับเมือง มีอยู่ 21 แห่ง ตั้งอยู่กระจายตามหัวเมืองสำคัญ มีอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรทางการเกษตร วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องจักรวิศวกรรมก่อสร้าง แปรรูปอลูมิเนียม ผลิตยา ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ แปรรูปอาหาร ถลุงโลหะ แปรรูปโลหะนอกกลุ่มเหล็ก สิ่งทอ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นต้น

3. เขตพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก (Export-Oriented Economy Development Zone)

เป็นเขตความร่วมมือข้ามมณฑล/ข้ามประเทศ เน้นการผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่เมืองที่มีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้ง (ท่าเลียบชายฝั่งทะเล/เลียบฝั่งแม่น้ำ/เลียบแนวพรมแดน) ได้แก่ เมืองเป๋ยไห่ เมืองอู๋โจว อำเภอระดับเมืองผิงเสียง และอำเภอระดับเมืองตงซิง มีอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เครื่องจักรทางการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตยา เคมีภัณฑ์ อาหาร สิ่งทอ พลาสติก วัสดุไม้และเซรามิก เป็นต้น

นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ

เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงนครหนานหนิง (Nanning High-Technology Development Zone)

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเป็นเขตพัฒนาระดับชาติเมื่อปี 2535 มีพื้นที่รวม 43.7 ตร.กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง

จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในเมืองศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ทำให้มีความได้เปรียบด้านการคมนาคมขนส่ง ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟและท่าเรือแม่น้ำเพียง 3 กม. ห่างจากใจกลางเมือง 4 กม. ห่างจากสนามบิน 30 กม. ห่างจากท่าเรือเมืองชินโจว 104 กม. ห่างจากท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง 204 กม. และห่างจากด่านโหย่วอี้กวาน(ด่านพรมแดนจีน-เวียดนาม) 210 กม. หากใช้ทางหลวงพิเศษใช้เวลาเดินทางเพียง 1-2 ชม.

อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยาชีวภาพ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mechatronics) และอะไหล่ยานยนต์ การ์ตูนแอนนิเมชั่น และเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจ Top500 ของโลก และวิสาหกิจชั้นนำระดับประเทศเข้าลงทุนจำนวนมาก

เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองกุ้ยหลิน (Guilin High-Technology Development Zone)

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเป็นเขตพัฒนาระดับชาติเมื่อปี 2534 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองกุ้ยหลิน

การคมนาคมมีความสะดวก ใช้ทางหลวงพิเศษเดินทางสู่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไม่ถึง 5 ชั่วโมง และเดินทางสู่นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ใช้เวลา 5 ชั่วโมงกว่า

อุตสาหกรรมเสาหลัก 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมไอทีอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 35) อุตสาหกรรมยาชีวภาพ (สัดส่วนร้อยละ 22) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 18)อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ (สัดส่วนร้อยละ 17) และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สัดส่วนร้อยละ 6)

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจจากทัังในและต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) เข้าจัดตั้งกิจการแล้วกว่าพันราย

เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองเป๋ยไห่ (Beihai High-Technology Development Zone)

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เป็นนิคมระดับมณฑล ต่อมาในปี2549 ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลมณฑลและรัฐบาลกลางในการปฏิรูปและควบรวมพื้นที่กับนิคมอุตสาหกรรมอีกแห่ง เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมระดับชาติ มีพื้นที่ 328.67 เฮกตาร์ ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองเป๋ยไห่

รูปแบบดำเนินการ แบ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมย่อย ได้แก่ เขตบริหารจัดการส่วนกลาง (พื้นที่ 250.8 เฮกตาร์) สวนเทคโนโลยีมหาสมุทร (พื้นที่ 12.6 เฮกตาร์) สวนอุตสาหกรรมยาชีวภาพ (พื้นที่ 22.7 เฮกตาร์) สวนเทคโนโลยีซอฟแวร์และอิเล็กทรอนิกส์ (พื้นที่ 36.7 เฮกตาร์) และสวนเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (พื้นที่ 5.9 เฮกตาร์)

จุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งอยู่ในเมืองท่ารอบอ่าวเป่ยปู้ ทำให้การขนส่งขนย้ายมีความสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมือง 2 กม. ห่างจากท่าเรือเมืองเป๋ยไห่ 3 กม. ห่างจากสถานีรถไฟ 1.5 กม. และห่างจากสนามบิน 20 กม.

อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุปกรณ์ต่อเรือ เครื่องจักรสมัยใหม่ วัสดุใหม่ พลังงานทดแทน และการแปรรูปทรัพยากร

เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou High-Technology Development Zone)

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 และได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเป็นเขตพัฒนาระดับชาติเมื่อปี 2553 ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลิ่วโจว

อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (เช่น อินเดียม ดีบุก และไทเทเนียม) เพื่อใช้นำไปต่อยอดสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น หลอด LED ประหยัดพลังงาน และฟิล์มสำหรับแบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้ มีการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเสริมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมไอทีอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยาชีวภาพ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจเข้าจัดตั้งกิจการแล้วหลายร้อยราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจจากในประเทศ

 

การคมนาคมและโลจิสติกส์

ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความทันสมัย สามารถเชื่อมต่อกับมณฑลข้างเคียงและประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างสะดวกรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งทางบก (ถนน รถไฟ) ทางน้ำ (แม่น้ำ และทะเล) และทางอากาศ

 

การคมนาคมทางถนน

ในแต่ละปี รัฐบาลกว่างซีจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้าง ขยาย และปรับปรุงโครงข่ายการขนส่งทางบกให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยนำพาความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางสังคม

  • ทางหลวงพิเศษ (Expressway)

ทางหลวงพิเศษสายแรก เริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 จนถึงปัจจุบัน (1 มกราคม 2567) มีทางหลวงพิเศษที่ใช้งานแล้ว 9,067 กิโลเมตร ทั้งนี้ ใน แผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษเขตฯ กว่างซีจ้วง ระยะ 12 ปี(广西壮族自治区高速公路网规划 (ค.ศ. 2018 – ค.ศ. 2030)) เขตฯ กว่างซีจ้วงจะมีทางหลวงพิเศษ 15,200 กิโลเมตร

  • ถนนระหว่างประเทศ

ถนนเชื่อมประเทศเวียดนาม ซึ่งมีพรมแดนติดกัน (สามารถเชื่อมประเทศไทยด้วยถนน R8 จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ / ถนนR9 จังหวัดมุกดาหาร และถนน R12 จังหวัดนครพนม) ผ่านด่านสากลทางบกระหว่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านตงซิง ด่านหลงปัง และด่านสุยโข่ว

R9 :  เขตฯ กว่างซีจ้วง มุกดาหาร (สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2)

เส้นทางที่ 1 ระยะทาง 1,066 กิโลเมตร ด่านมุกดาหาร – เข้าสปป.ลาว ถนน R9 ณ ด่านสะหวันนะเขต แขวงสะหวันนะเขต – ด่านแดนสะหวัน (Dansavanh) – เข้าเวียดนาม ด่านลาวบาว (Lao Bao) อ.ลาวบาว จ.กวางตริ (Quang Tri) และตัดเข้าถนนหมายเลข 1A ที่ อ.ดงฮา (Dong Ha) จ.กวางตริ (Quang Tri) – กรุงฮานอย – จ. ลางเซิน (Lang Son) ที่ด่าน Huu Nghi – เข้าสู่ประเทศจีน ด่านโหย่วอี้กวาน เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง

เส้นทางที่ 2 ระยะทาง 852 กิโลเมตร ด่านมุกดาหาร – เข้าสปป.ลาว ถนน R9 ณ ด่านสะหวันนะเขต แขวงสะหวันนะเขต – ตัดเข้าถนน R13 ไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน – หลักซาว แขวงบอลิคำไซ – ด่านนาพาว (Na Phao) – เข้าสู่เวียดนามที่ด่านจาลอ (Cha Lo) จ. กวางบิงห์ (Quang Binh) – เมืองวินห์ จ. เงอาน (Nghe An) และตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 1A  – กรุงฮานอย – จ. ลางเซิน (Lang Son) ที่ด่าน Huu Nghi – เข้าสู่ประเทศจีน ด่านโหย่วอี้กวาน เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง

R12 : เขตฯ กว่างซีจ้วง นครพนม (สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3)

เส้นทางที่ 1 ระยะทาง 745 กิโลเมตร ด่านนครพนม – เข้าสู่ สปป.ลาว ที่ด่านท่าแขก เมืองแขก แขวงคำม่วน วิ่งบนถนน R13 ก่อนตัดเข้าสู่ R12 ที่เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ – ด่านน้ำพาว (Nam Phao) – เข้าสู่เวียดนามที่ด่านเกาแจว (Cau Treo) จ.ฮาติง (Ha Tinh) – เมืองวินห์ จ. เงอาน (Nghe An) และตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 1A  – กรุงฮานอย – จ. ลางเซิน (Lang Son) ที่ด่าน Huu Nghi – เข้าสู่ประเทศจีน ด่านโหย่วอี้กวาน เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง

เส้นทางที่ 2 ระยะทาง 788 กิโลเมตร ด่านนครพนม – เข้าสู่ สปป.ลาว ที่ด่านท่าแขก เมืองแขก แขวงคำม่วน วิ่งบนถนน R13 ก่อนตัดเข้าสู่ R12 ที่เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ – ด่านนาพาว (Na Phao) – เข้าสู่เวียดนามที่ด่านจาลอ (Cha Lo) จ. กวางบิงห์ (Quang Binh) – เมืองวินห์ จ. เงอาน (Nghe An) และตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 1A  – กรุงฮานอย – จ. ลางเซิน (Lang Son) ที่ด่าน Huu Nghi – เข้าสู่ประเทศจีน ด่านโหย่วอี้กวาน เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง

R8 : เขตฯ กว่างซีจ้วง หนองคาย (สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1) / บึงกาฬ (กำลังสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5)

เส้นทางที่ 1 ระยะทาง 908 กิโลเมตร ด่านหนองคาย – เข้าสู่ สปป.ลาว เมืองหาดทรายฟอง เวียงจันทน์ วิ่งบนถนนหมายเลข 13 ก่อนตัดเข้าสู่ R8 ที่เมืองเวียงคำ แขวงบอลิคำไซ – เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ – ด่านน้ำพาว (Nam Phao) – เข้าสู่เวียดนามที่ด่านเกาแจว (Cau Treo) จ.ฮาติง (Ha Tinh) – เมืองวินห์ จ. เงอาน (Nghe An) และตัดเข้าสู่ถนนหมายเลข 1A  – กรุงฮานอย – จ. ลางเซิน (Lang Son) ที่ด่าน Huu Nghi – เข้าสู่ประเทศจีน ด่านโหย่วอี้กวาน เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง

 

การคมนาคมทางราง

ระบบการขนส่งระบบราง เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่โลจิสติกส์ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในแต่ละปี รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลได้สนับสนุนเงินลงทุนมูลค่ามหาศาล เพื่อก่อสร้างและเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง เพื่อการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า เนื่องจากระบบรางมีจุดแข็งเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนส่งทางรถยนต์ และเรื่องความปลอดภัย

  • รถไฟฟ้าใต้ดิน (นครหนานหนิง)

ปี 2545 นครหนานหนิงได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดิน ต่อมาในปี 2548 ได้เริ่มแผนงานพัฒนาการคมนาคมระบบรางในเมือง และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission – NDRC) เมื่อปี 2551

ปัจจุบัน นครหนานหนิง เป็นเมืองเดียวของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีบริการรถไฟความเร็วสูง ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567 นครหนานหนิงมีรถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการแล้ว 5 สาย (หมายเลข 1 – 5 โดยสาย 5 เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินไร้คนขับ) และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สาย (หมายเลข 6) ดำเนินกิจการโดยรัฐวิสาหกิจ Nanning Rail Transit Co., Ltd หรือ NNRT (南宁轨道交通集团有限责任公司)

  • รถไฟความเร็วสูง

เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นเขตปกครองตนเองแห่งแรกจาก 5 เขตปกครองของจีนที่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยรถไฟความเร็วสูงสายแรกของกว่างซีเริ่มให้บริการเมื่อปลายปี 2555 จนถึงปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงในกว่างซีได้เชื่อม 13 เมืองจากทั้งหมด 14 เมือง ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีทางรถไฟความเร็วสูง 2,221 กิโลเมตร (อันดับ 9 ของประเทศ อันดับ 1 ของภาคตะวันตก) ทั้งนี้ เมืองยวี่หลิน เป็นเมืองสุดท้ายที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

  • รถไฟระหว่างประเทศ (สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า)

เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นมณฑลแรกของจีนที่มีเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมกับอาเซียน (เวียดนาม) เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2493 เริ่มต้นจากนครหนานหนิง –เมืองระดับอำเภอผิงเสียง – จังหวัดลางเซิน (Lang Son) และสิ้นสุดที่สถานี Gia Lam กรุงฮานอย มีความยาว 401 กิโลเมตร โดยแยกเป็น 2 เส้นทางสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า ดังนี้

(1) ด่านรถไฟผิงเสียงสำหรับผู้โดยสาร ใช้ระยะเวลาเดินทาง 13 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นรถไฟธรรมดาและใช้เวลานานในการตรวจเอกสารบริเวณด่านพรมแดนราว 4 ชั่วโมง (หยุดให้บริการตั้งแต่ช่วงโควิด-19)

(2) ด่านรถไฟผิงเสียงสำหรับสินค้า มีความสำคัญในฐานะ “ด่านนำเข้าผลไม้ไทยทางรถไฟ” เริ่มต้นจากท่าสถานีรถไฟด่งดัง (Dongdang Railway Port) จ.ลางเซิน เวียดนาม – ด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง มีระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งราว 1 ชั่วโมง สามารถขนส่งได้สูงสุดเที่ยวละ 25 ตู้คอนเทนเนอร์

กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็น 1 ใน “ฮับ” สำคัญของโครงข่ายเส้นทางรถไฟของจีนเชื่อมกับเวียดนาม โดยหัวเมืองสำคัญ ต่าง ๆ ในจีนสามารถเดินทาง/ขนส่งสินค้าทางรถไฟกับอาเซียน (เวียดนาม) ผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของกว่างซี

 

การคมนาคมทางน้ำ (แม่น้ำ และทะเล)

เขตฯ กว่างซีจ้วงได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลและท่าเรือเลียบแม่น้ำ ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ “เขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้” และ “แถบเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำซีเจียง” พร้อมทั้งบูรณาการระบบโครงข่ายคมนาคมด้านอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

  • กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย)

เขตฯ กว่างซีจ้วงมีเส้นแนวชายฝั่งทะเลยาว 1,629 กิโลเมตร มีท่าเรือ 3 แห่งใน 3 เมืองท่า ดำเนินกิจการโดยรัฐวิสาหกิจ Guangxi Beibu Gulf Port Group (广西北部湾国际港务集团有限公司) โดยกลุ่มท่าเรือนี้ได้ปฏิรูปโครงสร้างและบูรณาการทำงานร่วมกัน ภายใต้โมเดล “1 แกน 2 ปีก” กล่าวคือ มีท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port) เป็นท่าเรือแกนหลัก และมีท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port) และท่าเรือเป๋ยไห่ (Beihai Port) เป็นปีกฝั่งซ้ายและฝั่งขวา

ปัจจุบัน ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีความสำคัญในฐานะจุดเชื่อมโยงกรอบยุทธศาสตร์ BRI และเป็นข้อต่อสำคัญของ ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ภายใต้โมเดล “ราง+เรือ” ซึ่งปัจจุบัน รถไฟสามารถวิ่งเข้าไปถึงเขตปฏิบัติการท่าเรือทุกแห่งแล้ว เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุดสำหรับมณฑลตอนในและภาคตะวันตกของจีน

  • ท่าเรือแม่น้ำ (เส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง)

รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 10 ปี จะเร่งพัฒนาระบบงานขนส่งผ่านแม่น้ำทั่วประเทศจีนให้ทันสมัย คล่องตัว มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแม่น้ำที่ได้รับการขนานนามเป็นแม่น้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง (Xi River)

แม่น้ำซีเจียงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเพิร์ล (Zhu River) มีจุดกำเนิดจากมณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว ไหลพาดผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง และออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลที่มณฑลกวางตุ้ง จึงถือเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของพื้นที่ภาคตะวันตก เป็นแม่น้ำที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากแม่น้ำแยงซี (ที่ไหลออกสู่ทะเลที่นครเซี่ยงไฮ้)

เมื่อปี 2551 รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงได้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา “แม่น้ำซีเจียง” ให้มีศักยภาพด้านการขนส่งสินค้า เชื่อมโยง 7 เมืองสำคัญของกว่างซี ได้แก่ เมืองไป่เซ่อ (Baise City) เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City) เมืองหลายปิน (Laibin City) เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City) นครหนานหนิง (Nanning City) เมืองกุ้ยก่าง (Guigang City) และเมืองอู๋โจว (Wuzhou City) ระยะทางรวม 1,480 กิโลเมตร ครอบคลุมปริมาณการขนส่งทางแม่น้ำร้อยละ 90 ของกว่างซี โดยมีท่าเรือหลัก 3 แห่ง คือ ท่าเรือแม่น้ำหนานหนิง ท่าเรือแม่น้ำกุ้ยก่าง และท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว

 

การคมนาคมทางอากาศ

ปัจจุบัน กว่างซีมีท่าอากาศยาน 7 แห่ง แบ่งเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง และท่าอากาศยานภายในประเทศ 6 แห่ง และอยู่ระหว่างผลักดันการก่อสร้างอีก 3 แห่ง

เขตฯ กว่างซีจ้วงได้วางตำแหน่ง (Positioning) ตนเองในการเป็น “ฮับ” ศูนย์กลางการบินสู่อาเซียน โดยมี ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport) เป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมณฑล ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง อยู่ห่างจากตัวเมือง 27.8 กิโลเมตร มีอาคารผู้โดยสารหมายเลข 2 (Terminal 2) เป็นอาคารหลัก เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 และอยู่ระหว่างการวางแผนขยายรันเวย์เพิ่มและอาคารผู้โดยสารหมายเลข 3 (Terminal 3) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 (อาคารผู้โดยสารหมายเลข 1 ได้หยุดการใช้งานไปแล้ว)

สถิติที่น่าสนใจของ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ประจำปี 2566

  • ผู้โดยสาร จำนวน 13.69 ล้านคน (+105.6%) อันดับ 30 ของประเทศ จากทั้งหมด 260 แห่ง
  • สินค้า น้ำหนัก 189,000 ตัน (+24.7%) อยู่ในอันดับ 27 ของประเทศ
  • สินค้าระหว่างประเทศ น้ำหนัก 87,200 ตัน (+22.5%) อยู่ในอันดับ 15 ของประเทศ
  • เครื่องบินขึ้น-ลง จำนวน 109,751 เที่ยว (+66.0%)
  • เที่ยวบิน 168 เส้นทาง เป็นเส้นทางบินในประเทศ 145 เส้นทาง (96 เมือง) และเที่ยวบินนอกจีนแผ่นดินใหญ่ 23 เส้นทาง

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้เปิดใช้งาน ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน หรือ GTC (Ground Transportation Centre) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและงานโลจิสติกส์แล้ว โดย GTC จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแบบไร้รอยต่อสำหรับบริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ทั้งสนามบิน รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง (เส้นทาง “นครหนานหนิง-ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวี-เมืองฉงจั่ว)

 

เศรษฐกิจ

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • ได้รับการกำหนดให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของจีน มีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและการมีชายแดนติดกับเวียดนามกว่า 1,020 กม.
  • เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาระดับชาติ อาทิ งานแสดงสินค้าอาเซียน (China-ASEAN Expo) แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ (Guangxi Beibu-Gulf Economic Zone) แผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก (Go West Policy) และย่านการเงินจีน-อาเซียน (China-ASEAN Financial Hub)
  • เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของมณฑลทางภาคตะวันตกกับต่างประเทศ ด้วยโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) และเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC)
  • เป็นที่ตั้งของ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ในบัญชีรายชื่อชุดที่ 6 ของจีน โดยกำหนดพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีอยู่ใน 3 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน) เน้นส่งเสริมการพัฒนาสาขาธุรกิจที่แตกต่างกันตามจุดเด่นของเมืองนั้นๆ
  • เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” จากเวียดนามและไทยที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศจีน เนื่องจากมีพรมแดนติดเวียดนามและเส้นทางถนนเชื่อมกับภาคอีสานของไทย (อาทิ R8 R9 และ R12) ซึ่งสามารถนำเข้าทั้งทางรถบรรทุก และรถบรรทุก+รถไฟ
  • เป็นที่ตั้งของ “กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” ท่าเรือทะเลแห่งเดียวของภาคตะวันตก ประกอบด้วย ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ ปัจจุบัน มีบริการเที่ยวเรือระหว่างท่าเรือชินโจว-ท่าเรือแหลมฉบัง
  • มีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ด้านภาษาไทย โดยมีสถาบันการศึกษากว่า 20 แห่ง ที่เปิดสอนวิชาภาษาไทย ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในจีน ในแต่ละปีมีนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่ไทยประมาณ 3,000 คน
  • เป็นแหล่งผลิตและสำรองแร่ที่สำคัญของจีน อาทิ อะลูมิเนียม แมงกานีส และแร่หายาก (rare earth)
  • เป็นแหล่งปลูกอ้อยและแปรรูปน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ปริมาณผลผลิตคิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ
  • เป็นมณฑลเกษตรกรรมและแหล่งปลูกพืชผักผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของจีน อาทิ ส้มประเภทต่างๆ ลิ้นจี่ และลำไย

นโยบายส่งเสริมการลงทุน

เขตฯ กว่างซีจ้วงได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมต่างๆ จากการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือในหลายระดับดังที่กล่าวข้างต้น

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเขตฯ กว่างซีจ้วง ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2559-2563) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging industry) 6 สาขา ภายใต้รหัส “3 ใหญ่ 3 ใหม่” ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ดึงดูดการลงทุน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของกว่างซี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น พื้นฐานอุตสาหกรรม ความได้เปรียบเชิงทรัพยากร นโยบายพิเศษของรัฐบาลกลางที่ให้กับภาคตะวันตกของจีน และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยตัวอุตสาหกรรมเอง

  1. อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “2H” (Happiness & Health) เช่น สุขภาพคนชรา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กีฬาสันทนาการ แอนิเมชัน อาหารเพื่อสุขภาพ การเกษตรที่ใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุเซเลเนียม การแพทย์ชีวภาพ
  2. เศรษฐกิจดิจิทัล (อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า) มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริการสมัยใหม่โดยอาศัยแพลตฟอร์มศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor- CAIH) เช่น บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง ดาวเทียมนำร่องเป่ยโต้ว การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์เฉพาะบุคคลด้วยภาพและเสียง เป็นต้น
  3. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการคมนาคมขนส่งในทุกมิติทั้งทางถนน รถไฟ ท่าเรือ และเครื่องบิน เช่น โลจิสติกส์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงินข้ามแดน เทคโนโลยีโลจิสติกส์อัจฉริยะ
  4. อุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ ตามเป้าหมาย Made in China 2025 มุ่งเน้นการผลิตที่มีคุณภาพเชิงลึก การผลิตอัจฉริยะ และการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ทั้งในโครงสร้างการผลิตดั้งเดิม (เช่น อุตสาหกรรมหนักเลียบชายฝั่งทะเล เหล็กกล้า ยานยนต์ เครื่องจักรกลที่ใช้ในการก่อสร้าง อ้อยและน้ำตาล หม่อนไหมและผ้าไหม และการแปรรูปไม้) และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (เช่น หุ่นยนต์ การพิมพ์ 3 มิติ อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ยานยนต์อัตฉริยะ อุปกรณ์อวกาศและอากาศยาน อุปกรณ์วิศวกรรมทางทะเล อุปกรณ์การคมนาคมทางรางสมัยใหม่ การบริการด้านเทคโนโลยี และการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม)
  5. อุตสาหกรรมวัสดุสมัยใหม่ มุ่งส่งเสริมการผลิตวัสดุสมัยใหม่ที่มีสมรรถนะสูง มีฟังก์ชันสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยาน นิวเคลียร์ ระบบรางสมัยใหม่ ทะเลและมหาสมุทร และมุ่งส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุใหม่ เช่น วัสดุนำความร้อน กราฟีน (graphene) วัสดุอโลหะที่มีคุณภาพสูง (เช่น การแปรรูปอะลูมิเนียมเชิงลึก แร่หายาก นาโนแคลเซียมคาร์บอเนต วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอัลลอยด์)
  6. อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน และรถยนต์พลังงานทางเลือก เช่น รถยนต์พลังงานทางเลือกและอะไหล่ยานยนต์ (เช่น แบตเตอรี และเครื่องยนต์ขับเคลื่อน) พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานทะเล เทคโนโลยีพลังงานชีวมวล เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน)

ตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจ

กลับหน้าหลัก

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน