จีนกับพัฒนาการด้านพลังงานไฮโดรเจน… อีกหนึ่งพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต
13 Sep 2021เพิ่งผ่านพ้นไปกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์โตเกียว 2020 หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของช่วงพิธีเปิดและพิธีปิดนั่นก็คือพิธีจุดคบเพลิงซึ่งในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิกที่ได้นำ “พลังงานไฮโดรเจน” มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับกระถางคบเพลิง และอาจจุดประกายให้ผู้คนจากทั่วโลกสนใจทำความรู้จักกับพลังงานทางเลือกนี้มากขึ้น
สำหรับประเทศจีนเองก็ได้มีการค้นคว้าวิจัยแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทาง เลือกในการลดการพึ่งพาพลังงานจากเขื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน[1] โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) จีนจัดให้อุตสาหกรรมไฮโดรเจนเป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต[2] สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ของจีน ในขณะเดียวกัน ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle หรือ FCEV)[3] ควบคู่ไปด้วย
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ของ Beijing Hyundai ในงาน Shanghai Auto Show
ที่มา : Caixin Global, VCG
อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของจีน และประเทศอื่น ๆ ในโลกยังคงมีจำกัดเนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เช่น การผลิตก๊าซไฮโดรเจนมีต้นทุนสูง โดยนักวิจัยจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เผยว่า ในปัจจุบันการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมีต้นทุนประมาณ 70 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งหากต้องการให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับรถยนต์พลังงานฟอสซิล ต้นทุนนี้ควรจะลดลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 40 หยวนต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอุปสรรคทางด้านต้นทุนและความยากลำบากในการเก็บรักษาและการขนส่งก๊าซไฮโดรเจนซึ่งมีสมบัติทางเคมีระเบิดได้ง่าย
นอกจากนี้ พลังงานไฮโดรเจนของจีนส่วนใหญ่ยังคงเป็น “พลังงานไฮโดรเจนสีเทา” ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอาจไม่สามารถช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนที่วางไว้ได้ ดังนั้นจีนจะต้องเร่งผลิต “พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว” ซึ่งผลิตขึ้นโดยใช้กระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ โดยบริษัทด้านการลงทุนไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ป (CICC) เผยว่า เพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมาย carbon neutral ในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ร้อยละ 8 ของพลังงานที่ใช้ในจีนทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว โดย CICC คาดว่าต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวของจีนจะลดลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงถ่านหินได้ภายในปี 2583 ทั้งนี้ จีนวางแผนที่จะใช้พลังงานไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมที่อาจลดการปล่อยคาร์บอนได้ยาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง และขนส่ง เป็นต้น
การผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเทาและไฮโดรเจนสีเขียวรวมถึงตัวอย่างการนำไปใช้งาน
ที่มา : EY Parthenon
แม้ว่าในปัจจุบันจีนยังไม่มีการประกาศแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนในระดับประเทศ แต่ในกว่า 10 มณฑลและ 40 เมืองมีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนในระดับท้องถิ่นแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 สำนักงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของกรุงปักกิ่ง ประกาศ “แผนการดำเนินการเพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของกรุงปักกิ่ง (พ.ศ. 2564-2568) โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 (1) อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของเขตเศรษฐกิจกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย (จิง-จิน-จี้) จะมีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านหยวน และจะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2 ล้านตัน ในช่วงเวลา 5 ปี (2) จะต้องมีการพัฒนาองค์กรในอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจำนวน 10-15 แห่งให้เป็นองค์กรชั้นนำและมีอิทธิพลในระดับนานาชาติ (3) จะมีการสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนระดับโลกจำนวน 3-4 ศูนย์ และ (4) จะมีการใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมากกว่า 10,000 คัน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นเมืองจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ร่วมกับกรุงปักกิ่ง ประกาศว่าจะเริ่มใช้รถโดยสารเชื้อเพลิงไฮโดรเจนบริการประชาชนในงานแข่งขันกีฬาดังกล่าว และตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนของจีนโดยจะสามารถผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้ 50,000 ตันต่อปีภายในปี 2578 นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวนั้น เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 Hydrogen Energy Industry Promotion Association รายงานว่า สำนักงานบริหารจัดการพลังงานของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในได้รับอนุญาตให้ริเริ่มพัฒนาโครงการพลังงานขนาดใหญ่ซึ่งจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โดยจะตั้งอยู่ที่เมืองออร์โดส และเมืองเปาโถว ซึ่งจะใช้ (1) พลังงานแสงอาทิตย์ 1.85 กิกะวัตต์ (GW) และ (2) พลังงานลม 370 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวปริมาณ 66,900 ตันต่อปี โดยจะเริ่มโครงการดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2564 และตั้งเป้าว่าจะสามารถเปิดใช้งานในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งคาดว่าหากนำผลผลิตไฮโดรเจนจากโครงการดังกล่าวไปใช้กับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะช่วยทดแทนการใช้น้ำมันได้ถึง 180 ล้านแกลลอนต่อปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 กระทรวงการคลังจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประกาศรายชื่อเมือง/มณฑลที่ได้รับการอนุมัติให้สาธิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนชุดแรก ได้แก่ (1) กลุ่มเมืองในเขตกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย (จิง-จิน-จี้) (2) นครเซี่ยงไฮ้ และ (3) มณฑลกวางตุ้ง โดยเมือง/มณฑลดังกล่าวจะได้รับเงินรางวัล หากสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนในช่วงเวลา 4 ปี โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) ชี้ว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2564 จีนมีจำนวนการผลิตและการจำหนายรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ 664 คันและ 675 คัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 และร้อยละ 47.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามลำดับ
รถบรรทุกที่สถานีเติมเชื้อเพลิง Sinopec ในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงซึ่งให้บริการเติมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน
ที่มา : Global Times, VCG
ทั้งนี้ สหพันธ์พลังงานไฮโดรเจนจีน (China Hydrogen Alliance) คาดว่า ในปี 2568 มูลค่าของผลผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านหยวน และในปี 2573 จะมีอุปสงค์ของก๊าซไฮโดรเจนอยู่ที่ 35 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 5 ของพลังงานที่ใช้ในจีนทั้งหมด ในขณะเดียวกัน สมาคมวิศวกรรมยานยนต์จีน (China-SAE) คาดการณ์ว่าในปี 2568 จีนจะมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกว่า 1 แสนคัน และจะเติบโตสู่จำนวน 1 ล้านคันภายในปี 2578
จะเห็นได้ว่า จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังมุ่งหน้าให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเทรนด์ของประเทศอื่น ๆ ในโลกที่ต่างกำลังพยายามลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและปรับมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติที่ได้ประกาศไว้ในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรลุ SDGs ที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในประเทศตลอดจนในภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยสำหรับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ควรจะคอยติดตามข่าวสารและพิจารณาปรับกลยุทธ์มาเน้นด้านพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจจากทิศทางการเปลี่ยนแปลงของจีนเพื่อจะได้ไม่ตกขบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
จัดทำโดย : น.ส. พิมพ์ชนก ภัทรภูมิภักดี ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (วันที่ 9 ก.ย. 2564)
แหล่งข้อมูล :
China Pushes Hydrogen Energy to Achieve Carbon Goals
Four Things to Know About China’s Hydrogen Roadmap
Hydrogen push ignites next stage of China’s energy transition
https://www.globaltimes.cn/page/202104/1220923.shtml
关于《财政部 工业和信息化部 科技部 发展改革委 国家能源局关于开展燃料电池汽车示范应用的通知》的解读
http://www.nea.gov.cn/2020-09/21/c_139384470.htm
17亿专项资金!国家正式发布氢能“以奖代补”政策!(内附解读)
https://www.sohu.com/a/419870449_257552
Hydrogen fuel tech has hurdles to overcome before becoming mainstream
Automakers to up fuel cell vehicle production
http://www.chinadaily.com.cn/a/202105/17/WS60a1d789a31024ad0babe48f.html
布局千亿氢能产业 北京发布“十四五”氢能产业实施方案
http://www.chinanews.com/cj/2021/08-17/9545374.shtml
京津冀、上海、广东入围首批燃料电池汽车示范城市群
http://auto.china.com.cn/view/qcq/20210825/713828.shtml
How green hydrogen can spark the next zero-emissions revolution
https://www.ey.com/en_gl/strategy/how-hydrogen-can-spark-the-next-zero-emissions-revolution
[1] เมื่อเดือน ก.ย. ปี 2563 ปธน. สี จิ้นผิง แถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 75 ของสหประชาชาติว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน (1) พยายามให้ควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด (carbon emission peak) ภายในที่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) และหลังจากนั้นจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเรื่อย ๆ จากระดับสูงสุด และ (2) พยายามให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060)
[2] การวางแผนอุตสาหกรรมในอนาคต 6 สาขา ได้แก่ (1) Brain-like Artificial Intelligence (2) สารสนเทศเชิงควอนตัม (Quantum Information) (3) เทคโนโลยีพันธุกรรม (4) เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคต (5) การวิจัยและพัฒนาทะเลลึกและอวกาศ และ (6) พลังงานไฮโดรเจนและระบบกักเก็บพลังงาน
[3] รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle หรือ FCEV) คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่ได้จากการที่ไฮโดรเจน (H2) จากถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูงซึ่งทำปฎิกริยากับออกซิเจน (O) ในแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่