กว่างโจวพัฒนาแบบยั่งยืน กำหนดทิศทางการพัฒนาของแต่ละเขต
1 Feb 2021อย่างที่ทราบกันว่านครกว่างโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำจูเจียง (River Pearl Delta) โดยรัฐบาลจีนให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองดังกล่าวให้มีความเจริญทางด้านเศษฐกิจ การลงทุน และเป็นประตูการค้าที่สำคัญทางตอนใต้ของจีน อีกทั้ง ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งรัฐบาลนครกว่างโจวได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงเขตต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาเมืองโดยกำหนดจุดเด่นของแต่ละเขต
เมื่อปี ค.ศ. 1954 คณะกรรมการก่อสร้างนครกว่างโจว (Guangzhou Urban Construction Committee (GUCC)) ได้เริ่มร่างแผนหลักของการพัฒนานครกว่างโจวให้มีความทันสมัย โดยเน้น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) หาที่ตั้งศูนย์กลางของเมือง 2) การขยายพื้นที่เมืองไปในเขตต่าง ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1980 ได้เริ่มมีการพัฒนาเมืองโดยกำหนดจุดเด่นของแต่ละเขต เช่น พัฒนาเมืองชั้นในให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและกิจกรรมระหว่างประเทศ เขตเทียนเหอ เป็นศูนย์กลางด้านกีฬา การศึกษาและการวิจัย และเขตหวงผู่ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี นวัตกรรมและเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองโดยดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมกวางตุ้งและคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสามารถเห็นตัวอย่างได้จากรูปแบบการปรับปรุงพื้นที่ลี่จือวาน หรือหากแปลเป็นไทยคือ อ่าวลิ้นจี่
“ลี่จือวาน” พื้นที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานในเมืองศิวิไล
ลี่จือวานตั้งอยู่ในเขตลี่วานของนครกว่างโจว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติยาวนานกว่า 2,000 ปี มีแม่น้ำไหลผ่านตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นและเริ่มเพาะปลูกลิ้นจี่มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง อย่างไรก็ดี ในช่วงปี ค.ศ. 1970 – 1980 ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้มีการทำอุตสาหกรรมมากขึ้น และพบปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นตัดสินใจถมแม่น้ำและสร้างถนนขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลท้องถิ่นได้ประกาศเริ่มโครงการปรับปรุงคุณภาพแม่น้ำและทัศนียภาพของลี่จือวาน ที่รวมถึงอ่าวลิ้นจี่ (Lizhiwan Bay) และแม่น้ำที่เรียกว่า ลี่จือวานชง (Lizhiwan Chong) ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่พลิกโฉมหน้าลี่จือวานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้เน้น 4 ด้านหลักในการปรับปรุงและฟื้นฟูลี่จือวานให้กลับมามีชีวิตชีวาและเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่งดงามตามแบบกวางตุ้ง คือ 1) การฟื้นคืนลี่จือวานชง โดยขุดร่องแม่น้ำที่ไหลผ่านลี่จือวานขึ้นมาอีกครั้ง และเชื่อมแม่น้ำสายนี้กับแม่น้ำสายหลักของเมืองด้วย 2) การลดความแออัดของอาคารและเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีการเก็บรักษาตึกโบราณไว้ร้อยละ 80 ของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และรื้อตึกบางส่วนเพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวในการทำสวนลิ้นจี่ตามแบบดั้งเดิมของลี่จือวาน 3) การอนุรักษ์และบูรณะสิ่งปลูกสร้างโบราณบริเวณริมแม่น้ำ โดยการซ่อมแซมอาคารโบราณและรื้ออาคารที่มีรูปแบบสมัยใหม่ รวมทั้งฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างตามวัฒนธรรมโบราณ เช่น เจดีย์ วัดเก่า และสวนสาธารณะ 4) สร้างถนนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยตั้งรูปปั้นแกะสลักและศาลาแบบโบราณตามแนวริมแม่น้ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่น ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 2019 หลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ได้มีนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 100,000 คน เดินทางมาเยี่ยมชมความงดงามและดื่มด่ำกับวัฒนธรรมกวางตุ้งที่ลี่จือวานในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนเมื่อปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่านักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการ และรับทานอาหารในพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของนครกว่างโจวที่มีเมืองโบราณซึ่งคงความเก่าแก่ในแบบที่ดูทันสมัย ควรค่าแก่การเดินทางมาเยี่ยมชมแห่งนี้
การปรับปรุงทัศนียภาพและฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างโบราณในลี่จือวานไม่เพียงเป็นการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม แต่เป็นการสืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนและพื้นที่ และยังแสดงให้เห็นว่า การรื้อเขตโบราณและสร้างอาคารรูปแบบใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานให้เช่านั้นไม่ใช่หนทางเดียวในการสร้างรายได้ และการสร้างความเจริญก้าวหน้า แต่เราสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อม ๆ กับการสืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ โครงการการพัฒนาเมืองโดยกำหนดจุดเด่นยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนจากการท่องเที่ยว ขายสินค้าและอาหารอีกด้วย ซึ่งเป็นโมเดลที่น่าสนใจในการนำไปปรับใช้กับประเทศที่มีชุมชนเก่าแก่ โดยเพียงเรากำหนดทิศทางการพัฒนาและมองหาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ ก็สามารถทำให้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้นได้
——————————
นางสาวสวนีย์ โชติจิรพรรณ เขียน
1 กุมภาพันธ์ 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://widerimage.reuters.com/story/chinas-guangzhou-rides-economic-change-but-keeps-traditions
https://www.researchgate.net/publication/284831655_Changing_concepts_of_city_and_urban_planning_practices_in_Guangzhou_1949-2010_An_approach_to_sustainable_urban_development