รู้จักกับ “เขตหวงผู่” ศูนย์กลางเทคโนโลยีน้องใหม่ในนครกว่างโจว
14 Jan 2021เขตหวงผู่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของนครกว่างโจว มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 484.2 ตร.กม. โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รวมกับเขตหลัวกั่งตั้งแต่เมื่อปี 2557 ตามนโยบายปรับโครงสร้างประชากรและส่งเสริมการพัฒนาภายในพื้นที่ เนื่องจากเขตหวงผู่มีจำนวนประชากรและมูลค่าผลผลิตมากกว่าเขตหลัวกั่ง แต่หลังการรวม 2 เขตเข้าด้วยกันก็ยังคงใช้ชื่อเขตหวงผู่เนื่องจากเป็นชื่อที่มีประวัติยาวนานกว่า
เมื่อปี 2563 เขตหวงผู่เป็นเขตที่มีความสามารถทางการแข่งขันโดยภาพรวม (comprehensive competitiveness) สูงสุดเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 898 เขตในจีน ซึ่งการจัดอันดับเป็นการพิจารณาจากปัจจัย เช่น ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ เขตหวงผู่นับเป็นเขตพัฒนา (development zone) ที่มีสถิติติดอันดับต้น ๆ ของจีนและนครกว่างโจว เช่น มีค่าดัชนีสำหรับวัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการประกอบธุรกิจ และมีการมอบสิทธิบัตรด้านสิ่งประดิษฐ์แก่วิสาหกิจมากสุดในจีน อีกทั้งมีมูลค่าผลผลิต และมูลค่าการนำเข้าส่งออกสูงที่สุดในนครกว่างโจว
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลเขตหวงผู่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการสร้างเขตสาธิต (demonstration zone) ของมณฑลกวางตุ้งในด้าน IoTs และเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 5G และไม่นานมานี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาจีน (Chinese Academy of Science and Technology for Development) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมผลิตภาพนครกว่างโจว สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์นวัตกรรมนครกว่างโจว (Guangzhou Productivity Promotion Center (Guangzhou Innovation Strategy Research Institute)) และศูนย์วิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนครกว่างโจว (Guangzhou Science and Technology Development Research Center) รายงานดัชนีศักยภาพด้านนวัตกรรมของนครกว่างโจว ประจำปี 2563 ทั้งในภาพรวมและในระดับเขต พบว่า ในระหว่างปี 2553 – 2562 ดัชนีด้านนวัตกรรมของนครกว่างโจวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.86 ต่อปี ซึ่งดัชนีดังกล่าววัดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ทรัพยากรที่ส่งเสริมนวัตกรรม นวัตกรรมของวิสาหกิจ ศักยภาพด้านนวัตกรรม และสิ่งแวดล้อมสำหรับนวัตกรรม โดยปัจจัยทั้ง 4 ด้านที่มีผลต่อนวัตกรรมที่กล่าวข้างต้นล้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาในระดับเขต เมื่อปี 2562 เขตหวงผู่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมสูงที่สุดในนครกว่างโจว (เขตเทียนเหออันดับ 2 และเขตพานหยูอันดับ 3) อีกทั้งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาถึงร้อยละ 4.38 ของ GDP และลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7,164 ล้านหยวน สูงสุดในนครกว่างโจว นอกจากนี้ เขตหวงผู่ยังติดอันดับเขตที่มีปัจจัยที่เอื้อต่อนวัตกรรมเป็นอันดับต้น ๆ ของนครกว่างโจว เช่น มีการลงทุนของภาคเอกชนในด้านนวัตกรรม มีศักยภาพในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรมากที่สุดในนครกว่างโจว และมีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตภายในเขตหวงผู่มี 36,603 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 61.38 ของผลรวมในนครกว่างโจว อีกทั้งมีสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับนวัตกรรม โดยมี incubator 2,558 แห่ง มากเป็นอันดับ 2 รองจากเขตเทียนเหอ (2,969 แห่ง) ซึ่ง incubator มีส่วนช่วยส่งเสริมทั้งด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)
ภายในเขตหวงผู่ได้ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ตามประเภทของโครงการ เช่น เมืองความรู้จีน – สิงคโปร์ (Sino-Singapore Guangzhou Knowledge City) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2010 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นเขตทดลองด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ เกาะเทคโนโลยีชีวภาพ (Guangzhou International Biotech Island: GIBI) เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาของวิสาหกิจชีวการแพทย์และสุขภาพทั้งในจีนและต่างประเทศ และเมืองวิทยาศาสตร์นครกว่างโจว (Guangzhou Science City) ภายใต้แผนปฏิบัติการมณฑลกวางตุ้ง โดยวางแผนให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอัจฉริยะและศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีนานาชาติในกรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area) เป็นต้น
ปัจจุบัน เขตหวงผู่มีวิสาหกิจมากกว่า 38,000 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นวิสาหกิจต่างชาติมากกว่า 3,400 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 49 แห่ง และเป็นวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง 1,632 แห่ง โดยมีอุตสาหกรรมหลัก 9 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีขั้นสูง อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมสารสนเทศยุคใหม่ ซึ่งบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่งได้เข้าลงทุนในเขตหวงผู่ เช่น บ. General Electric Bioengineering ซึ่งเน้นด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพ พลังงานมวลชีวภาพ และการให้บริการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ บ. Proctor & Gamble (P&G) ซึ่งได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น การตลาดดิจิทัล big data การวิจัยด้าน AI การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอัจฉริยะ เป็นต้น และ บ. WeRide ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปพัฒนายานพาหนะไร้คนขับ รวมทั้งบริษัท Xpeng ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนโดยใช้ AI มีแผนที่จะเข้ามาจัดตั้งบริษัทในเขตหวงผู่เช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมของวิสาหกิจ โดยเปิดโอกาสให้วิสาหกิจดำเนินโครงการทดลองภายในเขตหวงผู่ เช่น ตั้งแต่เมื่อปี 2562 ได้ให้บริษัท WeRide ทำการทดลอง Robotaxi ซึ่งเป็นแท็กซี่ไร้คนขับให้บริการจริงบนท้องถนน โดยการทดลองครอบคลุมพื้นที่ 144.65 ตร.กม. ในเขตหวงผู่ อีกทั้งศูนย์ BIC ทราบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า และบริษัท EHang บริษัทผลิตโดรนไร้คนขับ มีแผนทดลองบินโดรนแท็กซี่ไร้คนขับเส้นทางหวงผู่ – หนานซา โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเตรียมการด้านกฎระเบียบ เป็นต้น
จากข้างต้น เขตหวงผู่นับได้ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งไทยสามารถใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเขตหวงผู่เป็นต้นแบบในการพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งนักธุรกิจที่สนใจอาจเข้ามาลงทุนในเขตหวงผู่ หรือขยายความร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในไทย
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://eng.hp.gov.cn/
http://www.hp.gov.cn/zjhp/jjgk/index.html
https://web.archive.org/web/20140222060601/http://epaper.oeeee.com/A/html/2014-02/14/content_2020245.htm
https://static.nfapp.southcn.com/content/202012/28/c4517129.html?colID=0&code=200&msg=%E7%99%BB%E5%BD%95%E6%88%90%E5%8A%9F&evidence=9ce61277-4163-4538-90a8-bc6c4ba950f6&firstColID=38&appversion=6700&date=bnVsbA%3D%3D&layer=3
https://www.weride.ai/robotaxi-service/
http://eng.gdd.gov.cn/gddeconomy2019.html