ลู่ทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตลาดจีน : โอกาสที่เป็นจริง
5 Aug 2019มีหลายปัจจัยที่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปว่า โอกาสการขยายตลาดภาพยนตร์ไทยในจีน ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้สถานที่ถ่ายทำ โรงถ่ายทำ การใช้ทีมสตั๊นท์ ฯลฯ มีอนาคตที่สดใส ปัจจัยดังกล่าว มีอาทิ อัตราการเติบโตของตลาดภาพยนตร์ที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี การเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีมากขึ้น และที่สำคัญคือกระแสความนิยมภาพยนตร์ไทย ละครไทย และดาราไทย เพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด ในปี 2561 มีดาราไทยถึง 6 คนที่มีแฟนคลับชาวจีนติดตาม weibo (facebook เวอร์ชั่นจีน) มากกว่า 1 ล้านคน เช่น ไมค์ พิรัชต์, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก, พิช วงออกัส, ออม สุชาร์, มาริโอ้ เมาเร่อ และ บี้ KPN และในปี 2561 อีกเช่นกัน ที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ทำรายได้ใน box office ติดอันดับ 1 ยาวนานหลายสัปดาห์
ศูนย์ข้อมูลธรกิจไทยในจีนจึงขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนต์ในจีน
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีนน่าสนใจอย่างไร
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การบริโภคภาพยนตร์ การลงทุนในโรงภาพยนตร์และการสร้างภาพยนตร์ รวมทั้งการส่งออกภาพยนตร์ ตลาดภาพยนตร์ของจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ในปี 2018 มูลค่า box office อยู่ที่ 60.97 พันล้านหยวน หรือ 9.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.06 ในขณะที่ทำยอดจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62.2 จากปี 2017 ทั้งนี้ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 มูลค่า box office ของจีนมีมากกว่า 10 พันล้านหยวน หรือ 1.49 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2020 จีนจะกลายเป็นตลาดบันเทิงที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุดในโลก
จีนเริ่มเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้ขนาดตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันจีนมีโรงภาพยนตร์มากกว่าสหรัฐฯ จากข้อมูลในเดือนมีนาคม 2562 จีนมีจำนวนโรงภาพยนต์กว่า 44,400 แห่ง โดยเป็นโรงภาพยนตร์แบบ 3 มิติ 38,300 แห่ง ในขณะที่สหรัฐฯ มีจำนวนโรงหนังทั้งหมดเพียง 40,837 แห่ง การเติบโตและตลาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ ดึงดูดบริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน เช่น DreamWorks และ IMAX ของสหรัฐ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba และ Tencent เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตในตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม 5 บริษัทใหญ่ที่อยู่ใน box office ของจีน เป็นบริษัทจีนทั้งสิ้น ได้แก่ Operation Red Sea, Detective Chinatown, Dying to Survive, Hello Mr. Billionaire และ Hollywood’s solitary top-five contender Avengers: Infinity War
ข้อคิดควรรู้สำหรับผู้ประกอบการไทย
หากจะเข้ามาทำตลาดในอุตสาหกรรมบันเทิงของจีน ผู้ประกอบการควรจะมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะ รสนิยม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจีนมีเงื่อนไขและกฎระเบียบที่มากมายไม่ว่าจะเป็น ระบบจำกัดโควตาการนำภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาฉายในประเทศได้เพียงปีละ 34 เรื่อง สำหรับภาพยนตร์ต่างชาติที่นำเข้ามาฉายแบบแบ่งรายได้ (profit sharing) และยังมีหน่วยงานตรวจสอบภาพยนตร์ที่ชื่อว่า The State Administration of Radio, Film and Television, SARFT) ซึ่งจะทำการตรวจสอบภาพยนตร์ ละคร รายการโทรทัศน์ รวมถึง co-production ซึ่งจะต้องผ่านการคัดกรองและได้รับอนุญาตก่อนจะนำมาฉายในโรงภาพยนตร์จีนและทางโทรทัศน์ได้ สำหรับเนื้อหาต้องห้าม เช่น เนื้อหาที่อาจทำลายความเป็นปึกแผ่นของประเทศ ทำให้คนหลงเชื่อและงมงายในทางที่ผิด ทำลายศีลธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมอันดีงามของคนในชาติ จะไม่สามารถนำมาฉายได้ เช่น บิดเบือนประวัติศาสตร์จีนและประเทศอื่น ทำลายภาพลักษณ์ของผู้นำ เป็นต้น
สำหรับความนิยมของผู้บริโภคภาพยนตร์จีนนั้น หากแบ่งตามอายุ จะพบว่าผู้ชมภาพยนตร์จีนส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงอายุระหว่าง 19 – 30 ปี ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 และหากแบ่งตามระดับการศึกษาจะพบว่าผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีและเฉพาะสาขาวิชา ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ในขณะที่ประเภทของภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงจะเป็นแนว Action แนว Sci-Fi และแนว Romantic ประเทศของแหล่งที่มาของภาพยนตร์ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชม เนื่องจากให้ความสำคัญกับเนื้อหา
สำหรับภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนส่วนใหญ่จะเป็นแนวสยองขวัญ วัยรุ่น ตลก action โดยมีเด่นอยู่ที่เนื้อหาที่สื่อถึงความเป็นไทย การสอดแทรกวัฒนธรรมไทยลงไป นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่ยอมรับของจีน ในราคาที่ไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน production, post production ความนิยมในตัวนักแสดง ความหลากหลายของเนื้อหา การมีสถานที่ที่สวยงามและมีการอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ เป็นต้น
ความท้าทาย
ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังมีบางเรื่องที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น การขาดการสนับสนุนทางด้านเทคนิค เงินทุน และบุคลากรที่เชี่ยวชาญ จึงอาจทำให้ภาพยนตร์บางส่วนไม่สมจริง นอกจากนี้ หากบุคลากรของไทยทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมการทำงานของชาวจีน และฝึกฝนพูดภาษาจีน ก็จะทำให้การทำธุรกิจด้านนี้ราบรื่นขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวข้องทั้ง pre-production, post-production, co-production หรือนำเข้าหนังมาฉายนั้น ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การเปลี่ยนแปลงของกระแสทางการตลาดที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับชมภาพยนตร์ของผู้ชมชาวจีนที่เริ่มให้ความสนใจในการดูภาพยนตร์ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์สูงขึ้น เช่น Youku, Iqiyi, Tudou, TV Sohu ซึ่งทำให้รูปแบบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเปลี่ยนไปเช่นกัน อย่างการนำเสนอภาพยนตร์ในรูปแบบ on-demand (เหมือนกับ Netflix) การนำอินเทอร์เน็ตและ big data มาใช้ในการผลิต การทำตลาดและโฆษณา การจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในรูปแบบใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการขายสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ นอกเหนือทางโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์
บทสรุป : โอกาสที่เป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมหนังไทยในตลาดจีน เช่น การนำภาพยนตร์มาฉายผ่านช่องทางใหม่ ๆ เช่น ตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ของจีนไม่มีระบบกำหนดสัดส่วนคอนเทนต์(Quota) จากต่างประเทศ ช่องทางออนไลน์ (OTT – Over the Top) นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยโดยคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมี “แผนปฏิบัติการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการผลิต การตลาดและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนในการร่วมสร้างภาพยนตร์ระหว่างผู้ประกอบการของไทยและจีน ซึ่งจะได้รับการอนุญาตให้จัดฉายภายในจีนได้โดยไม่ต้องผ่านระบบโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ การจัดโครงการเดือนแห่งภาพยนตร์ไทยในตลาดจีนทั่วประเทศ และสนับสนุนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทย-จีนในเมืองต่างๆ ของจีน อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ กวางโจว คุณหมิง เฉิงตู หนานหนิง ซีอาน เซี่ยเหมิน ฮ่องกงและชิงต่าว เป็นต้น
โดยงาน Shanghai film festival 2019 นั้นได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยได้อาศัยเวทีนี้แนะนำภาพยนตร์ของตนเองและเจรจาธุรกิจการค้ากับจีน โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน 9 ราย และสร้างรายได้จากการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการจีนกว่า 2 พันล้านบาท (ข้อมูลจากการสอบถามกระทรวงวัฒนธรรมภายในงาน) ล่าสุดบริษัทไทย T&B Media Global กับบริษัทจีน คือ SMG Pictures & Wingsmedia ได้ร่วมมือสร้าง (co production) ภาพยนตร์เรื่อง Start It Up แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่สดใสของผู้ประกอบการไทย
ถึงแม้ตลาดภาพยนตร์จีนจะมีตลาดขนาดใหญ่ดึงดูดทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ทว่าการเข้ามาในตลาดจีนก็มีความท้าทายให้ผู้ประกอบการไทยต้องทำการศึกษา ปรับตัว และพัฒนาอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวของเทคโนโลยีที่มีส่วนให้รูปแบบของการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำจุดแข็งที่สำคัญคือการมีนักแสดงเป็นที่ชื่นชอบ คุณภาพการผลิตเป็นที่ยอมรับในราคาที่เหมาะสม การมีเนื้อหาภาพยนตร์ที่หลากหลายมาใช้ เนื่องจากผู้ชมชาวจีนให้ความสำคัญกับเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นหลัก ดังนั้นการตีโจทย์ตลาดที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการให้แตก (market demand driven) จะทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จได้ของตลาดจีนได้
จัดทำโดย
ดร. เจษฎาพัญ ทองศรีนุช นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ และศูนย์ BIC/ นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา
กระทรวงวัฒนธรรม. 2019. แผนปฏิบัติการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้, 28 ธันวาคม 2015, “กลยุทธ์บุกตลาดภาพยนตร์จีน (1) : รู้เขารู้เรา ยกทัพภาพยนตร์ไทยพิชิตตลาดจีน,” https://wordpress-575750-3895056.cloudwaysapps.com
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้, 18 กรกฎาคม 2016, “กลยุทธ์บุกตลาดภาพยนตร์จีน (2) : ไม่ยากอีกต่อไป! เผยเส้นทางการนำภาพยนตร์เข้ามาฉายในจีน,” https://wordpress-575750-3895056.cloudwaysapps.com
Deloitte. 2017. Report. “China’s Film Industry – a New Era”
National Association of Theater Owners (NATO). July 2018, https://www.quora.com/How-many-movie-theatres-are-in-America
Patrick Brzesk, 1 February 2019, “China Box Office Growth Slows to 9 Percent in 2018, Ticket Sales Reach $8.9B,”
https://www.hollywoodreporter.com/news/china-box-office-total-revenue-2018-1172725
Voicetv, 4 กันยายน 2017, “ตลาดหนังในจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ ภายในปี 2020,” https://www.voicetv.co.th/read/520999
Zhang Rui, 14 April 2019, “Beijing film festival releases big data on film industry,” http://www.china.org.cn/arts/2019-04/14/content_74679700.htm
สัมภาษณ์
สิรินาถ ถีนานนท์, นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการพิเศษ กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา, มิถุนายน 2019
น้ำทิพย์ แสงอ่อน, กระทรวงวัฒนธรรม, มิถุนายน 2019
ประมวลจากผู้ประกอบการของไทย 9 บริษัทภายในงาน, มิถุนายน 2019