ขุดแล้ว “คลองขนส่งสินค้า” กุญแจไขตลาดจีนตะวันตก เมกะโปรเจกต์ระดับชาติของกว่างซี
19 Sep 2022
ไฮไลท์
- รัฐบาลกว่างซีจัดพิธีเปิดงานก่อสร้าง “คลองขนส่งผิงลู่” คลองเดินเรือสมุทรที่ใช้ขนส่งสินค้าเช่นเดียวกับคลองปานามา คลองขนส่งดังกล่าวเป็นช่องทางการค้าใหม่สำหรับเรือบรรทุกสินค้าสัญจรเชื่อมระหว่างแม่น้ำซีเจียง (แม่น้ำสายหลักที่ใช้สำหรับงานขนส่งสินค้า) กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าทางน้ำและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศได้อย่างมาก
- “คลองขนส่งผิงลู่” ใช้เชื่อมอำเภอระดับเมืองเหิงโจว (Hengzhou City/横州市) ของนครหนานหนิงกับปากอ่าวในเมืองท่าชินโจว มีระยะทาง 135 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าแบบเดิมที่ใช้ท่าเรือในนครกวางโจว สามารถร่นระยะทางได้ราว 560 กิโลเมตร สามารถรองรับขนาด 5,000 ตัน คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนราว 72,730 ล้านหยวน หรือกว่า 385,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 54 เดือน (4 ปี 6 เดือน)
- คลองขนส่งเส้นนี้จะเป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า ดึงดูดการลงทุน เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรอบบริเวณพื้นที่ใกล้แม่น้ำและท่าเรือ และจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกของจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจดาวรุ่น (high land) ของภูมิภาคจีนตะวันตก
- ในอนาคต หากคลองขนส่งผิงลู่เปิดใช้งานแล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรของนครหนานหนิงในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้จัดพิธีขุด “คลองขนส่งผิงลู่” หรือ Pinglu Canal (平陆运河) อย่างยิ่งใหญ่ —- นับเป็นพัฒนาการล่าสุดของเมกะโปรเจกต์ด้านการขนส่งของประเทศจีน และเป็น 1 ใน 3 โครงการขุดคลองขนส่งสินค้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) ที่เริ่มการก่อสร้างแล้วในประเทศจีน
รู้จัก “คลองขนส่งผิงลู่” —— พอเห็นคำว่า “คลอง” เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงนึกถึงภาพ ‘คลองอัมพวาที่จะมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาเร่ขายของ’ แต่…ต้องบอกว่า “คลองขนส่งผิงลู่” เป็นมากกว่าคลองที่เรารู้จัก
“คลองขนส่งผิงลู่” เป็นคลองเดินเรือสมุทรที่ใช้ขนส่งสินค้าเช่นเดียวกับคลองปานามา เป็นช่องทางการค้าใหม่สำหรับเรือบรรทุกสินค้าสัญจรเชื่อมระหว่างแม่น้ำซีเจียง (แม่น้ำสายหลักที่ใช้สำหรับงานขนส่งสินค้า) กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”) ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าทางน้ำและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศได้อย่างมาก
กว่าจะมาถึงวันนี้ การพัฒนาเมกะโปรเจกต์คลองขนส่งผิงลู่ ต้องใช้คำว่า ‘หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ’ เพราะว่า “คลองขนส่งผิงลู่” ปรากฎชื่อในยุทธศาสตร์สร้างชาติเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น แต่ด้วยเหตุผลนานัปการ ทำให้ “คลองขนส่งผิงลู่” ไม่เกิดขึ้นสักที
จนกระทั่งเมื่อปี 2561 “คลองขนส่งผิงลู่” ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อย่างจริงจัง และจุดเปลี่ยนอยู่ในปี 2562 เมื่อ “คลองขนส่งผิงลู่” ได้รับการกำหนดอยู่ในแผนแม่บทระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก หรือที่เรียกสั้นๆว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) และในปี 2564 รัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “คลองขนส่งผิงลู่” อยู่ในกรอบแผนงานพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 และกรอบแผนงานโครงข่ายคมนาคมแบบครบวงจรแห่งชาติจีน
มาในปี 2565 นี้ ความคืบหน้าของโครงการ “คลองขนส่งผิงลู่” ต้องใช้คำว่า ‘ติดสปีด’ โดยหลังจากที่ได้จัดตั้งโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2565 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องผ่านการอนุมัติด้วยเวลาไม่ถึงครึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นข้อพิสูจน์ด้านทรัพยากรแหล่งน้ำของโครงการ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบคุณสมบัติขั้นต้นในการใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการ รายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานก่อสร้าง และการใช้พื้นที่ทะเลเพื่อการก่อสร้างโครงการ
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 วันที่ฝันเป็นจริงของชาวกว่างซีก็มาถึง พิธีขุด “คลองขนส่งผิงลู่” จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกที่ศูนย์ชลประทานในเมืองชินโจว
หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เมกะโปรเจกต์ “คลองขนส่งผิงลู่” ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คือ นายหลิว หนิง (Liu Ning/刘宁) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงชลประทานจีน และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชลประทานในลุ่มแม่น้ำแยงซี และโครงการชลประทานผันน้ำจากพื้นที่ภาคใต้สู่ภาคเหนือของจีน หลังจากที่นายหลิว หนิง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ กว่างซีเมื่อเดือน ต.ค. 2564 ได้เรียกประชุม 12 ครั้ง และลงพื้นที่สำรวจเพื่อเร่งผลักดันความคืบหน้าโครงการจนเป็นผลสำเร็จในปัจจุบัน
คีย์เวิร์ด 1 : 72,730 ล้านหยวน
ตามรายงาน คลองขนส่งผิงลู่ เป็นโครงการเชื่อมแม่น้ำกับทะเลระหว่างลุ่มแม่น้ำซีเจียงกับอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) เริ่มต้นจากอำเภอระดับเมืองเหิงโจว (Hengzhou City/横州市) ของนครหนานหนิง ไปถึงปากอ่าวในเมืองชินโจว มีระยะทาง 135 กิโลเมตร (ต้องขุดสันปันน้ำ ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร) เมื่อเริ่มใช้งาน จะช่วยร่นระยะทางการขนส่งได้ราว 560 กิโลเมตร โดยจะเข้ามาทดแทนการขนส่งแบบเดิมที่เคยชินกับการใช้ท่าเรือในมณฑลกวางตุ้ง ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนค่าขนส่งได้มาก
โครงการก่อสร้าง “คลองขนส่งผิงลู่” ประกอบด้วยการพัฒนาร่องน้ำเดินเรือ ศูนย์ชลประทาน ประตูเรือสัญจร และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง โดยร่องน้ำเดินเรือเป็นร่องน้ำมาตรฐานระดับสูงที่สามารถรองรับขนาด 5,000 ตัน คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนราว 72,730 ล้านหยวน หรือกว่า 385,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 54 เดือน (4 ปี 6 เดือน)
นายหวง โฉงหย่ง (Huang Qiongyong/黄琼勇) ผู้ประกอบการเรือบรรทุกสินค้าทางแม่น้ำ ให้ข้อมูลว่า เรือสินค้าที่ขนส่งทางแม่น้ำจากเมืองไป่เซ่อ (กว่างซี) ไปขึ้นเรือที่นครกว่างโจว (กวางตุ้ง) มีระยะทางราว 1,220 หยวน ไป-กลับได้รายรับราว 1.26 แสนหยวน แต่มีต้นทุนสูงถึง 90,000 หยวน ไป-กลับต้องใช้เวลา 40-45 วัน ประมาณการว่า หากใช้คลองขนส่งผิงลู่ มีรายรับราว 1.2 แสนหยวน ต้นทุนราว 40,000 – 50,000 หยวน ไป-กลับใช้เวลามากสุดเพียง 15 วัน
คีย์เวิร์ด 2 : วาดแผนที่เศรษฐกิจใหม่
“คลองขนส่งผิงลู่” มีนัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของเขตฯ กว่างซีจ้วง รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน หลังจากที่เปิดใช้งานแล้ว “คลองขนส่งผิงลู่” จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเชื่อมทะเลที่สั้นที่สุด มีต้นทุนต่ำที่สุด และสะดวกรวดเร็วที่สุด ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของการจราจรทางน้ำในแม่น้ำซีเจียง (ออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลไปมณฑลกวางตุ้ง) และยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งของพื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกกับทะเลให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
นอกจากประโยชน์ด้านการเดินเรือแล้ว นายเหลย เสี่ยวหัว (Lei Xiaohua/雷小华) รอง ผอ.สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำสภาสังคมศาสตร์กว่างซี ชี้ว่า คลองขนส่งเส้นนี้จะเป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้า ดึงดูดการลงทุน เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรอบบริเวณพื้นที่ใกล้แม่น้ำและท่าเรือ และจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตกของจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจดาวรุ่น (high land) ของภูมิภาคจีนตะวันตก
นอกจากนี้ คลองขนส่งผิงลู่ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดบริเวณพื้นที่รอบอ่าวเป่ยปู้ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การส่งจ่ายน้ำ การป้องกันอุทกภัย และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางน้ำด้วย
คีย์เวิร์ด 3 : จุดยากลำบากของโครงการก่อสร้าง
การก่อสร้าง “ศูนย์ชลประทาน” จำนวน 3 แห่ง เป็นจุดที่ยากที่สุดของการก่อสร้าง ศูนย์ชลประทานดังกล่าวมีหน้าที่ควบคุมประตูเรือสัญจร (Navigation Lock) เพื่อยกระดับเรือสินค้าให้สูงขึ้นหรือลดต่ำลงเมื่อเรือแล่นผ่านจากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากระดับน้ำในคลองกับน้ำทะเลในมหาสมุทรไม่เท่ากัน
นายอู๋ เผิง (Wu Peng/吴澎) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผังวิศวกรรมคลองขนส่งผิงลู่ ให้ข้อมูลว่า ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกับอ่างเก็บน้ำซีจิน (นครหนานหนิง) ต่างระดับราว 65 เมตร จำเป็นต้องสร้างประตูเรือสัญจร 3 แห่ง เพื่อปรับระดับน้ำเพื่อให้เรือสัญจรได้ ประตูเรือสัญจรมีขนาดใหญ่ เทคโนโลยีมีความซับซ้อน การก่อสร้างยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน อาทิ ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ประตูเรือสัญจรในคลองขนส่งผิงลู่ จะสร้างเป็นประตูเรือสัญจรประหยัดน้ำในแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการทำงานของประตูเรือสัญจร เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัด มีการวิจัยและพัฒนาระบบการส่งน้ำในประตูเรือสัญจรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความคงทนในการใช้งาน
คีย์เวิร์ด 4 : ระบบนิเวศ
การก่อสร้าง ขุดลอก จนถึงการใช้งานคลองขนส่งผิงลู่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งมีอุดมสมบูรณ์และมีความอ่อนไหวสูง (Ecological Sensitivity) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในหลักการจะรักษาพื้นที่ 1 กิโลเมตรของสองฝั่งคลองขนส่งผิงลู่ไว้สร้างเป็นระเบียงนิเวศ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างช่องทางไว้ให้กับสัตว์บริเวณสองฝั่งคลองได้เดินทางแลกเปลี่ยนทางธรรมชาติ และคงความเป็นธรรมชาติของแหล่งน้ำในบางพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ บริเวณศูนย์ชลประทานจะสร้างบันไดปลาโจนให้ปลาและสัตว์น้ำอย่างอื่นสามารถเดินทางผ่านสิ่งกีดขวางทางเดินไปได้ สร้างสถานีติดตามและตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพ
คีย์เวิร์ด 5 : ระบายความแออัด
ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางแม่น้ำของกว่างซีใช้ “แม่น้ำซีเจียง” (Xijiang River/西江) เพื่อเชื่อมกับทะเลที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง โดยมี “ศูนย์ชลประทานฉางโจวในเมืองอู๋โจว” เป็นหนึ่งใน Hub การขนส่งที่สำคัญ จากสถิติพบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2564) ปริมาณเรือสินค้าที่สัญจรผ่านประตูเรือสัญจรของศูนย์ชลประทานฉางโจวในเมืองอู๋โจวได้แซงหน้าประตูเรือสัญจรของเขื่อนสามโตรกในแม่น้ำแยงซี ปี 2564 มีปริมาณ 150 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ศูนย์ชลประทานฉางโจวจะรับได้ (overload) ส่งผลให้เกิดปัญหา ‘เรือติด’ เป็นจำนวนมาก เรือสินค้าติดนานสุดเป็นสัปดาห์ถือเป็นเรื่องปกติ
เมื่อ “คลองขนส่งผิงลู่” เปิดใช้งานแล้ว จะช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งที่หลากหลายมากขึ้นให้กับระเบียง NWLSC กล่าวคือ นอกจากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” แล้ว จะมี “(เรือ)แม่น้ำ+(เรือ)ทะเล” เข้ามาเสริมทัพด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันตกได้อีกทาง
ปากอ่าวเป่ยปู้ เมืองชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง
นักวิชาการหลายฝ่าย เชื่อว่า ในระยะใกล้ คลองขนส่งผิงลู่จะช่วยบรรเทาปัญหาการสัญจรทางน้ำในบริเวณปลายน้ำของแม่น้ำซีเจียง (ที่จะออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีการพัฒนาโมเดลการขนส่งร่วม “รถไฟ+เรือ(แม่น้ำ)” เพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งและกระจายสินค้าภายในพื้นที่มณฑลตอนในเชื่อมถึงกันได้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในระยะไกล คลองขนส่งผิงลู่จะเชื่อมกับ “คลองขนส่งเซียง(หูหนาน)กุ้ย(กว่างซี)” เป็นการเชื่อมลำน้ำสาขาของแม่น้ำแยงซีเกียงกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำเพิร์ลเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลหูหนาน มณฑลหูเป่ย มณฑลกวางตุ้ง รวมถึงพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียงอย่างมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ในการขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลที่ปากอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำด้วย
ในอนาคต หากคลองขนส่งผิงลู่เปิดใช้งานแล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรของนครหนานหนิงในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 29, 30 และ 31 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ https://gx.news..cn (广西新闻网) วันที่ 28, 29 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ http://news.sohu.com (搜狐) วันที่ 31 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ http://www.zgsyb.com (中国水运网) วันที่ 28 สิงหาคม 2565
ที่มาภาพ หนังสือพิมพฺ์กว่างซี เดลี่