กรุงปักกิ่งเล็งผลักดันการพัฒนา “2 Zones (两区)” ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14
12 May 2021ปี 2564 จีนย่างเข้าสู่ปีแรกของการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐิจและสัมคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ 2021-2025) สำหรับกรุงปักกิ่งนั้น ในช่วงที่ผ่านมามักจะได้ยินกรุงปักกิ่งผลักดันการพัฒนา “2 Zones (两区)” ได้แก่ เขตสาธิตการขยายเปิดธุรกิจภาคบริการแห่งชาติ (Integrated National Demonstration Zone for Opening up the Service Sector) และ เขตทดลองการค้าเสรีกรุงปักกิ่ง (China (Beijing) Pilot Free Trade Zone) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาของกรุงปักกิ่งในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ทั้งนี้ “2 Zones” ประกอบด้วยพื้นที่ใดบ้าง และเกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติและชาวต่างชาติอย่างไร ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นให้ผู้อ่านทุกท่านดังต่อไปนี้
ความเป็นมาของ “2 Zones”
ในปี 2563 ภาคบริการของปักกิ่งคิดเป็นร้อยละ 83.8 ของ GDP กรุงปักกิ่ง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.8 ในเมื่อปี 2558 ซึ่งนับว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจกรุงปักกิ่ง
- ในเดือน พ.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติให้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองทดลองการขยายการเปิดธุรกิจภาคบริการ (北京市开展服务业扩大开放综合试点) แห่งแรกของจีน โดยมีเวลาทดลอง 3 ปี
- ในเดือน ก.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติให้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองทดลองการขยายการเปิดธุรกิจภาคบริการอีก 3 ปี
- ในเดือน ก.ย. 2563 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวในงาน China Beijing International Fair for Trade in Services (CIFTIS) ประจำปี 2563 ว่า จีนจะสนับสนุนกรุงปักกิ่งเป็นเขตสาธิตการขยายเปิดธุรกิจภาคบริการระดับชาติ เพื่อให้กรุงปักกิ่งเป็นเขตนำร่องในการขยายเปิดธุรกิจบริการให้ต่างชาติมาลงทุนมากยิ่งขึ้น
- ในเดือน ก.ย. 2564 เขตทดลองการขยายเปิดธุรกิจภาคบริการกรุงปักกิ่ง จะยกระดับเป็นเขตสาธิตการขยายเปิดธุรกิจภาคบริการแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเป้าหมายว่า กรุงปักกิ่งจะเพิ่มความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การไหลเวียนของเงินทุนข้ามพรมแดน การทำงานของชาวต่างชาติ การขนส่ง และการถ่ายโอนข้อมูล (data) ภายในปี 2573 รวมทั้งกรุงปักกิ่งจะมีขนาดเศรษฐกิจภาคบริการและความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก
สำหรับเขตทดลองการค้าเสรีกรุงปักกิ่งนั้น ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการในเมื่อเดือน ก.ย. 2563 (หลังจากที่จีนประกาศแผนงานการก่อสร้างท่าเรือเสรีมณฑลไห่หนานเมื่อเดือน มิ.ย. 2563) มีเป้าหมายจะส่งเสริมนวัตกรรม การรวมตัวกันของกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย (Beijing-Tianjin-Hebei Integration) หรือ “จิง-จิน-จี้” รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาให้กรุงปักกิ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสากล
พื้นที่สำคัญของ “2 Zones”
พื้นที่สำคัญของ “2 Zones” จะกระจายไปทั่วกรุงปักกิ่ง รวมทั้งเขตใจกลางเมืองและเขตชานเมือง โดยมีพื้นที่หลัก เช่น Beijing Financial Street, Beijing CBD, Zhongguancun Science Park, Huairou Science City, Future Science Park, เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกรุงปักกิ่ง (Beijing Town) เขตสนามบินนานาชาติปักกิ่งต้าซิง และถนนคนเดินหวัง ฝูจิ่ง (Wang Fujing)
ภาพ “Map of Open Beijing” จาก http://open.beijing.gov.cn
มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติของ “2 Zones” เช่น
- การเงิน เช่น อนุญาตให้ธนาคารทุนต่างชาติที่ผ่านมาตรฐานเข้าร่วมการค้าขายทองคำและเงินในรูปแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures) ในจีน ธนาคารทุนต่างชาติจะได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางจีนให้นำเข้าทองคำและเป็นตัวหลักในการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ระหว่างธนาคาร และสนับสนุนสถาบันการลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการลงทุนในต่างประเทศของ Qualified Domestic Limited Partner (QDLP)
- การให้บริการอินเทอร์เน็ต อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนธุรกิจให้บริการ VPN (Virtual Private Network) ได้ (ต่างชาติถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50) และสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติให้บริการ VPN แก่บริษัททุนต่างชาติในกรุงปักกิ่งโดยผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างชาติและจีน
- การให้บริการเทคโนโลยี เช่น ยกเลิกข้อจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติใน APP Store ส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติมีส่วนร่วมในการให้บริการซอฟต์แวร์ตามกฎหมายและกฎระเบียบ
- ตลาดหลักทรัพย์ จัดตั้งแพลตฟอร์มให้บริการแก่บริษัททุนต่างชาติในจีนเพื่อขึ้นทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในจีน (https://www.beijingipo.com.cn) และอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) จัดตั้งบริษัทการเงิน (ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 100)
- ธุรกิจการบิน อนุญาตให้สายการบินต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจที่สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งและสนามบินนานาชาติปักกิ่งต้าซิงได้พร้อมกัน สนับสนุนนักลงทุนต่างชาติลงทุนธุรกิจ
การบินทั่วไปในนิคมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างจีน-เยอรมนี และ จีน-ญี่ปุ่น ที่กรุงปักกิ่ง
- การศึกษา เช่น ส่งเสริมให้นักธุรกิจต่างชาติลงทุนในสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ และเพิ่มความสะดวกในการเข้าโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมของบุตรของชาวต่างชาติในกรุงปักกิ่ง
- วัฒนธรรม เช่น อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในธุรกิจคณะแสดง (ฝ่ายจีนต้องถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50)
- การเพิ่มความสะดวกของวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติ ซึ่งเขตเฉาหยาง กรุงปักกิ่ง ได้เปิดเว็บไซต์ Chaoyang International Talent Port (http://www.chytalents.gov.cn) เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติในลักษณะ “One-stop Service” โดยชาวต่างชาติสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และวีซ่าทำงานในที่เดียวซึ่งให้บริการทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (แต่ก่อนต้องไปยื่นเอกสารที่สองสำนักงาน ได้แก่ สำนักงานให้บริการของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง และสำนักงานตรวจสอบคนเข้าเมืองของกรุงปักกิ่ง) ซึ่งได้ช่วยปรับลดเวลาจากเดิม 17 วันทำการเหลือ 7 วันทำการ
ในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 4,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการจัดตั้งบริษัททุนต่างชาติใหม่ 379 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการที่กรุงปักกิ่งมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนา “2 Zones” นอกจากนี้ กรุงปักกิ่งได้เปิดเว็บไซต์ Open Beijing ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่อัพเดทมาตรการและพัฒนาการต่าง ๆ ของ “2 Zones” โดยท่านที่สนใจสามารถติดตามและกดดูรายละเอียดได้ที่ http://open.beijing.gov.cn
จัดทำโดย นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง (วันที่ 5 พ.ค. 2564)
แหล่งข้อมูล :
开放北京官方网站
国务院关于深化北京市新一轮服务业扩大开放综合试点建设国家服务业扩大开放综合示范区工作方案的批复
http://www.gov.cn/zhengce/content/2020-09/07/content_5541291.htm
北京自贸区揭牌!四大关键词解读方案亮点
http://www.gov.cn/xinwen/2020-09/25/content_5546956.htm
“两区”建设助北京打造高水平开放平台 外国人来华更便利
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1695124001167221511&wfr=spider&for=pc
一季度北京新设外资企业379家